Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ประวัติศาสตร์น่ารู้
•
ติดตาม
4 ก.พ. 2021 เวลา 12:25 • ประวัติศาสตร์
ภาพเก่าเล่าอดีต (๑)
ภาพปืนใหญ่หนักกระสุนวิถีโค้ง แบบ ๗๘ ขนาด ๑๕๐ มิลลิเมตร (ปนค.๗๘) พร้อมรถสายพานลากปืนใหญ่ ขณะร่วมอยู่ในพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะ คราวกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง จังหวัดพระนคร (เขตการปกครองในสมัยนั้น) ช่วงกลางปีพุทธศักราช ๒๔๘๔
โดยปืนใหญ่ตามภาพ ได้รับการจัดหาเข้าประจำการจากบริษัทโบฟอร์ส เอ บี (Bofors AB) ราชอาณาจักรสวีเดน เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ จำนวน ๘ กระบอก จัดเป็นอาวุธประจำหน่วยของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๖ กองพันปืนใหญ่หนักหน่วยขึ้นตรงของกองทัพบกในยุคนั้น มีคุณลักษณะและขีดความสามารถขั้นต้นโดยสังเขป ดังนี้
ประเภทของยุทโธปกรณ์ : ปืนใหญ่สนามลากจูง
นามในภาษาต่างประเทศ : M/39 Towed Howitzer
ขนาดความกว้างปากลำกล้อง : ๑๕๐ มิลลิเมตร
น้ำหนักรวมโดยประมาณ : มากกว่า ๔,๐๐๐ กิโลกรัม
ระยะยิงไกลสุดโดยประมาณ : ๑๔.๖ กิโลเมตร
ระยะยิงหวังผลโดยประมาณ : ๑๐ กิโลเมตร
อัตราความเร็วต้นโดยประมาณ : ๕๘๐ เมตรต่อวินาที
อัตราการยิงสูงสุดโดยประมาณ : ๔-๖ นัดต่อนาที
พลประจำยุทโธปกรณ์โดยประมาณ : ๖-๘ นาย
เคลื่อนที่โดยการลากจูงกับรถสายพานลากปืนใหญ่ ซึ่งนำเข้ามาประจำการจากบริษัท เอ บี แลนสเวอร์ค (AB Landsverk) ประเทศสวีเดนอีกเช่นกัน
จัดกำลังได้ ๒ กองร้อย (จำนวน ๘ กระบอก) ในอัตราของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๖ ร่วมกับปืนใหญ่หนักกระสุนวิถีราบขนาด ๑๐๕ มิลลิเมตร จำนวน ๑ กองร้อย โดยในกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ - ๒๔๘๔ ได้รับคำสั่งให้เป็นกองพันทหารปืนใหญ่ในสังกัดกองทัพบูรพา ด้านตะวันออกประชิดชายเเดนฝั่งปอยเปต - ศรีโสภณ ดินแดนกัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส โดยแบ่งกำลังอีกส่วนขึ้นสมทบกับกองพลอุบลภายใต้สังกัดกองทัพอีสาน รุกไปทางช่องเม็ก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ตรงข้ามเมืองจำปาสัก ดินแดนลาวในอารักขาของฝรั่งเศส
ระยะเวลาประจำการโดยประมาณระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ - ๒๕๐๐ ก่อนจะแทนที่ด้วยปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง แบบ ๐๓ ขนาด ๑๕๕ มิลลิเมตร (ปกค.๐๓) จากสหรัฐอเมริกา
สำหรับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๖ หน่วยขึ้นตรงกองทัพบกในยุคนั้น มีพัฒนาการของหน่วยมาโดยลำดับ ย้ายที่ตั้งปกติจากตำบลถนนนครไชยศรี อำเภอบางซื่อ จังหวัดพระนคร มายังตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๖ ได้รับการเปลี่ยนนามหน่วยในเวลาต่อมา อาทิ
- กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๓ กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ (ป.๑ พัน.๓)
- กองพันทหารปืนใหญที่ ๒๑ (ป.พัน.๒๑)
- กองพันทหารปืนใหญที่ ๓๑ กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๓ (ป.๓ พัน.๓๑)
- กองพันทหารปืนใหญที่ ๑๐๑ (ป.พัน.๑๐๑) และ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗๒๑ (ป.พัน.๗๒๑)
ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้มีคำสั่งกองทัพบกเปลี่ยนแปลงนามหน่วยและนามย่อหน่วยทหารในเหล่าทหารปืนใหญ่และทหารม้าแห่งกองทัพบก จึงใช้นามหน่วยว่า "กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗๒๑ กรมทหารปืนใหญที่ ๗๒ (ป.๗๒ พัน.๗๒๑)" ภายใต้สังกัดกองพลทหารปืนใหญ่ (พล.ป.) หน่วยขึ้นตรงกองทัพบก มีที่ตั้งปกติภายในค่ายสิริกิติ์ ตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนถึงปัจจุบัน
**ที่มาของภาพและข้อมูล**
ราชกิจจานุเบกษา
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
อนุสรณ์ ๖๖ ปี กระทรวงกลาโหม ฉบับสำเนาเล่มที่ ๑ และ ๒ , พ.ศ. ๒๔๙๖
ประวัติหน่วยทหารในกองทัพบก , กองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารบก , พ.ศ. ๒๕๐๕
ประวัติหน่วยทหารในกองทัพบก เล่มที่ ๒ , กองประวัติศาสตร์ทหาร กรมยุทธการทหารบก , พ.ศ. ๒๕๓๐
อนุสรณ์ ๑๗ ธันวาคม วันทหารปืนใหญ่ , ศูนย์การทหารปืนใหญ่ , พ.ศ. ๒๕๓๐
ประวัติการรบของทหารไทยกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส , กรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด , พ.ศ. ๒๕๔๑
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย