7 ก.พ. 2021 เวลา 05:59 • ศิลปะ & ออกแบบ
ทางเท้า-วัฒนธรรม-ความพร่าเลือน
หลายคนคงเคยมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทางเดินริมถนนของเมืองใหญ่ในบางย่านที่พลุกพล่าน อาทิ ตามพื้นที่หน้ามหาวิทยาลัย ย่านออฟฟิศและสำนักงาน ฯลฯ เราจะพบว่ามีร้านค้าอย่างไม่เป็นทางการ หาบเร่ แผงลอย ตั้งอยู่จนเต็มทางเท้าเหล่านั้น ทั้งๆ ที่ตามกฏหมายแล้วเป็น “พื้นที่สาธารณะ” จนทำให้เราๆ ท่าน ๆ ต้องออกมาเดินอยู่บนถนนให้รถเฉี่ยวไปมาแทน
ที่มา: https://www.matichon.co.th/politics/news_2360724
ในทำนองเดียวกัน พื้นที่ด้านหน้า (หรือโดยรอบ) บ้าน / อาคารตึกแถวที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ได้ถูกอนุมานว่าเป็น “สิทธิ”ในการใช้พื้นที่ของเจ้าของบ้าน บางรายอาจเอาถังน้ำ ที่กั้น กรวยยาง ฯลฯ พร้อมป้ายห้ามจอดมาขวางเพื่อกันผู้อื่นที่อาจจะมาฉวยใช้พื้นที่แห่งนี้ ถึงแม้ว่าโดยกฎหมายพื้นที่ถนนรอบๆ บ้านอันเป็นพื้นที่สาธาณะเหล่านี้ไม่ใช่ของเจ้าของบ้าน แต่เป็นของหลวง (ที่ไม่เคยเข้ามาจัดการให้เป็นระบบ)
ทุกๆ คน น่าจะมีประสบการณ์ดังที่กล่าวมานี้ทุกประการ โดยอาจสามารถมีคำอธิบายหยาบๆ โดยไม่ได้วิจัยอะไรลงลึกต่อเรื่องนี้อยู่สองประการ ซึ่งไม่ใช่การมองเพื่อจะแก้ปัญหา (หากเรามองว่าเป็นปัญหา ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเสน่ห์) แต่เป็นการทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ดังกล่าวในเชิงลึกผ่านการอธิบายแบบสังคมวิทยาเมืองว่าปัญหาทางเท้ารวมถึงปัญหาการใช้สิทธิ์ในการยึดครองที่ว่างอันเป็นของสาธารณะมาเป็นของบุคคล (หรือนิติบุคคล) ที่เกิดขึ้นอยู่มากมายในเมืองไทย ทั้งการยึดเอาส่วนหนึ่งของถนนมาเป็นที่จอดรถของตน การหาประโยชน์จากพื้นที่บนสะพานลอยนั้นเกิดจากสำนึกบางอย่างของสิ่งที่เรียกอย่างคร่าวๆ ว่า “วัฒนธรรม” (ที่อาจจะมีทั้งดีและไม่ดี) ต่อการใช้พื้นที่สาธารณะ
ที่มา: https://www.dailynews.co.th/bangkok/780117
ประการแรก หากอธิบายเชิงโครงสร้าง อาจพบว่าพื้นที่ทางสัญจรเมื่อแต่ก่อนนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครก็ใช้ประโยชน์ได้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดต่อสังคมจากสังคมเกษตร กลุ่ม เครือญาติ คุ้ม ฯลฯ มาสู่สังคมที่มีความสลับซับซ้อนขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการยึดโยงเชิงสถาบัน และการกำหนดกติกาสังคมหลายๆ ด้าน หรือที่เราอาจเรียกว่า “สังคมสมัยใหม่” (Modern society) รอยต่อของการเปลี่ยนผ่านระบบสังคมอันนี้ ก่อให้เกิดความลักลั่นในแบบแผนและท่าทีต่อสิ่งสาธารณะอยู่มาก
มีผู้ใหญ่บางคนเคยให้เหตุผลต่อปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นเพราะสัญจรสมัยก่อนเป็นการสัญจรทางน้ำ เราจึงจอดเรือหน้าเรือน ครั้นเมื่อเปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ แบบแผนพฤติกรรมลักษณะดั้งเดิมดังกล่าวยังคงตกทอดเป็นวัฒนธรรมและท่าทีต่อการใช้พื้นที่สัญจรสาธารณะในเบ้านเรา ในขณะที่สังคมได้เปลี่ยนสู่ภาวะความป็นสมัยใหม่ ที่ใช้กฏ กติกาคนละชนิดกัน เพราะในสมัยนั้นแนวคิดเรื่องสิทธิและหน้าที่ยังไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนเท่ากับในปัจจุบัน ความเปลี่ยนผ่านของวิธีคิดอันนี้ก่อให้เกิด “ช่องว่าง” ต่อสำนึกและความคาดหวัง ในการใช้ถนน ทางเท้า และที่สาธารณะอื่นๆ ซึ่งแตกต่างกัน
 
ประการที่สอง เป็นคำอธิบายถึงผลของความเปลี่ยนแปลงต่อปัจเจกบุคคลที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง กล่าวคือ เมื่อสิ่งสาธารณะ ที่แต่เดิมเป็นของ ผีบรรพบุรุษ เจ้าที่ เทพารักษ์ ได้เปลี่ยนมาเป็นของเทศบาล อบต. สำนักงานเขต กรมทางหลวง ฯลฯ
สิ่งกำกับท่าทีต่อการใช้พื้นที่สาธารณะจึงเปลี่ยนไป โดยที่อย่างหลังไม่มีพลังพอในการควบคุมดูแลอย่างทั่วถึงอันเนื่องว่าเป็นการควบคุมโดยการ “ห้ามปราม” ที่ไม่ได้เกิดจากการควบคุมโดย “สำนึก” เราจึงพบการ “แปรรูป” พื้นที่สาธารณะมาเป็นของบุคคลอย่างถาวร อาทิ ที่จอดรถริมสนามเด็กเล่นของคน (เจ้าประจำ)ในซอย หรือแม่ค้าขายของ(หน้าเดิมๆ)ตามบาทวิถี เพราะ “เจ้าที่” ในสังคมสมัยใหม่อนุญาตให้ทำได้
 
เมื่อเจ้าที่คนใหม่ไม่ได้มีอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่คนทั่วๆ ไปไม่อาจอ้าง (หรือโวย) ได้เต็มปากเพราะอาจจะนำพาความเดือดร้อนมาสู่ตนและครอบครัว เราจึงเรียกการใช้พื้นที่สาธารณะ “แบบไทยๆ” เช่นนี้ว่าเป็นวัฒนธรรม
โฆษณา