6 ก.พ. 2021 เวลา 01:03 • อาหาร
Yu Sheng - อาหารวันตรุษจีนยุคใหม่
วันตรุษจีน 11 กุมภาพันธ์ใกล้เข้ามา คุณผู้อ่านเคยรับประทาน Yu Sheng ไหมครับ?
Yu Sheng เป็นอาหารที่รับประทานเฉลิมฉลองกันในโอกาสขึ้นปีใหม่หรือตรุษจีน การรับประทาน Yu Sheng เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรมาลายู อันได้แก่ประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์ ตอนนี้ในประเทศไทยก็เริ่มจะมีขายแล้วนะครับ
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.asiaone.com
Yu Sheng (鱼生) เป็นภาษาจีนกลาง แต่ในประเทศไทยจะคุ้นกับคำว่า Yee Sang ซึ่งเป็นภาษากวางตุ้งมากกว่า
Yu Sheng แปลตรงตัวแปลว่า “ปลาดิบ” แต่คำว่า Yu ที่แปลว่า “ปลา” นั้นพ้องเสียงกับคำที่แปลว่า “อุดมสมบูรณ์” และคำว่า Sheng ที่แปลว่า “ดิบ” ก็พ้องเสียงกับคำที่แปลว่า “ชีวิต” ดังนั้น Yu Sheng จึงแปลอีกความหมายหนึ่งได้ว่า “ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพย์สินและมีชีวิตที่ยืนยาว” (abundance of wealth and long life) ซึ่งก็เป็นคำที่มีความหมายเป็นมงคลเหมาะที่จะใช้กับวันปีใหม่
Yu Sheng หรือ Yee Sang (ต่อไปจะขออนุญาตใช้คำว่า “หยี่ซัง” ที่เราคุ้นเคยกันมากกว่านะครับ) เป็นอาหารที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ฉะนั้น เราก็จะพบหยี่ซังได้หลายเวอร์ชั่น แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องมีปลาดิบเป็นตัวหลัก ตามปกติก็จะเป็นปลาแซลมอน แต่ใครจะใช้ปลาทูน่า หรือปลาอื่นก็ได้ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
นอกจากปลาดิบแล้ว ส่วนประกอบอื่นที่จะมีกันก็ได้แก่ หัวไชเท้า แครอท แตงกวา พริกชี้ฟ้า ขิงดอง ทุกอย่างเอามาหั่นเป็นเส้น ส้มโอก็เอามาแยกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ถั่วลิสงคั่วบด งาคั่ว ผงพะโล้ แล้วก็แป้งกรอบหรือ cracker สำหรับโรยหน้า ก็ดูเอิกเกริกดีนะครับ
แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องปรุงและส่วนผสมของหยี่ซังทั้งหมดไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว อาจจะมีบางอย่างที่แตกต่างกันไปได้เช่น บางคนก็ใส่พริกชี้ฟ้าแดง หรือแมงกระพรุน ฯลฯ
ขอบคุณภาพประกอบจาก https://fouryearsofshades.tumblr.com/
หยี่ซังไม่ใช่อาหารจีนแต่โบราณแต่อย่างใด เป็นอาหารที่คิดขึ้นใหม่ไม่กี่สิบปีมานี้เอง แต่ถึงกระนั้นก็มีการโยงใยไปถึงยุคจีนโบราณเพื่อให้ดูขลัง โดยบอกว่า คนจีนในยุคโบราณก็ทานปลาดิบมาตั้งแต่ 2,000 กว่าปีก่อน มีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรราวปี 823 ก่อนคริสตกาลสมัยราชวงศ์โจว แต่ภายหลังในราชวงศ์หยวน( ค.ศ.1271-1368) ผู้คนก็เริ่มไม่นิยมปลาดิบเพราะเรื่องสุขอนามัย
หยี่ซังเริ่มกลับมาเป็นที่นิยมของคนกินใหม่ในยุคหลัง ในปี ค.ศ.1933 ภัตตาคาร Loong Yik Kee ในสิงคโปร์ขายปลาดิบที่กินคู่กับผักดอง น้ำตาลและน้ำส้ม ร้าน Yow Kee ก็ขายปลาดิบในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียในปี ค.ศ. 1945 โดยมีน้ำจิ้มบ๊วยเป็นเอกลักษณ์
แต่หยี่ซังที่มีเครื่องปรุงหลากสีหลายชนิดร่วมกันอย่างที่เราทานทุกวันนี้เพิ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1964 เมื่อเชฟ 4 คนอันได้แก่ Lau Yoke Pui, Tham Yui Kai, Sin Leong และ Hooi Kok Wai ซึ่งเป็นเชฟอาหารจีนที่มีชื่อเสียงในสิงคโปร์ในยุคนั้นได้ร่วมกันรังสรรค์อาหารชนิดใหม่นี้ขี้น แต่ก็มีบางตำราบอกเพิ่มอีกว่า เชฟของภัตตาคาร Lai Wah เป็นผู้ทำให้ซอสที่ราดลงไปบนหยี่ซังนั้นได้มาตรฐาน
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://ieatishootipost.sg/
ว่ากันว่าหยี่ซังในระยะเริ่มแรกนั้นยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนในช่วงทศวรรษ 1970 จึงได้รับความนิยมขึ้นมามากในหมู่คนหนุ่มสาว และเผยแพร่ต่อไปยังประเทศอื่น ๆ
ประวัติของหยี่ซังแม้จะย้อนหลังไปไม่นานนัก แต่ก็ไม่ยักกะมีความแน่นอน บางอันก็ย้อนไปโยงใยถึงเทพเจ้าโบราณ มีหลายอันที่บอกว่าหยี่ซังเกิดขึ้นในประเทศมาเลเซียก่อนสิงคโปร์ จากความที่สิงคโปร์เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย ภายหลังจึงแยกตัวออกมาเป็นประเทศเอกราช ก็เลยอาจจะมีความพยายามที่จะสร้างความเป็นชาตินิยมให้แก่ประเทศของตนทั้งสองฝ่าย
แต่ทุกวันนี้ก็ต้องยอมรับว่าหยี่ซังได้รับความนิยมในประเทศสิงคโปร์มากกว่ามาเลเซีย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะประเทศมาเลเซียมีชาวจีนเป็นพลเมืองอยู่เพียง 23% ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่สิงคโปร์มีพลเมืองเชื้อสายจีนถึง 76% ของประชากรทั้งหมด
การจะรับประทานหยี่ซังพอเราจะเตรียมเครื่องปรุงอันได้แก่ปลาและผักต่าง ๆ แล้วก็เอามาจัดเรียงใส่จานใหญ่ เสร็จแล้วก็ต้องมีน้ำซอสราด น้ำซอสของหยี่ซังทำจากน้ำจิ้มบ๊วยผสมกับน้ำมะนาว น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันงา เติมน้ำเปล่าเล็กน้อย ผสมให้เข้ากัน แล้วก็ราดไปบนเครื่องปรุงซึ่งจัดเรียงไว้นั้นเหมือนกับเวลาเราราดน้ำสลัดไปบนชามผักสลัด หยี่ซังของเราก็เป็นอันพร้อมที่จะรับประทาน
แต่การรับประทานหยี่ซังไม่ใช่จัดใส่จานราดน้ำจิ้มแล้วก็รับประทานได้นะครับ ด้วยการที่ หยี่ซัง เป็นอาหารมงคลของวันตรุษจีน ก่อนจะรับประทานก็ต้องทำพิธี “Lo Hei” เสียก่อน
พิธี “Lo Hei” ที่ว่านี้ก็คือ การคลุกส่วนผสมต่างๆ ที่ราดน้ำซอสแล้วของ หยี่ซังให้เข้ากัน โดยสมาชิกผู้ร่วมรับประทานทุกคนต่างก็ต้องใช้ตะเกียบของตนคลุก และต้องยกตะเกียบขึ้นสูง ๆ แล้วปล่อยลงมาพร้อมกล่าวคำอวยพรพร้อม ๆ กันด้วยเสียงดังฟังชัดว่า Loh Hei(ซึ่งแปลว่า คีบขึ้นมาสูง ๆ) และคำที่เป็นมงคลอื่น ๆ (เช่นขอให้ทำมาค้าขึ้น มีสุขภาพดี ฯลฯ)เพื่อให้ประสบโชคดีในปีใหม่ เป็นความเชื่อว่ายิ่งยกตะเกียบขึ้นสูงมากเท่าใด เงินทองยิ่งไหลมาเทมา ธุรกิจการค้าจะรุ่งเรือง และสุขภาพก็จะแข็งแรง
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.atlasobscura.com
ก็เป็นเรื่องน่าสนุกนะครับ เขาคิดค้นหยี่ซังมาให้เป็นอาหารมงคลในวันตรุษจีน เพราะฉะนั้นก็เลยต้องมีพิธีกรรมให้เอิกเกริกนิดหน่อย ให้สมกับเป็นอาหารที่ฉลองกันในวันขึ้นปีใหม่
แต่ตรุษจีนปี 2021 นี้อาจจะไม่สนุกสนานเท่าที่ควร สาเหตุก็เพราะโรคไวรัสโควิด-19 ยังระบาดอยู่ กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ได้ออกมาตรการเพื่อป้องกันการระบาดดังกล่าวเช่น ไปเยี่ยมเยียนกันในช่วงตรุษจีนได้ไม่เกินวันละ 8 คนเท่านั้นตั้งแต่วันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา หรือการจัดงานสังสรรค์กันนอกบ้านก็จะจัดได้ไม่เกิน 8 คนเช่นกัน
ในส่วนที่เกี่ยวกับการรับประทานหยี่ซังซึ่งเป็นอาหารในวันตรุษจีนนอกบ้าน ก็มีข้อห้ามคือ ห้ามมิให้กล่าวคำมงคลหรืออวยพรใด ๆ ทั้งสิ้น ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยระหว่างที่คีบหยี่ซังขึ้นสูง ๆ ให้ผสมกัน และห้ามไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวข้องกันกับโต๊ะอื่น(เช่น ข้ามโต๊ะไปดื่มอวยพร)
เพราะฉะนั้น ในปีนี้ก็จะมีการคีบหยี่ซังขึ้นสูง ๆ แต่ไม่มีเสียงกล่าวคำมงคล เป็นการฉลองวันตรุษจีนแบบเงียบนะครับ
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.channelnewsasia.com
ในบ้านเรา ก็สามารถหาหยี่ซังรับประทานได้นะครับ ภัตตาคารอาหารจีนตามโรงแรมหรือร้านอาหารจีนหลายแห่งก็เอาหยี่ซังมาเผยแพร่อยู่ เป็นการรับเอาวัฒนธรรมการกินของชาวสิงคโปร์-มาเลเซียเข้ามาเผยแพร่ต่อชาวไทยเชื้อสายจีน
ตรุษจีนปีนี้ใครจะไปลองหยี่ซังพร้อมกับส่งเสียงทำพิธี Lo Hei กันก็ได้เพราะบ้านเราไม่ได้มีกฎห้ามแต่อย่างใด แต่ทำกันพอเป็นพิธีก็คงพอนะครับ ส่งเสียงอวยพรกันมากเดี๋ยวแทนที่เป็นมงคล จะเกิดผลในทางตรงกันข้ามแทน ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่าครับ
Gourmet Story - เรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่เป็นเกร็ดความรู้ เล่าสู่กันฟัง เพิ่มความอร่อยของอาหารที่เรารับประทาน ติดตามได้ที่
โฆษณา