Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เคหการเกษตร
•
ติดตาม
10 ก.พ. 2021 เวลา 12:00 • การเกษตร
" รู้ลึก!! ... สารป้องกันกำจัดเชื้อรากลุ่มเบนซิมิดาโซล "
เนื่องจากเคยมีคำถามจากผู้ส่งออกผักและผลไม้ไปยังสหภาพยุโรปว่า เกิดปัญหา
ตรวจพบสารเคมีคาร์เบนดาซิมตกค้างในผลผลิตส่งออก ทั้งๆ ที่เกษตรกรแจ้งว่า ไม่เคยใช้สารนี้มาก่อน จึงเกิดคำถามตามมาว่า สารเคมีดังกล่าวตกค้างในผลผลิตได้อย่างไร? เคหการเกษตรจะพาไปรู้จักสารคาร์เบนดาซิมและค้นหาสาเหตุไปพร้อมกัน
>> ทำความรู้จัก “สารคาร์เบนดาซิม”
“สารคาร์เบนดาซิม” เป็นสารเคมีในกลุ่มเบนซิมิดาโซล นอกจากจะมีคาร์เบนดาซิมแล้วยังมีสารอื่นๆ อีกหลายชนิด ได้แก่ “เบโนมิล คาร์เบนดาซิม ไทอะเบนดาโซล ไทโอฟาเนต และไทโอฟาเนต-เมทิล” โดยสารในกลุ่มนี้เป็นสารกำจัดเชื้อราที่มีคุณสมบัติเป็นสารดูดซึม (Systemic fungicide)
นอกจากนี้กลุ่มเบนซิมิดาโซลยังแยกย่อยได้ 2 กลุ่มย่อยคือ
1. กลุ่มคาร์บาเมตหรือกลุ่มที่มีองค์ประกอบของกรดคาร์บามิค ได้แก่ เบโนมิล และคาร์เบนดาซิม
2. กลุ่มที่ไม่ใช่คาร์บาเมต ได้แก่ ไทอะเบนดาโซล ไทโอฟาเนต และไทโอฟาเนตเมทิล
อย่างไรก็ตามกลุ่มไทโอฟาเนต เมื่อใช้ไปแล้ว จะได้เป็นอนุพันธ์คือ คาร์เบนดาซิม และอนุพันธ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สารกำจัดเชื้อรา นอกจากนี้แล้วสารเบโนมิลก็สลายตัวให้อนุพันธ์เป็นคาร์เบนดาซิมเช่นเดียวกัน
ซึ่งในปัจจุบัน ไทอะเบนดาโซล ไทโอฟาเนตเมทิล เป็นสารที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้ใช้ได้ ส่วนเบโนมิล คาร์เบนดาซิม และไทโอฟาเนท (เอทิล) สหภาพยุโรปไม่อนุญาตให้ใช้แล้ว
>> คุณสมบัติของสารเคมีกลุ่มเบนซิมิดาโซล
เป็นสารเคมีออกฤทธิ์กว้าง (Broad spectrum) มีคุณสมบัติดูดซึม (systemic) ใช้แบบป้องกัน (Protective) และบำบัดรักษา (Curative) เชื้อราสาเหตุโรคพืชทั้งในไม้ผล พืชผัก ไม้ดอก และพืชไร่
>> สารออกฤทธิ์ (Active Ingredient)
สารในกลุ่มเบนซิมิดาโซลในองค์ประกอบด้วยสารอินทรีย์เฮเทอโรไซคลิกอะโรมาติก ที่มีขึ้นทะเบียนในบ้านเรา ได้แก่
o เบโนมิล ชื่อทางเคมี methyl 1-(butylcarbamoyl) benzimidazol-2-ylcarbamate
o คาร์เบนดาซิม มีชื่อทางเคมี methyl benzimidazol-2-ylcarbamate
o ไทโอฟาเนต-เมทิล มีชื่อทางเคมีว่า dimethyl 4,4'-(o-phenylene) bis (3-thioallophanate)
BENOMIL
CARBENDAZIM
THIOPHANATEMETHYL
>> ประโยชน์ของสารเคมีกลุ่มเบนซิมิดาโซล
ใช้ป้องกันกำจัดเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิด เช่น รากลุ่ม Ascomycetes, Besidiomycete, Deuteromycetes แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อรากลุ่มราน้ำ (Oomycetes) อาทิเช่น ราน้ำค้าง (Downey mildew) โรครากเน่าโคนเน่า (Damping off) สาเหตุจากเชื้อพิเทียม (Pythium) หรือโรคใบไหม้ในมันฝรั่งและมะเขือเทศที่เกิดจากเชื้อไฟทอฟทอร่า (Phytopthora infestans) โรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนที่เกิดจากเชื้อไฟทอฟทอร่า (Phytopthora palmivora) เป็นต้น
โดยอัตราการและวิธีการใช้ที่แนะนำ คือ ใช้อัตรา 20 – 30 กรัมหรือซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการระบาดของโรค หรือ สภาพแวดล้อมเหมาะสมในการเกิดโรค โดยเฉพาะในแหล่งที่เกิดโรคเป็นประจำ แต่มีข้อควรระวังในการใช้คือ
1. ไม่ควรผสมกับน้ำที่เป็นด่างหรือ พีเอ็ชมากกว่า 7 และ
2. ไม่ควรผสมกับสารที่มีองค์ประกอบของคอปเปอร์ หรือบอโดมิกเจอร์ และกำมะถัน (ซัลเฟอร์) เป็นต้น
>> “สารคาร์เบนดาซิม” ตกค้างในผลผลิตส่งออกได้อย่างไร?
“สารไทโอฟาเนต เมทิล และเบโนมิล” เมื่อใช้ไปแล้วจะสลายตัวให้ “สารคาร์เบนดาซิม” กรณีใช้ทางดินหรือการใช้แบบคลุกเมล็ด เมื่อสัมผัสกับรากพืชจะมีการเปลี่ยนเป็นสารอนุพันธ์โดยขบวนการไฮโดรไลซีสเป็นสารคาร์เบนดาซิม ซึ่งจะเคลื่อนย้ายไปตามจุดเจริญ รักษาระดับความเข้มข้นให้ป้องกันกำจัดเชื้อราได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง กรณีพ่นทางใบสารจะถูกเคลื่อนย้ายไปตามเส้นใบและจะไปอยู่ขอบและปลายใบ
คาร์เบนดาซิม
ไทโอฟาเนต-เมทิล
จากข้อมูลข้างต้นการที่ผลิตผลเกษตรที่พบสารคาร์เบนดาซิมทั้งๆ ที่ไม่ได้สารชนิดนี้ในสวน จึงมีความเป็นไปได้ที่เกษตรกรมีการใช้สารเบโนมิล หรือไทโอฟาเนต-เมทิล ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนหลากหลายชื่อการค้า รวมทั้งมีหลายสูตร และเมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปที่เกษตรกรก็พบว่าเป็นเช่นนั้นจริง คือในสวนมีครบทุกอย่างทั้งเบโนมิล 50%WP ไทโอฟาเนต เมทิล 70 % WP ไทโอฟาเนท เมทิล 50 % SC แมนโคเซบ +ไทโอฟาเนต-เมทิล 50 + 20% WP
เรื่องนี้นับเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างหนึ่งที่นักวิจัย นักส่งเสริมการเกษตร ธุรกิจส่งออก รวมทั้งตัวเกษตรกร ที่ก่อนใช้สารเคมีอะไรควรศึกษากฎระเบียบต่างๆ ของประเทศคู่ค้าว่าอนุญาตให้ใช้สารอะไร? ห้ามใช้สารอะไร? รวมทั้งกลุ่มอนุพันธ์ของสารเคมีด้วย หรือการสลายตัวของสารที่ใช้ว่าสลายตัวไปเป็นสารชนิดใด? เพื่อป้องกัน
การเกิดปัญหา ดังเช่นในกรณีนี้เป็นต้น
เขียนโดย คุณสุเทพ สหายา
เอกสารประกอบการเรียบเรียง
Anonymous. 2018. FRAC Code List ©*2018: Fungicides sorted by mode of action
(including FRAC Code numbering).
http://www.phi-base.org/images/fracCodeList.pdf
Anonymous. 2019. PPDB: Pesticide Properties Data Base. University of Hertfordshire.
https://sitem.herts.ac.uk/aeru/ppdb/en/atoz.htm
Hassell, K.A. 1990. (2nd Edition) The Biochemistry and Uses of Pesticides: Structure,
Metabolism, Mode of Action and Uses in Crop Protection. VCH Publishers Inc. Newyork, USA. 536 P.
หากใครสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับเกษตร ฝากติดตาม “เคหการเกษตร” ผ่านช่องทางต่างๆดังนี้
> Website :
www.kehakaset.com
> FB : KEHAKASET MAGAZIBE วารสารเคหการเกษตร
https://www.facebook.com/kehakaset/
> Youtube channel : KEHAKASET MAGAZIBE วารสารเคหการเกษตร
https://youtube.com/user/TheSupaNa1
> IG : KEHAKASET
https://instagram.com/kehakaset
> Blockdit : Kehakaset
https://www.blockdit.com/kehakaset
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย