“มหาดเล็ก” (ไม่ใช่บ่าวไม่ใช่ทาส)
คำว่า “มหาดเล็ก” นี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.๒๔๙๓ ให้ความหมายไว้ว่า ข้าราชการในพระราชสำนักมีหน้าที่รับใช้พระเจ้าแผ่นดิน , ผู้ที่รับใช้ประจำเจ้านายหรือผู้ที่ถวายตัวเป็นผู้รับใช้
อนึ่ง ในพระบรมราโชวาท เรื่อง มหาดเล็ก ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้่าอยู่หัว พระราชทานแก่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (ม.ร.ว.จิตร สุทัศน์) ก็ได้ทรงกล่าวถึงคำว่า “มหาดเล็ก”ไว้ว่า
“ก่อนอื่นจะต้องถามว่ามหาดเล็กคืออะไร ตอบว่า คือผู้ที่รับใช้พระราชาหรือเจ้านาย มหาดเล็กผิดกับข้าราชการและข้าในกรมอื่นๆ ดังนี้ คือ เป็นผู้รับใช้ใกล้พระองค์เจ้านายของตนยิ่งกว่าผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่เป็นมหาดเล็กจึงจำต้องเลือกสรรผู้ที่ไว้ว่งพระราชหฤทัยแห่งเจ้าได้ การที่จะเลือกคนอย่างนี้ ถ้าจะว่าไปตามการที่ควรก็ต้องตรวจตราทราบความประพฤติและอัธยาศัยของบุคคลก่อน จึงจะทราบได้ว่าเป็นคนควรไว้ใจได้หรือไม่ แต่ถ้าจะตรวจตราจริงเช่นนี้ก็จำต้องรอดูอยู่นานนัก ส่วนมหาดเล็กนั้นท่านประสงค์ผู้ที่ยังเยาว์ เพื่อจะใช้ได้คล่องแคล่ว ถ้าจะมัวรอดูนิสัยดูอัธยาศัยและดูความประพฤติแล้ว ก็ย่อมจะไม่ได้ผู้ที่มีอายุสมควรแก่ความประสงค์นั้นอยู่เอง เพราะฉะนั้นท่านจึงคิดผ่อนผันไปทางเลือกสรรบุตรผู้ดีมีตระกูล โดยเหตุที่บุคคลชนิดนี้มีความอบรมอันดี อาจหันไปหาทางดีทางชอบได้มากกว่าผู้ที่ขาดการอบรมเพราะเหตุนี้แหละจึงเกิดมีข้อจำเป็นขึ้นว่า ผู้ที่เป็นมหาดเล็กต้องเป็นบุตรผู้ดีมีตระกูลดี
ก็ทำไมผู้ดีมีตระกูลจึงยินยอมหนือบางทีถึงขวนขวายให้บุตรตนได้เป็นมหาดเล็กนักเล่า ควรหรือที่ดีมีตระกูลจะไปกระทำการซึ่งดูคล้ายๆกับการของบ่าว ในข้อนี้ต้องแก้ว่าที่จริงไม่ควรคิดว่ามหาดเล็กเป็นบ่าว ควรคิดเทียบเป็นศิษย์มากกว่าก็พาลูกไปฝากเป็นศิษย์ท่านอาจารย์ในวัดทำไมไม่เป็นที่เสียหายท่านอาจารย์ก็ใช้ศิษย์ให้ทำงานปฏิบัติต่างๆ เช่นบ่าวเหมือนกันที่บิดามารดาไม่รังเกียจในการที่บุตรต้องรับใช้อาจารย์นั้น ก็เพราะเห็นว่าท่านอาจารย์ท่านให้ความรู้บุตรตนจึงปฏิบัติท่านเป็นการตอบแทนฉะนี้ไม่ใช่หรือ มหาดเล็กเจ้านายก็ปฏิบัติท่านโดยฐานตอบแทนเหมือนกัน เพราะการที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์ท่านย่อมมีโอกาสได้ทราบการงานต่างๆ ซึ่งไม่อาจรู้ได้ดีเท่าที่อื่นถ้าจะนึกดูถึงพงษาวดาร ไม่ต้องย้อนขึ้นไปนานนักก็คงจะแลเห็นปรากฏได้ว่าผู้ที่มีชื่อเสียงตราไว้ในแผ่นดินนั้นได้เริ่มต้นเป็นมหาดเล็กมา ก่อนสักกี่คน เพราะเหตุไรเล่าก็ไม่ใช่เพราะมหาดเล็กเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดพระองค์หรือจึงสามารถกระทำการใหญ่โตจนมีชื่อเสียงได้ในสมัยก่อนซึ่งยังไม่มีโรงเรียนมากเหมือนในการบัดนี้ ลองคิดดูเถิดว่าโรงเรียนไหนจะดีกว่าอยู่กับเจ้า ครูไหนจะดีไปกว่าเจ้า ถ้าเราประสงค์ทราบการงานซึ่งควรจัดดัดแปลงในแผ่นดินเดี๋ยวนี้เสียอีกยังพอจะหาวิชาได้ในโรงเรียนต่างๆ แต่โบราณท่านว่าไว้ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” ถ้าจะฟังคำแนะนำสั่งสอนในโรงเรียนสักเท่าใดคงยังสู้อยู่กับเจ้านายไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะได้เห็นลักษณะที่ท่านทรงจัดการงานต่างๆและได้ฟังท่านตรัสสั่งการงานอีกอันเป็นสิ่งจำเป็นทั้งสองประการ แม้แต่ในยุโรปซึ่งนับว่ามีโรงเรียนสอนวิชาทุกชนิดผู้มีประสงค์จะให้บุตรมีชื่อเสียงทางการปกครองยังต้องนำบุตรไปฝากให้เป็นเลขานุการของท่านอำมาตย์ต่างๆผู้มีชื่อเสียง เพื่อให้ได้ศึกษาทางการ ด้วยความชำนาญโดยตนเอง นี่ก็เพราะโรงเรียนสอนวิชาอื่นๆอาจจัดตั้งขึ้นได้หมดแต่โรงเรียนสอนวิธีเป็นนายคน นั้นตั้งไม่ได้ เพราะจะหาอาจารย์ที่ไหนมาสอนวิชานี้ ผู้ที่สามารถจะสอนได้ดีก็มีหน้าที่กระทำการเพื่อประโยชน์แผ่นดินในการอื่น ผู้ที่มีเวลาจะสอนได้ก็ไม่มีความสามารถจึงเป็นอันต้องศึกษากันทางฝากตนรับใช้ท่านผู้มีความสามารถนั่นเอง เพราะเหตุฉะนี้แล ถึงจะตั้งโรงเรียนและวิทยาลัยขึ้นอีกกี่แห่งก็ดี วิธีถวายบุตรเป็นมหาดเล็กเจ้านายคงจะยังเป็นทางดีกว่าทางอื่นอยู่นั่นเอง และผู้มีสติปัญญาตริตรองเห็นทางไกลดังกล่าวแล้ว คงจะต้องขวนขวายหาเจ้าให้บุตรเป็นที่พึ่งอยู่อย่างเดิมนั่นเองถึงท่านผู้มีวิชาชั้นใหม่จะกล่าวอย่างไรก็ตามความจริงเป็นดังกล่าวมาแล้ว”
ภาพ: พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากท่าราชวรดิฐไปยังท่าพระฉนวนวัดอรุณราชวราราม เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ลำทรง เทียบเรือพระที่นั่งพลับพลา เสด็จลงประทับในเรือพลับพลา เปลื้องพระชฎามหากฐิน ทรงพระมาลาเส้าสูงแล้ว เสด็จขึ้นท่าพระฉนวนประทับพระราชยานงา ( ภาพนี้เป็นภาพเหตุการณ์ก่อนที่พระองค์จะเสด็จฯขึ้นพระราชยานงา ดังที่ได้โพสต์ไปก่อนหน้านี้)