14 ก.พ. 2021 เวลา 04:20 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
อยากทำบ้านบอลลูนแบบในหนังเรื่อง UP ต้องใช้ลูกโป่งกี่ลูก ?
ถ้าคุณเคยดูอนิเมชั่นเรื่อง UP(ปู่ซ่าบ้าพลัง) คุณต้องรู้จักบ้านบอลลูนของปู่คาร์ล
บ้านบอลลูน คือ บ้านที่ปู่คาร์ลใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปยังน้ำตกแห่งสรวงสรรค์ บ้านหลังนี้ลอยอยู่บนอากาศด้วยแรงยกจากลูกโป่งสวรรค์ ซึ่งปู่คาร์ลผจญภัยไปพร้อมกับเด็กชายรัสเซลจนเกิดเป็นเรื่องราวสุดประทับใจ
เมื่อดูจบหลายคนคงจินตนาการถึงบ้านบอลลูน และอาจคิดต่อยอดไปว่า ถ้ามีบ้านแบบนี้ก็คงดี ผมเชื่อว่ามีคนมากมายที่คิดแบบนี้ แต่มันทำได้จริงๆหรือ ? บ้านที่ลอยด้วยลูกโป่งแบบนี้ ?
2 กันยายน ปี 2020 เดวิด เบลน นักมายากลชื่อดังได้ทำการทดลองอันท้าทาย เขาใช้ลูกโป่งยักษ์อัดแก๊สฮีเลียมจำนวน 52 ลูก ผูกติดกับตัวเองเพื่อลอยขึ้นไปยังความสูงระดับ 24,900 ฟุต จากพื้นดิน ก่อนจะกลับลงมาอย่างปลอดภัย
2
แม้จะทำขนาดนี้แต่การทดลองก็ยังไม่ตอบคำถามที่ว่า เราจะสร้างบ้านที่ลอยบนอากาศแบบในหนังได้อย่างไร ?
เรื่องนี้คงต้องย้อนกลับไปวันที่ 5 มีนาคม ปี 2011 เมื่อทีมผลิตสารคดีชื่อดังอย่างเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกได้ทดลองสร้างบ้านขนาดเล็กเพื่อประดิษฐ์เป็นบ้านบอลลูนคล้ายกับบ้านที่อยู่ในหนังเรื่อง UP ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างดี
บ้านบอลลูนของพวกเขาลอยสูงจากพื้นมากกว่าหนึ่งหมื่นฟุต แต่การทดลองนี้ก็ไม่ได้สร้างบ้านตามสมมติฐานที่เกิดขึ้นในอนิเมชั่นเพราะพวกเขาใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาและบ้านก็มีขนาดเล็กจึงทำให้สามารถลอยได้
ภาพประกอบจาก National Geographic Channel
คำถามก็คือ ถ้าต้องการสร้างบ้านบอลลูนแบบเดียวกับหนังเรื่อง UP ในทางทฤษฎีแล้วสามารถทำได้หรือไม่ ? ถ้าทำได้ต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง ?
นี่คือโจทย์ที่ทีมผลิตรายการช่อง The Film Theorists ตั้งขึ้น พวกเขาพยายามคิดถึงความเป็นไปได้ในการสร้างบ้านที่มีน้ำหนักใก้ลเคียงกับบ้านในความเป็นจริงเพื่อคำนวณหาจำนวนของลูกโป่งแก๊สฮีเลียมที่สามารถยกบ้านที่มีน้ำหนักขนาดนั้นได้
ว่ากันตามทฤษฎีแล้วการที่ลูกโป่งแก๊สฮีเลียมสามารถลอยอยู่ในอากาศได้ เป็นเพราะแก๊สฮีเลียม (Helium)มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ มันจึงมีแรงยกที่ทำให้ลูกโป่งลอยได้ แล้วแรงยกที่เพียงพอสำหรับการยกบ้านหนึ่งหลังล่ะ ต้องใช้ลูกโป่งแก๊สฮีแก๊สเลียมกี่ลูก ?
2
ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราต้องคำนวณน้ำหนักบ้านของปู่คาร์ลก่อน บ้านหลังนี้เป็นบ้านเก่าแก่สไตล์วิคตอเรียในยุคคลาสสิค (ช่วงทศวรรษที่ 1840-1900) โครงสร้างบ้านประกอบด้วยคอนกรีตและหินทำให้มีน้ำหนักมาก เมื่อดูไทม์ไลน์จากหนัง บ้านน่าจะสร้างช่วงต้นศตวรรษที่ 20
ทีมผลิตสารคดีได้ลองให้บริษัท Dawson Foundation Repair ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างลองประเมินน้ำหนักของบ้านออกมาคร่าวๆ คาดว่าบ้านน่าจะหนักประมาณ 275 ปอนด์ต่อตารางฟุต
เมื่อคำนวณพื้นที่อย่างละเอียด บ้านหลังนี้น่าจะมีพื้นที่ราว 2,800 ตารางฟุต หรือหนักประมาณ 770,000 ปอนด์ เมื่อลบน้ำหนักฐานบ้านออกไป 200,000 ปอนด์ ก็จะเหลือน้ำหนักเฉพาะตัวบ้าน 570,000 ปอนด์ หรือ ประมาณ 260,000 กิโลกรัม (ที่ต้องลบน้ำหนักฐานบ้านออกเพราะในหนังส่วนที่ลอยกับบอลลูนมีเพียงตัวบ้านเท่านั้น)
เมื่อได้น้ำหนักบ้านแล้ว ก็คำนวณปริมาณแก๊สฮีเลียมต่อ เราต้องใช้แก๊สฮีเลียมปริมาณเท่าไหร่จึงจะยกของที่มีน้ำหนัก 260,000 กิโลกรัมได้ ?
สมมติฐานนี้ คำนวณจากลูกโป่งขนาดพิเศษที่บรรจุแก๊สฮีเลียมได้ 9 ลิตร ซึ่งจะมีแรงยกราว 11 กรัม แต่สิ่งที่ยกไม่ได้มีแค่บ้าน ต้องรวมน้ำหนักของอุปกรณ์อื่นๆด้วย ซึ่งน้ำหนักของอุปกรณ์ที่ใช้ผูกบ้านกับน้ำหนักของลูกโป่งรวมกันได้ประมาณ 2 กรัมต่อลูก เท่ากับว่าลูกโป่งหนึ่งลูกยกได้ประมาณ 9 กรัม
แต่ยังไม่หมดเท่านี้ เราต้องลบน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตามความยาวของริบบิ้นหรือเส้นเอ็นด้วย(ต้องใช้แบบเหนียวมากๆเพื่อไม่ให้ขาด) น้ำหนักจะเพิ่มขึ้น 0.7 กรัมต่อความยาวเฉลี่ย 50 ฟุต แสดงว่าลูกโป่งหนึ่งลูกสามารถยกได้สุทธิ 8.3 กรัม
1
บ้านหนักประมาณ 570,000 ปอนด์ คิดเป็น 258,547,651 กรัม ดังนั้นเราต้องใช้ลูกโป่งแก๊สฮีเลียมจำนวน 31,150,319 ลูก ( เป็น 31 ล้านลูก ที่คำนวณโดยไม่นำปัจจัยภายนอก เช่น แรงเสียดทานของลูกโป่งแต่ละลูกมาคิดร่วมด้วย )
ลองจินตนาการถึงการปล่อยลูกโป่งแก๊สฮีเลียมจำนวนหาศาลถึง 31 ล้านลูกดูสิครับ คิดว่าจะวุ่นวายขนาดไหน ? ตัวอย่างใกล้เคียงคงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในปี 1986 ในงานที่ชื่อว่า " Balloonfest ’86 " ซึ่งจัดขึ้นใน เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา
จากความตั้งใจในการสร้างสถิติโลกด้วยการปล่อยลูกโป่งแก๊สฮีเลียมจำนวน 1.5 ล้านลูก แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ของมนุษย์
เมื่อลูกโป่งเหล่านั้นตกมายังโลก มันได้สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมต่างๆมากมาย ปริมาณลูกโป่งนับล้านทำให้อ่าวคลีฟแลนด์เต็มไปด้วยขยะ
มีชาวประมงได้รับอุบัติเหตุและขยะเหล่านี้ก็เป็นอุปสรรคในการเดินทางเข้าไปช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ถึง 2 ราย ยังไม่รวมบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ในฟาร์มต่างๆที่ตื่นตระหนกจนทำร้ายตัวเอง ทำให้ผู้จัดงานถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมหาศาล
นอกจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ทำให้การเดินทางของปู่คาร์ลทำได้ยากในความจริง โดยเฉพาะปัจจัยด้านลม กระแสลมต้องเป็นใจและพัดบ้านบอลลูนไปในทิศทางที่ถูกต้องจนถึงน้ำตกแห่งสรวงสรรค์
ไหนจะเรื่องปริมาณยางที่ต้องนำมาใช้ผลิตลูกโป่งจำนวนมาก เรื่องระยะทาง เรื่องเงิน ฯลฯ ไม่มีทางที่ปู่คาร์ลจะเก็บเงินจากกระปุกออมสินได้มากขนาดนั้น เพราะต้องใช้เงินราว 5,108,302 ดอลล่าร์สหรัฐ ( ประมาณ 158 ล้านบาท) จึงจะสร้างบ้านบอลลูนแบบนี้ได้สำเร็จ (ไม่รวมค่าแรง)
1
อ่านมาถึงตรงนี้ ผมรู้สึกเหนื่อยใจแทนปู่คาร์ลและเหนื่อยใจแทนผู้อ่านจริงๆครับ
คุณอาจจะนึกว่า ทำไมฉันต้องมาอ่านอะไรแบบนี้ด้วย ? เอาน่า...อย่างน้อยคุณคงได้อะไรจากบทความนี้บ้าง อาจเป็นการต่อยอดความรู้จากจินตนาการในการ์ตูน
.
แต่มาคิดดูอีกที ไอสไตน์เคยกล่าวไว้ว่า " จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ " บางทีเราอาจต้องโยนความรู้ทิ้งไปแล้วใช้แค่จินตนาการก็พอ
.
.
.
ขอตัวไปทำงานก่อนนะครับ จะเก็บเงินสร้างบ้านบอลลูน ผมอยากจะไปน้ำตกแห่งสรวงสวรรค์ครับ
3
ภาพประกอบจาก :
สารคดี How Hard Can it Be ช่อง NatGeoTV
โฆษณา