12 ก.พ. 2021 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สะพานข้ามสัตว์ป่า ช่วยสัตว์ป่าได้อย่างไร?
หลายคนอาจจะเคยสัญจรผ่านเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ช่วงกบินทร์บุรี-ปักธงชัย และได้ผ่านทางเชื่อมผืนป่าระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลานไว้ด้วยกัน โดยมีลักษณะเป็นอุโมงค์ลอดใต้ผืนป่าที่ปลูกใหม่ไว้บนอุโมงค์ แต่อุโมงค์จะช่วยสัตว์ป่าได้อย่างไร และสัตว์ป่าจะได้ประโยชน์อะไรจากทางลอดนี้บ้างเรามาลองดูกันครับ
(ดัดแปลงจากภาพจาก Google maps)
ทางหลวงหมายเลย 304 ช่วงกบินทร์บุรี-ปักธงชัยถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2562 ที่ทางเชื่อมผืนป่านี้สร้างเสร็จ เป็นระยะเวลามากกว่า 50 ปีที่ผืนป่าผืนใหญ่ทั้งสองผืนถูกแยกออกจากกันโดยถนน ทำให้สัตว์ป่าในทั้งสองผืนป่าถูกแยกออกจากกัน และถึงแม้ว่าถนนสายนี้จะไม่กว้างมาก และสัตว์ป่าจะมีการข้ามถนนไปมาได้ในบางครั้ง แต่บ่อยครั้งสัตว์ป่าก็อาจจะถูกชนหรือทับโดยรถยนต์ได้ (Road kill) ทั้งสัตว์ขนาดใหญ่และสัตว์ขนาดเล็ก ทำให้เกิดความเสียหายต่อสัตว์ป่ารวมถึงผู้ใช้รถยนต์ได้ นอกจากนั้นการมีถนนและรถสัญจรในบริเวณนี้ทำให้สัตว์ป่าที่ไวต่อการรบกวนอาจจะหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่อยู่ใกล้ถนน และหลีกเลี่ยงที่จะข้ามไปอีกฟากหนึ่งของผืนป่า
ตำแหน่งของทางข้ามสัตว์ป่าที่จะช่วยเชื่อมผืนป่าเข้าไว้ด้วยกัน (ที่มา Google maps)
นอกจากนั้นการที่ป่าที่เคยเชื่อมต่อการแยกออกจากกัน (Fragmentation) ทำให้พื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของสัตว์เล็กลง ประชากรสัตว์ป่าถูกแยกออกจากกันเป็น 2 ประชากรและทำให้ประชากรมีขนาดเล็กลง เมื่อประชากรมีขนาดเล็กลง ทำให้สัตว์ป่าเกิดความเสี่ยงของการผสมพันธ์ุของหมู่ญาติใกล้ชิดกัน ส่งผลทำให้สิ่งมีชีวิตสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม และความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปลดลง และส่งผลกระทบต่อประชากรของสิ่งมีชีวิตที่เล็กลงไปอีก หรืออาจจะทำให้บางชนิดพันธุ์สูญพันธุ์ไปได้
ผืนป่าที่ถูกแยกออกจากกันโดยถนนสาย 304 (ที่มา Google maps)
เมื่อมีทางเชื่อมผืนป่า หรือทางข้ามสัตว์ป่า (Wildlife corridor) นี้เกิดขึ้นมา ก็จะทำให้สัตว์ป่าสามารถไปมาระหว่างผืนป่าสองผืนได้ ลดปัญหาของการถูกชนหรือขับทับจากรถยนต์ นอกจากนั้นการสัญจรข้ามไปมาของสัตว์ป่าทำให้ประชากรในทั้งสองฟากของผืนป่ากลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้ง ทำให้ประชากรของสัตว์มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตสองฝั่ง ลดปัญหาการลดลงของประชากรของสัตว์ป่าลงไปได้
ตัวอย่างหนึ่งของผลของการที่ประชากรมีขนาดเล็กจนนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ มาจากการศึกษาในไก่ชนิด Greater prairie chicken [Tympanuchus cupido] ที่แพร่กระจายในประเทศสหรัฐอเมริกา ไก่ชนิดนี้เคยมีแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในทวีปอเมริกาเหนือ แต่จากการล่าและการที่ถิ่นที่อยู่อาศัยของไก่ชนิดนี้ที่เป็นทุ่งหญ้า Prairie ได้ถูกทำลายลงเป็นอย่างมาก ทำให้ประชากรของไก่นี้มีจำนวนน้อยลง และแพร่กระจายอยู่ในบริเวณแคบๆ ในบางประชากรมีจำนวนไก่ชนิดนี้ลดลงมาน้อยกว่า 100 ตัว และยังมีแนวโน้มที่จะลดลงมาเรื่อยๆ เนื่องจากอัตราการฟักของไข่ของไก่ชนิดนี้ลดลงมาอย่างรวดเร็วด้วยสาเหตุจากการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม
ไก่ Greater Prairie Chicken เพศผู้ (ที่มา By GregTheBusker - Prairie Chicken, Puffed UpUploaded by Snowmanradio, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=10312117)
นักวิชาการจึงได้ทำการนำไก่ชนิดนี้จากประชากรจากรัฐอื่นๆ นำมาปล่อยเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมให้กับประชากร ผลที่ตามมาคือ ไก่ชนิดนี้มีอัตราการฟักไข่ที่สูงขึ้น และมีแนวโน้มที่ประชากรจะเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากมีความหลากหลายทางพันธุกรรมเพิ่มขึ้น (Genetic rescue) อย่างไรก็ตาม การขยายพื้นที่ที่ไก่ชนิดนี้อยู่อาศัยได้ อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าในการอนุรักษ์ไก่ชนิดนี้อย่างยั่งยืน
ข้อมูลจากไก่ Greater prairie chicken ช่วยให้เห็นภาพของการช่วยเหลือทางพันธุกรรมที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเชื่อมต่อประชากรของสัตว์ป่าเข้าด้วยกันผ่านทางเชื่อมผืนป่า และความเป็นไปได้ที่ประชากรของสัตว์ป่าจะมีขนาดขยายใหญ่ขึ้นเมื่อเกิดการเชื่อมต่อของผืนป่า ถึงแม้ว่าทางเชื่อมสัตว์ป่าและอุโมงค์ทางลอดที่ทับลานนี้ยังมีปัญหาบางอย่าง เช่น ปัญหาน้ำท่วมอุโมงค์เมื่อปลายปี 2563 แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามครั้งสำคัญของประเทศไทยในการลงทุนในการอนุรักษ์สัตว์ป่า และการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าเลยทีเดียว
สิ่งมีชีวิตบางอย่าง ถ้าสูญพันธุ์ไปแล้ว ก็ไม่สามารถนำกลับมาได้ครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Mussmann S. M., Douglas M. R., Anthonysamy W. J. B., Davis M. A., Simpson S. A., Louis W. and Douglas M. E. 2017Genetic rescue, the greater prairie chicken and the problem of conservation reliance in the AnthropoceneR. Soc. open sci.4160736
2. Freeman S, Herron JC. 2004Evolutionary analysis, 3rd edn. Upper Saddle River, NJ: Pearson Prentice Hall, Inc.
6. Krebs, C.J. 2009. Ecology: The Experimental Analysis of Distribution and Abundance. 6th ed. Benjamin Cummings, San Francisco. 655 pp.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา