10 ก.พ. 2021 เวลา 01:27 • ข่าว
รางวัลนำจับ "ดาบ 2 คม"
ลดคดีผิดกฎหมาย-เพิ่มคอร์รัปชั่น
รางวัลนำจับจาก “เบาะแส”
แก้ปัญหาอะไรในสังคมไทยได้บ้าง?
ธนก บังผล
เห็นกระทรวงการคลัง ออกอาการขึงขัง กรณีโครงการ “เราชนะ” หากพบว่าชาวบ้านใช้จ่ายวงเงินผิดวัตถุประสงค์ หรือร้านฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า-บริการเกินกว่าปกติ จะระงับการใช้แอพพลิเคชั่นและดำเนินการตามกฎหมายทันที โดยโฆษกกระทรวงการคลังขอความร่วมมือประชาชนที่พบเห็นแจ้งเบาะแส ส่งหลักฐาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงไปตรวจสอบ
 
รู้ทั้งรู้ว่าเงื่อนไขที่ตั้งขึ้นมานั้นไม่ได้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงเงินเพื่อนำไปเยียวยาตรงกับความเดือดร้อน เสียงคัดค้านที่พยายามอธิบายผลกระทบของแต่ละครอบครัวที่แตกต่างกันนั้น เบากว่าความต้องการที่อยากจะเห็นเม็ดเงินถูกหมุนในแอพพลิเคชั่นแสดงเป็นความเคลื่อนไหว ที่มีคนในกระทรวงไม่กี่คนเท่านั้นจะภูมิใจกับผลลัพธ์นี้
เป็นความเหมือนที่แตกต่าง เช่นปัญหาผู้ค้าจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กำหนด 80 บาท แม้ชาวบ้านจะซื้อกันทั่วประเทศในราคาใบละ 100 บาท แต่ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (กองสลาก) ก็แถลงข่าวเป็นประจำทุกปีว่าไม่พบการขายเกินราคา
หลายๆปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมไทย เป็นประเด็นสาธารณะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ผมพบว่ามีการเขียนกฎหมาย “ว่าด้วยการจ่ายเงินในรางวัลนำจับ” กำหนดระเบียบข้อบังคับเอาไว้เป็นทางออก ก่อนข้อกำหนดเหล่านั้นจะถูกแก้ไขปรับปรุงใหม่เรื่อยๆ แล้วประกาศใช้อย่างเงียบๆ
ปัญหาโลกแตกในประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่อย่างครับที่ไม่ว่าจะห้ามอย่างไรก็แก้ไม่ได้ เช่น ขายล็อตเตอรี่เกินราคา , ขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า , เผาหญ้าเผาขยะเกิดมลพิษ และทุจริตซื้อเสียงในการเลือกตั้ง
ความผิดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มี “รางวัลนำจับ” หรือ “ส่วนแบ่งค่าปรับ” ให้แก่ผู้แจ้งเบาะแสเข้ามาจนคดีถึงที่สุด
ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าปัญหาที่ผมกล่าวถึงนี้ก็ยังไม่ถูกแก้ไขหรือหายไปจากสังคมไทยสักที สาเหตุเกิดจากอะไร?
ขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า
ฟุตบาททั่วทั้ง กทม. ส่วนใหญ่ถูกจับจองโดยวินจักรยานยนต์ในพื้นที่ แม้จะนำเหล็กมากั้นหรือเขียนกฎหมายให้มีโทษปรับก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการขี่บนทางเท้าของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ได้
กุมภาพันธ์ ปี 2563 มีผู้โพสต์ลงโซเชียลว่า ได้รับเงินจากรางวัลนำจับ จากการแจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิด 4 ราย ขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ได้รับเงินจำนวน 4,000 บาท โดยในเดือนมกราคม มียอดการแจ้งเบาะแส 8,000 บาท
รวมยอด 2 เดือน อยู่ที่ 12,000 บาท
ทั้งนี้ การกระทำผิดบนทางเท้าโดยเฉพาะการขับขี่ และการจอดรถบนทางเท้าซึ่งกีดขวาง ทางสำนักเทศกิจ กำหนดอัตราค่าปรับอยู่ที่ 2,000 บาท พร้อมเปิดช่องทางให้ประชาชนแจ้งข้อมูลการกระทำความผิด ภาพถ่าย พร้อมระบุพื้นที่ที่พบการทำผิดและรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งสำนักงานกรุงเทพมหานคร จะนำไปตรวจสอบทะเบียนรถและดำเนินการ หากสามารถนำไปสู่การจับปรับผู้กระทำความผิด จะได้รับเงินรางวัล 50 เปอร์เซ็นต์
การดำเนินการจะต้องรัดกุม คนแจ้งจะไม่สามารถแค่โทรแจ้งเท่านั้น แต่จะต้องมีการแสดงตัวตน ยืนยันว่ามีตัวตนจริง รวมถึงมีหลักฐานการนำจับ เช่น ภาพถ่าย ,คลิป วิดีโอ ซึ่งจะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และเมื่อการสอบสวนแล้วเสร็จ คนนำจับถึงจะได้รางวัล จะต้องมารับเงินรางวัลเอง โดยจะไม่มีการทำธุรกรรมผ่านบัญชีแต่อย่างใด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
นอกจากนี้ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ยังครอบคลุมการขับรถโดยสารสาธารณะประเภทต่างๆ ทุกประเภท ที่ประชาชนพบเห็นการกระทำผิด แล้วแจ้งเบาะแสที่ 1584 หรือช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียของกรมการขนส่งทางบก ผู้ชี้เบาะแสจะได้รับสินบนนำจับ 50% จากค่าปรับ ที่มีตั้งแต่ 200-25,000 บาท หลังจากตรวจสอบพบเป็นความผิดจริง ล่าสุด กรมการขนส่งทางบก เผยว่ากำลังอยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์ระเบียบปฏิบัติ เพื่อประสานกับกระทรวงการคลัง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการรับเรื่องราวร้องเรียน และจ่ายรางวัล
ขายล็อตเตอรี่เกินราคาใบละ 80 บาท
กองสลากฯ เปิดให้ประชาชนแจ้งเบาะแสผู้จำหน่ายสลากเกินราคา ผ่านศูนย์รับแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ 0 2528 9999 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานข้อมูลส่งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดำเนินการจับกุม
ซึ่งการแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ได้เพิ่มโทษปรับผู้จำหน่ายสลากจากเดิมไม่เกิน 2,000 บาท เป็นปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่จับกุมจะได้รับเงินรางวัลเท่ากับจำนวนเงินที่เปรียบเทียบปรับ แต่ไม่เกิน 2,000 บาทต่อคดี ส่วนประชาชนผู้แจ้งเบาะแสจากเดิมที่เคยได้เงินรางวัลนำจับคดีละ 2,000 บาท แก้ไขลดลงเหลือคดีละ 1,000 บาท
สถิติการจับกุมตั้งแต่ปี 2560-2563 รวมทั้งหมด 22,153 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น (ปี 2560 จำนวน 2,339 ราย / ปี 2561 จับกุม 6,240 ราย / ปี 2562 จับกุมได้ 7,527 ราย และ ปี 2563 จำนวน 6,047 ราย)
อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขการจับกุมผู้จำหน่ายสลากเกินราคาที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้แจ้งเบาะแสได้เงินนำจับเป็นส่วนแบ่งค่าปรับลดลงเหลือ 1,000 บาท ทำให้น่าสนใจว่ารางวัลนำจับถูกปรับลดลงเป็นเพราะมีผู้แจ้งเพิ่มมากขึ้น หรือเป็นเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมเองโดยไม่มีผู้แจ้งเบาะแส กรณีไหนทำให้กองสลากฯต้องเบิกจ่ายเงินรางวัลมากกว่ากัน เพราะผู้อำนวยการกองสลากก็ยังยืนยันว่าการลงพื้นที่ตรวจสอบไม่พบผู้ค้าที่จำหน่ายสลากเกินราคา
ทุจริตการเลือกตั้งท้องถิ่น
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการร้องเรียนเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ว่าเบาะแสการกระทำความผิดในการเลือกตั้งไม่ได้เป็นหลักฐานเหมือนทั่วไป เพราะผู้แจ้งได้ใช้ความพยายามหรือมีความเสี่ยงในการแสวงหาจนสามารถนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดได้ก็จะได้รับเงินรางวัล โดยสามารถแจ้งเป็นหนังสือ ลงชื่อผู้แจ้ง และบอกความประสงค์ขอรับรางวัล หรือแจ้งเบาะแสได้ด้วยตัวเอง และเก็บสำเนาเอกสารการแจ้งเบาะแสไว้เพื่อมาขอรับรางวัล ซึ่งสำนักงาน กกต.จะปกปิดเป็นความลับและจะไม่ระบุชื่อผู้รับเงินรางวัล
สำหรับเรตเงินรางวัลจากเบาะแสการเลือกตั้ง นายก อบจ. แบ่งเป็น กรณี กกต.มีคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) ได้เงินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1แสนบาท สูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท
หากเป็นกรณีผู้สมัครสมาชิก อบจ. เงินรางวัลขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 1แสนบาท
ถ้า กกต. สั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งชั่วคราว (ใบส้ม) กรณี นายก อบจ. ได้เงินรางวัล ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1แสนบาท สูงสุดไม่เกิน 3แสนบาท ส่วนสมาชิก อบจ. เงินรางวัลขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 2แสนบาท
กรณีศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่ หรือใบเหลือง นายก อบจ. ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 แสนบาท สูงสุดไม่เกิน 4 แสนบาท เป็นสมาชิก อบจ. เงินรางวัลขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท
และหากศาลอุทธรณ์สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) หรือสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) นายก อบจ. เงินรางวัลขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1แสนบาท สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท ขณะที่สมาชิก อบจ. เงินรางวัลขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท
เมื่อพบเห็นการทุจริตเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน สิ่งของ หรือ มีการเลือกรับเงินหรือทรัพย์สิน แจ้งเบาะแส หรือ รวบรวมหลักฐานการทุจริต แจ้งต่อตำรวจในพื้นที่ / กกต.จังหวัด / กกต.ท้องถิ่น หรือ แจ้ง กกต.ส่วนกลาง สายด่วน 1444
หากกข้อเท็จจริงชัดเจนจนนำไปสู่การตัดสิน จะได้รับรางวัล 1 แสนบาท
สายด่วน 1111 แจ้งทุกเรื่อง-ไม่มีรางวัล
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยการรับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือปล่อยปละละเว้นการกระทำผิดกฎหมาย บ่อน ค้าประเวณี แรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งเรื่องราวร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือ สอบถามข้อมูล เสนอความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโควิด-19 ฯลฯ ผ่านทั้ง 5 ช่องทาง 1111 ตั้งแต่วันที่ 7-22 มกราคม 2564 รวมทั้งสิ้น 32,245 เรื่อง
จำแนกได้ดังนี้ เบาะแสแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย 25 เรื่อง, บ่อนการพนัน 132 เรื่อง ,การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 80 เรื่อง ที่เหลืออีก 32,008 เรื่อง เป็นการที่ประชาชนได้แจ้งเรื่องร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือ รวมถึงสอบถามข้อมูล เสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะทั่วไปเกี่ยวกับโควิด-19
นอกจากนี้ กรมประชาสัมพันธ์ ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้เปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแส หากพบร้านค้าที่ร่วมโครงการคนละครึ่ง ตั้งราคาสูงเกินจริง รวมถึงร้านที่รับแลกสิทธิเป็นเงินสด โดยสามารถส่งข้อมูลไปได้ที่ อีเมล halfhalf@fpo.go.th หรือโทร 02 273 9020 ต่อ 3697, 3527, 3548 และ 3509
ข้อดี-ข้อเสีย จากเงินรางวัล
ปัญหาหลักๆที่ยกมาให้เห็นว่าการตั้งรางวัลนำจับ หรือรางวัลจากการแจ้งเบาะแส ส่วนหนึ่งสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนที่พบเห็นการกระทำความผิดซ้ำๆ ไม่เพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย เมื่อการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนสะดวกต่อการถ่ายภาพ ถ่ายคลิปไว้เป็นหลักฐาน ผู้ที่กระทำความผิดแล้วถูกลงโทษอาจทำให้ผู้ได้คิดก่อนจะประพฤติซ้ำอีกครั้ง
ปัจจุบันในสังคมไทยการจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคา ขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า เผาหญ้าสร้างมลพิษ ค้ายาเสพติด ทุจริตการเลือกตั้ง ฯลฯ บางคนเป็นเรื่องปกติ ด้วยอิทธิพลหรือความคุ้นเคย การกระทำเหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้องหลบซ่อนในบางพื้นที่ ในขณะที่ชาวบ้านก็ไม่อยากหาเรื่องวุ่นวายเพราะธุระไม่ใช่ ส่วนแบ่งค่าปรับกับเงินรางวัลนำจับหากกำหนดวิธีที่เหมาะสมและขั้นตอนการจ่ายเงินให้ชัดเจน อย่างน้อยก็เป็นทางออกในการช่วยแก้ปัญหามากกว่าการวางเฉย
การให้รางวัลยังสร้างความรู้สึกที่ใกล้ชิดระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่สามารถพึ่งพาข้อมูลหลักฐาน ซึ่งแตกต่างจากทุกวันนี้ที่รัฐข่มขู่ชาวบ้านด้วยท่าทีที่ขึงขังจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ สร้างเงื่อนไขที่ชาวบ้านเข้าถึงยาก ไม่สะดวกในการใช้บริการ พร้อมกับขู่ประชาชนแล้วสั่งประชาชนให้ส่งหลักฐาน โดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น แม้แต่คำ “ขอบคุณ”
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการใช้เงินเป็นรางวัล ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้มีการจ่ายสินบนและเงินรางวัลเพิ่มขึ้นทุกปี จาก 125 ฉบับ เมื่อปี 2547 มาเป็น 132 ฉบับ ในปี 2555
เงินส่วนแบ่งเหล่านี้เมื่ออยู่ในรูปแบบ “รางวัล” แล้วถูกแจกและเบิกไปยังตำรวจ ศุลกากร ขนส่งทางบก ป่าไม้ หน่วยปราบปรามยาเสพติด ฯลณ โดยให้เหตุผลสำคัญว่าเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และตัดปัญหารับสินบนจากผู้กระทำผิด
แต่จากการศึกษาพบว่า การจ่ายเงินรางวัลเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่นเพิ่มขี้น จากการรับสินบนเพื่อลัดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ข่มขู่เรียกรับผลตอบแทนเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะมีการกระทำผิดจริงหรือไม่ เลือกรับงานที่เห็นว่ามีโอกาสจะได้เงินรางวัลจำนวนมาก และอาจแย่จนถึงกับแบ่งสินบนที่ได้รับมาให้คนในกลุ่มเดียวกันอย่างไม่เป็นธรรม
หน้าที่ปกติที่ควรปฏิบัติเป็นปกติ รางวัลการจับกุมอาจกลายเป็นขุมประโยชน์ย่อมๆหลายช่องทางในหน่วยงานรัฐที่เจ้าหน้าที่ใช้คอร์รัปชั่น
โฆษณา