12 ก.พ. 2021 เวลา 12:48 • สุขภาพ
#การแพทย์แบบแม่นยำสำหรับโรคมะเร็ง
(Precision Medicine For Cancer)
precision medicine concept (ภาพ: ดัดแปลงจาก http://sedlab.com/.../compan.../precision-medicine-offerings)
ผู้ป่วยจำนวนมากต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคและได้รับการรักษาวิธีหลักคือการใช้ยา ซึ่งการใช้ยาในอดีตเป็นเสมือนการให้ยาความแรงเดียวโดยหวังผลให้ได้ประสิทธิภาพในผู้ป่วยทุกรายหรือ “One-Size-Fit-All” แต่เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีปัจจัยที่มีผลต่อโรคและยาแตกต่างกัน ความแตกต่างดังกล่าวอาจทำให้การได้รับการรักษาด้วยยาแบบ “One-Size-Fit-All” ล้มเหลวหรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้
รูปแบบการรักษาแบบเก่า (One-Size-Fit-All)
การแพทย์ในปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) มากขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2558 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐอเมริกา ได้แถลงเปิดโครงการ Precision Medicine[1] โดยการแพทย์แบบแม่นยำเป็นการปรับแต่งการดูแลสุขภาพให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายทั้งนี้เพื่อการป้องกันและการบำบัดรักษาโรค โดยคำนึงถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างในแต่ละบุคคลเช่น ความแตกต่างของโรค ความแตกต่างทางพันธุกรรม การตอบสนองต่อยารักษาโรค สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมสุขภาพ เป็นต้น
การรักษาโดยใช้การแพทย์แบบแม่นยำ (precision medicine)
สำหรับสหรัฐอเมริกามีการผลักดันให้วงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์เข้าสู่ยุคของการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine Era) สืบเนื่องมาจากปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ได้จากความร่วมมือในโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ (The Human Genome Project) ประกอบกับการมีเทคโนโลยีในการทำวิจัยที่ก้าวหน้า สหรัฐอเมริกาได้แบ่งเป้าหมายของโครงการการแพทย์แบบแม่นยำไว้ 2 ระยะ คือระยะสั้นและระยะยาว
ref: https://obamawhitehouse.archives.gov/precision-medicine
โดยระยะสั้นมีเป้าหมายเพื่อการแพทย์แบบแม่นยำสำหรับโรคมะเร็ง เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่เกิดขึ้นทั่วโลกและอาการของโรคมีความรุนแรงทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง โดยเป้าหมายระยะสั้นนี้หวังผลว่าจะสามารถเข้าใจการดื้อยารักษาโรคมะเร็ง ความหลากหลายของกลไกการเกิดความผิดปกติของพันธุกรรมในโรคมะเร็ง (genomic heterogeneity of tumors) การติดตามการตอบสนองและการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็ง รวมไปถึงองค์ความรู้สำหรับการใช้ยาสูตรผสมในการรักษาโรคมะเร็ง สำหรับเป้าหมายระยะยาวคือการศึกษา Cohort ที่ต้องการอาสาสมัครมากกว่า 1 ล้านราย โดยอาสาสมัครแต่ละคนจะมีการเก็บข้อมูลรหัสพันธุกรรม ตัวอย่างทางชีวภาพ ข้อมูลการรับประทานอาหารและพฤติกรรมสุขภาพ เป็นต้น[2]
ปัจจุบันในประเทศไทยก็กำลังผลักดันวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์เข้าสู่ยุคของการแพทย์แบบแม่นยำเช่นกัน จะเห็นได้จากเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวของ 7 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[3] โดยโครงการ Precision Medicine For Cancer เป็นโครงการที่อยู่ในคลัสเตอร์สุขภาพ (Health Cluster) และได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย (Thailand Grand Challenge) ในปีงบประมาณ 2559[4] จากการประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมจากดังต่อไปนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการแพทย์แบบแม่นยำในประเทศไทยที่มีความชัดเจนโดยเฉพาะในเรื่องของโรคมะเร็ง[5]
การรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกยึดแนวทางการรักษาจาก The National Comprehensive Cancer Network (NCCN) ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาที่ถูกศึกษาและพัฒนามาจากการรักษาผู้ป่วยมะเร็งบางกลุ่มซึ่งมักเป็นกลุ่มคนผิวขาว ด้วยความแตกต่างของพันธุกรรมในกลุ่มคนนำมาสู่ความแตกต่างของการตอบสนองต่อยาเพราะเหตุนี้การใช้แนวทางการรักษาที่ถูกพัฒนาขึ้นจากกลุ่มคนผิวขาวอาจไม่เหมาะกับคนไทยเสมอไป การแพทย์แบบแม่นยำจะเป็นสิ่งที่มาแก้ไขปัญหานี้เพราะการศึกษาในคนไทยจะทำให้ผลการศึกษามีความเฉพาะกับคนไทยมากกว่า แต่ทั้งนี้การศึกษาการแพทย์แบบแม่นยำต้องมีการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการก่อนจะนำผลจากห้องปฏิบัติการมาปรับใช้กับผู้ป่วยหรือ “From Bench To Bedside” โดยเลือกแบบแผนการให้ยาทั้งชนิด ความแรง และวิธีบริหารยา ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย[6]
การนำผลจากงานวิจัยไปใช้รักษาผู้ป่วยจริงๆ หรือ From Bench to Bedside(ref: https://ocr.od.nih.gov/btb/btb_program.html)
อ้างอิง
1. Remarks by the President on Precision Medicine | The White House [Internet]. Washington, DC: The White House; 2015 Jan 30 [cited 2016 Jan 9]. Available from: https://www.whitehouse.gov/ the-press-office/2015/01/30/remarks-presidentprecision-medicine. 13. Sarkar IN. Biomedical
2. Collins FS, Varmus H. A new initiative on precision medicine. New England Journal of Medicine. 2015;372(9):793-5.
3. เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย. เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย [อินเทอร์เน็ต]. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 10 มกราคม 2560]. เข้าถึงได้จาก: http://runthailand.ku.ac.th/wp.../uploads/2016/08/AWRun.pdf
4. งานบริหารข้อมูลและเผยแพร่งานวิจัย กองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล. ประชุมคณะกรรมการดำเนินงาน Precision Medicine for Cancer; 15 พฤศจิกายน 2559; ห้องประชมุ 532 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
5. เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย [อินเทอร์เน็ต]. ไทย; c2017 [เข้าถึงเมื่อ 10 มกราคม 2560]. เข้าถึงได้จาก: http://runthailand.ku.ac.th/
6. Chambliss AB, Chan DW. Precision medicine: from pharmacogenomics to pharmacoproteomics. Clinical proteomics. 2016;13(1):25.
ปล.สุดท้ายก็เรียนต่อ เรื่องที่เขียน แฮร่ๆ
🤪 #เภสัชชะเกรียน เอางานวิจัยมะเร็งมาเล่าแบบกวนๆ สาระยากๆไม่ค่อยจะมี จะมีก็แต่ความแฟนตาซีและย่อยง่าย เพราะ #วิจัยมะเร็งนั้นลึกซึ้ง
🤗 ถ้าอาจารย์หรือพี่ๆนักวิจัยผ่านมาเห็น จะแนะนำหรือติชม นศ ป เอก ตัวน้อยน้อยยยยคนนี้ก็ยินดีและดีใจมากๆเลยค่ะ 😁🤓😁
#NoCancer #NoCancerTH
#เพราะวิจัยมะเร็งนั้นลึกซึ้ง
❇️ FB page -> @NO cancer: เพราะวิจัยมะเร็งนั้นลึกซึ้ง
❇️ Blockdit -> No Cancer: เรื่องเล่าจากห้องวิจัยมะเร็ง (https://www.blockdit.com/no_cancer)
โฆษณา