12 ก.พ. 2021 เวลา 17:32 • ประวัติศาสตร์
รัชทายาท-ราชประเพณี-กฎมณเฑียรบาล
จากรัชกาลที่ 1-10 และลำดับสันตติวงศ์
“…สมัยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเลือกแลประดิษฐานพระรัชทายาทขึ้นไว้อย่างเช่นที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นผลให้บังเกิดมีเหตุยุ่งยากแก่งแย่งกันขึ้น ในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลง การแก่งแย่งช่วงชิงพระราชอำนาจกันก็ย่อมเป็นโอกาสให้บุคคลผู้มิได้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติคิดขัดขวางต่อความเจริญแห่งราชอาณาจักร…” พระราชดำริใน รัชกาลที่ 6 เพื่อตรากฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์
นับตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ครองพระราชสมบัติมาแล้ว 10 พระองค์ ในแต่ละรัชสมัยของรัชกาลต่างๆ มีการสืบพระราชสันตติวงษ์ที่ไม่เหมือนกัน และแต่ละรัชกาลมีเกร็ดที่ถูกบันทึกไว้ระหว่างเปลี่ยนรัชกาลไว้อย่างน่าสนใจ
เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม silpa-mag.com เผยแพร่บทความเรื่อง “ปริศนาของการสืบต่อตำแหน่งรัชทายาทสมัยรัตนโกสินทร์ และการแก้ปมในสมัยร.6” https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_40346
โดยสรุปและไล่เรียงตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ไว้ดังนี้
รัชกาลที่ 1
การสถาปนารัชทายาทในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนขึ้นอยู่กับคุณสมบัติที่พระมหากษัตริย์ทรงเห็นว่าเหมาะสม เช่นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ที่หมายว่าจะได้ตำแหน่งรัชทายาทเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อไป คือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชา ซึ่งร่วมกรำศึกสร้างบ้านแปลงเมืองมาด้วยกัน แต่มีพระชนมายุสั้นเสด็จสวรรคตเสียก่อน ราชสมบัติจึงตกอยู่กับพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร (แก้ไขพระนามและพระอิสริยยศ ในฉบับออนไลน์) ภายหลังคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รัชกาลที่ 2
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสถาปนากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระอนุชาเป็นองค์รัชทายาท แต่องค์รัชทายาทก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน และยังมิทันได้ตั้งผู้ใดเป็นองค์รัชทายาท เมื่อเสด็จสวรรคตก็มิได้มีรับสั่งถึงผู้จะสืบราชสมบัติต่อ เสนาบดีประชุมลงความเห็น ผู้ที่สมควรจะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อไปคือ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสซึ่งแม้จะประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
รัชกาลที่ 3
โปรดสถาปนาพระองค์เจ้าอรุโณทัย พระปิตุลา เป็นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ องค์รัชทายาท แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน และเมื่อเสด็จสวรรคตก็มิได้ตรัสมอบราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์ใด เสนาบดีถวายราชสมบัติแด่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
รัชกาลที่ 4
สถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี พระราชอนุชา ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีฐานะเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง เป็นตำแหน่งรัชทายาท แต่ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน จึงโปรดเตรียมพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสซึ่งประสูติแต่พระอัครมเหสีสำหรับเป็นองค์รัชทายาทสืบต่อ แต่ยังมิได้โปรดสถาปนาอย่างเป็นทางการ ครั้นเสด็จสวรรคตเสนาบดีจึงพร้อมกันถวายราชสมบัติแด่สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ตามพระราชเจตนารมณ์ เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ตำแหน่งรัชทายาท
รัชกาลที่ 5
ในต้นรัชสมัยมีความขัดแย้งกันระหว่างวังหลวงกับวังหน้า เมื่อเหตุการณ์สงบแล้ว จึงมีพระราชดำริถึงความยุ่งยากของการไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการสถาปนาองค์รัชทายาท เพื่อให้การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปตามขนบประเพณีที่ชัดเจนตามหลักเกณฑ์ที่นิยมกันในอารยประเทศ โปรดให้ตั้งตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นเป็นตำแหน่งรัชทายาท โดยมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา สถาปนาพระราชมารดาขึ้นเป็น “พระอัครมเหสี”
แต่สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกเสด็จสวรรคตเมื่อพระชันษาเพียง ๑๗ ปี เป็นรัชทายาทอยู่ ๘ ปี งโปรดให้สถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระน้องนางร่วมพระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ซึ่งเป็นที่มาของพระราชดำรัสที่ว่า
“…ลูกแม่กลางกับลูกแม่เล็ก ให้นึกว่าเหมือนแม่เดียวกัน เรียงพี่เรียงน้องในการสืบสันตติวงศ์…”
พระราชดำรัสนี้ เข้าใจกันว่า รัชทายาทพระองค์ต่อไปจะเป็นพระราชโอรสพระองค์ต่อมาของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา
แต่การสืบต่อตำแหน่งรัชทายาทมิได้เป็นไปตามนั้น เล่าลือกันว่า สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ทรงขอพระราชทานพรว่า ขอให้โปรดสถาปนาพระราชโอรสและพระราชนัดดาสายตรงในพระองค์ ซึ่งขณะนั้นมีอยู่ถึง ๕ พระองค์เป็นองค์รัชทายาท จนสิ้นสาย จึงจะสลับไปยังพระราชโอรสของพระมเหสีสายอื่นต่อไป ซึ่งก็โปรดพระราชทานพรตามที่ทรงทูลขอ
รัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมองเห็นความยุ่งยากอันเกิดจากความไม่ชัดเจนและช่องว่างของหลักปฏิบัติการสถาปนาองค์รัชทายาท ดังปรากฏพระราชดำรินี้ในความข้างต้นของกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ซึ่งโปรดให้ตราขึ้นใหม่ในพุทธศักราช ๒๔๖๗ ความตอนหนึ่งว่า
“…สมัยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเลือกแลประดิษฐานพระรัชทายาทขึ้นไว้อย่างเช่นที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นผลให้บังเกิดมีเหตุยุ่งยากแก่งแย่งกันขึ้น ในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลง การแก่งแย่งช่วงชิงพระราชอำนาจกันก็ย่อมเป็นโอกาสให้บุคคลผู้มิได้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติคิดขัดขวางต่อความเจริญแห่งราชอาณาจักร…”
หลักการของกฎมนเทียรบาลฉบับนี้ จึงย้ำถึงผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ตามลำดับ คือ จากพระมหากษัตริย์สู่พระราชโอรส ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชโอรส ราชสมบัติตกอยู่กับพระอนุชาพระองค์โตก่อน หากพระอนุชาพระองค์นั้นเสด็จสวรรคตก่อน ราชสมบัติเป็นของพระราชโอรสของพระอนุชาพระองค์นั้น หากไม่มีพระราชโอรส ราชสมบัติจึงจะตกไปสู่พระอนุชาพระองค์ต่อไป แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือข้อระบุที่ว่า การที่จะโปรดให้ใครเป็นรัชทายาทนั้นย่อมถือเป็นสิทธิ์ขาดขององค์พระมหากษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียว
และด้วยหลักเกณฑ์นี้เอง รัชกาลที่ 6 ซึ่งยังไม่มีองค์รัชทายาท จึงได้โปรดสถาปนาพระราชอนุชาพระองค์โต คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเป็นองค์รัชทายาทไปพลางก่อน ต่อมาองค์รัชทายาทได้เสด็จทิวงคตไปก่อน ส่วนพระโอรสซึ่งควรมีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ก็เป็นเจ้าชายที่ประสูติแต่พระมารดาเป็นนางต่างด้าว ไม่เป็นไปตามพระราชประเพณี
ตำแหน่งรัชทายาทจึงตกไปยังพระราชอนุชา ที่ถัดไปซึ่งมีอีก ๓ พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ,สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์
อย่างไรก็ตาม ๒ พระองค์แรก ได้ทยอยสิ้นพระชนม์ไปก่อน เหลือเพียง สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ซึ่งไม่มีพระโอรส แม้ว่าสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกมีพระโอรส ๑ พระองค์ แต่ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงตั้งพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกเป็นองค์รัชทายาท เนื่องจากเจ้านายพระองค์นี้มีพระมารดาเป็นสามัญชน
ภายหลังจากที่รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตโดยไม่มีพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์ คงเหลือพระอนุชาพระองค์สุดท้ายคือ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์จึงได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
รัชกาลที่ 7
ไม่มีพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์จนทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลสมัยนั้นได้ประชุมหารือพิจารณาเจ้านายที่อยู่ในข่ายจะได้รับราชสมบัติตามลำดับคือ ในสายสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีเหลือเพียงพระราชนัดดา ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และต้องถูกข้ามไปด้วยเหตุผลเดิมคือ มีพระมารดาเป็นนางต่างด้าว ส่วนพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชก็ถูกข้ามไปด้วยเหตุผลที่มีพระมารดาเป็นสามัญชน จึงเท่ากับเป็นการสิ้นสุดสายสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
ตามกฎมนเทียรบาลกำหนดให้กลับมาพิจารณาสายพระมเหสีพระองค์ที่ใกล้ชิดกับสายเดิม ยังผลให้การสืบสายย้อนกลับมาสู่สายสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาอีกครั้ง ซึ่งสายนี้ก็ปรากฏว่าพระราชโอรสสิ้นพระชนม์หมดทุกพระองค์ คงเหลือแต่พระราชนัดดาเพียง ๒ พระองค์ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล และพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช สภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นจึงมีมติให้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดาพระองค์ใหญ่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗
เว็บไซต์ https://www.the101.world/mahidol-king/ อธิบายเหตุการณ์หลังจากรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ ไว้อย่างละเอียด โดยนอกจากจะเป็นการรวบรวมเหตุผลในการเลือกผู้ที่จะขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 8 แล้วยังมีลำดับสันตติวงศ์ที่อยู่ในผู้มีคุณสมบัติครองราชย์ ดังนี้
เมื่อรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติแล้ว กรณีนี้เป็นไปตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ 2475 บัญญัติไว้ว่า “การสืบราชสมบัติ ท่านว่าให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร” กล่าวคือ เป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะให้ความเห็นชอบท่านพระองค์ใดตามลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์สืบไป
ในเวลานั้น รัชกาลที่ 7 ไม่มีพระอนุชาร่วมพระชนนี เพราะพระองค์เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องแล้ว แต่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชโอรสของสมเด็จพระเชษฐาร่วมพระราชชนนี ที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ คือ
(1) พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถที่ทรงเป็นรัชทายาทในรัชกาลที่ 6
(2) พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก
แต่ท่านทั้ง 2 พระองค์นี้ ก็ ‘ถูกข้าม’ ด้วยเหตุผลต่างกัน ดังนี้
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ มีพระมารดาเป็นนางต่างด้าว แม้มาตรา 11 (4) แห่งกฎมณเฑียรบาล จะยกเว้นในกรณีผู้สืบราชสันตติวงศ์ที่มีพระชายาเป็นคนต่างด้าวเท่านั้น (ขณะนั้นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ยังไม่มีชายาเป็นนางต่างด้าว) แต่คณะรัฐมนตรีในเวลานั้น ตีความคำว่า ‘โดยนัย’ ในกฎมณเฑียรบาลว่า ย่อมนํามาใช้ในกรณีที่ผู้ซึ่งจะสืบสันตติวงศ์มีพระมารดาเป็นนางต่างด้าวด้วย
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช มีพระมารดาเป็นคนธรรมดาสามัญ ซึ่งเป็นหม่อมชั้นรองของสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้น ที่ทรงมีพระชายาเป็นหม่อมเจ้าได้รับพระราชทานเสกสมรส แต่ไม่มีพระโอรส ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงได้ผ่านการพิจารณาพระองค์เจ้าวรานนท์ฯ
เมื่อพิจารณามาถึงชั้นนี้แล้ว จะต้องตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา 9 (11) คือ “ให้อัญเชิญสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้นๆ สลับกันไปตามลำดับ”
เวลานั้น สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์เดียวที่ทรงพระชนม์อยู่ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต แต่พระองค์ได้เสด็จไปประทับในต่างประเทศ คําขอร้องของคณะราษฎร คณะรัฐมนตรีจึงไม่พิจารณาถึงพระองค์ท่าน และพระโอรสของพระองค์ท่านที่มีอยู่หลายพระองค์
ดังนั้น จึงได้พิจารณาว่า พระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาหรือสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนีกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีท่านพระองค์ใดบ้าง ก็ได้ความว่า มีพระโอรสของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร และของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์
ในระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นี้ พระมารดาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลฯ ทรงดํารงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมราชเทวี” ซึ่งทรงศักดิ์สูงกว่าพระมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฯ ที่เป็น “พระอรรคชายาเธอ”
แต่ในชั้นพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าแต่ละพระองค์ดังกล่าวนั้น พระโอรสของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ายุคลฯ (ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฑัมพร, พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ) มีพระมารดาเป็นพระองค์เจ้าหญิง คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล พระธิดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
ส่วนพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล, พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช) มีพระมารดา คือ หม่อมสังวาลย์ (พระนามในขณะนั้น) แม้เป็นสามัญชน แต่ก็ได้รับพระราชทานเสกสมรสเป็นสะใภ้หลวงโดยชอบแล้ว และสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นก็ได้ทรงยกย่องให้เป็นพระชายาคนเดียวของพระองค์
เมื่อพิจารณามาถึงชั้นนี้แล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้บันทึกไว้ในภายหลังอย่างชัดเจนว่า “โดยคํานึงถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ที่ได้ทรงทําคุณประโยชน์แก่ราษฎร และเป็นเจ้านายที่บําเพ็ญพระองค์เป็นนักประชาธิปไตย เป็นที่เคารพรักใคร่ของราษฎรส่วนมาก คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบพร้อมกันเสนอสภาผู้แทนราษฎร ขอความเห็นชอบที่จะอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล” เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 8 แห่งพระราชวงศ์จักรี สอดคล้องกับพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว
ทั้งนี้ ให้ถือว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นทรงราชย์ตั้งแต่วันและเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ คือ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2477 (ตามปฏิทินเดิม) เวลา 13.45 น. (เวลาในประเทศอังกฤษ) ตามหลักที่ว่า ราชบัลลังก์ไม่เคยว่างเว้นเลย ดังมีภาษิตว่า “THE KING IS DEAD, LONG LIVE THE KING” ซึ่งแปลว่า พระมหากษัตริย์สวรรคต ขอให้พระมหากษัตริย์ทรงพระเจริญ
คำขออภัยจากนายปรีดี พนมยงค์
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เขียนคำประกาศคณะราษฎร ที่ประกาศขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อันนำมาซึ่งความ “โทมนัส น้อยใจ และแค้นเคืองมาก” ในภายหลัง นายปรีดีพร้อมด้วยคณะราษฎรได้ขอพระราชทานอภัยโทษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชวงศ์จักรี ถึง 2 ครั้ง คือ ในเดือนมิถุนายน และธันวาคม 2475 ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานแล้ว
นอกจากนี้ การที่คณะรัฐมนตรีไม่พิจารณาสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระราชโอรสนั้น นายปรีดีก็รู้สึกผิดเช่นกัน ดังที่ได้เขียนไว้เมื่อ พ.ศ. 2515 ว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตนั้น ข้าพเจ้ามิได้มีโอกาสขอพระราชทานอภัยโทษจากพระองค์โดยเฉพาะ จึงขอถือโอกาสที่พิมพ์หนังสือเล่มนี้ [บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2] บันทึกขอพระราชทานอภัยไว้ว่า การใดที่ข้าพเจ้ามีส่วนทําให้พระองค์ต้องพลัดพรากจากแผ่นดินสยาม และทรงเสียสิทธิต่างๆ นั้น ขอให้พระองค์และพระโอรสกับพระธิดา อีกทั้งผู้สืบสายโดยตรงจากพระองค์ท่าน โปรดอภัยให้แก่ข้าพเจ้าด้วย”
และกล่าวต่อไปว่า “อันที่จริง ข้าพเจ้าได้สดับตรับฟังตลอดมาว่า พระองค์เองก็ดี พระโอรสและพระธิดาของพระองค์ก็ดี ไม่เคยรับสั่งประการใดๆ ที่แสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือใส่ความข้าพเจ้าและคณะราษฎรเลย พระองค์ทรงมีน้ำพระทัยสมเป็นปราชญ์และพุทธศาสนิกโดยแท้ ข้าพเจ้าจึงขอน้อมสักการะพระองค์ท่าน พร้อมทั้งตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระองค์ท่านทรงมีพระเกียรติยืนยงชั่วกาลนาน”
รัชกาลที่ 8
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน โดยมีพระราชประสงค์ศึกษาให้จบแล้วกลับมาบรมราชาภิเษก ตามกฎมณเทียรบาล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงเป็นรัชทายาทเสด็จขึ้นครองราชย์ ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2493
รัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสถาปนา เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารใน พ.ศ. 2515 ตอนพระชนมพรรษา 20 พรรษา
รัชกาลที่ 10
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 พระชนมพรรษา 64 พรรษา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ขึ้นครองราชย์ในวัยพระชราภาพที่สุด (อ้างอิงจากวิกิพีเดีย)
โฆษณา