12 ก.พ. 2021 เวลา 14:24 • ความคิดเห็น
อั่งเปากับแต๊ะเอีย
และประเด็นเพลีย ๆ ทางด้านภาษีที่ควรรู้
อั่งเปากับแต๊ะเอีย และประเด็นทางภาษีที่ควรรู้
ถ้าพูดถึงวันตรุษจีน ใครๆก็ต้องนึกถึง อั่งเปา หรือ แต๊ะเอีย ซึ่งเป็นเงินที่มอบให้กัน ตามความเชื่อและประเพณีของคนจีน เพราะถือเป็นการอวยพรให้ผู้รับ โชคดี มีโชคลาภ เจริญเติบโต สุขภาพร่างกายแข็งแรง ฯลฯ
1
แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของภาษี เงินอั่งเปาหรือแต๊ะเอียก็นี้ ก็มีประเด็นที่น่าสนใจครับว่า เมื่อได้รับแล้วจะถูกนำมาคำนวณภาษีไหม?
ซึ่งถ้าให้พิจารณาตามหลักของประมวลรัษฎากรที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษี คงต้องมีคำถามในประเด็นที่เกี่ยวข้องตามมาว่า
เงินอั่งเปาหรือแต๊ะเอียที่ให้นั้นต้องถือเป็นเงินได้ตามกฎหมายไหม?
อย่างเช่น ถ้าหากพ่อแม่ให้เงินอั่งเปาลูก หรือ ญาติสนิทมิตรสหายให้อั่งเปาบรรดาลูกหลาน เงินก้อนนี้ต้องถือเป็นรายได้ (หรือเงินได้) ที่ต้องนำมายื่นภาษีหรือเปล่า
หลักการคิดที่เรามักใช้กัน คือ เงินได้จะถือเป็นเงินได้ที่ต้องยื่นภาษี เมื่อไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ซึ่งกฎหมายได้บอกไว้ว่า กรณีเงินได้จากการให้โดยเสน่หาอุปการะธรรมจรรยา ธรรมเนียมประเพณีถือว่าได้รับสิทธิยกเว้นตามกฎหมายไม่ต้องถือเป็นเงินได้ของผู้ที่ได้รับ เว้นแต่ว่าให้ในจำนวนเงินที่เกินกว่ากำหนด เช่น พ่อแม่ให้ลูกเกิน 20 ล้านบาทในปีนั้น ๆ หรือ คนอื่นมอบให้กันเกิน 10 ล้านบาท อาจจะต้องเสียภาษีการรับให้
1
ส่วนนี้เป็นประเด็นทั่วไปของคนปกติในครอบครัว แต่ถ้ามองข้ามมาที่ฝั่งของคนทำธุรกิจกันบ้าง ถ้าหากเป็นเจ้านายให้เงินอั่งเปาหรือแต๊ะเอียลูกน้องบ้างล่ะ แบบนี้จะต้องถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีไหม
ความแตกต่างกันของเรื่องนี้ คือ เงินที่ให้เป็นเงินของใครระหว่าง เงินส่วนตัวของเจ้านาย (บุคคล) หรือ เงินส่วนกลางที่จ่ายจากธุรกิจ (นิติบุคคล)
ถ้าหากเป็นเงินส่วนตัวของเจ้านาย กรอบของการให้จะอยู่การยกเว้นเงินได้กรณีที่คนอื่นมอบให้กันและกัน (ไม่เกิน 10 ล้านบาท) ก็ยังไม่ต้องเสียภาษี
แต่ถ้าหากเป็นเงินส่วนกลางแล้วล่ะก็ จะมีประเด็นต่อในข้อที่ 2 ที่ต้องพิจารณา นั่นคือ เงินก้อนนี้จะถือเป็นรายจ่ายของกิจการได้หรือไม่ ?
แน่นอนว่าถ้าให้ในนามของธุรกิจ (นิติบุคคล) แปลว่าเจ้าของย่อมมีความประสงค์ที่จะให้เงินได้นี้เป็นรายจ่ายของกิจการให้ได้ ซึ่งแปลว่า การจ่ายเงินพวกนี้จะต้องไม่ใช่กรให้ในลักษณะส่วนตัว เสน่หา การกุศล หรือไม่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ เพราะจะถือว่าเป็นรายจ่ายต้องห้าม ไม่สามารถใช้เป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีของกิจการได้
1
มาถึงตรงนี้ เราจะเห็นคำแนะนำของหลาย ๆ ท่านที่เชี่ยวชาญภาษีบอกว่า งั้นต้องมีการให้เงินก้อนนี้โดยทั่วไปไม่เลือกปฎิบัติ มีการจัดทำมติประชุม การจ่ายที่โปร่งใส และที่สำคัญคือ ต้องถือเป็นเงินได้ของพนักงาน เพราะเหมือนเป็นผลตอบแทนจากการทำงานให้กับบริษัทนั่นเอง
จึงสรุปได้ว่า ในกรณีของบริษัท (นิติบุคคล) และลูกน้อง โดยให้แบบที่ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล นั่นแปลว่าลูกน้องเองต้องนำมาถือเป็นเงินได้ของตัวเองเพื่อเสียภาษีด้วย โดยถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 หรือเงินเดือน
1
ถ้าหากเราเอาประเด็นภาษีมาจับในการพิจารณาเรื่องของการให้เพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจ เราจะได้คำตอบแบบนี้แหละครับ นั่นคือ ต้องมีการปฎิบัติทุกอย่างตามเงื่อนไขของกฎหมาย เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
แต่ถ้าเราเอาชีวิตจริงมาพิจารณา เราจะเห็นความผิดปกติอย่างนึง คือ เรื่องพวกนี้ควรมองเป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจจริงไหม และ พนักงานจะรู้สึกอย่างไรบ้างกับเหตุการณ์แบบนี้
ปฎิเสธไม่ได้ว่า การให้เงินเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจเป็นเรื่องที่ดีครับ แต่ในมุมธุรกิจ เงินก้อนนี้ลึก ๆ แล้วเป็นเงินที่ให้โดยมีวัตถุประสงค์แบบไหนกันแน่ และมันสะท้อนว่า ธุรกิจกำลังมองสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีในแง่ไหน
หากเป็นการให้เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี การให้แบบนี้สะท้อนว่าโดยเนื้อแท้แล้วธุรกิจไม่ได้ต้องการจะให้ แต่มอบให้เพราะหวังที่จะลดภาษีธุรกิจ (เป็นรายจ่ายได้) โดยที่ยอมให้กับพนักงานทุกคนแบบไม่เลือกปฎิบัติ และพนักงานต้องเอามาเสียภาษีเป็นเงินได้ของตัวเอง
คำถามต่อมา คือ พนักงานทุกคนสมควรได้เงินก้อนนี้จริงหรือไม่ หรือจริง ๆ เราควรให้เป็นขวัญกำลังใจของพนักงานที่ทำดี โดยให้เป็นกรณีพิเศษจากการทำงาน แบบไหนถึงจะดีกว่า ไปจนถึงการวัดกำไรของธุรกิจว่า สถานการณ์แบบนี้ ยังควรจะให้เงินกับพนักงานไหม ทั้งเรื่องของสภาพคล่องกับการอยู่รอดของธุรกิจ
หรือในกรณีเจ้านายที่เป็นบุคคลธรรมดา อาจจะเลือกควักเงินในกระเป๋าตัวเอง (เงินส่วนตัว) ให้กับพนักงานที่เรารักจริง ๆ เหมือนลูกหลาน โดยที่ไม่ต้องคิดมากเรื่องภาษี แต่เป็นเงินที่ให้กันเพราะอยากให้ในเทศกาลแบบนี้
เรื่องทั้งหมดนี้ไม่มีคำตอบของคำถามหรอกครับ แต่เป็นสิ่งที่ผมคิดมาตลอดว่า เราควรจะต้องพยายามทำให้รายจ่ายทุกอย่างเกี่ยวข้องกับภาษีหรือธุรกิจขนาดนั้นเลยไหม ?
เพราะจุดประสงค์ของเงินอั่งเปาหรือแต๊ะเอียนั้น มันคือการให้เพื่ออวยพรต่างๆไม่ใช่การให้แล้วต้องมีประโยชน์ทุกอย่างกลับมา ในบางครั้ง เรื่องบางเรื่องไม่ต้องมีประโยชน์ขนาดนั้น หรือ ถ้าจะให้กันจริง ๆ ควรพิจารณาถึงผลการทำงาน ความเหมาะสม และอื่น ๆ ประกอบกันจะดีกว่าไหม ? เพราะในแง่มุมของจิตใจของพนักงาน มันอาจจะให้ประโยชน์และความรู้สึกที่ดีกว่า
ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ชวนคิดขึ้นมาเฉยๆ นะครับ ว่าบางอย่าง เราอาจจะไม่ต้องพยายามขนาดนั้น โดยเฉพาะเรื่องของขวัญและกำลังใจที่ให้กับพนักงาน เพราะมันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์
อย่างไรก็ดี ผมมีความเชื่อว่า ถ้าหากเรามองหาประโยชน์ จากทุกความสัมพันธ์ในชีวิต เราอาจจะลืมคิดไปว่าบางทีแล้ว อาจจะไม่มีใคร อยากรักษาความสัมพันธ์กับเรา
1
ในวันที่เราไม่มีประโยชน์กับเขาก็เป็นได้ ...
1
โฆษณา