14 ก.พ. 2021 เวลา 07:51 • ประวัติศาสตร์
เที่ยวอิสตันบูล เดินตลาดหนังสือเก่าแก่ของจักรววรดิออตโตมัน ที่เปิดขายมาตั้งแต่ปี 1458 หรือมีอายุกว่า 500 ปีเลยทีเดียว!
ผมอยู่ที่อิสตันบูล มหานครเมืองเดียวแต่เป็นเมืองหลวงของอดีตจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ทั้งสองจักรวรรดิ คือ ไบแซนไทน์ และ ออตโตมัน
นครแห่งประวัติศาสตร์ เมืองหลวงของสองจักรวรรดิ
นักท่องเที่ยวส่วนมากที่แวะเวียนมาที่นี่มักจะเที่ยวชมย่านประวัติศาสตร์จนแทบจะลืมโลกสมัยใหม่ เพราะรอบ ๆ ตัวนั้นล้อมรอบไปด้วยความรุ่งเรืองแห่งยุคโบราณที่มีสีสันจัดจ้านจนยากที่จะหยุดจินตนาการถึงยุคสมัยในอดีต
ความจอแจของเมืองหลวงและผู้คน
ทางเดินริมอ่าวโกลเดนฮอน
ผมเดินมาตามถนนเยนิเชรีแลร์ ตัดมาถึงจตุรัสเบยาซิต ถนนสายนี้นำผมมาสู่ตลาดอันมีชื่อเสียงที่สุดของอิสตันบูล "แกรนด์บาซาร์" ตลาดในร่มเก่าแก่ตั้งแต่สมัยออตโตมัน ก่อสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1455 เรียกได้ว่าเริ่มก่อสร้างแทบจะทันทีหลังจากที่สุลต่านออตโตมันพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้
มัสยิดเบยาซิต
ประตูทางเข้าแกรนด์บาซาร์
ผมเดินแทรกผ่านเข้าไปในแกรนด์บาซาร์ แหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ตลาดที่มีขนาดเท่ากับ 1 บล๊อกถนน ทางเดินแคบ ๆ ของข้างทางเต็มไปด้วยสินค้าสารพัดชนิด ตั้งแต่พรมตุรกี อาหาร เสื้อผ้า เครื่องเงิน หรือแม้กระทั่งทองคำ
ภายในแกรนด์บาซาร์ แม้ร้านที่ตั้งอยู่ใกล้ประตูจะดูสวยงามแต่ในส่วนด้านในสินค้าและร้านค้าจะค่อนข้างคุณภาพต่ำกว่า
อีกหนึ่งประตูทางเข้าแกรนด์บาซาร์
โดยรวม ตลาดนี้ไม่ได้มีความน่าประทับใจอะไรเท่าไรครับ เพราะของที่ขายคุณภาพต่ำ เสื้อผ้ากระเป๋าปลอมที่ผลิตจากเมืองจีน วางขายกันอย่างโจ๋งครึ่ม สินค้าราคาแพงกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเป็นแหล่งดึงดูกนักท่องเที่ยวและค่าเช่าที่ก็แพงมาก ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ดูเหมือนที่นี่ไม่มีอะไรน่าสนใจเลยครับ
บรรยากาศจอแจย่านนักท่องเที่ยว
หารู้ไม่ว่า ตรงด้านข้างของแกรนด์บาร์ซ่าที่พลุกพล่านนั้น คือย่านของปัญญาชนมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทางตะวันตกของตลาดเป็นที่ตั้งของมัสยิดเบยาซิต และมหาวิทยาลัยอิสตันบูล ในดินแดนของปัญชาชนนี้ มีตลาดเก่าแก่พอ ๆ กันที่มีจริตมากกว่า ผมเดินเลียบมัสยิดเบยาซิต ผ่านลานจอดรถที่จอแจ ลอดซุ้มประตูโบราณ
มหาวิทยาลัยอิสตันบูล
มัสยิดเบยาซิต
ข้างหลังซุ้มประตูนั้นคือ ตลาดเก่าแก่อีกแห่ง ที่มีเสน่ห์มากกว่า น่าหลงใหลกว่าแกรนด์บาซาร์มาก ๆ ครับ
ข้างบนซุ้มประตูนั้น เขียนว่า "Sahaflar Çarşısı" หมายถึง ตลาดขายหนังสือเก่าแก่ครับ
ทางเข้าตลาดหนังสือโบราณ
ทันทีที่ผมเดินลอดซุ้มประตูนั้นเข้าไป เหมือนออกจากท้องถนนที่จอแจเข้าไปสู่โลกอีกโลกหนึ่ง กลิ่นหอมของหนังสือทั้งใหม่และเก่า ฟุ้งออกมาทันทีอาบไปบนใบหน้าและเสื้อผ้า สร้างบรรยากาศชวนพิศวง ขอต้อนรับทุกท่านสู่ ซาฮาฟลาร์ ตลาดหนังสือโบราณย่านมหาวิทยาลัย ที่เปิดขายมาตั้งแต่ปี 1458 หรือเป็นเวลากว่า 500 ปีมาแล้วครับ
เดินอ้อมมัสยิดไปจะพบตลาดดหนังสือเก่า
ซาฮาฟลาร์ (Sahaflar) เป็นหนึ่งในตลาดที่เก่าแก่ที่สุดในคอนสแตนติโนเปิล (เพราะนครแห่งนี้มีอายุนับพันปี จึงมีตลาดเก่า ๆ ทีขายของหลากหลาย เช่น ตลาดเครื่องเทศอียิปต์ ซึ่งเราจะพาไปดูในวันหลังครับ) ส่วนตลาดนี้เป็นตลาดเฉพาะทาง ขายหนังสือมือสอง หนังสือเก่า แล้วก็พวกสิ่งพิมพ์เก่า ๆ
ที่นี่ขายหนังสือและกระดาษมาตั้งแต่ยุคไบแซนไทน์ แน่นอนว่าหนังสือสมัยนั้นไม่ได้หน้าตาแบบสมัยนี้ อาจจะเป็นม้วน เป็นแผ่น หรือกระดาษ เนื่องจากเป็นยุคก่อนกูเตนเบิร์กจะคิดค้นเครื่องพิมพ์ที่สามารถผลิตหนังสือเป็นเล่มได้ทีละมาก ๆ จนหนังสือแพร่หลายไปทั่วยุโรป
ร้านหนังสือเยอะมา แมวก็เยอะด้วย ถ่ายมากได้ไม่หมด อ่านไม่ออกแต่บรรยากาศดีมากครับ
หลังจากที่ชาวมุสลิมออตโตมันพิชิตคอนสแตนติโนเปิล ตลาดตรงส่วนนี้ก็ยังคงใช้เป็นที่พิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือต่อไป เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ทางภูมิปัญญาที่สำคัญ แม้ว่าจะเปลี่ยนผู้ปกครองจากชาวคริสต์เป็นชาวมุสลิมก็ตาม แม้ช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างยาวนานจะทำให้ตลาดแห่งนี้มีความสำคัญลดลง จากการเปิดตัวของสำนักพิมพ์และร้านหนังสือสมัยใหม่ ปัจจุบันก็เหลือแต่ร้านขายหนังสือมือสองและสิ่งพิมพ์เก่า ๆ สำหรับนักสะสม
มีนิตยสาร หนังสือเด็กจนถึงที่วางอัลกุรอาน
หนังสือที่ขายที่นี่มีทุกรูปแบบครับ หนังสือเรียน หนังสือเด็ก หนังสือภาษาอังกฤษ หนังสือเก่า สิ่งพิมพ์โบราณ อัลกุรอาน นิตยสารเก่า หนังสือพิมพ์ คล้ายกับตลาดนัดจตุจักรมาก ๆ
อัลกุรอาน มีขายอยู่หลายร้าน
แม้จะไม่มีความสำคัญทางภูมิปัญญาเท่ากับสมัยก่อน แต่ที่นี่ก็ยังเป็นที่หลักๆ ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยอิสตันบูลมาซื้อตำราเตรียมสอบกันในยุคปัจจุบัน และตลาดนี้ก็อยู่ในย่านมหาวิทยาลัยอิสตันบูลด้วย
เป็นยังไงบ้างครับ บรรยากาศของตลาดหนังสืออายุกว่า 500 ปี หากใครชอบหนังสือคงรู้สึกฟินมากในบรรยากาศโอบล้อมไปด้วยหนังสือแบบนี้
อย่าลืมกดติดตามเพื่อไม่พลาดไปเที่ยวชมสถานที่ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ร้านหนังสือพร้อมกับเราครับ
โฆษณา