Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Roundabout
•
ติดตาม
5 ก.พ. 2021 เวลา 04:11 • ศิลปะ & ออกแบบ
ประตูกับสำนึกสู่จินตภาพเมือง
สิ่งหนึ่งที่เป็นสาระในงานออกแบบสภาพแวดล้อม และผมคิดว่ามีผลต่อการรับรู้สภาพแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองที่ใช้รถใช้ถนนเป็นการรับรู้ “ภาพเมือง” อย่างเมืองในประเทศไทย ก็คือ “ประตูทางเข้า” สู่โครงการต่างๆ โดยหากเราสัญจรไปตามถนนในเมืองเราจะพบเห็น ซุ้มประตูทางเข้าไปสู่โครงการหมู่บ้านจัดสรร โครงการอาคารชุดและสำนักงาน ส่วนราชการและเทศบาล ฯลฯ กันจนชินตา
มาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ (Martin Heidegger) นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ได้เคยกล่าวถึงความสัมพันธ์ของ ความเป็นข้างนอกและข้างใน จากงานเขียน Bauen und Wohnen (building and dwellings) ทำให้ ประตู กลายเป็นรูปธรรมหนึ่งที่กินความหมายเชิงปรัชญา ในฐานะสภาวะเชื่อมและเปลี่ยนผ่านความเป็นข้างนอกและข้างใน ซึ่งส่งผลในวงกว้างต่อการศึกษาทฤษฎีและปรัชญาสถาปัตยกรรม ทำให้ประตูนั้นเป็นหน่วยทางสถาปัตยกรรมที่มีการศึกษาอย่างกว้างขวางมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่พื้นที่ขนาดเล็กอย่างประตูทางเข้าบ้านเรือน ประตูทางเข้าหมู่บ้าน ประตูทางเข้าย่านชุมชนหรือโครงการเมืองใหม่ ตลอดไปจนถึงพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างประตูเมือง (Gateway) ของจังหวัดต่างๆ
ที่มา: http://www.thaismile.jp/FotoGallary/ThaiPics/e_ThaiPhoto_Lamphun_City.htm
ในทางไวยกรณ์สถาปัตยกรรมและการออกแบบพื้นที่ภายใน ประตูเป็นส่วนสำคัญในการแบ่งส่วนต่อการทำความเข้าใจในพื้นที่หรือภาพพื้นที่อย่างมีขอบเขตจำกัด เช่น ประตูห้องน้ำ ประตูห้องนอน ประตูห้องเก็บของ ทำให้เราจำลองมโนภาพถึงห้องเหล่านี้ในใจ เพียงแค่เห็นประตู โดยประตูได้ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของห้องต่างๆ ที่มีคุณลักษณะแตกต่างกันให้อยู่ด้วยกันภายในพื้นที่เดียวกันได้
ในสังคมไทยนั้น ความเข้าใจของประตูถูกยึดโยงเชิงสัญลักษณ์ในฐานะ ภูมิ-กายา (Geo-body) ที่ลักษณะทางภูมิศาสตร์ถูกเปรียบเปรยกับคุณลักษณะของ ร่างกาย มนุษย์ทั้งในระดับหน่วยขนาดเล็ก อย่างเช่น บ้านและเรือน ไปจนถึงหน่วยขนาดใหญ่อย่างเช่น เมืองและย่าน โดยเปรียบประตูว่าเป็นดั่งทวาร
จากความหมายและความเข้าใจต่อประตูตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้หน้าที่ของมัน มิใช่แต่เพียงเป็นการประกาศอาณาเขต (Territory) ในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่กินความในเชิงการรับรู้ถึงขอบเขตพื้นที่ทางจินตภาพ (Image) อีกด้วย อาทิ การกำหนดความเป็นสถาบันการศึกษาดังที่เห็นจากปากทางเข้าโรงเรียน/ มหาวิทยาลัย ความเป็นสถานที่ราชการต่างๆ ได้แก่ ศูนย์ราชการหรือพื้นที่ในเขตการดูแลของเทศบาลและสำนักงานเขต ความเป็นย่านการค้า เช่น ซุ้มประตูเข้าสู่ย่านเยาวราช ตลอดจนถึงความเป็นศาสนสถาน ดังเห็นได้ชัดเจน จากปากทางทางเข้าวัดวาอารามต่างๆ เป็นต้น
การเกิดขึ้นของประตูทางเข้าสู่อาณาบริเวณที่กำหนดมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งซึ่งทำให้เกิดภาพตัวแทน (Representation) ของความเป็นคุณลักษณะบางอย่างในพื้นที่แห่งความเป็นอะไรก็ตามแต่ โดยสิ่งนี้ได้สร้างภาพเมืองที่มีลักษณะเป็น ชิ้นเล็กชิ้นน้อย (Collage) ให้เกิดขึ้นในมโนสำนึกของผู้คนซึ่งมีลักษณะ แบ่งแยก และ ทับซ้อน ในเวลาเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย (หรือหน่วยงานเทศบาล) หลายแห่งที่ตั้งอยู่ในย่านพักอาศัยในหมู่บ้านจัดสรร ทางเข้าหมู่บ้านที่ให้ภาพการกำหนดอาณาเขตของการอยู่อาศัย ได้ถูกทับซ้อนด้วยประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย (หรือหน่วยงานเทศบาล) ที่บรรจุอยู่ในหมู่บ้านอีกชั้นหนึ่ง สิ่งนี้ทำให้เกิดการซ้อนทับของจินตภาพสองอย่าง (หรือมากกว่า) ในพื้นที่เดียวไปพร้อมๆ กัน
ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/774118
การเกิดขึ้นของพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยทั้งการแบ่งแยกและการทับซ้อน ได้สร้างส่วนผสมใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการนิยาม ภาพเมือง อื่นๆ อีก ในการสร้างจินตภาพเมือง และได้สลายความเข้าใจเมืองในเชิงเดี่ยวออกไป อาทิ ความเข้าใจที่มีต่อเกาะรัตนโกสินทร์ ผ่านซุ้มประตูในวันเฉลิมพระชนม์พรรษาที่ให้ภาพเมืองเก่าในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ภาพเดียว ได้สามารถประกอบสร้างใหม่ด้วยภาพเมืองของกระบวนการไปสู่เป็นสมัยใหม่ (Modernization) ด้วยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและอาคารแถวสไตล์ Brutalism สองข้างถนนราชดำเนินซึ่งทำหน้าที่เป็นซุ้มประตูต่อเนื่องไปจนถึงราชดำเนินนอก และลานพระบรมรูปทรงม้า ตามลำดับ ไม่เพียงแต่พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เท่านั้น พื้นที่อื่นๆ ที่มีความเจือจางของ กรอบมโนสำนึกต่อคุณลักษณะเชิงพื้นที่ ย่อมยิ่งสามารถสร้างจินตภาพที่มีความหลากหลายได้มากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ประตูของสถานที่ใดๆ ก็ตาม จึงเป็นมากกว่าเพียงทางเข้า-ออกเฉยๆ แต่การให้ความสำคัญต่อประตูต่างๆ เป็นวิธีการที่ง่ายในกำหนดขอบเขตความเข้าใจในกายภาพผ่านการสร้างมโนทัศน์บนพื้นที่ในจินตนาการของผู้คนที่มีต่อสถานที่นั้นๆ จึงไม่แปลกแต่อย่างไรที่เราถึงชอบทำป้ายทางเข้าของโครงการอะไรก็ตามให้ใหญ่และอลังการเข้าไว้
ส่วนอะไรคือมูลเหตุให้จำเป็นต้องช่วงชิงพื้นที่ในจินตนาการของผู้คนในสังคมไทยผ่านการสร้างประตู-รั้ว กันอย่างจ้าละหวั่นขนาดนี้ คงจำต้องมีการศึกษาอย่างกว้างขวางต่อไป เพราะในตอนนี้ผมเห็นประโยชน์ของมันแค่เพื่อเอาไว้บอกแท็กซี่ได้ถูกต้องเวลาไปที่นี่ ที่นั่น หรือไม่ก็จะได้ไม่หลงทางหากเดินทางไปด้วยตนเองเพียงเท่านั้น
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย