10 ก.พ. 2021 เวลา 09:16 • ท่องเที่ยว
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
“วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร” ... ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
“พระอุโบสถหลังใหม่” … ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกขององค์พระบรมธาตุสร้างขึ้นทดแทนพระอุโบสถหลังเก่า ซึ่งชำรุดและรื้อออกไปเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สำหรับพระอุโบสถหลังเก่านั้นสันนิษฐานมาสร้างประมาณ พ.ศ. ๑๓๓๕ ซึ่งแต่เดิมนั้นมีใบพัทธสีมาเพียงใบเดียวเรียงรายรอบพระอุโบสถ จนถึงสมัยพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาได้แผ่เข้ามาในประเทศไทยประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ พระสงฆ์ลังกาได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาซ้ำลงในที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้พระพุทธศาสนาบริสุทธิ์มีความมั่นคง และสมบูรณ์ยิ่งขึ้นวัดที่ได้ผูกพัทธสีมาซ้ำแล้ว จึงให้ปักใบพัทธสีมาเพิ่มขึ้นเป็นคู่แฝดโดยมากมักจะเป็นอารามหลวง
ด้วยเหตุนี้วัดพระบรมธาตุไชยาจึงมีใบพัทธสีมา ๒ ใบ ดังปรากฎเห็นอยู่ในปัจจุบันหลังจากท่านเจ้าคุณพระชยาภิวัฒน์ ได้ทำการบูรณะปฎิสังขรณ์พระบรมธาตุและพระวิหารคดแล้ว ทางวัดได้ทำการบูรณะซ่อมแซมอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อวัดพระบรมธาตุไชยาฯ ได้ยกฐานขึ้นเป็นพระอารามหลวงแล้วได้รับงบประมาณทางวัดได้สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ตรงที่เดิมแต่ขยายส่วนออกไปอีกยาวกว่าเดิมเล็กน้อยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยมีเขตพัทธสีมากว้าง ๑๓.๑๕ เมตร ยาว ๑๘.๘๐ เมตร
ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพระรูปศิลาทรายแดงปางมารวิชัย สมัยอยุธยา เบื้องหน้าพระประธานมีใบพัทธสีมาคู่ ซึ่งเป็นของเดิมแต่ครั้งพระอุโบสถหลังเก่าพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำด้วยศิลาทรายเผาศิลปะสมัยอยุธยา เบื้องหน้าพระประธานประดิษฐานพัทธสีมาคู่ ซึ่งเป็นของเดิมแต่ครั้งพระอุโบสถหลังเก่า การผูกพัทธสีมาคู่นี้สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงมีใบพัทธสีมาใบเดียวเรียงรายรอบพระอุโบสถ
“เจดีย์พระบรมธาตุไชยา” ... เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นตามแบบลัทธิมหายาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 ไม่ปรากฏประวัติการสร้าง หรือผู้ใดสร้าง เข้าใจว่าสร้างในขณะที่เมืองไชยาสมัยศรีวิชัยกำลังเจริญรุ่งเรืองสูงสุด อายุไม่ต่ำกว่า 1200 ปี รูปแบบขององค์พระเจดีย์เป็นแบบแบบศรีวิชัย และเป็นองค์เดียวที่ยังอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด
พระพุทธรูปศิลาทรายแดงสามองค์ หรือพระพุทธรูป ๓ พี่น้อง ... ประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระวิหารหลวง บนลานกลางแจ้งภายในกำแพงแก้ว ซึ่งสันนิษฐานกันว่าลานนี้น่าจะเคยเป็นวิหารเก่ามาก่อน แต่น่าจะชำรุดทรุดโทรมไป
พระพุทธรูปศิลาทรายแดงสามองค์ ... เป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยฝีมือสกุลช่างไชยาปางมารวิชัย ทำด้วยศิลาทรายแดงทั้ง ๓ องค์ เดิมพระพุทธรูปชำรุดแตกหักไปสององค์จึงซ่อมแซมโดยใช้ปูนพอกส่วนอีกองค์ยังสมบูรณ์จึงยังคงลักษณะเดิมไว้ คือยังเป็นเนื้อศิลาทรายสีแดงให้ได้เห็นกันทุกวันนี้ มีเรื่องเล่ากันว่าในสมัยรัชกาลที่ ๗ มีการสร้างศาลาครอบไป ๓ ครั้งแต่เกิดเหตุอสนีบาต (ฟ้าผ่า) ที่ศาลาองค์พระทั้ง ๓ ครั้ง ทำให้ไม่มีใครดำเนินการสร้างครอบองค์พระมาจนถึงปัจจุบัน จึงได้เป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งอย่างทุกวันนี้
พระพุทธรูป ๓ พี่น้อง ... เป็นชื่อที่เพิ่งมาเรียกกันในปัจจุบันเพื่อเป็นที่ย้ำเตือนสติลูกหลานให้รู้รักสามัคคีกันเสมือนองค์พระทั้ง ๓ องค์ที่ประดิษฐานกลางแจ้งตากแดดตากฝนเสมือนการร่วมทุกร่วมสุขร่วมกัน
“เจดีย์พระบรมธาตุไชยา” ...ในปัจจุบัน นับเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งยังเป็นเป็นหนึ่งในสามของ โบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาของภาคใต้ ได้แก่ พระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจดีย์พระมหาธาตุวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช และพระพุทธไสยาสน์ในถ้ำคูหาภิมุข บริเวณวัดคูหาภิมุข จังหวัดยะลา
จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ใช้ภาพของ เจดีย์พระบรมธาตุนี้เป็นสัญลักษณ์ในดวงตราประจำจังหวัด และเป็นสัญลักษณ์ในธงประจำกอง และผ้าพันคอลูกเสือด้วย
ตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับเจดีย์พระบรมธาตุไชยา ... ครั้งหนึ่งมีพี่น้องชาวอินเดียสองคนชื่อ ปะหมอ กับปะหมัน ทั้งสองเดินทางโดยเรือใบเข้ามาถึง เมืองไชยา ได้พาบริวารขึ้นบกที่บ้านนาค่ายตรงวัดหน้าเมือง ในตำบลเลเม็ด
เจ้าเมืองมอบให้ปะหมอ ซึ่งเป็นนายช่างมีความเชี่ยวชาญการก่อสร้าง สร้างเจดีย์พระบรมธาตุไชยา ครั้นเสร็จก็ตัดมือตัดเท้า เสีย เพื่อมิให้ปะหมอไปสร้างเจดีย์ที่งดงามเช่นนี้ให้ผู้ใดอีก ... ปะหมอทนบาดพิษบาดแผลไม่ได้ ถึงแก่ความตาย เจ้าเมืองได้หล่อรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรไว้ เป็นเครื่องหมายแทนตัวปะหมอ
ส่วนน้องชายที่ชื่อปะหมันได้ไปครองเกาะพัดหมัน และตึงรากอยู่ที่นั้นจนกระทั่งสิ้นชีวิต
“เจดีย์พระบรมธาตุไชยา” ... มีรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่เป็นลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทเรือนธาตุองค์เดียว มีมุขทั้ง ๔ ด้าน ความสูงจากฐานใต้ดินถึงยอด 24 เมตร
องค์เจดีย์พระบรมธาตุ ... ตั้งอยู่บนฐานฐานบัวลูกแก้วรูปสี่เหลี่ยมสูงย่อเก็จ ขนาดฐานวัดจากทิศตะวันนออกถึงทิศตะวันตกยาว 13 เมตร ทางด้านทิศเหนือถึงทิศใต้ ยาว ๑๘ เมตร ... ฐานที่เรามองเห็นนี้สร้างบนฐานเก่าบนผิวดิน ซึ่งมีระดับต่ำกว่าพื้นดินปัจจุบัน บริเวณโดยรอบฐานมีการขุดสระกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ลึกประมาณ 60-70 เซนติเมตร เอาไว้โดยรอบ
องค์เจดีย์พระบรมธาตุ ... มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรมุขย่อ มุขด้านหน้าหรือมุขด้านตะวันออก เปิดมีบันไดขึ้นสำหรับให้ประชาชนเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปภายในเจดีย์ ... เมื่อเข้าไปภายใน จะเห็นองค์พระเจดีย์หลวง เห็นผนังก่ออิฐแบบไม่สอปูนลดหลั่นกันขึ้นไปถึงยอดมุข อีกสามด้าน ทึบทั้งหมด
ที่มุมฐานทักษิณ ... มีเจดีย์ทิศหรือเจดีย์บริวารตั้งซ้อนอยู่ด้วย
เหนือมุขเป็นซุ้มหน้าบันประดับลายปูนปั้น รูปวงโค้งคล้านเกือกม้าเรียกว่า กุฑุ เหนือเรือนธาตุมีลักษณะเป็นหลังคาซ้อนกันขึ้นไป ๓ ชั้น โดยการจำลองย่อส่วนอาคารเบื้องล่างลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับด้วยสถูปจำลองที่มุมทั้งสี่ และตรงกลางด้านเหนือซุ้มหน้าปัน รวมจำนวนสถูปจำลองชั้นละ ๘ องค์ ทั้งหมด ๓ ชั้นเป็นจำนวน ๒๔ องค์
ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งซ่อมแปลงครั้งใหญ่ในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยขยายส่วนยอดให้สูงขึ้นเริ่มตั้งแต่บัวปากระฆัง ซึ่งเป็นดอกบัวบานขนาดใหญ่ องค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ต่อด้วยฉัตรแปดเหลี่ยม ๕ ชั้น บัวกลุ่ม และปลียอดหุ้มทองคำ เหนือปลียอดประดับฉัตรหุ้มทองคำหนัก ๘๒ บาท ๓ สลึง ต่อมาถูกขโมยลักไป ทางวัดจึงจัดทำขึ้นใหม่ด้วยทองวิทยาศาสตร์
ลวดลายประดับเจดีย์ ... ได้มีการสร้างเพิ่มเติมใหม่ด้วยปูนปั้นเกือบทั้งหมด เป็นลายปั้นใหม่ ตามความคิดของผู้บูรณะ มิได้อาศัยหลักทางโบราณคดี รวมถึงลานระหว่างเจดีย์และพระระเบียง เปลี่ยนจากอิฐหน้าวัวเป็นกระเบื้องซีเมนต์ จนถึงในรัชกาลปัจจุบัน
พ.ศ.2521-2522 ได้รับการ บูรณะปฎิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้ง โดยการบูรณะในครั้งนี้เป็นการซ่อมแซมของเก่าที่มีอยู่เดิมให้คง สภาพดี เพื่อไว้เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของชาติสืบต่อไป
ระเบียงคดหรือวิหารคด ... เป็นระเบียงล้อมรอบองค์พระบรมธาตุอยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๓๘ เมตร สูง ๔ เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ รวม ๑๘๐ องค์ ชาวบ้านเรียกว่าพระเวียน ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับการปฎิสังขรณ์ใหม่ ส่วนพระพุทธรูปศิลาทรายแดง ศิลปะอยุธยาสกุลช่างไชยายังคงอยู่ในสภาพเดิม
...พระพุทธรูปที่อยู่ล้อมรอบระเบียงคตของพระบรมธาตุไชยาเมื่อผิวนอกกระเทาะออกเราจะเห็นหินทรายแดงหรือศิลาแลงชัดเจน
เจดีย์ทิศ รอบองค์พระบรมธาตุที่มุมทั้ง ๔ ทิศ ... เจดีย์ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ชั้นล่างเป็นฐานบัวลูกแก้วทรงสูง ก่ออิฐฉาบปูนต่ำรองรับฐานบัวแก้วอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งรองรับองค์ระฆังทรงกลม ส่วนยอดเป็นบัลลังก์ปล้องไฉนและปลียอด
เจดีย์ทิศองค์นี้แตกต่างจากเจดีย์ทิศที่มุมอีกสามด้านเป็นองค์เจดีย์ขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ไว้ภายใน มีประตูปิดล็อคอย่างแน่นหนา พระนามว่า “หลวงพ่อโต” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบลังกา
ส่วนเจดีย์อีกสามองค์นี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ หลังกว่าเจดีย์องค์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนเจดีย์ด้านทิศตะวันตกด้านหลังองค์พระบรมธาตุเป็นเจดีย์ทรงมณฑปสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์
วัดพระบรมธาตุไชยา ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดพระบรมธาตุไชยา โรงเรียนสงฆ์ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา