5 ก.พ. 2021 เวลา 03:32 • สิ่งแวดล้อม
พื้นที่สาธารณะที่ไม่มีในเมือง
ในสภาวะสังคมที่ความเป็นเมืองทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในวงวิชาการได้คาดการณ์ว่าภายใน 30-40 ปี ข้างหน้า ประชากรกึ่งหนึ่งของโลกจะอาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง หรือพูดอย่างง่ายๆ คือคนกึ่งหนึ่งจะยังชีพโดยพึ่งพิงภาคเศรษฐกิจจากอุสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ
ที่มา: Roundabout
กระบวนการกลายเป็นเมือง (Urbanization) หรือ การเปลี่ยนแปลงจากความเป็นชนบทสู่เมืองนั้นไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ การเปลี่ยนของรูปแบบเศรษฐกิจ หรือมีความหมายเพียงแค่การเปลี่ยนของสภาพแวดล้อมกายภาพที่ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าทวีความซับซ้อนขึ้น อาทิ การมีทางด่วน รถไฟใต้ดิน-ลอยฟ้า ตึกระฟ้า เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบสังคมที่ต้องปรับตัวตามสภาพแวดล้อมรอบตัว (ซึ่งโดยมากมักมีการปรับตัวช้าที่สุด) ระบบสังคมที่ผมอยากขยายความถึง คือ ระบบที่สร้างกรอบความคิดเกี่ยวกับพืนที่สาธารณะและพื้นที่เอกชนขึ้น
ที่มา: Roundabout
เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่าการสถาปนาการมีอยู่ของรัฐได้ก่อให้เกิดการรวมศูนย์การจัดการสังคมขึ้น จากการที่เราเคยอยู่ภายใต้และก่อรูปขึ้นจากนามธรรมบางอย่าง อาทิ บรรทัดฐาน ชุมชน ประเพณี และวัฒนธรรม มาสู่สังคมสมัยใหม่ที่พื้นฐานความคิดเรื่องปัจเจกนิยมมีความเข้มข้นขึ้น พันธะทางสังคมที่เคยยึดโยงกลุ่มและชุมชนได้คลายตัวลงจนไม่มีพลัง (จากกลุ่มชุมชนและเครือญาติ) มากพอที่จะใช้กำกับดูแลสมาชิกในสังคมได้อย่างทั่วถึง ทำให้สังคมมีการปรับตัวหรือแม้แต่รับแนวคิดบางอย่างในการจัดการสังคมตัวเองเข้ามาจากภายนอก หนึ่งในนั้นคือจัดตั้งกลุ่มองค์กรหรือสถาบัน เพื่อดูแลสมาชิกที่หลากหลายขึ้น โดยสิ่งนี้ได้สะท้อนออกมาส่วนหนึ่งทางการจัดการกายภาพและสภาพแวดล้อมที่เราอยู่อาศัยที่เปลี่ยนจาการควบคุมการใช้ที่ดินโดยหมู่บ้านหรือชุมชน มาเป็นระบบโฉนดและเอกสารสิทธิ์ ภายใต้สถาบันทางสังคมและกฎหมายที่อนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ทำสิ่งใดๆ ในที่ดินของเรา
การเกิดขึ้นของโฉนดและเอกสารสิทธิ์นั้น นอกจากจะเป็นนวัตกรรมการจัดการทางสังคมสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับแนวคิดเรื่องรัฐและสังคมแล้วนั้น ในอีกด้านยังเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแปลงให้เป็นสินทรัพย์ (Commodification) ซึ่งส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงความเข้มข้น (หรือเบาบาง) ของเนื้อเมืองและกระบวนการกลายเป็นเมือง การมีอยู่ของสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของความเป็นเมืองในฐานะปัจเจกบุคคลและทรัพย์สิน (ที่เปลี่ยนเป็นทุนได้) โดยมีกายภาพเมืองเป็นผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์ของสองสิ่งนี้ เพราะเหล่านี้ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและปัจเจกชนแต่ละคนโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีกลุ่ม หรือชุมชนอย่างในอดีตอีกต่อไป ทำให้ส่งผลต่อกายภาพเมืองอย่างมีนัยยะโดยเกิดพื้นที่อันเป็นเส้นแบ่งจากการมีอยู่ของสถาบันขึ้น นั่นคือ แนวความคิดเรื่องพื้นที่ของรัฐและพื้นที่เอกชน โดยเฉพาะพื้นที่ของรัฐนั้นเป็นกลายเป็นประเด็นปัญหา ประเด็นปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะ รัฐมีความเป็นนามธรรมสูงกว่าชุมชน รัฐมีตัวตนที่เบาบางกว่า บ่อยครั้งเราไม่รู้ว่ารัฐคือใคร (ข้าราชการ นักการเมือง หน่วยงาน) ในขณะที่ที่เราพอจะรู้ว่าชุมชนหนึ่งประกอบไปด้วยใครบ้าง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในความหมายของสถาบัน รัฐจึงนิยามตนเองในความหมายที่แคบลงกลายเป็น “หน่วยงานรัฐ” เมื่อรัฐมีความหมายเหลือเพียงแค่หน่วยงานก็มีสถานะไม่ต่างกับเอกชน (ที่มีความเป็นนิติบุคคล) เท่าไรนัก ทำให้ในแง่พื้นที่สาธารณะก็มีความหมายเพียงพื้นที่ของหน่วยงานรัฐแทนที่จะเป็นสมบัติสาธารณะที่ทุกคนป็นเจ้าของ
ที่มา: https://readthecloud.co/wepark/
ในขณะที่ธรรมชาติของเมืองนั้นเปลี่ยนแปลงด้วยการเคลื่อนไหวแห่งทุน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เมืองและความเป็นเมืองคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงของกระแสทุนที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่ชัดเจนและเร็วที่สุด หากใครที่เคยอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่านอกเมืองเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จะลองสังเกตดูว่าสภาพรอบๆ ตัวท่านบัดนี้อาจจะถูกเรียกว่าใจกลางเมืองซึ่งค่อนข้างยากที่จะหาพื้นที่ “สาธารณะ” ในความหมายที่ทุกคนเป็นเจ้าของ การเปลี่ยนแปลงของสถานที่จากการเคลื่อนที่ของทุนเหล่านี้ คงเป็นเรื่องยากที่จะถามหาความเป็นสาธารณะได้ภายใต้กรอบของความเป็นสถาบันและนิติบุคคลที่ทั้งรัฐและเอกชนต่างมีสภาพไม่ต่างกันเท่าไรนัก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา