12 ก.พ. 2021 เวลา 11:32 • กีฬา
การพากย์บอลแล้วจะดังได้ มี 2 วิธี 2 เส้นทาง วิเคราะห์บอลจริงจังจะยกกรณีศึกษาของประเทศอาร์เจนติน่าให้ฟัง
ในวงการกีฬา การพากย์ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากๆ เพราะมันจะทำให้คนดูหน้าจอสนุกขึ้น ลองคิดดูว่า ถ้าดูบอลเตะอย่างเดียว ฟังเสียงซาวน์ ตุบตับ หน้าจอ ไม่มีคนพูดอะไรเลย มันคงเป็นอะไรที่จืดชืดมาก
ในโลกของการพากย์นั้น นักพากย์ที่ได้รับความนิยม แบ่งง่ายๆเป็นสองสาย คือสายหลัก และสายความคิดสร้างสรรค์แหวกแนว
สายหลักคือคนที่พากย์ปกติ แต่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ จังหวะจะโคน น้ำเสียงได้ รายชื่อผู้เล่นแม่นเป๊ะ ทำการบ้านมาอย่างละเอียด ไม่หวือหวาแต่หนักแน่น
ในสายหลักถ้าในไทย คนที่โดดเด่นขึ้นมาด้วยแนวทางนี้ก็อย่างเช่น โยธิน อารีย์การเลิศ ในสายบอลไทย หรือในบอลต่างประเทศก็อย่าง คุณฉุย-สมศักดิ์ สงวนทรัพย์ ,ชิตพล ทรัพย์ขำ หรือ ฤทธิกร การะเวก เป็นต้น
ขณะที่สายสร้างสรรค์ เรื่องข้อมูลจริงๆพวกเขาก็แม่นนั่นแหละ แต่ที่คนจดจำได้มากกว่าคือสไตล์ที่แปลกใหม่ และ "การสร้างคำ" ที่ไม่เหมือนใคร ตัวอย่างเช่น
- บอ.บู๋ บูรณิจจ์ รัตนวิเชียร (สะเด่าไปเลยอีน้อง!)
- น้าหัง-อัฐชพงษ์ สีมา (ปั่นโค้งๆ, โล้ไปทางซ้าย โล้ไปทางขวา)
- โทนคุง- พีระณัฐ จำปาเงิน (ยิงตรงรับกระฉอก ยิงออกปัดเข้า ลูกออกทำพุ่ง ลูกตุงทำมอง)
- เบลล์ ขอบสนาม (ลูกนี้เหมือนไม่มีอะไร แต่ความบรรลัยมันมาตรงนี้!)
ถ้าเป็นสายหลัก คนดูบอลส่วนใหญ่คือไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ฟังได้เรื่อยๆ สบายๆ แต่กับสายสร้างสรรค์ถ้าคนชอบก็ชอบเลย ไม่ชอบก็เกลียดเลย ถือเป็นความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน
สำหรับคนที่คิดจะเข้าสู่วงการพากย์ ก็สามารถเลือกได้ ว่าตัวเองจะมาเส้นทางไหน ซึ่งไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก เพียงแต่ต้องหาตัวตนของตัวเองให้เจอแค่นั้น ว่าเหมาะกับอะไรมากกว่า
1
ในวันนี้ เคสน่าสนใจที่แอดมินจะเล่าให้ฟัง เกิดที่ประเทศอาร์เจนติน่า โดยนักพากย์บอลดังๆของอาร์เจนติน่า ที่คนรู้จักกันเยอะๆ ก็เช่น มาร์เซโล่ อาเราโฆ่ นักข่าวในตำนานจากช่อง TyC
1
เซบาสเตียน วิโยโล่ อัจฉริยะที่พากย์ฟุตบอลโลกตั้งแต่อายุ 19 ปี ในฟรองซ์ 98 และพากย์บอลโลกทุกครั้งติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
รวมถึง ปาโบล ชีรัลต์ นักพากย์วัย 46 ปี ที่มีน้ำเสียงหนักแน่น เป็นตัวหลักในการพากย์ทีมชาติอาร์เจนติน่า ในฟุตบอลโลก 2018 เคยมีช็อตคลาสสิค ที่อาร์เจนติน่าเอาชนะไนจีเรียได้ แล้วเขาถึงกับน้ำตาไหลออกมาเลย
สามคนนี้ เป็นสายหลัก เช่นเดียวกับนักพากย์ส่วนใหญ่ในอาร์เจนติน่าก็จะมาทางนี้แหละ อย่างไรก็ตาม มีหนึ่งคนที่แหวกกระแสทั้งปวง และสร้างความโดดเด่นให้ตัวเอง เขามีชื่อว่า ฮวน มานูเอล พอนส์ ฉายาที่คนรู้จักกันคือ "แบมบิโน่ พอนส์"
ในปี 2000 espn ซื้อลิขสิทธิ์บอลพรีเมียร์ลีกเอามาฉายที่อาร์เจนติน่า ซึ่งแบมบิโน่ พอนส์ ก็ได้เป็นคนพากย์ แรกๆ เขาก็พากย์ปกติ ไม่มีอะไร แต่สุดท้าย เขาตัดสินใจสร้างความโดดเด่นให้ตัวเอง ดังนั้นจึงใส่มุก "ร้องเพลง" เข้าไประหว่างเกม
ตัวอย่างเช่น ในเกมแมนฯยูไนเต็ด เจออาร์เซน่อล รุด ฟาน นิสเตลรอย ยิงจุดโทษเข้าไป พอยิงได้ปั๊บ แบมบิโน่ เปิดทำนองเพลง Hey Jude (เฮ้ จู๊ด) ของเดอะ บีทเทิลส์ แล้วร้องขึ้นมาโดยเปลี่ยนเนื้อร้อง เป็น
"เฮ้ รุด รุด ฟาน นิสเตลรอย นี่คือรุด ฟาน รุด ฟาน นิสเตลรอย นา นา น้า นา นา เฮ้ รุด" คือแปลงเนื้อไปเลย แต่ใช้ทำนอง Hey Jude อยู่
หรือตอน ดิดิเยร์ ดร็อกบา ยิงเข้าก็เปิดทำนองเพลง Every Breath You Take ของวง The Police แล้วเปลี่ยนเนื้อเป็น "ทุกลมหายใจของฉัน นายเอาไปได้เลยดร็อกบา"
ตอนพอล สโคลส์ ยิงได้ในเกมแดงเดือด เขาเปิดเพลง Eye of the tiger ของวง Survivor แล้วเปลี่ยนเนื้อ ร้องว่า
"สโคลส์ยิงได้ สโคลส์ยิงได้ พระเจ้านั่นแหละคือพอล สโคลส์
ยูไนเต็ดยิงประตูขึ้นนำ และประตูนั้นมาจากสโคลส์
สโคลส์ยิงได้ให้ยูไนเต็ด และนั่นแหละคือพอล สโคลส์"
แล้วเขาไม่ได้ร้องเพลงเล่นๆ นะครับ ร้องแบบจริงจังเลย เปิด Backing Track เปลี่ยนเนื้อแบบเป็นเรื่องเป็นราวเลย
ถ้าให้ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย สมมติมันมีเพลงซื่อสัตย์ของ bodyslam เนื้อเพลงจริงๆ มันร้องว่า "นอน ฉันก็ยังนอนคนเดียวอยู่ ฉันก็ยังตัวคนเดียวอยู่ ไม่มีอะไร มีก็แต่ใจที่ยังมั่นคงต่อเธอ"
ถ้าสมมติเป็นแบมบิโน่ เขาก็จะร้องแปลงเป็น "ยิง ดร็อกบาก็ยิงคนเดียวอยู่ ดร็อกบายังยิงคนเดียวอยู่ ไม่มีอะไร มีก็แต่ใจที่ชอบยิงใส่เธอ" ประมาณนี้
ในประวัติศาสตร์ของฟุตบอล ไม่มีคนพากย์คนไหนร้องเพลง ระหว่างพากย์หรอก ไม่งั้นโดนแฟนบอลด่าพอดี ว่าคนจะมาดูบอล ไม่ได้ดูคนเล่นตลก
แต่สิ่งที่เหลือเชื่อคือ คนอาร์เจนติน่าส่วนหนึ่งกลับชอบซะงั้น แฟนบอลมองว่ามันขำดี และเฝ้ารอว่าในแต่ละเกม แบมบิโน่ จะหยิบเอาเพลงไหนมาแปลง จนเขากลายเป็นคนพากย์สุดฮิตของอาร์เจนติน่าไปเฉยเลย
สิ่งที่แบมบิโน่ทำเหมือนจะเพี้ยน แต่เอาจริงๆ เขาต้องใช้ความพยายามเยอะมาก กล่าวคือ ข้อมูลในแต่ละแมตช์ก็ต้องหา นอกจากนั้น ก็ต้องเตรียมแต่งเพลงเอาไว้ล่วงหน้า ว่าถ้ายิงเข้าจะร้องเพลงไหน ต้องเตรียมเพลงแบ็กกิ้งแทรก กับโปรดิวเซอร์เอาไว้ ให้เปิดตอนยิง คือมีอะไรต้องทำเยอะมากๆ
แบมบิโน่ จึงกลายเป็นนักพากย์คนดังในพริบตา และระหว่างการพากย์เขาก็ใส่มุกใหม่ๆไปเรื่อยๆ เช่นตั้งฉายาแปลกๆให้นักเตะ อย่างจอห์น เทอร์รี่ ตั้งชื่อว่า กองหลังไร้ศีลธรรม หรือ เซอร์อเล็กซ์ ก็ตั้งว่าโค้ชหน้าแดง เป็นต้น
นอกจากนั้นยังสร้าง ประโยคสัญลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา คือ ¿Para qué te traje? (ฉันจะเอายังไงกับแกดีเนี่ยะ) เป็นประโยคอุทานเวลา นักเตะเล่นพลาดง่ายๆ เช่นยิงจ่อๆแล้วไม่เข้า แบมบิโน่พูดบ่อย จนกลายเป็นประโยคโลโก้ของเขาไปเลย
แบมบิโน่ พากย์พรีเมียร์ลีก 12 ปี มีเพลงที่เขาแต่งเป็นร้อย ทั้งเดอะ บีทเทิลส์, พิงค์ ฟลอยด์, ดูแรน ดูแรน ฯลฯ มาหมด นั่นทำให้เขากลายเป็นนักพากย์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ในแง่ความบ้าบอ สุดโต่ง จนมาถึงปี 2012 เมื่อพรีเมียร์ลีก หมดสัญญากับฟ็อกซ์ สปอร์ต แล้วไปเซ็นสัญญากับ ไดเร็คทีวี ทำให้ แบมบิโน่เลยไม่ได้พากย์พรีเมียร์ลีก นับจากนั้น
1
อย่างไรก็ตาม เขาก็ถือเป็นขวัญใจของแฟนๆไปแล้ว หลังจากนั้นก็มีงานเข้ามาตลอด ความนิยมของเขาก็ไม่น่าแปลกใจนักเพราะการร้องเพลงระหว่างเกมของแบมบิโน่ เป็นอะไรที่แตกต่าง และไม่เคยมีใครทำ บางคนก็ด่าว่าเขาเมาหรือเปล่า แต่หลายคนก็ชอบ บอกว่ามันตลกดีออก
เคยมีคนอาร์เจนติน่าตั้งโหวตนักพากย์ที่ดีที่สุดตลอดกาล ชื่อของแบมบิโน่ ติดโผในท็อปทรีอย่างสวยๆ ทั้งๆที่เขาเป็นสายฮา ไม่ใช่สายหลัก ซึ่งเรื่องนี้มันทำให้เห็นว่า สไตล์การพากย์แบบใช้ความคิดสร้างสรรค์ ถ้าจังหวะดีๆ จับกระแสถูก ก็อาจสร้างความนิยมในวงกว้างได้อยู่เหมือนกัน
สำหรับการพากย์บอลนั้น ผมคิดว่าไม่มีอะไรผิดหรือถูก ทุกคนสามารถพากย์ได้ในแบบที่ตัวเองชอบ ไม่ว่าจะวิธีไหนก็มีโอกาสดังเปรี้ยงได้ทั้งนั้น
แต่สิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะพากย์แนวไหนคือ เรื่องพื้นฐาน อย่างกฎกติกา ชื่อนักกีฬา ข้อมูลสถิติ เหล่านี้ห้ามพลาดเด็ดขาด เพราะคนดูเดี๋ยวนี้เก่งนะ ถ้าผิดแล้วเขารู้ทันที และถ้าพลาดมันจะกลายเป็นชนักติดตัวไปอีกนานเลย
ดังนั้น ถ้าคิดจะเป็นคนพากย์อย่าลืมที่จะศึกษากฎต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวันให้แม่นยำ ไม่อย่างนั้น โอกาสได้รับความนิยมในระดับประเทศ ก็คงเป็นไปได้ยากมากๆเลยล่ะ
#commentator
โฆษณา