6 ก.พ. 2021 เวลา 11:48 • การศึกษา
EP.5 : เคยสงสัยมั้ยว่า Design Thinking (การคิดเชิงออกแบบ) กับ Creative Thinking (ความคิดเชิงสร้างสรรค์) มันต่างกันอย่างไร?? และอะไรคือหัวใจสำคัญที่สุดของ Design Thinking???
ขอใช้เรื่องเล่าเพื่อช่วยให้ทุกคนคิดหาคำตอบด้วยตัวเองกัน 🤔🤔🤨
เรื่องนี้เกิดขึ้นในหมู่บ้านทุรกันดารแห่งหนึ่งในประเทศแถบทวีปแอฟริกา เป็นหมู่บ้านที่ไม่มีแหล่งน้ำภายในหมู่บ้านสำหรับการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน แหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไปเป็นกิโล อีกทั้งยังไม่มีการขุดบ่อหรือสร้างท่อน้ำเชื่อมต่อกับแหล่งน้ำข้างนอกเพื่อส่งน้ำเข้ามาใช้ในหมู่บ้าน หนทางเดียวที่จะมีน้ำใช้ คือ เหล่าแม่บ้านทั้งหลายต้องหาบถังน้ำเดินเป็นกิโลเพื่อไปตักน้ำกลับมาทุกวัน
และแล้ววันหนึ่งได้มีทีมงานจากองค์กร NGO แห่งหนึ่งเดินทางไปยังหมู่บ้านนี้ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านให้สะดวกสบายขึ้น พวกเค้าก็เลยมานั่งระดมสมองกันว่าจะทำยังไงให้หมู่บ้านนี้มีน้ำใช้ได้อย่างสะดวกสบาย
คำถามที่ 1: ถ้าเป็นพวกคุณ คุณคิดว่าจะทำยังไงให้หมู่บ้านนี้มีน้ำใช้กัน????
ต่อมาทีมงาน NGO กลุ่มนี้ได้จัดการแก้ไขปัญหานี้เป็นที่เรียบร้อย ทำให้หมู่บ้านนี้ได้มีน้ำใช้กัน แต่แทนที่กลุ่มแม่บ้านจะดีใจ หรือรู้สึกซาบซึ้ง กลับมีท่าทีเศร้าหมอง อันนำมาซึ่งความประหลาดใจแก่ทีมงาน NGO มากๆ พวกเขาจึงรุดไปสอบถามบรรดาแม่บ้านว่าทำไมพวกเธอจึงไม่รู้สึกดีใจ
คำตอบที่ได้รับ ทำเอาทีมงาน NGO ถึงกับผงะ
พวกเธอกล่าวว่า เวลาที่พวกเธอเดินทางไปหาบน้ำ เป็นเวลาที่พวกเธอรู้สึกอิสระ มีความสุข และสนุกที่สุดในแต่ละวัน เพราะได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนแม่บ้านทั้งหลาย ไม่ต้องคอยวุ่นวายกับการดูแลสามีและลูกๆ
คำถามที่ 2: คุณว่าการกระทำที่ขาดหายไปของทีมงาน NGO กลุ่มนี้คืออะไร
จากเรื่องเล่านี้ พอเดาออกมั้ยคะว่า Design Thinking กับ Creative Thinking มันต่างกันอย่างไร และหัวใจสำคัญที่สุดของ Design Thinking คืออะไร มาดูคำตอบกัน
Design Thinking มีกระบวนการดังนี้
1. Empathize คือการสัมภาษณ์พูดคุยเพื่อทำความเข้าใจสภาพความเป็นจริงและปัญหาให้ถ่องแท้
2. Define คือการระบุปัญหาหรือตั้งประเด็นให้ถูกต้อง ตรงจุด
3. Ideation หรือ Creative Thinking คือ การระดมสมองหาไอเดียใหม่ๆ แบบไม่มีขีดจำกัดเพียงแค่ต้องอยู่ในทิศทางที่จะสามารถตอบโจทย์ประเด็นปัญหาที่ระบุมาในตอนต้นได้
4. Prototype คือคัดเลือกไอเดีย และสร้างแบบจำลอง หรือต้นแบบ
5. Test คือการทดสอบต้นแบบกับกลุ่มเป้าหมายว่ามันตอบโจทย์จริงๆ หรือไม่
ดังนั้น Empathize คือหัวใจที่สำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของ Design Thinking เพราะหากคุณขาดความเข้าใจในปัญหาต่างๆ อย่างถ่องแท้ตั้งแต่เริ่มต้น ให้คุณมี Creative Thinking บรรเจิดแค่ไหน ก็ไม่มีวันตอบโจทย์ปัญหาหรือความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งานได้ ไม่ต่างกับการวินิจฉัยโรคผิด ก็จะจบลงด้วยการจ่ายยาไม่ตรงโรคนั่นแหละ
เพราะฉะนั้น หากมีแต่ Creative Thinking แต่ขาดการควบคุมโดย Design Thinking เราก็จะคิดฟุ้งๆ แบบไร้ทิศทางและเป้าหมายเหมือนเรื่องราวที่เล่ามานั่นแหละ ทีม NGO คิดทึกทักเอาเอง โดยขาดซึ่งความเข้าใจปัญหาของชุมชนที่แท้จริง เลยตั้งโจทย์ผิด และนำไปสู้การแก้ไขที่ไม่ตรงจุด
หากทีม NGO ได้ลงไปพูดคุยทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของคนในหมู่บ้านเสียก่อน ความตั้งใจดี และความพยายามของพวกเขาคงไม่สูญเปล่า แถมยังได้ใจคนในหมู่บ้านอีกด้วย
หากได้ทำการพูดคุยก่อน ทีมงานอาจจะจบลงด้วยการหาไอเดียเจิดๆ เช่นสร้างยานพาหนะ หรืออุปกรณ์ทุ่นแรงให้กับสาวๆ ในหมู่บ้านได้เพลิดเพลินกับการหาบน้ำมากขึ้นก็เป็นได้
เรื่องที่เล่ามา ไม่ได้ให้ข้อคิดแค่เรื่อง Design Thinking แต่มันให้ข้อคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตได้ดีอีกด้วย มนุษย์เราต่างมีกรอบความคิด ความเชื่อ มีความต้องการ ข้อจำกัด ต้นทุน และความสามารถที่แตกต่างหลากหลาย แต่พวกเราก็มักชอบทึกทักเอาความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ และมาตรฐานของเราไปยัดเยียดให้คนอื่นโดยอนุมานเอาเองว่า
“ถ้ามันดีสำหรับเรา มันก็ต้องดีสำหรับคนอื่นด้วย”
2
และนี่คือสิ่งที่ทีมงาน NGO เป็น พวกเขากำลังมองว่าความสะดวกสบายเป็นมาตรฐานโลก ที่ทุกคนในทั่วทุกมุมโลก ต่างก็ต้องการเหมือนๆ กัน แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันมีเรื่องอื่นๆ ที่มีคุณค่ากับคนบางกลุ่มมากกว่าความสะดวกสบาย
ขอหยิบยกอีกสองสามตัวอย่างที่เคยพบเห็นในชีวิตเพื่อเป็นแง่คิดให้ทุกคนคิดภาพตามได้ชัดขึ้น
ตัวอย่างเช่น เวลาที่เพื่อนอกหักแล้วโทรมาหาเรา เรากลับไม่ได้ตั้งใจรับฟังปัญหาเขาด้วยใจ แต่กลับตั้งหน้าตั้งตาจะสอนและแนะนำวิธีการต่างๆ ที่เราเคยใช้ได้ผล มายัดเยียด และคาดหวังให้เขาทำตาม เอาจริงๆ มันคนละคน คนละบริบท คนละข้อกำจัด สิ่งที่เราควรทำที่สุด คือรับฟังให้เยอะ พูดให้น้อยลง จนกว่าเขาจะเอ่ยปากมาเองว่าขอคำแนะนำจากเรา
หรือเวลาที่เราเริ่มทำงานใหม่ๆ แล้วเจอหัวหน้างานที่กดดันตลอดเวลา และให้เราเรียนรู้อะไรด้วยตัวเองตลอดเวลา จนวันนึงเราแข็งแกร่งขึ้น เราเลยคิดว่าวิธีการดูแลลูกน้องแบบนี้มันดี เราก็เลยเลือกที่จะเป็นหัวหน้าในแบบนั้น เพราะคิดเอาเองว่าจะทำให้ลูกน้องแข็งแกร่งแบบเราได้ แต่ในที่สุดกลับจบลงด้วยการลาออกของลูกน้องแทน
ยิ่งทุกวันนี้สังคมมีความ sensitive สูง มีความคิดที่แตกแยกหลายฝักหลายฝ่าย หากเรามัวเอาจุดยืนและความเชื่อของเราไปยัดเยียดให้กับคนรอบข้าง มันก็จะจบด้วยความขัดแย้งร่ำไป ลองเปิดใจรับฟังมุมมองกันให้มากขึ้นสิ บางทีมันอาจขัดจิต ขัดใจ ขัดความรู้สึกไปบ้าง แต่เรื่องนึงที่คุณจะได้ คือ คุณจะเกิดความเข้าใจกันมากขึ้น จะเริ่มให้อภัย และมองข้ามความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ พวกนั้นได้ 🙈🙉🙊
โฆษณา