19 ก.ค. 2021 เวลา 15:06 • ครอบครัว & เด็ก
เมื่อคิดได้ก็สายเกินไป
-- สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่เป็นครอบครัวใหญ่แวดล้อมด้วยญาติพี่น้องลูกหลาน เจ้าของเรื่องราวคือ "ยายวรรณ" ชาวบ้านธรรมดาๆที่ต้องดิ้นรนสู้กับความยากจน เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้น ราวปีพ.ศ.๒๕๐๕ - ๒๕๕๘
ตาดไฮ จ.หนองบัวลำภู
ย้อนไปเมื่อประมาณ ๕๐ ปีที่แล้ว ในครอบครัวชนบทในภาคอีสานยายวรรณอาศัยอยู่กับพ่อแม่พี่สาวพี่เขย ทำไร่นาตามประสาคนจนในอดีตจนมาวันหนึ่งพี่สาวได้ตั้งท้องลูกคนแรกและหลานคนแรกของครอบครัว ทำให้คนในบ้านต่างเฝ้ารอการเติบโตของเด็กคนนี้
ในวันที่คลอดนั้นตามประสาคนจน คลอดลูกที่บ้านด้วยหมอพื้นบ้าน แต่โชคร้ายเด็กปลอดภัยแต่แม่ได้เสียชีวิตหลังจากนั้นสามวัน ทำให้หน้าที่แม่ตกเป็นของยายวรรณโดยปริยาย จนเวลาล่วงเลยได้ ๓ เดือน ด้วยความสงสารในการเลี้ยงทารกคนเดียวทางผู้ใหญ่จึงปรึกษากันว่าจะให้ยายวรรณแต่งงานกับพี่เขยเป็นแม่น้าของเด็กน้อย(ไม่ใช่เรื่องแปลกในสมัยนั้น) แต่ยายวรรณค้านบอกว่า
----------"เป็นพี่เขยถือว่าเป็นพี่ชายเหมือนคนบ้านเดียวกัน"-----------
ไม่ยอมเด็ดขาด
**แต่เดิมนั้นทางครอบครัวพี่เขยไม่ชอบครอบครัวยายวรรณ เพราะฝั่งนั้นมีกินมีใช้พอสมควร ครอบครัวยายวรรณเป็นเพียงครอบครัวหมอลำจนๆ ขอข้าวขอน้ำเขากินโชคดีหน่อยเพิ่งตั้งตัวได้ แต่ก็ไม่ได้มีฐานะเท่าไหร่
พอเรื่องนี้ถึงหูบ้านพี่เขยบ้านนั้นจึงเรียกตัวลูกชายกลับ แล้วออกจากหมู่บ้านไปค้าขายและแต่งงานใหม่เป็นหญิงหม้ายแม่ค้าด้วยกัน
ส่วนยายวรรณจึงรับหน้าที่แม่และแต่งงานกับหนุ่มพ่อค้าวัวในหมู่บ้านเดียวกัน เลี้ยงดูหลานรักคนนี้มาตลอดจนเติบใหญ่ โดยอาศัยอยู่บ้านยายวรรณมาตลอดกับน้องๆลูกยายวรรณอีก ๓ คน อย่างมีความสุขบนความจนอย่างสามัญชนคนในภาคอีสานสมัยก่อน ไปนาได้ได้ปูนามาหลานรักต้องได้กินก่อนลูกตัวเอง ด้วยยายวรรณจะบอกลูกๆตัวเองเสมอว่า
---------"พี่เขาน่าสงสารกำพร้าแต่เกิดให้พี่ก่อนนะ ต้องรักกันมีอะไรช่วยเหลือกันอย่างทิ้งกัน"----------
นี่คือคำสอนลูกๆของยายวรรณและลูกๆยายก็ปฏิบัติดังนั้นเสมอมาพี่น้องรักกัน
จนเมื่อเด็กคนเรียนจบชั้น ม.๓ (คิดดูว่าตายายจนๆส่งหลานจนจบม.๓) ส่วนลูกๆจบแค่ป.๖ ตายายจึงบอกว่า
----------" พ่อกะแม่มีปัญญาส่งถึงแค่นี้นะถ้าอยากเรียนต่อให้ไปบอกพ่อ"----------
(ผู้ให้กำเนิด) และหลังจากพ่อแท้ๆจะส่งเรียนต่อ เด็กสาวคนนั้นจึงขอยายวรรณว่าจะไปอยู่บ้านพ่อกับแม่ใหม่ ยายวรรณก็อนุญาตแม้ใจไม่อยากให้ไปแต่อยากเห็นหลานรักได้เรียนหนังสือ
แต่ก็ไปอยู่ได้ไม่ถึง ๓ วัน หลังจากเปิดเทอมเด็กสาวก็ทะเลาะกับแม่ใหม่โดนรังแกสารพัด หนำซ้ำแม่ใหม่ยังเอาชุดนักเรียนหนังสือเรียนมาเผาทิ้ง ชาวบ้านเขารู้กันทั่วแต่พ่อเด็กก็ไม่ได้พูดอะไร เด็กสาวจึงกลับไปอยู่กับยายวรรณโดยที่พ่อจะช่วยค่าเล่าเรียนให้ ยายวรรณจึงรับหลานรักมาอยู่ด้วยเลี้ยงดูกันแบบอบอุ่นเหมือนเดิม จนเวลาผ่านไปจนเด็กสาวจบ ม.๖และสอบติดวิทยาลัยครูในสมัยนั้นทำให้ทุกคนดีใจทั้งบ้านน้องๆก็หวังว่าพี่สาวจะเป็นเสาหลักให้ครอบครัวได้ลืมตาอ้าปากได้
"ชีวิตเราก็เหมือนละครน้ำเน่าเนอะ"
ต่อมาข้าราชการครูสาวได้แต่งงานกับนายตำรวจคนหนึ่ง จนในวันแต่งงานตากับยายวรรณก็กลายเป็นแค่แขกร่วมงานน้องๆกลายเป็นเด็กล้างจาน ซิ่นไหมบ้านทอมือเก่าๆของยายวรรณสู้กางยีนส์ขาม้ากับเสื้อลายสก็อตสั่งตรงจากกรุงเทพฯ ที่มาเป็นของรับขวัญแต่งานไม่ได้ ไม่นานความเป็นผู้ดีรสนิยมข้าราชการผู้ดีมีฐานะก็เข้าสิงร่างครูสาว กลายเป็นว่า
----------"ฉันไม่ใช่ลูกชาวนาจนๆ ฉันเป็นลูกพ่อค้าคหบดีมีอันจะกินใหมู่บ้าน" -----
และฝ่ายครอบครัวตำรวจก็รู้ในแบบนั้นมาโดยตลอด แต่ตายายไม่เคยพูดอะไรนอกจากคำว่า---------- "ดีใจ ดีเนาะ "----------
และเมื่อครูสาวมีลูกคนแรกตายายก็ได้ให้ที่นา ตามสิทธิ์ที่เป็นลูกพี่สาวและเป็นคำสั่งเสียของพ่อแม่ยายวรรณพร้อมกับบอกว่า
----------"มันเป็นลูกกำพร้า แม่บ่มี สิโตนซาตมัน ขั่นมันบ่ได้เป็นเจ้าเป็นนาย อย่างขี่ล้ายให้มันได้เฮ็ดนา"----------
(สำเนียงคนอีสาน) ตากับยายจึงได้ให้เป็นมรดกจำนวน ๙ ไร่ พร้อมกับสอนว่า
----------"มูลอันนี่ของพ่อใหญ่แม่ใหญ่เฮา อดสาก่ออดสาสร้างเอาเด้อ ให้มันงามฮอดลูกเต้าสู อย่าสุขายกินเล่นซำขายดูกพ่อกับแม่กินสิบ่คูณ" ---------------
(สำเนียงคนอีสาน)
ในวันพ่อ วันแม่ ปีใหม่ สงกรานต์ทุกๆปี คุณครูก็จะพาลูกๆมาเลี้ยงฉลองกันยกใหญ่ที่บ้านพ่อกับแม่ใหม่จนดึกๆ ถึงจะแอบมาหาตายายคนเดียวพร้อมกับเสื้อคนละตัวและกับข้าวหนึ่งอย่าง เป็นแบบนี้มาตลอด ตายายก็จะชมให้ลูกหลานในบ้านฟังตลอดและเสื้อชุดนั้นกลายเป็นชุดใส่ไปทำบุญตลอดหลายปี ไม่กล้าใส่ไปไร่ไปนากลัวสกปรกและจะพูดเสมอว่า
----------"เนี๊ยะสูเห็นบ่ครูเขาซื้อให้ เป็นเจ้าเป็นนายแล้วเขาคึดฮอดพ่อกับแม่ ให้พากันจื่อไว้เป็นโตอย่าง"---------- (สำเนียงคนอีสาน)
โดยตายายก็รู้อยู่เต็มอกว่าเกิดอะไรขึ้น เขาบอกลูกผัวเขาตลอดว่าตากะยายแค่ญาติผู้ใหญ่ พ่อกับแม่เขาอยู่บ้านโน้น แต่ตายายก็ไม่เคยพูดอะไร
เพราะศักดิ์ศรีค้ำคอความเป็นผู้ดีบังตา กลัวเพื่อนฝูงเขาจะดูถูกตัวเอง สามีจะอับอายที่ตนลำบากยากจน ทำให้เด็กน้อยผู้น่าสงสารในอดีตกลายเป็นคุณหนูผู้ดีที่สง่างาม ซักฟอกตัวเองอย่างขาวสะอาดดีงามโดยนภากาศดุจของประทานจากพระอินทร์......
จนในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ยายวรรณได้เสียชีวิตกระทันหันเพราะทำงานหนัก คุณตาพร้อมลูกหลานต่างทำใจไม่ได้ร้องไห้กันระงมบ้าน ตาจึงบอกลูกสาวตัวเองว่า
---------- " โทรหาครูว่าแม่สูบ่ยังแล้ว ลาวฮักมันหลายให้มันมาเมี้ยนลาวเข้าโลงแน่ โทรเดียวนี่เด้อ!! อย่าสุลืม" ----------
ลูกสาวจึงโทรงหาครูทันที
...บทสนทนา
-----ก.เอื้อย..เจ้าอยู่ไส
ข.ว่าจั่งได๋หล่า
-----ก.อิแม่เฮาบ่ยังละเด้.....มาเบิ่งลาวแน
ข.ลาวเป็นหยัง
-----ก.ลาวเมื่อยวูบ..ไปหาหมอมื้อเซ่านี่ ...ลาวบ่คืนกะเลยเอาคืนมาบ้าน ..ลาวเคยสั่งบ่ให้ใส่ท่อแหย่ดัง ให้ไปง่ายๆ ตูข่อยเลยเอาลาวคืนมาบ้าน
ข.อ่อจ้าๆ ทำใจแข็งไว้เด้อนาง
-----ก.อิพ่อบอกให้โทรหาเจ้าให้มาเมี้ยนลาวเด้อ...หมู่ข่อยถ่าเจ้าอยู่
ข.หล่า เอื้อยคือสิบ่ได้ไปดอกมื้อนี้ หัวกะออกจากบ้านว่าสิพาลูกไปเที่ยว สูสิเอาไว้จักมื้อ พากันเฮ็ดโลดเด้อ เมือแล้วจั่งสิเข้าไปบอกอิพ่อนำ
ทุกคนต่างพูดไม่ออก นิ่งไปครู่ใหญ่ มองหน้ากันแล้วได้แต่บอกว่า "จ้าๆ บ่เป็นหยัง"
ทุกคนต่างไม่พูดอะไรบอกตาเพียงว่าครูไปสัมนาต่างจังหวัดจะมาวันหลัง ตาก็ไม่ได้ติดใจอะไร แล้วครูก็มา ๒ วันก่อนเผามาเป็นเจ้าภาพสวด มาเผาตามประเพณีจนงานศพเรียบร้อย
1
ในใจน้องๆทุกคนลึกแล้วเสียความรู้สึกมาก แม่ตายยังไปเที่ยวเฉยแต่ก็ไม่ได้พูดอะไรกลัวตาจะเสียใจแล้วก็เงียบจนถึงปลายปี
จุดเปลี่ยนชีวิตของครูสาวก็เกิดขึ้น
ลูกชายติดเกมส์จนโรงเรียนให้ออก บอกสอนไม่ฟังดุด่าเถียงแม่ แม้จะย้ายไปโรงเรียนดีๆดังๆแต่ก็เปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้มีแต่เลวร้ายลงกว่าเดิม
ตัวครูสาวเองก็เกิดเจ็บป่วยกระทันหันจนได้ผ่าตัดใหญ่และตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง ด้วยความกลัวตาย และลูกชายยังไม่เป็นผู้เป็นคนเกิดห่วงอันใหญ่ คิดหนักไม่เป็นอันกินข้าวน้ำ ร่างกายซูบผอมผิดจากเดิม บรรดาน้องๆจึงพากันไปเยี่ยมพอเห็นน้องๆก็ร้องไห้ยกใหญ่...พี่น้องกอดกันร้องให้ ครูสาวจึงพูดกับน้องๆว่าหากไม่อยู่ฝากดูลูกชายด้วย น้องๆเลยบอกว่า
----------"ไม่ตายหรอกจะตายได้ยังไงอยู่กับหมอให้หมอรักษาต้องเชื่อหมอรักษาตัวเองอย่าคิดมาก ส่วนลูกต้องให้แม่มันสอนหากแม่มันสอนไม่ได้ใครจะสอนมันได้ถ้าเห็นแก่ลูกต้องสู้"----------
แล้วน้องๆก็กลับบ้านไป
หลังจากที่คิดอยู่หลายวันครูสาวคิดตกแล้วว่าเป็นกรรมที่ตัวเองทิ้งผู้มีพระคุณ เลยตัดสินใจเล่าความจริงให้สามีฟังถึงความเป็นไปเป็นมาของชีวิตตัวเองทั้งหมด พร้อมทั้งร้องไห้บอกว่าตัวเองทำผิดไป ผิดไปแล้วทั้งน้ำตา สามีเลยปรอบพร้อมเข้าใจว่า
----------"ไม่เป็นไรที่แล้วมาแล้วไป ทำใหม่ตอนนี้ยังเหลือตาและน้องๆและควรบอกเรื่องนี้กับลูกๆให้เขารู้ เมื่อเขาโตเขาจะเข้าใจเองเขาไม่โทษแม่หรอก แม่ต้องเป็นตัวอย่างให้เขา ทุกคนเคยผิดพลาด ไม่เป็นไรๆ"----------
จากนั้นอาการป่วยของครูก็ดีขึ้นเรื่อยๆจนออกจากโรงพยาบาล เมื่อพอจะไปมาได้จึงพาลูกและสามีกลับมาบ้านเพื่อขอโทษน้องๆ ทุกคนได้แต่ยิ้มแล้วบอกว่าดีแล้วๆไม่เป็นไรๆ เราคือพี่น้องกันยังไงก็ยังเหมือนเดิม ครูก็ร้องไห้พร้อมขอรูปแม่ทั้ง ๒ กลับไปบ้านตัวเองเพื่อขึ้นหิ้งบูชาแล้วจะทำบุญใหญ่ ทุกคนก็ยินดีพร้อมพูดว่าแม่คงจะดีใจ
แต่ในใจลึกๆครูคิดเสมอว่าเพราะเวรกรรม ที่ทำให้ลูกเป็นแบบนี้ แม่แท้ๆจากไป ๕๐ กว่าปี ไม่เคยพูดถึง แม่ที่เลี้ยงเรามา ๒๕ ปี ไม่เคยมีหน้าตาในสังคมแม้แต่ลูกๆตัวเองยังไม่เคยรู้ ทำให้เรื่องนี้เป็นตราบาปในใจจนถึงเดี๋ยวนี้..........................................
เมื่อจะคิดได้ก็สายเกินไปแล้ว สายไปไมากกว่า ๕๐ กว่าปี แต่ความกตัญญูมันยังไม่สาย แม้น้องๆจะไม่โกรธเคืองพร้อมให้อภัยเสมอ แต่ตราบาปก็ยังรบกวนจิตอยู่มิวาย
ปัจจุบันลูกชายก็มีพฤติกรรมที่ดีขึ้นกว่าแต่เก่ามากจนทำให้ผู้เป็นแม่สบายใจมากกว่าเเต่ก่อน ช่วงเวาลาบ้านน้องๆทำบุญหาบุพพการีคุณครูก็มาร่วมมิขาดและเวลาว่างจะทำบุญบ่อยมากจากเป็นกิจประจำ
ปล.เรื่องราวทั้งหมดนั้นถ่ายทอดโดยคุณตาก่อนที่ท่านจะสิ้นลมในปี ๒๕๕๙
ด้วยโรคร้าย ซึ่งผู้เขียนอยากจะฝากเรื่องราวไว้เป็นบทเรียนแก่ทุกท่านว่า "เมื่อมีเวลาต้องรีบทำอะไรที่ควรชูควรเชิด เมื่อไม่มีท่านแล้วมันจะสายเกินไป" เหมือนครูท่านนี้ที่คิดได้ช้าไปแต่น่าเสียดายบางคนคิดไม่ได้เลย.
โฆษณา