14 ก.พ. 2021 เวลา 14:49 • หุ้น & เศรษฐกิจ
APP หุ้นตลาด MAI ในกระแสเทคฯโลก
[เทรดมั่วทัวร์ดอย]
APP - เทรดมั่วทัวร์ดอย
จะไม่พูดถึงหุ้นตัวนี้ก็คงไม่ได้ เพราะในช่วงที่ผ่านมานั้นกระแสของหุ้นเทคฯกำลังมาแรง และ APP เป็นหุ้นที่จดทะเบียนในตลาด MAI ที่เกาะกระแสเทคฯ อย่าง 3D printing อยู่ด้วย เพราะงั้นวันนี้ผมเลยจะพาเพื่อนๆมาทำความรู้จักกับ APP กัน
APP หรือ บมจ.แอพพลิแคด ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 โดยคุณประภาส ตั้งอดุลรัยต์ และจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยเริ่มซื้อขายวันแรกในวันที่ 22/11/62 ซึ่งเป็นการเสนอขายหุ้นจำนวน 80 ล้านหุ้น ณ ราคา IPO ที่ 2.46 บาท/หุ้น
ทั้งนี้ได้มีแผนการใช้เงินจากการเสนอขายเพื่อ
1. ใช้ซื้อเครื่องสาธิตการใช้งาน 3D Printing และ 3D Scanner จำนวน 20 ลบ.
2. ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ 164 ลบ.
ด้านธุรกิจของ APP นั้น จะเป็นธุรกิจในลักษณะของตัวแทนจัดจำหน่ายทั้ง Software และ Hardware สำหรับอุตสากรรมการผลิตฯ การออกแบบสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง และ APP ก็ได้สร้างธุรกิจให้บริการเพิ่มเข้ามา เพื่อสนับสนุนธุรกิจหลักอีกด้วย
เรามาลองชมข้อมูลการประกอบธุรกิจของบริษัทผ่าน vdo presentation ได้ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้กันครับ
โดยสรุป APP ประกอบ 3 ธุรกิจหลัก คือ Software Hardward และ Service
Cr. OPPDAY 2Q63 - APP
1. ธุรกิจ Software - ทาง APP ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟแวร์ "SOLIDWORKS" ในประเทศไทยมานานกว่า 24 ปี ทั้งนี้บริษัทได้วางรากฐานการใช้งาน solidworks ผ่านการเรียนการสอนในประเทศ จนเป็นมาตรฐานของโปรแกรมออกแบบเชิงวิศวกรรมที่เข้ามาแทนที่การเขียนบนกระดาษ โดยลูกค้าหลักของซอฟแวร์นี้มากกว่า 70% จะอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต (วัสดุอุตสาหกรรม 28%, ยายนต์ 15%)
นอกเหนือจาก SOLIDWORKS แล้ว ทาง APP ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟแวร์ "ARCHICAD" ซึ่งเป็นซอฟแวร์ออกแบบสถาปัตยกรรมแบบ 3D ที่ใช้ในอุตสาหกรรมออกแบบและการก่อสร้างอีกด้วย
2. ธุรกิจ Hardware - ธุรกิจนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะทางฮาร์ดแวร์ที่ APP ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายนั้น คือ เครื่อง 3D Printing จาก "STRATASYS" ผู้นำด้านเครื่อง 3D printer จากอเมริกา และ 3D Scanner จาก "GOM" ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีลูกค้าการกระจายตัวออกไปในหลายอุตสาหกรรม แต่ที่น่าสนใจคือมีลูกค้าที่เป็นภาครัฐและสถานศึกษาอยู่ด้วย
หากพิจารณาถึง mega trend เรื่อง new s-curve ของโลก ด้านเทคโนโลยี 3D Printing นั้นมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะสามารถต่อยอดไปได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งยานยนต์ การบินและอวกาศ ซึ่งผมเคยฟังสัมภาษณ์ว่า ดาวเทียมรุ่นใหม่ๆก็เกิดจาก 3D Printing ในการออกแบบและผลิต นอกจากนั้นยังมีอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กฯ ก่อสร้างบ้านและการแพทย์ ที่จะเกิดการใช้เทคโนโลยีนี้เข้ามาสร้างการพัฒนาต่อยอดในอนาคตอันใกล้นี้
3. ธุรกิจบริการ - กลับไปที่ธุรกิจหลักของ APP นั้น บริษัทจะขายโปรแกรมพร้อมพ่วงสิทธิ Subscription Service ให้ 1 ปี ที่ครอบคลุมถึง การอัพเกรดเวอร์ชั่น การอบรมการใช้งานโปรแกรมผ่านบริษัทลูกอย่าง DETI และการแก้ปัญหาทางเทคนิค ที่หากลูกค้าหมดอายุสามารถจ่ายเงินเพื่อต่ออายุ subsctiption เพิ่มได้ ทำให้ธุรกิจบริการนี้ เปรียบเป็นดั่งธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำหลังการขายให้กับ APP ตลอดอายุการใช้งานของลูกค้าที่ยังใช้งานอยู่
นอกจาก DETI แล้ว APP ยังได้มีการจัดตั้งบริษัทลูก อีกบริษัท ชื่อ Rabbit Prototype ที่ให้บริการรับผลิตต้นแบบ prototype และผลิต low volume product ให้กับลูกค้า
1
รายได้และกำไรของ APP
ปี 2559
รายได้ 540 ล้านบาท
กำไร 21 ล้านบาท
ปี 2560
รายได้ 563 ล้านบาท
กำไร 27 ล้านบาท
ปี 2561
รายได้ 738 ล้านบาท
กำไร 75 ล้านบาท
ปี 2562
รายได้ 734 ล้านบาท
กำไร 57 ล้านบาท
9เดือนปี2563
รายได้ 494 ล้านบาท
กำไร 44 ล้านบาท
โควิดกระทบสั้นๆ แต่อนาคตนั้นอีกไกล
Cr. OPPDAY 2Q63 - APP
หากไปดูคำอธิบายของงบไตรมาส3ปี2563 พบว่า หลักๆสาเหตุของรายได้และกำไรที่หายไปนั้น เป็นผลกระทบมาจากไวรัสโควิด-19 ที่ได้ทำให้การผลิตชะลอตัวลง ทำให้ภาคเอกชนเลื่อนการลงทุนออกไป ส่งผลต่อรายได้จากธุรกิจหลักอย่างการจำหน่ายฮาร์ดแวร์ลดลงเกือบครึ่งเหลือเพียง 71 ล้านบาท จาก 137 ล้านบาทในปีก่อนหน้า
ด้านภาพใหญ่ในประเทศ ยังมีแผนการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ของประเทศไทย ที่จะสนับสนุนการเติบโตให้กับ APP ในอนาคต
และหากไปดูที่แผนการลงทุนของ APP นั้น พบว่าบริษัทได้สิทธิในการจำหน่ายซอฟแวร์ SOLIDWORKS ในต่างประเทศ คือ อินโดและเมียนมา เบื้องต้นทาง APP ได้ไปตั้งออฟฟิสในประเทศอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2557 นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของ APP เพราะอินโดฯเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากกว่าไทยถึง 3 เท่าเลยทีเดียว หลังจากเข้าไปทำการตลาดในปี 2559-2561 พบว่า ทาง APP Indo มีผลขาดทุนที่ส่งผลมายัง APP จำนวน -9 ล้านบาท -6 ล้านบาทและ -1 ล้านบาทตามลำดับ ก่อนที่จะพลิกมามีกำไรในปี 2562 ที่ 2 ล้านบาท ทั้งนี้ช่วงโควิดที่ระบาดในอินโดฯ จึงกระทบต่อบริษัทในช่วงสั้นๆ หากสถานการณ์ดีขึ้น APP Indo น่าจะสามารถทำการตลาดต่อได้นั่นเอง และจะมีผลทางบวกกลับมายัง APP ยังไงก็เอาใจช่วยบริษัทอยู่นะครับ
แนวทางพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
ข้อมูลจาก OPPDAY 2Q63 ทางคุณประภาส ตั้งอดุลรัยต์ ได้นำเสนอแนวทางพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ผ่าน 3 แนวทางที่จะนำมาปรับใช้ ได้แก่
1. สร้าง Platform สำหรับวงการออกแบบ/เขียนแบบในไทยขึ้นมาผ่าน cadthai.com ขึ้นมา เพื่อยกระดับให้ APP เป็นมากกว่าผู้จัดจำหน่าย หันมาสร้างแพลตฟอร์มในการขายของ แชร์ความรู้ และยังมี appzmenu.com ที่เป็นแพลตฟอร์มงานออกแบบและอุตสาหกรรมการผลิต โดยแผนการดำเนินงานจะเป็นเหมือนกับ Start up ของบริษัทเอง ซึ่งทางคุณประภาสมองว่า เป็นตลาดที่มีโอกาสอีกมากในอนาคต
Cr. OPPDAY 2Q63 - APP
Cr. OPPDAY 2Q63 - APP
2. นำเทคโนโลยี AR และ VR เข้ามาเสนอเป็นบริการ Visual Shop ซึ่งจะทำการตลาดและหาลูกค้าจากช่วง โควิดที่กำลังระบาด เรามาลองดูวิดีโอตัวอย่างจาก APP กันครับว่าน่าสนใจหรือไม่?
Cr. OPPDAY 2Q63 - APP
3. การสร้างช่องทางการขายซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์ของบริษัทบนออนไลน์ผ่าน 8baht.com
Cr. OPPDAY 2Q63 - APP
ความเสี่ยงของ APP
ดูด้านดีของบริษัทไปแล้ว งั้นเรามาลองดูความเสี่ยงของ APP กันบ้าง
1. ความเสี่ยงหลักของ APP นั้นคือ การพึ่งพาบุคลากรอย่างผู้บริหาร คือ คุณประภาส ตั้งอดุลรัยต์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งรวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ APP ในสัดส่วน 57%
2. รายได้หลักมาจาก Software หลักอย่าง SOLIDWORKS และสิทธิในการเป็นตัวแทนจำหน่ายมีวันหมดอายุสัญญา ที่ต้องอาศัยการต่อสัญญาเพิ่มเติม ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับซอฟแวร์หลายๆตัวของ APP เลยครับ
3. รายได้ของธุรกิจฮาร์ดแวร์มีความผันผวน ซึ่งถ้าไตรมาสไหนขายดี ก็จะมีกำไรที่ดีตามมาด้วย สังเกตุได้จากไตรมาสล่าสุด ทาง APPขายเครื่อง 3D Printing ได้น้อย กำไรของบริษัทก็หายไปแบบมีนัยสำคัญ
4. การแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ราคาหุ้น APP
ตั้งแต่เข้าเทรดในตลาดหุ้นในช่วงปลายปี 62 APP ก็ต้องมาเจอกับสภาพคลาดที่หุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด ที่ทำให้หุ้น MAI หลายๆตัวปรับตัวลงได้แรงกว่าตลาด จนราคาหุ้นต่ำจองที่ 2.46 มาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะไปทำจุดต่ำสุดที่ราคา 1.20 หรือต่ำจองประมาณ -50% ได้
แต่ล่าสุดราคาได้เบรก All time high กลับมายืนเหนือ 3.00 บาทได้แล้ว พร้อมหากพิจารณาด้วย valuation อย่าง PE แล้ว พบว่า APP ได้เทรดต่ำกว่ากลุ่มมา ทำให้หุ้นตัวนี้มีความน่าสนใจเช่นเดียวกัน
และยิ่งถ้าหากไปดูราคาหุ้นเจ้าของ software อย่าง SOLIDWORKS พบว่าราคาหุ้นได้มีการเบรกขึ้น All time high ไปก่อนหน้านี้แล้ว
ด้านราคาหุ้น 3D Printer ของ STRATASYS ก็เช่นกัน ได้ทำจุดสูงสุดในรอบ 5 ปี
เป็นยังไงกันครับครับเพื่อนๆ สำหรับ APP น่าสนใจหรือไม่ ร่วมพูดคุย แชร์มุมมองแลกเปลี่ยนกันได้เลยนะครับ
ทั้งนี้ทางผมเจ้าจองเพจฯ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ชี้นำให้เกิดการซื้อหุ้นตัวนี้แต่อย่างได้ การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนครับ
#เทรดมั่วทัวร์ดอย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา