23 ก.พ. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
“ไททานิค (Titanic)” เรือที่ไม่มีวันจม
6
ผมเคยเขียนเรื่องราวของไททานิค (Titanic) ไว้หลายบทความแล้ว มีทั้งที่เป็นซีรีส์และเป็นบทความสั้น
แต่เรื่องราวของเรือลำนี้ก็ยังคงมีเสน่ห์ให้ค้นหา ผมจึงได้เขียนบทความ เล่าเรื่องของเรือลำนี้อย่างละเอียดและจบในตอนเดียว เผื่อใครที่ขี้เกียจอ่านเป็นตอนๆ ในซีรีส์ ก็อ่านในบทความนี้รวดเดียวจบเลยก็ได้ครับ
1
แต่ก่อนจะพูดถึงเรือที่ไม่มีวันจมลำนี้ ต้องย้อนไปถึงประวัติการเดินทางด้วยเรือกันก่อน
4
แต่โบราณจนถึงกลางศตวรรษที่ 18 เรือต่างๆ จะแล่นได้ก็ด้วยแรงลม และเนื่องจากไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าลมจะพัดตอนไหน ไปในทิศทางใด ทำให้การเดินทางด้วยเรือในสมัยโบราณนั้นใช้เวลานาน บางทีก็เป็นสัปดาห์ บางครั้งก็เป็นเดือน
1
เรือในสมัยโบราณ
ต่อมาในศตวรรษที่ 19 เครื่องจักรไอน้ำได้รับการพัฒนามาติดบนเรือ ทำให้เรือสามารถเดินทางได้สะดวกขึ้นและรวดเร็วขึ้น
เวลาผ่านไป เรือที่เดินทางด้วยเครื่องจักรไอน้ำก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และเดินทางข้ามมหาสมุทรได้รวดเร็วกว่าเดิมมาก
สำหรับผู้โดยสารที่มีฐานะร่ำรวย การเดินทางบนเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกนั้นก็คือการพักผ่อน ได้ทานอาหารที่หรูหรา พักในห้องพักหรูๆ บนเรือ
แต่สำหรับผู้โดยสารฐานะยากจนที่เดินทางในห้องพักชั้นสาม การเดินทางข้ามมหาสมุทรไปสหรัฐอเมริกา คือการแสวงหาโอกาสความก้าวหน้าในชีวิต
1
เรือโดยสารในศตวรรษที่ 20
ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ชาวยุโรปจำนวนมากได้ย้ายมายังสหรัฐอเมริกา และเดินทางมาโดยเรือโดยสาร
ช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่ 19 ได้มีบริษัทเดินเรือสัญชาติอังกฤษสองบริษัท ที่เป็นยักษ์ใหญ่ แข่งขันกันอย่างดุเดือด
หนึ่งก็คือ “ไวท์สตาร์ไลน์ (White Star Line)” อีกหนึ่งคือ “คูนาร์ดไลน์ (Cunard Line)”
ไวท์สตาร์ไลน์ (White Star Line)
คูนาร์ดไลน์ (Cunard Line)
ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) คูนาร์ดไลน์ประสบความสำเร็จในการสร้างเรือจำนวนสองลำ ซึ่งสามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในเวลาเพียงห้าวัน
ไวท์สตาร์ไลน์ซึ่งพ่ายแพ้ในศึกนี้ก็มาคิด ถึงพวกเขาไม่สามารถสร้างเรือที่เร็วกว่าคูนาร์ดไลน์ได้ แต่ถ้าสร้างให้ใหญ่กว่าล่ะ?
ไวท์สตาร์ไลน์ตัดสินใจสร้างเรือจำนวนสามลำ โดยหนึ่งในสามนั้นคือ “ไททานิค (Titanic)”
แบบพิมพ์เขียวเรือไททานิค
มีนาคม ค.ศ.1909 (พ.ศ.2452) การก่อสร้างไททานิคได้เริ่มขึ้นที่เบลฟาสต์ ประเทศไอร์แลนด์เหนือ โดยเริ่มก่อสร้างจากล่างขึ้นบน
ตัวเรือนั้นถูกสร้างโดยแบ่งออกเป็น 16 ตอน และแต่ละตอนจะมีกำแพงกั้นแยก หากมีน้ำเข้าตัวเรือ ประตูกันน้ำจะปิด แยกส่วนที่น้ำเข้าออกอย่างชัดเจน ต่อให้น้ำท่วมเรือถึงสี่ส่วน เรือก็จะยังคงลอยอยู่ได้ และก็เป็นการยากที่น้ำจะเข้ามาได้ถึงขนาดนั้น
ด้วยความที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ยอดเยี่ยม หนังสือพิมพ์จึงเริ่มเรียกไททานิคว่า “เรือที่ไม่มีวันจม”
1
การก่อสร้างไททานิค
การก่อสร้างไททานิคใช้คนงานชาวไอริชกว่า 15,000 คน โดยเหล่าคนงานทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ หกโมงเช้าถึงห้าโมงครึ่ง มีเวลาพักในตอนเช้าเพียง 10 นาที พักทานอาหารกลางวันเพียงครึ่งชั่วโมง และในระหว่างการก่อสร้าง ก็มีคนงานเสียชีวิตไปถึงแปดคน
31 พฤษภาคม ค.ศ.1911 (พ.ศ.2454) ตัวเรือไททานิคก็พร้อมลงสู่แม่น้ำแลแกน โดยส่วนของดาดฟ้านั้นเสร็จหมดแล้ว แต่ภายในยังว่างเปล่า โดยนี่เป็นเพียงรอบทดลอง ทดสอบดูว่าเรือจะลอยหรือไม่
1
มีผู้คนมาชมการลงสู่น้ำของไททานิคเกือบ 100,000 คน โดย “เจ บรู๊ซ อิสเมย์ (J. Bruce Ismay)” กรรมการผู้จัดการบริษัทไวท์สตาร์ไลน์ ก็ยืนดูบนเวทีพิเศษ อีกทั้ง “เจพี มอร์แกน (J. P. Morgan)” นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้ซึ่งเป็นเจ้าของไวท์สตาร์ไลน์ ก็ได้มาดูด้วย
ไททานิคในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.1911 (พ.ศ.2454)
ผู้คนต่างส่งเสียงเชียร์และตื่นเต้นกับความยิ่งใหญ่ของไททานิค และในวันนี้ก็ผ่านไปได้อย่างดี
ภายหลังจากที่ทดลองนำไททานิคลงน้ำ ก็ได้มีการตกแต่งภายในเรือ โดยภายในเรือก็ตกแต่งอย่างหรูหรา รวมทั้งจัดการเรื่องเครื่องยนต์กลไกภายใน
ไททานิคสามารถแล่นด้วยความเร็วสูงสุด 24 น็อทส์ (ประมาณ 43 กิโลเมตร) ซึ่งอาจจะไม่เร็วเท่าเรือลำอื่นๆ ของคูนาร์ด แต่สิ่งที่ไททานิคมีคือความอลังการ
1
2 เมษายน ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) ไททานิคก็ได้ถูกทดสอบอีกครั้ง โดยคราวนี้ได้ลองทดลองแล่นบนทะเลโดยเครื่องยนต์ของเรือ ไม่มีเรือจูงเหมือนครั้งก่อน และทุกอย่างก็ผ่านไปอย่างดี
10 เมษายน ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) เป็นวันที่ไททานิคมีกำหนดการเดินทางออกจากเซาท์แทมป์ตัน ประเทศอังกฤษ แต่ก่อนที่จะนำผู้โดยสารขึ้นเรือ ก็จำเป็นต้องเก็บสัมภาระขึ้นเรือก่อน
สัมภาระที่นำขึ้นไททานิคนั้นมีจำนวนมาก นอกจากสัมภาระของผู้โดยสารแล้ว ก็ยังมีสินค้าของธุรกิจต่างๆ ที่ขนไปกับเรือ
เมื่อไททานิคลงสู่ทะเล พร้อมจะเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เสบียงบนเรือต้องถูกเตรียมพร้อมอย่างดี เพียงพอสำหรับคนจำนวนกว่า 2,200 คน
เสบียงที่นำขึ้นเรือนั้น มีเนื้อสดจำนวน 34,000 กิโลกรัม ไข่จำนวน 40,000 ฟอง น้ำตาลจำนวน 4,500 กิโลกรัม และมะนาวอีก 16,000 ลูก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
ห้องครัวบนไททานิค
เมื่อมีการโหลดสัมภาระขึ้นบนเรือหมดแล้ว ก็ถึงเวลาที่ลูกเรือเข้าประจำที่ โดยกัปตันเรือไททานิคคือ “เอ็ดเวิร์ด สมิธ (Edward Smith)”
1
กัปตันสมิธทำงานกับไวท์สตาร์ไลน์มานานกว่า 38 ปี และเขาก็ตั้งใจให้การทำงานบนเรือไททานิคเป็นการเดินทางเที่ยวสุดท้าย ก่อนที่จะเกษียณ
1
เอ็ดเวิร์ด สมิธ (Edward Smith)
นอกจากลูกเรือและพนักงานประจำจุดต่างๆ ก็ถึงเวลาของผู้โดยสาร โดยผู้โดยสารรายแรกคือ “โทมัส แอนดริวส์ (Thomas Andrews)” สถาปนิกผู้ออกแบบไททานิค
แอนดริวส์เดินทางไปพร้อมกับไททานิค เนื่องจากเขาอยากมาตรวจดูความเรียบร้อยของเรือ
โทมัส แอนดริวส์ (Thomas Andrews)
ผู้โดยสารกว่า 1,300 คนเดินขึ้นมาตามทางเดินโดยมีนักดนตรีที่ยืนอยู่บนชั้นที่สูงกว่า คอยเล่นดนตรี ต้อนรับเหล่าผู้โดยสาร
และในที่สุด ก็ถึงเวลาออกเดินทาง
จากเซาท์แทมป์ตัน ประเทศอังกฤษ ไททานิคออกเดินทางไปยังแชร์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งก็มีผู้โดยสารขึ้นเรือมาอีกประมาณ 300 คน และมีคนอีกจำนวนหนึ่งออกไปจากเรือ
ราวๆ 1.40 น. ของวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) ไททานิคก็ออกเดินทางสู่นิวยอร์ก และนี่คือครั้งสุดท้ายที่ไททานิคจะได้เห็นฝั่ง
สำหรับผู้โดยสารของไททานิคนั้น มีมาจากประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศ (บางแหล่งข้อมูลบอกว่ามีผู้โดยสารคนไทยด้วย) หากแต่ผู้โดยสารส่วนใหญ่มาจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา
ดาดฟ้าเรือชั้นสูงจำนวนสี่ชั้นเป็นของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง และห้องสวีทที่มีราคาแพงที่สุด หากคิดตามค่าเงินปัจจุบัน จะมีราคาสูงถึง 60,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,800,000 บาท)
ห้องพักชั้นหนึ่งของไททานิค
ผู้โดยสารที่รวยที่สุดบนไททานิคคือ “จอห์น เจคอบ แอสเตอร์ที่ 4 (John Jacob Astor IV)”
แอสเตอร์เป็นชาวอเมริกันที่ทำธุรกิจขนสัตว์และเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมาก โดยแอสเตอร์และภรรยาต้องการเดินทางกลับบ้านที่นิวยอร์ก หลังจากมาฮันนีมูน
จอห์น เจคอบ แอสเตอร์ที่ 4 (John Jacob Astor IV)
การได้พักในห้องพักชั้นหนึ่งของไททานิค เปรียบเสมือนการพักในโรงแรมหรูกลางทะเล หลายๆ ห้องมีห้องนั่งเล่นและห้องนอนสำหรับคนรับใช้
ห้องพักชั้นหนึ่งแต่ละห้องมีการตกแต่งที่ต่างกัน บางห้องตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ฝรั่งเศส หลายๆ ห้องตกแต่งสไตล์อังกฤษ
เลานจ์ของห้องพักชั้นหนึ่งบนไททานิค
สำหรับห้องพักชั้นสองนั้นก็สะอาดและสะดวกสบาย หลายๆ ห้องมีเตียงสองชั้น โซฟา และโต๊ะหนังสือ ซึ่งอันที่จริง ห้องพักชั้นสองของไททานิค เทียบได้กับห้องพักชั้นหนึ่งบนเรือลำอื่นๆ
ห้องพักชั้นสองของไททานิค
แต่ผู้โดยสารส่วนใหญ่คือผู้โดยสารในห้องพักชั้นสาม
ห้องพักชั้นสามนั้นมีลักษณะเรียบง่าย โดยห้องส่วนใหญ่มีเตียงจำนวนสี่เตียง หลอดไฟ และซิงค์ล้างมือ แต่ผู้โดยสารชั้นสามจำนวน 700 คนต้องแบ่งกันใช้อ่างอาบน้ำที่มีเพียงจำนวนสองอ่าง
ห้องพักชั้นสามของไททานิค
ผู้โดยสารชั้นหนึ่งนั้นมีกิจกรรมให้เลือกทำหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปทดลองใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายต่างๆ ในยิม เข้าไปในห้องอาบน้ำแบบตุรกี ว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ โดยสระว่ายน้ำนั้นอนุญาตให้เฉพาะผู้โดยสารชั้นหนึ่งเท่านั้น
สระว่ายน้ำของไททานิค
สำหรับผู้โดยสารชั้นสอง ก็มีห้องสมุดและห้องสำหรับสูบบุหรี่ โดยพวกเขาสามารถเล่นไพ่หรือหมากรุก และยังสามารถเดินเล่นบนทางเดินที่จัดไว้สำหรับผู้โดยสารชั้นสองโดยเฉพาะ
สำหรับผู้โดยสารชั้นสาม ต่างก็มักจะเต้นรำกันในห้องรวมหรือไม่ก็เดินเล่นในบริเวณสำหรับผู้โดยสารชั้นสาม
อาหารบนเรือไททานิคก็เลิศหรู โดยผู้โดยสารชั้นหนึ่งจะทานอาหารในห้องอาหารที่หรูหรา เฟอร์นิเจอร์ก็ทำมาจากไม้โอ๊คราคาแพง โดยในเวลานั้น ห้องอาหารชั้นหนึ่งบนไททานิคเป็นห้องอาหารบนเรือที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น
3
พนักงานจะนำล็อบสเตอร์และคาร์เวียร์มาเสิร์ฟ
ห้องอาหารชั้นหนึ่งบนไททานิค
สำหรับห้องอาหารของผู้โดยสารชั้นสอง ถึงแม้จะไม่หรูหราเท่าชั้นหนึ่ง หากแต่ก็หรูหราพอสมควร เฟอร์นิเจอร์ก็ทำมาจากไม้มะฮอกกานี และยังมีเปียโนอีกด้วย
ผู้โดยสารชั้นสามก็มีห้องอาหารของตนเอง ซึ่งถึงแม้ว่าห้องอาหารชั้นสามจะธรรมดา แต่ในเวลานั้น การที่ผู้โดยสารชั้นสามมีห้องอาหารเป็นของตนเอง ก็นับเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา
ในขณะที่ผู้โดยสารคนอื่นๆ กำลังเพลิดเพลินกับการเดินทาง “เจ บรู๊ซ อิสเมย์ (J. Bruce Ismay)” กรรมการผู้จัดการไวท์สตาร์ไลน์ก็กำลังดูเวลาอย่างจดจ่อ
ตามกำหนด การเดินทางนี้จะใช้เวลาแปดวัน แต่อิสเมย์ต้องการให้ไททานิคถึงนิวยอร์กเร็วกว่านั้น จะได้สร้างชื่อเสียงให้ไวท์สตาร์ไลน์มากยิ่งขึ้น
เจ บรู๊ซ อิสเมย์ (J. Bruce Ismay)
ภายในคืนวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) ไททานิคก็เดินทางมาเกินครึ่งทางแล้ว อีกไม่ไกลก็ถึงนิวยอร์ก โดยบนเรือไททานิคมีเจ้าหน้าที่วิทยุประจำอยู่สองนาย ทำหน้าที่รับส่งข้อความทางโทรเลข โดยข้อความส่วนมากคือข้อความติดต่อกับเรือลำอื่นๆ ใกล้เคียง
เจ้าหน้าที่ทั้งสองนายนี้งานล้นมือ เนื่องจากเมื่อคืนก่อนเครื่องโทรเลขได้หยุดทำงานไปเป็นเวลาหลายชั่วโมง ทำให้มีข้อความตกค้างเป็นจำนวนมาก โดยข้อความจำนวนมากเป็นของผู้โดยสารที่ต้องการส่งหาครอบครัวหรือเพื่อน หากแต่ข้อความหลักๆ ที่พวกเขาต้องใส่ใจคือข้อความเตือนเรื่องสภาพน้ำและอันตรายที่อาจจะมีข้างหน้า
1
ห้องรับส่งโทรเลขบนไททานิค
ภายหลังจากเดินทางมาอย่างราบรื่นเป็นเวลาสี่วัน ไททานิคก็ได้เข้ามาในทุ่งน้ำแข็ง
1
ในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) เจ้าหน้าที่วิทยุได้รับข้อความเตือนเรื่องน้ำแข็งในทะเลจากเรือลำอื่นถึงเจ็ดครั้ง โดยมีข้อความหนึ่ง เตือนเรื่องภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 250 ไมล์ (ประมาณ 402 กิโลเมตร)
ไททานิคกลางทุ่งน้ำแข็ง
เจ้าหน้าที่วิทยุได้ส่งข้อความไปให้กัปตันสมิธ และกัปตันสมิธก็ตัดสินใจ เปลี่ยนเส้นทางเรือไปทางใต้ ห่างจากเส้นทางเดิม 10 ไมล์ (ประมาณ 16 กิโลเมตร) ซึ่งกัปตันก็เชื่อว่าเพียงเท่านี้ก็เพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงอันตรายได้แล้ว
ไททานิคนั้นแข็งแรงมากจนได้รับฉายาว่า “เรือที่ไม่มีวันจม” ทำให้บางที กัปตันสมิธอาจจะวางใจและไม่คิดว่าไททานิคจะจมได้
3
กัปตันสมิธไม่สั่งให้ลูกเรือลดความเร็วของเรือ ไททานิคยังคงเดินหน้าเต็มกำลังต่อไป
3
ดาดฟ้าสำหรับผู้โดยสารชั้นสอง
ในคืนนั้น อุณหภูมิเริ่มลดลง ผู้โดยสารต่างรู้สึกหนาว และส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะอยู่ข้างในตัวเรือมากกว่าจะออกมาเดินเล่นด้านนอก
2
คืนนั้นไม่มีพระจันทร์ ท้องฟ้ามืดสนิท
22.55 น. เจ้าหน้าที่วิทยุได้รับข้อความเตือนเรื่องน้ำแข็งเป็นครั้งสุดท้ายของวัน ซึ่งในเวลาต่อมา “แคลิฟอร์เนียน (Californian)” เรือที่อยู่ใกล้กับไททานิค ได้พยายามส่งข้อความเตือนเรื่องอันตรายข้างหน้า หากแต่เจ้าหน้าที่วิทยุกำลังยุ่งกับการส่งข้อความให้ผู้โดยสารบนเรือ จึงไม่ได้สนใจคำเตือนของแคลิฟอร์เนียน และได้บอกกับเรือแคลิฟอร์เนียนว่า
1
“หุบปากซะ”
แคลิฟอร์เนียน (Californian)
45 นาทีหลังจากแคลิฟอร์เนียนส่งข้อความเตือน ยามสองนายที่ทำหน้าที่สอดส่องดูแลความปลอดภัยบนทะเลยังคงทำหน้าที่ต่อไป
พวกเขาเข้าประจำที่ตั้งแต่เวลา 22.00 น. และทุกอย่างก็ดูเรียบร้อยดี
23.40 น. ยามทั้งสองที่ง่วงเหงาหาวนอนเห็นอะไรแปลกๆ กลางทะเล และเมื่อเพ่งตาดูดีๆ
มันคือ “ภูเขาน้ำแข็ง”
ภูเขาน้ำแข็งลูกที่เชื่อว่าทำให้ไททานิคจม
ยามทั้งสองหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง รีบสั่นกระดิ่งและรายงานว่ามีภูเขาน้ำแข็งอยู่ด้านหน้า เส้นทางเดียวกับที่ไททานิคกำลังเดินทาง
เจ้าหน้าที่รีบสั่งให้ดับเครื่อง และให้ไททานิคเอียงตัว เลี้ยวไปด้านข้างเพื่อหลีกเลี่ยงการชนโดยตรง หากแต่การทำให้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่หันเหออกจากทางตรงนั้นทำได้ยาก
เจ้าหน้าที่กลั้นหายใจอย่างตระหนกขณะที่ไททานิคกำลังหันหัวเรือออกจากเส้นทางเดิม หากแต่สายไปแล้ว ด้านข้างของไททานิคชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งเต็มๆ
ไททานิคขณะชนภูเขาน้ำแข็ง
หมุดที่ยึดเกาะเหล็กด้านข้างของไททานิคนั้นหลุดออก ทำให้ด้านข้างของเรือเปิดออกเป็นทางยาวกว่า 300 ฟุต (ประมาณ 90 เมตร)
กัปตันสมิธ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในห้องพัก ก็รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนและรีบไปหาเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งถาม
“เราชนอะไร”
คำตอบคือ
“ภูเขาน้ำแข็งครับ”
กัปตันสมิธและเจ้าหน้าที่บนไททานิค
กัปตันสมิธสงบสติอารมณ์ และถามว่าประตูกันน้ำที่แยกแต่ละส่วนนั้นปิดอยู่หรือไม่ และกัปตันสมิธก็สั่งดับเครื่อง โดยหวังว่าจะทำให้น้ำที่ไหลเข้าตัวเรือนั้นท่วมช้าลง จากนั้นก็สั่งให้ตรวจสอบความเสียหายใต้ท้องเรือ
รายงานแรกที่รายงานกัปตันนั้นเหมือนจะดี ไม่พบความเสียหาย หากแต่เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ลงไปลึกถึงจุดที่เสียหาย
จากนั้นข่าวร้ายก็เริ่มมา ห้องไปรษณีย์นั้นถูกน้ำท่วมแล้ว ทุกๆ วินาที จะมีน้ำเข้ามาในตัวเรือถึงเจ็ดตัน เจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันขนจดหมายนับร้อยฉบับขึ้นมายังชั้นบน
ห้องไปรษณีย์ของไททานิค
กัปตันสมิธรีบไปพบกับ “โทมัส แอนดริวส์ (Thomas Andrews)” สถาปนิกผู้ออกแบบเรือไททานิค
แอนดริวส์เพิ่งจะไปตรวจสอบส่วนล่างของเรือ และภายใน 10 นาที ก็พบว่าน้ำได้ท่วมเข้ามาในปริมาณมาก และประตูกันน้ำก็เอาไม่อยู่แล้ว
แอนดริวส์บอกสิ่งที่ทำให้ทุกคนหน้าซีด
“ไททานิคจะอยู่ได้อีกไม่ถึงสองชั่วโมง”
กัปตันสมิธและแอนดริวส์ (ภาพจากภาพยนตร์ A Night To Remember 1958)
ห้านาทีหลังเที่ยงคืน กัปตันสมิธสั่งให้เจ้าหน้าที่เตรียมเรือชูชีพ โดยไททานิคมีเรือชูชีพจำนวน 20 ลำ หากแต่จุคนได้เต็มที่เพียง 1,178 คน นั่นหมายความว่ามีคนอีกเป็นพันที่จะไม่ได้ลงเรือชูชีพ
ทางด้านผู้โดยสาร ก็ยังไม่รู้ว่าเกิดเรื่องร้ายแรงขึ้น ถึงแม้ผู้โดยสารจะได้ยินเสียงดังตอนไททานิคชนภูเขาน้ำแข็ง หากแต่ก็ไม่ได้สนใจ
ในห้องพักชั้นหนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้เคาะประตู เรียกให้ผู้โดยสารออกจากห้องและใส่เสื้อชูชีพและขึ้นไปบนดาดฟ้าเรือ โดยเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีอะไรต้องกลัว กัปตันแค่อยากให้ขึ้นมาเพื่อสำรวจความปลอดภัยเท่านั้น
1
ส่วนบริเวณห้องพักชั้นสามนั้น เจ้าหน้าที่รีบไปเรียกโดยไม่สนใจมารยาท ต่างตะโกนให้รีบออกมาจากห้องและใส่เสื้อชูชีพ โดยในเวลานั้น น้ำเริ่มซึมเข้ามาในห้องพักชั้นสามแล้ว
2
ภาพวาดบนดาดฟ้าไททานิค
เวลา 0.10 น. กัปตันสมิธไปที่ห้องรับส่งโทรเลข และสั่งให้เจ้าหน้าที่ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็รีบส่งข้อความรหัสมอร์สไปว่า “CQD” ก่อนจะส่ง “SOS” ซึ่งเป็นรหัสขอความช่วยเหลืออันใหม่ที่เพิ่งได้ใช้
มีเรือตอบกลับมาจำนวนสามลำ โดยเรือที่อยู่ใกล้ที่สุดคือ “คาร์เพเทีย (Carpathia)” หากแต่ก็อยู่ห่างออกไป 58 ไมล์ (ประมาณ 90 กิโลเมตร) ต่อให้รีบเดินทางมาช่วยด้วยความเร็วสูงสุด ก็ต้องใช้เวลาถึงสี่ชั่วโมง
1
คาร์เพเทีย (Carpathia)
ในเวลานี้ ผู้โดยสารเริ่มเต็มดาดฟ้าเรือ หลายคนก็รู้สึกถึงความผิดปกติ แต่ก็ยังไม่อยากจะเชื่อว่าจะมีเหตุร้ายแรงถึงขั้นต้องใช้เรือชูชีพ
หลายคนก็ไม่พอใจที่ต้องออกมาทนหนาวด้านนอก แทนที่จะได้กลับไปนอนอย่างสบาย
เรือชูชีพลำแรกถูกหย่อนลงจากไททานิคในเวลา 0.45 น. และยังบรรทุกคนไม่ถึงครึ่งของความจุที่เรือชูชีพสามารถรับได้
10 นาทีต่อมา เจ้าหน้าที่บนไททานิคได้ยิงพลุขึ้นฟ้าเพื่อขอความช่วยเหลือ หวังว่าจะมีเรือเห็นและมาช่วย
ไททานิคขณะจุดพลุขอความช่วยเหลือ
ผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นสองยืนรออยู่บนดาดฟ้าเรือ ในขณะที่วงออเคสตร้าก็เล่นเพลงเรียกขวัญกำลังใจให้ทุกคน
แต่บริเวณชั้นล่างที่ผู้โดยสารชั้นสามจับกลุ่ม ได้เกิดความโกลาหลไปทั่ว ต่างวิ่งไปยังทางเดินต่างๆ หาทางขึ้นสู่ชั้นบน แต่หนทางก็ดูซับซ้อนราวกับเขาวงกต ผู้โดยสารหลายคนก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และต่างก็ต้องจบชีวิตลงพร้อมกับไททานิค
หัวเรือไททานิคค่อยๆ จมลงเรื่อยๆ แต่ส่วนท้ายเริ่มยกตัวลอยสูงขึ้นเรื่อยๆ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ กระเด็นไปทั่ว ผู้โดยสารต่างรู้ตัวแล้วว่าไททานิคกำลังจะจม เกิดความสับสนอลหม่านไปทั่ว
3
เจ้าหน้าที่ต่างพยายามนำผู้โดยสารลงเรือให้เร็วที่สุด ในขณะที่ผู้โดยสารต่างวิตก เนื่องจากรู้แล้วว่าไม่ใช่ทุกคนจะได้ขึ้นเรือชูชีพ
4
เจ้าหน้าที่ต้องยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่ผู้โดยสาร เนื่องจากผู้โดยสารต่างพยายามแย่งจะลงเรือชูชีพ เจ้าหน้าที่อีกกลุ่มต้องล้อมรอบเรือชูชีพเป็นวงกลม ป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารแย่งขึ้นเรือ ให้เฉพาะผู้หญิงและเด็กขึ้นเรือก่อน
ตามกฎของเรือ ผู้หญิงและเด็กจะได้ลงเรือชูชีพก่อน
“จอห์น เจคอบ แอสเตอร์ที่ 4 (John Jacob Astor IV)” ผู้โดยสารที่รวยที่สุดบนไททานิค ได้สละที่ของตนให้เด็กลงก่อน และได้กล่าวลาภรรยาของตนที่ลงเรือชูชีพ
2
ผู้โดยสารที่รอลงเรือชูชีพ
“ไอซิดอร์ สตรอสส์ (Isidor Strauss)” เศรษฐีชาวอเมริกัน ผู้เป็นหุ้นส่วนห้างสรรพสินค้า “เมซีส์ (Macy’s Department Store)” ได้ปฏิเสธที่จะใช้อภิสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น ขอให้ผู้หญิงและเด็กลงเรือชูชีพ
3
เขาได้บอกให้ “ไอด้า (Ida Strauss)” ภรรยาลงเรือชูชีพ หากแต่ไอด้าได้ปฏิเสธและกล่าวกับสามี
1
“เราอยู่ด้วยกันมาตั้งหลายปี คุณไปที่ไหน ฉันไปด้วย”
3
ไอซิดอร์และไอด้า สตรอสส์ (Isidor and Ida Strauss)
กัปตันสมิธเองก็รู้สึกปลง และไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว
กัปตันสมิธได้กล่าวแก่เจ้าหน้าที่ในห้องส่งโทรเลข
“ไม่มีอะไรที่ทำได้แล้ว ตอนนี้ทุกคนต้องเอาตัวรอดเองแล้ว”
ส่วนกัปตันสมิธนั้น เขาก็ไม่ไปไหน ตั้งใจจะจมพร้อมกับไททานิค ซึ่งการเดินทางนี้ก็คือการเดินทางเที่ยวสุดท้ายของเขาจริงๆ
2.05 น. เรือชูชีพลำสุดท้ายถูกหย่อนลงสู่ท้องทะเล ในขณะที่ผู้โดยสารอีก 1,500 คนยังอยู่บนไททานิค และต่างก็กรีดร้องด้วยความหวาดกลัว พยายามทุกทางเพื่อเอาชีวิตรอด บางรายก็กระโดดออกมาจากไททานิค หวังจะว่ายน้ำไปยังที่ปลอดภัย
เรือชูชีพที่ถูกหย่อนลงมาจากไททานิค
2.18 น. หัวเรือได้จมหายลงไปในทะเล ในขณะที่ท้ายเรือก็ลอยขึ้น ชี้ขึ้นไปบนฟ้า ไฟฟ้าบนไททานิคดับหมดแล้ว ก่อนจะเกิดเสียงของเรือที่แตกออกเป็นสอง และจมลงสู่ทะเล
สองชั่วโมงสี่สิบนาทีหลังจากชนภูเขาน้ำแข็ง ไททานิคก็ได้จมลงสู่ก้นทะเล
ไททานิคขณะจมลงสู่ก้นทะเล
ภายหลัง ผู้รอดชีวิตจากไททานิคได้เขียนบันทึกถึงเหตุการณ์นี้
“ในขณะที่ไททานิคจมลึกลงเรื่อยๆ เราก็เห็นท้ายเรือลอยสูงขึ้นเรื่อยๆ จนไฟฟ้าบนเรือดับหมด และในขณะที่ไฟดวงสุดท้ายบนเรือดับลง เรือก็จมลงเรื่อยๆ ตามมาด้วยเสียงหวีดร้องที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด”
2
มีผู้โดยสารที่ขึ้นเรือชูชีพเพียง 700 คน และต่างก็เห็นภาพวินาทีที่ไททานิคจมสู่ท้องทะเล
ไททานิคขณะจมลงสู่ก้นทะเล
ผู้โดยสารบนเรือชูชีพต่างไม่อยากเชื่อในสิ่งที่เห็น บางรายนั่งเงียบ บางรายร้องไห้อย่างโศกเศร้า
ผู้รอดชีวิตอีกรายได้กล่าวในภายหลัง
“เสียงผู้คนที่จมน้ำคือสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายให้ใครฟังได้ มันเป็นเสียงที่น่าหดหู่ที่สุด ก่อนจะตามมาด้วยความเงียบที่น่าขนลุก”
ผู้รอดชีวิตบางรายต้องการให้หันเรือชูชีพกลับไปช่วยผู้รอดชีวิตในน้ำ แต่หลายรายก็เกรงว่าเมื่อมีคนอื่นขึ้นมา เรือชูชีพอาจจะจม และสุดท้าย ก็มีเรือชูชีพเพียงลำเดียวที่ย้อนกลับไปช่วยผู้รอดชีวิต
ในเวลานั้น ผู้ที่ไม่ได้จมลงไปกับไททานิคแต่ไม่ได้ขึ้นเรือชูชีพ ต่างกระจัดกระจายอยู่ในทะเล
บางรายก็เกาะเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ของเรือไว้เป็นที่มั่น หากแต่ถึงแม้จะใส่เสื้อชูชีพ แต่อุณหภูมิของน้ำที่ -2 องศาเซลเซียส ก็ทำให้ผู้โดยสารที่แช่อยู่ในน้ำ ทนได้ไม่เกิน 20 นาที
3
ผู้รอดชีวิตจากไททานิคบนเรือชูชีพ
ในเวลานี้ ผู้รอดชีวิตบนเรือชูชีพไม่สามารถทำอะไรได้อีกนอกจากรอความช่วยเหลือ
ทางด้านเรือคาร์เพเทียซึ่งอยู่ใกล้ไททานิคที่สุด เมื่อได้สัญญาณขอความช่วยเหลือ “เฮนรี รอสตรัน (Henry Rostron)” กัปตันเรือคาร์เพเทีย ก็เร่งเครื่องเต็มที่
5
กัปตันรอสตรันสั่งให้ลูกเรือเตรียมผ้าห่ม และเตรียมเครื่องดื่มร้อนๆ และซุปไว้รับรองผู้รอดชีวิตจากไททานิค ส่วนแพทย์ประจำเรือที่มีอยู่สามนาย ก็ได้จัดห้องอาหารให้เป็นห้องพยาบาลชั่วคราว เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากไททานิค
2
เฮนรี รอสตรัน (Henry Rostron)
เรือคาร์เพเทียเร่งเครื่องด้วยความเร็วสูงสุด และทุกๆ 15 นาที เจ้าหน้าที่จะจุดพลุและยิงปืนใหญ่ขึ้นฟ้า เป็นสัญญาณให้ไททานิครู้ว่าคาร์เพเทียกำลังมาช่วย
ประมาณ 3.30 น. คาร์เพเทียก็มาถึงยังบริเวณที่ไททานิคจม
ผู้รอดชีวิตบนเรือชูชีพได้ยินเสียงปืนใหญ่จากคาร์เพเทีย ก่อนที่เวลา 4.00 น. ผู้รอดชีวิตกลุ่มแรกจะได้รับการช่วยเหลือขึ้นเรือคาร์เพเทีย
ตลอดสี่ชั่วโมงต่อมา คาร์เพเทียได้ทำการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตทั้ง 700 คน และเหล่าผู้รอดชีวิตก็หวังว่าจะเจอคนรัก ญาติพี่น้องที่เดินทางมากับไททานิค รอดชีวิตเช่นกัน
ผู้รอดชีวิตจากไททานิคขณะกำลังขึ้นเรือคาร์เพเทีย
หนึ่งในผู้รอดชีวิตคือ “เจ บรู๊ซ อิสเมย์ (J. Bruce Ismay)” กรรมการผู้จัดการบริษัทไวท์สตาร์ไลน์ ที่ถึงแม้จะรอดมาได้ แต่ก็ถูกประนามว่าเป็นคนขี้ขลาด เป็นผู้บริหารที่ปล่อยให้ผู้โดยสารและลูกน้องต้องตาย
เช้าวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) นิวยอร์ก ลอนดอน และทั่วโลก ต่างเสนอข่าวไททานิค
ได้มีข้อความจากเรือต่างๆ ส่งมาถึงฝั่ง หากแต่ข้อมูลก็ไม่ค่อยถูกต้องนัก ทำให้การเสนอข่าวสับสน บางแห่งก็ว่าทุกคนรอดชีวิต บางแห่งก็ว่าผู้เสียชีวิตมีเพียงไม่กี่ราย
เด็กขายหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวไททานิค
สามวันต่อมา 18 เมษายน ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) เรือคาร์เพเทียก็มาถึงนิวยอร์กโดยมีผู้คนกว่า 30,000 คนมารอรับ
เมื่อมาถึงนิวยอร์ก อิสเมย์ก็ได้รับการต้อนรับจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาแจ้งว่าเขาต้องขึ้นศาลเพื่อทำการสอบสวนถึงอุบัติเหตุในครั้งนี้
ผู้โดยสารที่เสียชีวิตนั้นมีมากกว่า 800 คน ลูกเรืออีกเกือบ 700 คน และผู้โดยสารที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารชั้นสาม และส่วนมากเป็นผู้ชาย
ผู้ที่เสียชีวิตจำนวนมากเป็นชาวอังกฤษ ในโรงเรียนหนึ่งที่อังกฤษ เมื่อครูถามนักเรียนว่ามีใครที่มีญาติเสียชีวิตในเหตุการณ์ไททานิคบ้าง ให้ยืนขึ้น ปรากฎว่านักเรียนทั้งชั้นยืนกันหมด
2
ผู้คนที่มารอรับผู้รอดชีวิตจากไททานิค
สองวันหลังจากเหตุการณ์ไททานิคอับปาง ไวท์สตาร์ไลน์ได้ส่งเรือออกค้นหาร่างผู้เสียชีวิต และพบร่างผู้เสียชีวิตจำนวน 328 ศพ
ทั่วโลกต่างเกาะติดข่าวนี้และก็ตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ทางการสหรัฐพบว่าลูกเรือไททานิคไม่ได้รับการฝึกฝนและไม่พร้อมรับเหตุฉุกเฉิน และวุฒิสภาก็ได้โทษคณะกรรมการการค้าของอังกฤษที่ไม่ปรับปรุงกฎเรื่องจำนวนเรือชูชีพบนไททานิค อีกทั้งสหรัฐยังคิดว่ากัปตันสมิธขับเรือเร็วเกินไปอีกด้วย
1
วุฒิสภาเสนอการปรับปรุงต่างๆ อย่างแรก เรือโดยสารทุกลำต้องมีเรือชูชีพจำนวนเพียงพอต่อผู้โดยสารทุกคน อีกทั้งลูกเรือต้องผ่านการฝึกการปล่อยเรือชูชีพ และเรือทุกลำต้องมีวิทยุไร้สายที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง
1
การสอบสวนเหตุโศกนาฏกรรมไททานิค
ภายหลังจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไททานิค การเดินทางโดยเรือโดยสารก็เริ่มเสื่อมความนิยม เนื่องจาก “เครื่องบิน” เริ่มจะได้รับการพัฒนาและได้รับความนิยมในเวลาต่อมา
ในเวลาต่อมา ผู้คนจำนวนมากอยากจะสำรวจและกู้ซากเรือไททานิค หากแต่ก็มีปัญหาและอุปสรรคมากมาย ก่อนจะสามารถสำรวจพบในปีค.ศ.1985 (พ.ศ.2528)
มีการบันทึกภาพซากของไททานิคและสิ่งของต่างๆ บนไททานิค
ซากเรือไททานิค
สำหรับการกู้ซากเรือไททานิคขึ้นมานั้น เห็นจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากตัวเรือนั้นเปราะบางเกินกว่าที่จะขยับ และนักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าไททานิคกำลังถูกแบคทีเรียกลืนกินไปเรื่อยๆ ทำให้เรือเป็นสนิม
1
ผู้เชี่ยวชาญบางคนลงความเห็นว่าอีกไม่เกิน 50 ปี ไททานิคจะสูญสลาย ไม่เหลือเศษซาก
โศกนาฏกรรมไททานิคคือเรื่องน่าเศร้าที่ตราตรึงในประวัติศาสตร์
ที่น่าเศร้าที่สุดคือโศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นโศกนาฏกรรมที่หลีกเลี่ยงได้ หากว่าในคืนนั้นมีบางอย่างที่เปลี่ยนไปจากเดิม
1
ถ้าหากว่าคืนนั้นเวรยามที่เฝ้าระวังสังเกตเห็นภูเขาน้ำแข็งได้เร็วกว่านั้นล่ะ?
คืนนั้นทะเลสงบ อีกทั้งท้องฟ้าก็ไม่มีพระจันทร์ ทำให้มองเห็นไม่ชัด หากว่าคืนนั้นมีคลื่น ก็อาจจะทำให้สังเกตเห็นคลื่นที่กระทบภูเขาน้ำแข็ง หรือหากมีแสงจันทร์แม้เพียงนิด ก็อาจะทำให้หันหัวเรือได้ทันเวลา หรือหากเวรยามมีกล้องส่องทางไกล ก็อาจจะเห็นได้รวดเร็วขึ้น
1
หากว่าไททานิคไม่เลี้ยวหลบแต่ชนตรงๆ เลย ก็อาจจะไม่ร้ายแรงขนาดนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ลงความเห็นว่าหากชนตรงๆ ไททานิคจะยังคงลอยอยู่ได้ ไม่จม
2
หากว่ากัปตันสมิธไม่เชื่อคำสั่งของอิสเมย์ที่ให้แล่นเรือโดยเร็ว หากว่าเจ้าหน้าที่ในห้องรับส่งโทรเลขไม่บอกให้เรือแคลิฟอร์เนียนหุบปาก
1
ที่น่าเสียใจที่สุดก็คือ “หากว่าไททานิคมีเรือชูชีพเพียงพอล่ะ?”
1
ถึงจะมีเรือชูชีพเพียงพอ ไททานิคก็ยังคงจมอยู่ดี แต่ผู้โดยสารทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดคงจะรอดชีวิต
1
แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงการเสียดายและคาดเดา และตำนานของเรือไททานิค ก็ยังเป็นที่เล่าขานมาจนถึงทุกวันนี้ แม้เวลาจะผ่านมานานเกิน 100 ปีแล้วก็ตาม
1
โฆษณา