11 ก.พ. 2021 เวลา 10:13 • ประวัติศาสตร์
เดินเที่ยว พาชม หนังสือโบราณอายุ 500 ปีที่มีมากกว่าความขลัง
ขอต้อนรับทุกท่านสู่ นูเรมเบิร์ก (Nuremberg) หรือเรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า เนือร์นแบร์ค (Nürnberg) เป็นเมืองใหญ่ที่อยู่ทางตอนใต้ของเยอรมนี ในรัฐบาเยินครับ สามารถเดินทางมาที่นี่ได้จากมิวนิก มีรถไฟความเร็วสูง ICE รอบถี่ทุกชั่วโมง การเดินทางเป็นระยะทางประมาณ 170 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงสิบนาทีครับ
รถไฟ Intercity Express จอดเทียบชานชาลาสถานีนูเรมเบิร์กเซ็นทรัล
จากสถานีรถไฟ Nürnberg Haupthbahnhof เราออกมาก็ผงะกับกำแพงเมืองเก่าที่มีอายุตั้งแต่ยุคกลางครับ เมืองนี้ก็เหมือนกับเมืองส่วนมากในยุโรป ที่ผังเมืองเกิดจากการขยายตัวโดยการทุบกำแพงเมืองบางส่วนออก และตัดถนนแทนที่ลงไป
ภาพเมืองเก่าสมัยปี 1648 เทียบกับแผนที่ท่องเที่ยวในปัจจุบันและ google map ครับ จะเห็นว่ากำแพงเมืองถูกแทนด้วยถนน
จากส่วนของกำแพงและหอคอยที่เหลืออยู่และชื่อถนนนั้น เราก็พอจะเดาเขตของตัวเมืองเก่าและแนวกำแพงเมืองเก่าได้ไม่ยากครับ ลองมองดูชื่อถนนนี้ที่พาเราเดินเข้าสู่ใจกลางเมือง ก็ชื่อว่า "Königstor นั้นหมายถึง ประตูของกษัตริย์" ครับ บอกใบ้กลาย ๆว่านี่เคยเป็นที่ตั้งของประตูเมืองมาก่อนนั่นเอง
สถานีรถไฟขนาดใหญ่มากครับ และตั้งอยู่นอกเขตกำแพงเมืองเก่า พอเดินออกมาจะเจอกำแพงเมืองและหอคอย ต้อนรับเราอยู่เลย เดินตรงไปก็จะเข้าสู่เขตใจกลางเมืองเลยครับ
ในยุคกลางจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยานั้น นูเรมเบิร์กถือว่าเป็นเมืองใหญ่และเจริญมาก ๆ ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ครับ มีประชากร 45,000-50,000 คนเลยทีเดียว แม้ปัจจุบันอาจดูเป็นตัวเลขที่น้อยนิด แต่ในยุคนั้นหมายถึงเมืองที่ใหญ่มาก ๆ ครับ
ระหว่างนี้ผมจะขอพาเดินชมเมืองแล้วก็เป็นไกด์เล่าไปด้วยนะครับ
วิหารลอเรนซ์เคียะเช่อะ (Lorenzkirche) ตั้งเด่นอยู่ใจกลางเมือง เป็นสัญลักษณ์ของนูเรมเบิร์กครับ ขึ้นชื่อด้านสถาปัตยกรรมแบบกอธิกแบบทางเหนือ และออแกนขนาดใหญ่
ด้วยความเจริญของเมืองและขนาดประชากร จึงเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างกว้างขวางครับ อันที่เก่นชัดที่สุดก็คือ ลัทธิมนุษยนิยม จนเรียกได้ว่าเป็นเมืองศูนย์กลางของลัทธิมนุษยนิยมในยุโรปเหนือเลยครับ
ภายในวิหารลอเลนซ์เคียเช่อะ ที่มีความเป็นกอธิกแบบเต็มพิกัดครับ
ลัทธิมนุษยนิยมก่อกำเนิดขึ้นในนครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลีเป็นที่แรกครับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งเริ่มต้นในช่วงปี 1300 นั่นเอง โดยชาวอิตาเลียนหันกลับมาเรียนรู้งานเขียน เอกสาร และวิทยาการเก่าของกรีกโรมันที่ทิ้งมรดกไว้ในดินแดนของพวกตน และรับวัฒนธรรม ปรัชญา แนวคิด ประเพณีเหล่านั้นกลับมาใช้ ดังนั้น การศึกษา ศิลปะ ดนตรี และวิทยาศาสตร์จึงเป็นกุญแจในวิธีคิดรูปแบบใหม่ครับ
น้ำพุที่ลานหน้าวิหาร
ระเบียงกอธิกประดับอยู่บนกำแพงตึกเก่า
ไม่นานนัก มนุษยนิยม แพร่จากฟลอเรนซ์ออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของอิตาลี หลังจากนั้นค่อยแพร่ไปยังสเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ และอังกฤษ รวมไปถึงยุโรปตะวันออกก็เช่นกัน
มีปัญญาชนคนหนึ่งในขณะนั้น ชื่อว่า นาย Hartmann Schedel ชาวเยอรมันครับ เขาได้สัมผัสกับแนวคิดมนุษยนิยมในขณะที่เขากำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในอิตาลี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแนวคิดร่วมสมัยของเขา ซึ่งเราจะได้เห็นแนวคิดเหล่านี้ผ่านทางหนังสือของเขาได้อย่างชัดเจน เพราะเขาได้เขียนหนังสือออกมาหลายเล่มทีเดียว
Schedel มีหนังสือในครอบครองจำนวนมาก และใช้เป็นพื้นฐานในงานเขียนของตัวเอง มีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นงานที่เขียนด้วยตนเองจริง ๆ เล่มหนึ่งที่เขาใช้อ้างอิงบ่อยที่สุดก็คือ Supplementum Chronicarum หนังสือแนวมนุษยนิยมอีกเล่มหนึ่งที่เขียนโดย Jacob Philip Foresti แห่งเบอร์กาโม
ทางเข้าวิหารลอเลนซ์เคียะเช่อะ
และเมื่อปี 1440 กูเตนเบิร์กประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์หนังสือออกจำหน่ายได้อย่างแพร่หลายแล้ว ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยบันทึกองค์ความรู้เหล่านี้ และแพร่กระจายแนวคิดมนุษยนิยมออกไปอย่างไพศาล ผ่านทางหนังสือครับ
บรรยากาศของโรงพิมพ์หนังสือสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา
ในปี 1493 ที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่งในเมืองนี้ ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งของ Hartmann Schedel ที่เรียกได้ว่าเป็นหนังสือระดับตำนาน มีความสำคัญมาก ๆ ในวงการประวัติศาสตร์ และวงการสิ่งพิมพ์ครับ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของเนื้อหา ภาพประกอบ และเนื้อหาที่แสดงภาพลักษณ์ของลัทธิมนุษยนิยม ซึ่งในเวลานั้นได้แผ่ขยายไปยังดินแดนตอนเหนือของยุโรปแล้ว
หนังสือเล่มที่ว่า มีชื่อเดียวกันกับเมืองนี้ครับ นั่นก็คือ ...
Nuremberg Chronicle หรือ ชื่อเดิมคือ The Book of Chronicle (ภาษาเยอรมัน Die Schedelsche Weltchronik หรือ Nürnberger Chronik)
เป็นหนังสือสารานุกรมที่บรรยายประวัติศาสตร์โลก ตั้งแต่สมัยของไบเบิลจนไปถึงสมัยคลาสสิก เป็นหนึ่งในสิ่งพิมพ์ของศตวรรษที่ 15 ที่น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุดเลยครับ
หนังสือเล่มนี้ ว่าจัดจ้างให้พิมพ์โดยพ่อค้าวานิชสองนาย คือ Sebald Schreyer (1446-1520) และ Sebastian Kammermeister (1446-1503) ส่วนการจัดพิมพ์และเย็บเล่มนั้นจัดทำโดย Anton Koberger ช่างพิมพ์หนังสือผู้เลื่องลือ (1440-1513)
Sebald Schreyer เป็นนักธุรกิจ และผู้อุปถัมป์ศิลปะ และยังเป็นนักมนุษยนิยมจากการศึกษาด้วยตนเองด้วย เขาเป็นบุคคลสำคัญที่จำหน่ายจ่ายแจกทัศนะของ Schedel จากการผู้จ้างพิมพ์หนังสือนี้ครับ
โฉมหน้าของหนังสือ Nuremberg Chronicle เผยแผ่นรองปกที่พิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์ ส่วนปกด้านนอกเป็นหนังหมูที่ใช้สีย้อมโลหะกดลงไปครับ
ในหนังสือมีรูปภาพประกอบมากกว่า 1,800 ภาพ ที่ใช้แม่พิมพ์ไม้แกะสลักสร้างจากบล๊อกพิมพ์ 645 แบบที่แตกต่างกัน แม้กระนั้น หลาย ๆ ภาพก็ใช้บล๊อกไม้อันเดียวกัน รูปภาพพิมพ์เหล่านี้ลงสีด้วยมือ ในหลายสำเนา นอกจากในเล่มหนังสือจะมีรูปภาพบุคคลในประวัติศาสตร์ คนในไบเบิล และพงศาวลีแล้วนั้น ยังมีภาพเมืองต่าง ๆ เกือบ 100 เมือง ทั่วทั้งยุโรป และตะวันออกใกล้ ซึ่งน่าประทับใจว่า หลาย ๆ เมืองเป็นภาพที่ไม่เคยถูกบันทึกมาก่อน
เช่นเดียวกับแผนที่โลก ก็ได้ตีพิมพ์ไว้ในเล่มนี้ด้วยเหมือนกัน
ภาพเมืองต่าง ๆ ที่ปรากฏในหนังสือ เป็นเวอร์ชันที่ยังไม่ได้ลงสีด้วยมือครับ และทุกเมืองมีบรรยากาศสถาปัตยกรรมแบบยุโรปยุคกลางทั้งหมด แม้เมืองนั้นจะอยู่ในตะวันออกกลางก็ตาม (Public domain)
การพิมพ์หนังสือบรรยากาศของโรงพิมพ์ในยุคเดียวกันกับ Nuremberg Chronicle (Public domain)
หนังสือจัดพิมพ์ใน 2 ภาษา ในปี 1493 โดยเนื้อหาภาษาลาติน เขียนโดย Hartmann Schedel พิมพ์ออกมาวันที่ 12 กรกฏาคม และฉบับแปลภาษาเยอรมันก็วางขายตามหลังมาในวันที่ 23 ธันวาคมปีเดียวกัน รวมทั้งหมดมีการพิมพ์ฉบับลาตินออกมา 1,500 เล่ม และฉบับภาษาเยอรมัน ประมาณ 1,000 เล่ม ครับ
ปัจจุบันนี้ หนังสือเล่มนี้มีมูลค่าสูงมากในตลาดนักสะสม เหลืออยู่บนโลกราว ๆ 700 เล่ม กระจายตามสถาบันต่าง ๆ และในคอลเลกชันส่วนตัวของเหล่านักสะสม บางเล่มอยู่ในสภาพขาดหายไป แม้กระนั้นบางเล่มก็ยังอยู่ครบโดยสมบูรณ์จนถึงปัจจุบันครับ
นูเรมเบิร์ก โครนิเคิล
ภายในหนังสือ Schedel ถ้ายทอดภาพตามคตินิยมของคริสเตียนที่มีความเข้าใจตามคัมภีร์ไบเบิล ในหน้าแรก ๆ เขานำเสนอเรื่องการสร้างโลก อดัมและอีฟ ในภาพนี้ดินผลไม้จากต้นไม้แห่งภูมิปัญญาในสวนอีเดน ซึ่งทำให้ถูกเทวทูตขับไล่ออกไปจากสวนตามพระบัญชาของพระเจ้า Schedel วาดภาพต้นไม้เป็นต้นแอปเปิ้ล หรือ malum ในภาษาลาติน ซึ่งคำนี้มีความหมายสองอย่าง คือทั้ง แอปเปิ้ล และ "ความชั่วร้าย" นั่นเองครับ
อดัมกับอีฟ ถูกขับไล่ออกจากสวนแห่งพระเจ้าโดยเทวทูตถือดาบ สังเกตว่าด้านล่างของภาพมีแม่น้ำสี่สาย ได้แก่ Pishon, Gihon, Hiddekel (Tigris),Phirat (Euphrates) ซึ่งไหลผ่านสวนอีเดน (Cambridge Digital Library)
ภาพพิมพ์ไม้สลักที่ลงสีด้วยมือนี้ แสดงภาพเมืองนูเรมเบิร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองประมาณ 30 เมืองในหนังสือซึ่งเชื่อกันว่าเป็นรูปภาพจริงที่มีความแม่นยำครับ ทำไมหรือ? ... ก็เพราะว่าภาพเมืองอื่น ๆ ในหนังสือเล่มนี้มักจะใช้บล็อกพิมพ์ไม้อันเดิมหลาย ๆ ครั้ง ทำให้เมืองหลายเมืองมีภาพซ้ำกันอยู่เต็มไปหมด ส่วนภาพเมืองนูเรมเบิร์กนี้ปรากฏในหนังสือแค่ภาพเดียวเท่านั้นครับ
ภาพพิมพ์ไม้แกะลงสีด้วยมือรูปเมืองนูเรมเบิร์ก ซึ่งเป็นภาพเมืองที่มีรายละเอียดเยอะที่สุดและขนาดใหญ่ที่สุดในเล่มครับ ไม่ต้องสงสัยว่าทำไม
ลองเทียบกับทัศนียภาพของเมืองนูเรมเบิร์กในปัจจุบันนะครับ ว่าเหมือนกันกับในภาพพิมพ์ข้างบนไหม อย่าลืมว่า เมื่อห้าร้อยปีก่อนไม่มีโดรนนะครับ
ภาพกรุงทรอย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเทวตำนานกรีก และ Schedel เอามาเล่าใหม่โดยอ้างอิงจากมหากาพย์อีเลียดของกวีโฮเมอร์ สังเกตว่าภาพพิมพ์ไม้สลักนี้บรรยายว่าเป็นกรุงทรอยก็จริง แต่หากเปิดไปหน้าอื่น ๆ ก็ใช้ภาพเดียวกันนี้ เอาไปแทนเมือง ราเวนนา, ปิซา, ตูลูส และทิโวลี ด้วยเหมือนกันครับ ... ช่างน่าสงสัยเหลือเกินว่า ช่างแกะสลักบล๊อกพิมพ์คงได้เงินค่าแกะภาพน้อยไปหน่อยนะครับ
ไม่ว่าจะเมือง ทรอย ตูลูส หรือ ปิซา ก็ใช้ภาพเมืองเดียวกัน เปลี่ยนแค่คำบรรยาย การพิมพ์ภาพแบบรียูสแบบนี้จะเห็นได้ตลอดทั้งเล่มครับ (Cambridge Digital Library)
หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่พิมพ์ภาพดาวหาง โดยทั้งเล่มมีดาวหางทั้งหมด 13 ภาพครับ ปรากฏตั้งแต่ช่วงปี 471-1472 ภาพดาวหางแม้มี 13 ดวงแต่ใช้รูปซ้ำ ๆ กันแค่ 4 รูปเท่านั้น และจับหมุนกลับด้านสลับไปมาตามเค้าโครงของหน้ากระดาษครับ
ดาวหางภายในเล่ม นับเป็นหนังสือเก่าที่สุดที่มีภาพของดาวหางครับ (Public Domain)
ภาพวงสายโลหิตของพระเยซูคริสต์ พิมพ์ออกมาเป็นพงศาวลี สืบมาจากพระวรสารนักบุญแมทธิว ภาพทางหน้าซ้ายคือ โนอาห์ และทางขวาคือบรรพบุรุษของพระเยซู มีภาพบุคคลในประวัติศาสตร์และคัมภีร์ไบเบิลจำนวนมากอยู่ในหนังสือเล่มนี้ แต่ก็เหมือนกับภาพเมือง ภาพส่วนใหญ่เอามาใช้ซ้ำ มีภาพคนภาพเดียวกันปรากฏซ้ำไปมาในหลายหน้าหนังสือ เปลี่ยนแต่เพียงชื่อคนครับ
วงสายโลหิตของพระเยซู (Cambridge Digital Library)
ประวัติศาสตร์ในหนังสือเล่มนี้ ระบุว่า ยุคแรกของโลก คือ ตั้งแต่การสร้างอดัมจนไปถึงน้ำท่วมโลก ส่วนยุคที่สอง คือ หลังน้ำท่วมโลกไปจนถึงกำเนิดอับราฮัม
ภาพการต่อเรือโนอาห์ (Cambridge Digital Library)
พามาดูภาพแผนที่โลกในเล่มนี้กันครับ เป็นภาพพิมพ์แกะไม้ลงสีด้วยมือเหมือนกับภาพอื่น ๆ มียุโรปอยู่ตรงศูนย์กลาง โปรดสังเกตว่า หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์หลังจากโคลัมบัสค้นพบอเมริกาแค่ 1 ปีเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ได้แสดงอะไรที่เกี่ยวกับโลกใหม่ (อย่างที่ทราบกันว่า แม้แต่โคลัมบัสเอง ก็ยังเข้าใจว่าตนเองเทียบท่าที่เอเชียเลยนะครับ) ดังนั้น แผนที่นี้เลยมีแค่ ยุโรป เอเชีย แอฟริกา
หากเรามองไปรอบ ๆ จะเห็นหัว 12 หัว ทำท่าเป่าลมปู้ด ... เขาตั้งใจทำมาเพื่อบอกทิศทางของลมครับ ซึ่งในสมัยนั้นสำคัญมากในการใช้ล่องเรือ ในขณะที่บุตรทั้งสามของโนอาห์ ผู้ซึ่งให้กำเนืดประชากรทั่วโลกภายหลังน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ ชูแขนล้อมรอบแผนที่ครับ (อาจจะด้วยความรู้สึกว่า ... นี่ จงดูผลงานของฉันสิ!) ซึ่งมุมซ้ายบนจะเห็นภาพของยาเฟท ผู้เผยแพร่เผ่าพันธุ์บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของโลก อันเป็นทวีปยุโรปครับ
แผนที่โลก แม้หนังสือจะพิมพ์หลังจากโคลัมบัสไปอเมริกา 1 ปี แต่แน่นอนว่าสมัยนั้น โลกใหม่ยังไม่เป็นที่รู้จักครับ (Public Domain)
เมื่อเทียบกับยุโรป จะสังเกตว่า ฝั่งเอเชียโดยเฉพาะตะวันออกไกลนั้น มีเชื่อเขียนกำกับไว้น้อยมาก โดยบริเวณกว้างใหญ่ทางตอนเหนือและตอนกลางของเอเชียเขียนไว้เพียงแค่ "Tartaria" สั้น ๆ ส่วนชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อโบราณในสมัยก่อน ก็อย่างเช่น Scythia บริเวณยูเรดชียตอนกลาง Media และ Parthia อันเป็นบริเวณของอิหร่านในปัจจุบัน และ Serica ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจีน อาจจะตั้งชื่อตามผ้าไหมซึ่งผลิตจากตรงบริเวณแถบนี้ก็ได้ครับ
หนังสือเล่มนี้เขียนถึงเรื่องราวประหลาดหลายอย่างครับ หนึ่งในนั้นเล่าถึงประวัติศาสตร์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชว่า ที่อินเดียมีมนุษย์ที่มี 6 มือ แล้วก็ยังพิมพ์ภาพประกอบไว้ด้วยครับ
นอกจากนี้ยังมีภาพคนแปลก ๆ อยู่ทั่วทั้งหนังสือ ส่วนมากจะบรรยายว่าอยู่ในดินแดนแปลกประหลาดห่างไกลจากยุโรป เช่น ในเอธิโอเปียไปทางทิศตะวันตก บางคนมีตาสี่ตา ในขณะที่ในเอริเปีย(กรีซ) มีคนที่คอยาวเหมือนนกกระเรียน และมีปากเป็นจะงอยด้วย
มนุษย์ประหลาดชนิดต่าง ๆ ที่เขียนไว้ว่าเราจะเจอได้ในกินแดนห่างไกลจากยุโรปครับ
การสร้างโลกในวันที่ 5 (Public Domain)
กล่าวได้ว่านี่คือสารานุกรมประวัติศาสตร์และธรรมชาติวิทยาเล่มแรก ๆ ที่เขียนในเชิงมนุษยนิยมที่ได้ตีพิมพ์ออกมาครับ
สำหรับใครที่อ่านจบแต่อารมณ์ยังไม่จบ สามารถสำรวจภายในทุกหน้าของ Nuremberg Chronicle ได้ที่ Cambridge Digital Library
ฟรีครับ ! คลิกเลย
ตอนต่อไปจะพาไปเที่ยวเมืองอะไร หรือ ชมอะไร โปรดกดติดตามเพื่อไม่พลาดเนื้อหาครับ
อ้างอิง
#Kathryn Hennessy. 2017. Remarkable books: A cerebration of the world's most beutiful and historic works. 1st edition. London: Dorling Kindersley.
#Angeles Gavira Guerero. 2011. Smithsonian timeline of history. 1 st edition. London: Dorling Kindersley.
โฆษณา