8 ก.พ. 2021 เวลา 08:30 • ธุรกิจ
เปิดร้านเอง VS ซื้อแฟรนไชส์
เปิดร้านเอง VS ซื้อแฟรนไชส์
เชื่อว่าคำถามนี้คงเกิดขึ้นในใจใครหลายๆ คนที่กำลังอยากจะเริ่มต้น
ในธุรกิจร้านอาหาร ระหว่างการซื้อแฟรนไชส์
หรือการทำร้านด้วยตัวเองว่าแบบไหนจะเหมาะกับเรา
หรือแบบไหนดีกว่ากัน
1
ผมเองก็เป็นคนนึงที่เคยเกิดคำถามนี้ขึ้นกับตัวเอง
สมัยที่อยากเริ่มทำร้านอาหาร ตอนนั้นก็พยายามติดต่อ
หลายร้านแฟรนไชส์ แต่ปรากฏว่าไม่มีใครยอมขายให้เราเลย
แม้แต่เจ้าเดียว อาจเป็นเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ทำร้านมาก่อน
และด้วยงบประมาณที่มีน้อยนิดเหลือเกินในตอนนั้น
2
แต่ก็ถือเป็นโชคดีที่เราเลยต้องมานั่งเริ่มต้นร้านเองตั้งแต่ต้น
จนสุดท้ายขยายมาถึง 7 สาขาในทุกวันนี้
1
แต่ไม่ว่าเราจะเปิดร้านด้วยวิธีใดก็ตาม
คุณควรจะต้องถามตัวคุณเองก่อนเสมอว่า...
- คุณมีประสบการณ์ทำร้านอาหารมาก่อน
หรือมีหุ้นส่วนที่รู้เรื่องร้านอาหารหรือไม่ ?
- คุณชอบที่จะทำตามกฎระเบียบมาตรฐานที่ถูกวางไว้
หรือชอบคิดอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ?
- คุณมีงบประมาณในการลงทุนมากน้อยแค่ไหน
พร้อมในการเสียค่าแฟรนไชส์หรือไม่ ?
ในแต่ละโมเดลนั้นล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป
ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคลมากกว่า
ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจเลือกวิธีไหนก็ตาม
อยากให้ทุกคนคิดถึง 3 ข้อหลักๆ ดังนี้
1. ชื่อเสียงแบรนด์
---แฟรนไชส์---
จะดีกว่าไหมถ้าคุณเริ่มธุรกิจร้านอาหารแล้วมีคนรู้จักคุณเลยนี่แหละ
คือประโยชน์ของร้านอาหารแบบแฟรนไชส์ ยิ่งแฟรนไชส์ไหน
ที่เปิดมานาน ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นที่รู้จักมากกว่าแฟรนไชส์
ที่เพิ่งเปิดได้ไม่นานคุณไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลามาปั้นแบรนด์
ให้เป็นที่รู้จัก
4
แต่ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียเลย หากสาขาไหนของแฟรนไชส์เกิดทำไม่ดี
หรือทำให้ลูกค้าไม่พอใจ เช่น คุมคุณภาพรสชาติไม่ได้ หรือบริการไม่ดี
ย่อมเกิดผลกระทบต่อร้านของคุณได้เช่นเดียวกัน
เพราะลูกค้าไม่ได้สนใจว่าคุณจะเป็นเจ้าของสาขานั้นหรือไม่
การควบคุมมาตรฐานแฟรนไชส์ที่ดี จึงเป็นสิ่งที่เจ้าของแฟรนไชส์
ต้องให้ความสำคัญ เพื่อที่จะรักษาชื่อเสียงของแบรนด์เอาไว้ให้นานที่สุด
1
ในปัจจุบันร้านประเภทแฟรนไชส์ในเมืองไทยมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ว่าจะเป็นร้านส้มตำ “ร้านตำมั่ว” ร้านชาบู อย่าง “ชาบูนางใน”
หรือ “ชาบูอินดี้” ร้าน"ไอศกรีม ”สเวนเซ่น” ร้านกาแฟ ”คาเฟ่อเมซอน”
ไปจนถึงร้าน “KFC” ซึ่งเป็นแบรนด์แฟรนไชส์ระดับโลก
1
---เปิดร้านเอง---
ถ้าคุณมีไอเดียที่ไม่มีร้านไหนในตลาดทำมาก่อน
หรืออยากริเริ่มอะไรด้วยตัวเราเอง โมเดลแบบแฟรนไชส์
อาจจะไม่ตอบโจทย์คุณ ด้วยพลังของโซเชียลมีเดียทุกวันนี้
ร้านอาหารทั่วไปก็สามารถเป็นที่รู้จักได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน
เพราะลูกค้าสมัยนี้โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่ม Gen Y และ Gen Z
ชอบลองอะไรใหม่ๆตลอดเวลา
2
หากร้านไหนมีการนำเสนอแนวความคิดที่แตกต่าง
หรือมีเมนูที่น่าสนใจก็อาจดังได้ในระเวลาข้ามคืนเช่นกัน
เหมือนอย่างร้านแหลมเกตุที่ปรับเปลี่ยนตัวเองหลายครั้ง
จากอาหารจานเดี่ยวมาทำเป็นแบบบุฟเฟ่ต์และทำการตลาด
ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จนเกิดกระแสบอกต่อกันไปอย่างรวดเร็ว
1
ข้อดีอีกอย่างของการเปิดร้านเองคือการขยายสาขา
ถ้าคุณซื้อแฟรนไชส์ไม่ว่าจะแบรนด์ไหน คุณสามารถเปิดได้
ทีละสาขาเท่านั้น นั่นหมายถึงคุณจะต้องจ่ายเงินทุกๆ
ครั้งในการเปิดแต่ละสาขา ไม่เหมือนกับการทำแบรนด์เอง
ที่คุณสามารถเปิดสาขาเท่าไหร่ก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น ร้านมากุโระซูชิ ร้านซูชิที่ขยาย 5 สาขา
ได้ในระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น หรือ ร้านบ้านหญิง
ร้านอาหารไทยที่มีเอกลักษณ์มีเมนูเฉพาะตัว
ทำให้สามารถขยายสาขาอยู่บนห้างใหญ่ๆ ในเมืองและในต่างประเทศได้
3
2. ระบบจัดการและควบคุม
---แฟรนไชส์---
นอกจากเรื่องชื่อเสียงที่ทำให้ร้านแฟรนไชส์ได้เปรียบร้านที่เปิดใหม่แล้ว
อีกเรื่องที่เป็นข้อดีของร้านแบบแฟรนไชส์เลยก็คือ
เรื่องของระบบการซื้อแฟรนไชส์นั้นคุณจะได้ทั้งระบบปฏิบัติการ
และคู่มือการทำงาน ระบบเทรนนิ่งพนักงานตั้งแต่ก่อนเปิดร้าน
รวมไปถึงเมนูอาหารและราคาขายที่ได้มีการกำหนดไว้ตั้งแต่แรก
ทำให้ไม่ต้องมานั่งปวดหัวในการวางระบบร้าน
หรือการเทสต์ตลาดว่าเมนูนี้จะขายได้หรือไม่ ลูกค้าจะชอบหรือเปล่า
เพราะได้มีการทดลองมาเรียบร้อยแล้ว
บางแห่งยังช่วยจัดการตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกทำเลที่ตั้ง
ไปจนถึงการออกแบบก่อสร้างอีกด้วยซ้ำ
แต่ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียเลย ระบบแฟรนไชส์นั้น
จะไม่อนุญาตให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ (franchisee)
ทำการเปลี่ยนแปลงอะไรโดยไม่ได้รับอนุญาต
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการจัดการ การตลาด เมนูอาหาร และราคาขาย
โดยหลายๆ แบรนด์นั้น
ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องซื้อวัตถุดิบจากเจ้าของแฟรนไชส์เท่านั้น
ไม่สามารถเปลี่ยนวัตถุดิบหรือซัพพลายเออร์ได้เอง
---เปิดร้านเอง---
หากคุณเป็นคนที่ชอบคิดอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ
หรือเปลี่ยนเมนูและโปรชั่นไปเรื่อยๆ ตามกระแส
หรือความต้องการของตลาดในยุคที่ลูกค้าเบื่อง่ายแบบนี้
การซื้อแฟรนไชส์คงไม่เหมาะกับคุณแน่นอน
การเปิดร้านเองจะทำให้คุณมีอิสระในการตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง
ซึ่งทำให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าแบบแฟรนไชส์
การที่คุณไม่เคยมีประสบการณ์ในร้านอาหารมาก่อน
ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอนในการบริหารจัดการร้านๆ หนึ่ง
แต่ไม่ใช่ว่าถ้าเปิดร้านเองแล้วจะไม่สามารถมีระบบการจัดการที่ดี
ได้เสียเมื่อไหร่ การเปิดร้านเองในยุคนี้อาจไม่ได้ยากเหมือนที่ผ่านมาอีก
เนื่องจากสมัยนี้คุณสามารถหาข้อมูลทุกอย่างได้ในโลกออนไลน์
หลักสูตรด้านการบริหารจัดการร้านอาหารก็มีให้เรียนมากมาย
รวมถึงมีบริษัทหรือที่ปรึกษาที่รับวางระบบร้านอาหารตั้งแต่ต้นด้วย
เพียงแค่คุณต้องรู้จักเรียนรู้ และใส่ใจมากกว่าปกติเท่านั้นเอง
3.เงินลงทุน
---แฟรนไชส์---
ตามปกติแล้วร้านอาหารแบบแฟรนไชส์
จะมีการลงทุนที่สูงกว่าร้านอาหารแบบทั่วไปอยู่พอสมควร
เนื่องจากมีข้อกำหนดต่างๆ ที่ถูกบังคับจากเจ้าของแฟรนไชส์
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การออกแบบตกแต่ง งานระบบ
และอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ รวมไปถึงเงินสดสำรองในช่วงเปิดร้านแรกๆ
ทำให้หลายครั้งที่ผู้ลงทุนต้องถอยหนีไปเปิดร้านเอง
เพราะมีเงินทุนไม่มากพอ ไม่ใช่ว่าไม่อยากซื้อแฟรนไชส์
นอกจากนี้สิ่งที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องจ่ายให้เจ้าของแบรนด์เป็นอย่างแรก
ก่อนเริ่มทำร้านเลยก็คือค่าแฟรนไชส์ (franchise fee)
เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการใช้ชื่อแบรนด์ในสาขานั้นๆ
ซึ่งอาจเริ่มต้นตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้าน
---เปิดร้านเอง---
ถึงแม้ว่าการทำร้านเองนั้นจะใช้เงินลงทุนน้อยกว่า
และคุณสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของร้านได้
ถ้าพบว่ามีโอกาสที่จะเกินงบ แต่ก็อาจมีค่าใช้จ่ายบางอย่าง
ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นมากมายได้เช่นกัน เพราะไม่มีใครมาช่วยคุณควบคุม
และวางแผนตั้งแต่ต้น เช่น ค่าขออนุญาตก่อสร้าง
ค่าทำการตลาดก่อนเปิดร้าน เพื่อให้เป็นที่รู้จัก
ค่าที่ปรึกษาคิดเมนู ค่าประกันภัย ฯลฯ
เหมือนว่าการทำร้านเองจะประหยัดกว่า
แต่กลับพบว่าร้านแฟรนไชส์นั้นมีโอกาสที่จะเจ๊งน้อยกว่า
เพราะคนที่ทำร้านเองบางคน อาจเอาเงินที่มีไปทุ่มกับการทำร้านทั้งหมด
จนไม่เหลือเงินสดสำรองในการดำเนินธุรกิจเลย
ต่างกับระบบแฟรนไชส์ที่เจ้าของแฟรนไชส์มีสิทธิ์ขอดูสถานะการเงิน
เพื่อเป็นการการันตีว่าผู้ซื้อมีศักยภาพ
และความพร้อมที่มากพอ ในการดำเนินธุรกิจ
ทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการสรุปว่าอะไรจะดีกว่ากัน
ระหว่างการซื้อแฟรนไชส์หรือทำร้านเอง
เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยและข้อจำกัดของแต่ละบุคคล
ในปัจจุบันหากคุณสนใจอยากทำธุรกิจร้านอาหารประเภทไหน
แทบจะมีแฟรนไชส์อยู่ในทุกประเภทอาหารตั้งแต่ร้าน street food
ไปจนถึงร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า
ซึ่งคุณสามารถที่จะพูดคุยและหาข้อมูลก่อนทำการตัดสินใจได้
รวมไปถึงมีที่ปรึกษาด้านแฟรนไชส์ที่คุณสามารถไปปรึกษา
ไม่ว่าจะเป็นการซื้อแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ
หรือการที่จะขยายแฟรนไชส์ด้วยตัวเอง
แต่ไม่ว่าคุณจะเริ่มร้านอาหารด้วยโมเดลธุรกิจใด
ไม่มีใครจะช่วยให้ร้านคุณประสบความสำเร็จได้เลย
หากคุณในฐานะเจ้าของร้านไม่มีความพยายาม
หรือวางแผนให้ดีก่อนเปิดร้าน
ติดตาม Torpenguin - ผู้ชายขายบริการในช่องทางอื่นๆได้ที่
ติดต่องาน E-mail : torpenguin.channel@gmail.com
โฆษณา