16 ก.พ. 2021 เวลา 11:00 • หนังสือ
ทำไมการแกล้งยิ้มถึงทำให้เรามีความสุขขึ้นมาได้จริง ๆ ?
ครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกเศร้า เสียใจ ทุกข์ใจ ผมลองมองหน้าตัวเองในกระจกแล้วแกล้งยิ้มดู ผมพบว่าตอนนั้นผมรู้สึกดีขึ้นมาได้จริง ๆ แต่ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร
ผมเพิ่งเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้นหลังจากที่ได้อ่านการทดลองที่น่าสนใจจากหนังสือ Thinking fast and slow ของ Daniel Kahneman
บทความนี้จะมาแชร์ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันครับ
แบ่งปันแนวคิดจาก Thinking fast and slow
มีการทดลองให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งเติมคำลงในช่องว่าง SO_P โดยจากผลการทดลองพบว่า นักศึกษาที่เพิ่งกินอะไรมา หรือได้เห็นคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการกินมาก่อน มีแนวโน้มที่จะเติมตัว U เข้าไปกลายเป็นคำว่า SOUP (ซุป) ในขณะที่นักศึกษาที่เพิ่งเห็นคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการล้าง การทำความสะอาดมา ก็จะเติมตัว A ลงไป กลายเป็นคำว่า SOAP (สบู่)
แม้จะเป็นโจทย์เดียวกัน แต่เรากลับตอบไม่เหมือนกัน เมื่อประสบการณ์ที่เพิ่งพบเจอมาแตกต่างกัน
ทฤษฎีที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ทำนองนี้เรียกว่า
“การปูพื้นทางความคิด (Priming effect)”
มีการทดลองที่ผมชอบมากอีกอันหนึ่งที่ฟลอริดาร์ ซึ่งโด่งดังมากจนได้ชื่อว่า “ปรากฏการณ์ฟลอริดา”
การทดลองนี้นักวิจัยได้แบ่งนักศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะต้องแต่งประโยคจากชุดคำศัพท์ “เขา มัน เห็น สีเหลือง ในทันที” ในขณะที่อีกกลุ่มจะต้องแต่งประโยคจากชุดคำศัพท์ “สีเทา เหี่ยวย่น ศีรษะล้าน หลงลืม”
หลังจากที่นั่งศึกษาทั้งสองกลุ่มแต่งประโยคเสร็จแล้วจะได้รับคำสั่งให้ไปทำภารกิจในห้องโถงที่อยู่ถัดไป ซึ่งตอนนี้ล่ะที่เป็นหัวใจสำคัญของการทดลองนี้
นักวิจัยได้แอบจับเวลาที่นักศึกษาจากทั้งสองกลุ่มใช้ในการเดินไปยังห้องโถงที่อยุ่ถัดไป ผลลัพธ์น่าตกใจอย่างมาก นั่นคือ นักศึกษากลุ่มที่สองที่ได้แต่งประโยคจากชุดคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ “เดินช้า” กว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ และที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือ เมื่อไปสอบถามนักศึกษากลุ่มนี้ในภายหลัง พวกเขายืนกรานว่าตนเองไม่ได้รับอิทธิพลจากชุดคำศัพท์เหล่านั้น อีกทั้งยังไม่ได้สังเกตอีกด้วยว่าชุดคำศัพท์ที่ตนได้นั้น เกี่ยวข้องกับความเฉื่อยช้าและผู้สูงอายุ
นี่คือปรากฎการณ์ที่อธิบายทฤษฎีการปูพื้นทางความคิดได้อย่างดี
ในกระบวนการนี้ นักศึกษาถูกพื้นทางความคิดอย่างน้อย 2 ขั้นตอน
1. ถูกปูพื้นทางความคิดเกี่ยวกับความเฉื่อยช้าและผู้สูงอายุ และ
2. ความคิดที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลให้แสดงพฤติกรรมแบบนั้นจริง ๆ แม้เจ้าตัวจะไม่รู้ตัวเลยก็ตาม
แม้จะลองกลับด้านการทดลองก็ยังให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน การทดลองที่ว่าคือมอบหมายภารกิจให้ผู้เข้าร่วมเดินด้วยอัตราเร็ว 30 ก้าวต่อนาที ซึ่งเป็นอัตราเร็วที่ช้ามาก
นักวิจัยพบว่าหลังจากจบภารกิจ ผู้เข้าร่วมจะมองเห็นคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับ ความชรา ผู้สูงอายุ เฉื่อยช้า ได้ง่ายกว่าปกติ นี่แสดงว่าการปูพื้นทางความคิดเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งตอนที่เราไม่รู้ตัว และไม่เพียงแต่ความคิดช่วยปูพื้นให้ไปสู่พฤติกรรม “แต่พฤติกรรมที่เราแสดงยังปูพื้นไปสู่ความคิดได้อีกด้วย”
เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงบอกเราบ่อย ๆ ว่า “จงสุภาพเรียบร้อย และใจเย็นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไรก็ตาม เพราะมันจะทำให้เราสุพาพเรียบร้อย และใจเย็น ขึ้นมาได้จริง ๆ
และก็เป็นเหตุผลที่ผมเพิ่งเข้าใจว่า
“ทำไมการแกล้งยิ้มถึงทำให้รู้สึกมีความสุขขึ้นมาได้จริง ๆ”
นั่นเองครับ
ชอบกดไลก์ ใช่กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้นักเขียน
“1 คนอ่าน 100 คนรู้” ร่วมแบ่งปันสิ่งดีๆ ไปด้วยกัน ผ่านการอ่านหนังสือ
ติดตาม Book Borrow ได้ใน
IG : @bookborroww
#thinkingfastandslow #คิดเร็วและช้า #การปูพื้นทางความคิด #bookborrow
“Book Borrow podcast”
Podcast ที่จะมาพูดคุยและแชร์ไอเดียจากหนังสือพัฒนาตัวเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา