5 ก.พ. 2021 เวลา 08:57 • กีฬา
ไม่บ่อยนัก ที่จะมีคนกล้ายกเลิกสัญชาติเกาหลี แล้วมาถือสัญชาติไทยแทน แต่ในที่สุด "โค้ชเช" ก็ตัดสินใจได้ เรื่องราวเป็นอย่างไร วิเคราะห์บอลจริงจัง จะเล่าให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด
1
19 ปีอันยาวนาน กับการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต ในที่สุด "โค้ชเช" ก็พร้อมสละสัญชาติเกาหลีใต้ และเลือกสัญชาติไทยแทน
2
ย้อนกลับไป ในเดือนมกราคม 2002 วงการเทควันโด้ของไทยยังไม่ได้รับความนิยมเหมือนทุกวันนี้ คนทั้งประเทศมีไม่มากนักที่จะรู้จักว่ากีฬาเทควันโด้คืออะไร เล่นอย่างไร สนุกตรงไหน ขณะที่ผลงานของนักกีฬาไทย ยังไม่เคยได้เหรียญทองในเอเชียนเกมส์เลยสักครั้ง ดังนั้นในทัวร์นาเมนต์สเกลใหญ่กว่าอย่างโอลิมปิก ถ้าบอกว่าเราจะได้เหรียญมาครองจริงๆ ถือเป็นเป้าหมายที่ไกลเกินฝันมาก
3
แน่นอน เมื่อนักกีฬาของคุณยังไม่เก่งพอ ก็จำเป็นต้องหาโค้ชฝีมือดีเข้ามาสอนทักษะเบื้องต้น สมาคมเทควันโด้แห่งประเทศไทยจึงส่งคำขอไปที่สหพันธ์เทควันโด้โลกให้ช่วยส่งโค้ชฝีมือดีมาช่วยอบรม ซึ่งประจวบเหมาะกับที่ ชเว ย็อง-ซ็อก ผู้ฝึกสอนวัย 27 ปีจากเกาหลีใต้ หมดสัญญากับการคุมทีมชาติบาห์เรนพอดี สหพันธ์เทควันโด้โลกจึงแจ้งว่า สนใจหรือไม่ ถ้าจะมาทำงานที่ไทย
4
ตอนแรกเขาปฏิเสธ เพราะคุณแม่เพิ่งเสียชีวิต และรู้สึกว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องไปทำงานที่เมืองนอก อย่างไรก็ตาม หลังจากทบทวนอย่างละเอียดอีกครั้ง ชเว ย็อง-ซ็อก ก็ตอบตกลง เพราะอยู่ในเกาหลีต่อไป ก็มีแต่จะจมอยู่กับความเสียใจเรื่องคุณแม่ ดังนั้นจึงขอออกไปหาบรรยากาศใหม่ๆที่ต่างแดนดีกว่า
4
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2002 ชเว ย็อง-ซ็อก เซ็นสัญญาระยะสั้น 8 เดือน โดยมีเป้าหมายคือทำผลงานในเอเชียนเกมส์ที่ปูซาน ให้ประเทศไทยมีเหรียญให้ได้ ซึ่งการที่เขาเซ็นสัญญาระยะสั้นแบบนั้น เพราะไม่ได้คิดว่าจะอยู่ที่ไทยนาน สำหรับชเว แรกๆก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เขาไม่ชินกับประเทศใหม่ อาหารก็มีรสชาติแปลก แถมอากาศร้อนกว่าเกาหลี ภาษาก็ยากมากอีกต่างหาก ทุกอย่างดูลำบากไปหมด
4
แม้นอกสนามต้องปรับตัว แต่ในเรื่องการฝึกสอน ชเว ย็อง-ซ็อก ทำหน้าที่ของตัวเองได้สมบูรณ์มาก การมาของเขา เปลี่ยนแปลงวงการเทควันโด้ไทยไปตลอดกาล
8
จุดแข็งของเขาคือ การจริงจังกับการซ้อมมากๆ ในระดับที่คนไทยไม่คุ้นชินแน่ๆ โดยชเว เคยกล่าวไว้ว่าถ้าคุณคิดจะเป็นนักกีฬาแล้ว คุณต้องใส่เต็มร้อย ทำเป็นเล่นไม่ได้ ซึ่งความโหดแบบนั้น ไปๆมาๆ กลับกลายเป็นว่า ช่วยทำให้องค์ประกอบของวงการเทควันโด้ไทยมันคลิกพอดี เพราะนักกีฬาไทยมีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว เรื่องความคล่องตัว หลายคนเก่ง แต่ขาดการฝึกที่ถูกต้อง ซึ่งโค้ชก็ช่วยมาเติมเต็มตรงนี้ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
5
ผลงานของนักกีฬาไทย จึงพุ่งทะยานอย่างก้าวกระโดดมาก และในโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่เอเธนส์ "วิว" เยาวภา บุรพลชัย สามารถคว้าเหรียญทองแดงได้สำเร็จ
3
แม้จะเป็นแค่ทองแดง แต่ในอดีตไทยเคยได้เหรียญในโอลิมปิกจาก 2 ชนิดกีฬาเท่านั้นคือ มวยกับยกน้ำหนัก ในที่สุดก็มีกีฬาชนิดที่ 3 นั่นคือเทควันโด้ ไม่น่าเชื่อว่าเราจะยกระดับตัวเองไปถึงเหรียญโอลิมปิกได้ ซึ่งฝีมือของนักกีฬากับการโค้ชอันเข้มข้นของชเว ย็อง-ซ็อก เป็นส่วนผสมของความสำเร็จนี้
4
ณ จุดนี้ แฟนๆกีฬาชื่นชมโค้ชในเรื่องความจริงจังของเขา ขณะที่นักกีฬาเองก็รักเขา จากชื่อชเว ย็อง-ซ็อก เวลาผ่านไปทุกคนจึงเรียกเขาในชื่อสั้นๆว่า "โค้ชเช"
ผลงานของโค้ชเช บ่งบอกถึงศักยภาพของเขาได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปัจจุบัน โค้ชเช ช่วยให้ไทยได้เหรียญโอลิมปิกถึง 5 เหรียญ (เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง 3) นอกจากการฝึกสอนแล้ว ไหวพริบและความฉลาดในการแก้เกมในฐานะโค้ชก็ยอดเยี่ยม เชื่อว่าแฟนๆ คงนึกภาพออก ตอนแข่งขันเทควันโด้ โค้ชเช จะไปอยู่ข้างสนามคอยหาจังหวะชาลเลนจ์ ซึ่งแต่ละครั้งที่เขาเลือกชาลเลนจ์ นักกีฬาไทยก็ได้ประโยชน์เสมอ
4
สำหรับเป้าหมายของโค้ชเช และนักกีฬาเทควันโด้ นั่นคือต้องไปให้ถึง "เหรียญทองโอลิมปิก" ให้ได้สักครั้ง ซึ่งก็คาดว่าอีกไม่นานนักเราจะทำได้ บางทีอาจเป็นโอลิมปิกที่โตเกียว ที่กำลังจะมาถึงเลยก็ได้
4
จนถึงวันนี้ โค้ชเช อยู่ไทยมาแล้วถึง 19 ปี เขาพูดไทยได้ ฟังภาษารู้เรื่องสบายมาก ตอนนี้ปรับตัวกับชีวิตได้เป็นอย่างดีแล้ว และตัวเขาเองก็ได้รับความนับถือยกย่องไม่น้อยจากคนไทย อย่างไรก็ตาม ปมประเด็นที่เขายังไม่สามารถจัดการได้เด็ดขาดเสียทีนั่นคือเรื่องของสัญชาติ
2
แฟนกีฬาคงเคยได้ยินกันมาบ้าง กับประเด็นเรื่องการขอสัญชาติของโค้ชเช เรื่องนี้ยืดเยื้อกันมาหลายปีจนเคยมีข่าวดราม่าว่า โค้ชเชน้อยอกน้อยใจเตรียมจะอำลาตำแหน่งโค้ชทีมชาติมาแล้ว จนเกิดคำถามว่า โค้ชเช ก็อยู่ไทยมานานขนาดนี้ สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติก็มาก ทำไมยังไม่ได้สัญชาติเสียทีล่ะ
เรื่องนี้ต้องอธิบายด้วยข้อกฎหมายของไทยจะเห็นภาพชัดเจน โดยพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 19 ระบุไว้ว่า "รัฐมนตรีมีอำนาจถอนสัญชาติไทยได้ทันที ถ้าพบหลักฐานว่า ผู้แปลงสัญชาติ ยังคงเลือกใช้สัญชาติเดิม"
2
นั่นหมายความว่า ทางการไทย "ไม่ได้ห้าม" ให้โค้ชเช แปลงสัญชาติเป็นไทย ตรงกันข้ามกันเลย ประเทศไทยยินดีมากๆด้วยซ้ำ ถ้าคนต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถ อยากจะกลายมาถือสัญชาติไทย แต่ด้วยเงื่อนไขของการขอสัญชาติ นั่นแปลว่าโค้ชเชจำเป็นต้องสละสัญชาติเกาหลีใต้ของตัวเองเสียก่อน
4
สำหรับบุคคลทั่วไป อาจมีการแอบถือพาสปอร์ต 2 เล่ม คือในทางปฏิบัติมันพอทำได้ แต่กับคนมีชื่อเสียงอย่างชเว ย็อง-ซ็อก ที่คนจับตามองทั้งประเทศ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลบเลี่ยงแอบถือ 2 สัญชาติ ดังนั้นมันก็เลยคาราคาซังกันอย่างนี้ เพราะโค้ชเชเองก็ไม่พร้อมที่จะสละสัญชาติเกาหลีใต้เหมือนกัน
1
ย้อนกลับไปในปี 2016 โนห์ กวาง อิล เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทยได้เข้าไปพูดคุยกับ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เรื่องการขอสัญชาติที่ 2 ให้กับโค้ชเช เป็นกรณีพิเศษในฐานะบุคคลที่ทำความดีให้ไทย และอยู่ไทยมานานนับสิบปี
1
แต่การพูดคุยครั้งนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะกฎหมายไทยระบุชัดอยู่แล้ว และโค้ชเชก็ไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือใคร สรุปคือเขาถือ 2 สัญชาติไม่ได้ ดังนั้นก็อยู่ที่ตัวโค้ชเชเองนั่นแหละ ที่ต้องมาหักลบเหตุผล พิจารณาข้อดีข้อเสีย ว่าการถือสัญชาติไหน จะตอบโจทย์ชีวิตเขามากกว่ากัน
3
การถือสัญชาติเกาหลีใต้ ก็จะได้รับสิทธิพลเมืองของคนเกาหลีใต้แบบเต็มร้อย พาสปอร์ตเล่มเขียวของเกาหลีใต้ สามารถเดินทางได้ 189 ประเทศ โดยไม่ต้องขอวีซ่า เป็นพาสปอร์ตที่มีพลังมากที่สุดอันดับ 3 ของโลก (ส่วนพาสปอร์ตไทย ไปได้ 57 ประเทศ) นอกจากนั้นในตระกูลของชเว ย็อง-ซ็อก มีเขาเป็นผู้ชายคนสุดท้าย นั่นแปลว่าถ้าเขาสละสัญชาติ ตระกูลชเวก็จะขาดตอนทันที อีกอย่างโค้ชเช ยังมีห่วงที่เกาหลีใต้ คุณย่าก็อายุมากแล้ว ขณะที่ตัวเขาก็นึกไม่ออกเลยว่า จะใช้ชีวิตบั้นปลายที่ประเทศอื่นที่ไม่ใช่บ้านเกิดตัวเอง จากหลายๆเหตุผลทำให้โค้ชเชเองก็มีความลังเลใจเช่นกัน
6
อย่างไรก็ตามในอีกมุม การถือสัญชาติไทยก็มีความสำคัญ เพราะการจะประกอบธุรกิจหรือซื้อที่ดินต่างๆ โค้ชเชไม่สามารถทำได้ในฐานะคนต่างด้าว เช่นเดียวกับการขึ้นเป็นสภากรรมการของสมาคมฯ ก็ระบุไว้ว่าต้องเป็นคนสัญชาติไทยเท่านั้น นั่นแปลว่าถ้าโค้ชเชไม่มีสัญชาติไทย เขาก็จะเป็นได้แค่ผู้ฝึกสอนตลอดไปไม่ก้าวหน้าไปกว่านี้แล้ว และจะคิดทำธุรกิจอะไรในประเทศไทยก็ยากไปหมด
1
การถือสัญชาติเกาหลีใต้ หรือไทย ก็ต่างมีประโยชน์และตอบโจทย์คนละแบบ แต่ปัญหาคือคุณไม่สามารถได้อะไรทุกอย่างที่ต้องการ เมื่อได้อย่างก็จำเป็นต้องเสียอย่างอยู่ที่ตัวเขาเองนั่นล่ะ ว่าจะเลือก "ได้อะไร" และจะเลือก "เสียอะไร"
3
และแล้วหลังจากที่คิดหนักมาหลายปี ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจได้ โค้ชเชประกาศว่า "ผมพร้อมจะสละสัญชาติเกาหลี ครอบครัวของผมก็อยู่ที่นี่มานานแล้ว ทำให้รักและผูกพันกับเมืองไทย รักคนไทยและกีฬาเทควันโดของไทยมากเช่นกัน จึงอยากอยู่เมืองไทยตลอดไป"
6
โค้ชเชบอกว่าครอบครัวที่เกาหลีเข้าใจแล้ว และหมดห่วงเรื่องคุณย่าที่เสียชีวิตไปแล้ว เขายืนยันว่า ลูกชายอยู่ที่ไทยก็มีความสุข ขณะที่ตัวเขาก็แฮปปี้กับชีวิต เพราะมีลูกศิษย์มากมายซึ่งก็เปรียบเหมือนลูกชายและลูกสาวของตัวเองอีกคน ดังนั้นจึงพร้อมที่จะเดินหน้าในสเต็ปต่อไปแล้ว
5
โค้ชเชกล่าวว่า "ผมอยากได้สัญชาติไทย ผมอยากเป็นคนไทยแล้ว ผมอยากคว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้ประเทศไทย ในฐานะคนไทย ไม่ใช่คนเกาหลีที่พานักกีฬาไทยได้เหรียญ"
6
ซึ่งตอนนี้สมาคมเทควันโด้ ก็เร่งเดินเรื่องกับกระทรวงมหาดไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้การเปลี่ยนสัญชาติ "ทัน" ก่อนโอลิมปิกที่โตเกียวจะเริ่มขึ้นกลางปีนี้
2
จริงๆ การสละสัญชาติ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกด้วย ลองคิดดูว่า ถ้าเราต้องสละสัญชาติไทย มันหมายถึงว่า ทางกฎหมายเราจะไม่ใช่คนไทยอีกแล้ว มันคงเป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากมากๆทีเดียว
1
แต่สำหรับโค้ชเชหลังจากหักลบทุกอย่างอย่างถี่ถ้วน เขาสามารถตอบหัวใจตัวเองได้อย่างแน่ชัด ว่าเขาอยากเป็นคนไทย อยากจะถือสัญชาติไทย อยากให้ลูกเติบโตขึ้นมาในฐานะคนไทย และสิทธิพลเมืองต่างๆของเกาหลีใต้ เขาตัดสินใจยอมทิ้งทุกอย่าง
1
ดังนั้นสำหรับเรา ในฐานะพลเมืองไทย คงสามารถบอกเขาได้ ณ ตรงนี้ว่า
"ยินดีต้อนรับนะครับ โค้ชเช"
2
#CoachChoi
1
โฆษณา