14 ก.พ. 2021 เวลา 09:37 • การเมือง
บทกวีโลกสวย และความรัก 🌈❤ ของ “จิตร ภูมิศักดิ์” -มุม ๑ | โต๊ะน้ำชา
หลายคนรู้จัก “จิตร ภูมิศักดิ์” ในฐานะนักรบปฏิวัติและนักวิชาการฝ่ายซ้าย “ผู้มาก่อนกาล” ที่สร้างสรรค์ผลงานอันทรงพลังและจุดประกายทางความคิดให้กับการต่อสู้ของคนรุ่นหลัง
เขาจบชีวิตด้วยวัยเพียง 36 ปี ณ บ้านหนองกุง หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดสกลนคร สถานที่ซึ่งเสียงปืนดังขึ้นคร่าชีวิตนักปฏิวัติหนุ่มในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509
อนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ บ้านหนองกุง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร
ผลงานของจิตรเข้มข้นด้วยเนื้อหาสาระที่แสดงให้เห็นความสามารถทางวิชาการที่ลุ่มลึก
ไม่ว่าจะเป็นงานด้านนิรุกติศาสตร์ วรรณกรรม งานแปล และผลงานด้านประวัติศาสตร์และการเมืองที่กล้าวิพากษ์สังคมไทยในยุคนั้นอย่างไม่เกรงกลัวฟ้าดิน
จิตรหยิบจับแนวคิดของฝ่ายซ้ายสร้างสรรค์เป็นผลงานที่ประกาศจุดยืนทางความคิดของเขาอย่างองอาจในฐานะผู้ยืนหยัดเคียงข้างผู้ทุกข์ยากและอยู่ฟากตรงข้ามกับ
เผด็จการ จักรวรรดินิยม และศักดินา
ดังคำร้องท่อนหนึ่งจากเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของจิตร ซึ่งกลับมากึกก้องอีกครั้งในแฟลชม็อบของคนรุ่นใหม่ยุคนี้ว่า
“ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้ามืดดับเดือนลับละลาย ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน”
ถึงอย่างไร จิตร ก็เฉกเช่นมนุษย์ปุถุชน
ผ่านวัยเด็ก วัยดรุณ สู่วัยห้าวหาญทางความคิด
มีความรู้สึก ความฝัน และความรัก
จิตรหลงไหลในงานเขียนและฝันว่าสักวันหนึ่งเขาจะเป็นเช่นนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่มีชื่อเสียง
เขาเริ่มค้นคว้าศึกษาวรรณคดี วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ขยายไปสู่วิชาอื่นๆ อีกมากมาย
เขาเล่าถึงความหลงใหลของตัวเองว่า
“ข้าฯ มีความสนใจในการประพันธ์ บทประพันธ์ที่ข้าฯ เขียนนั้นเป็นทั้งประเภทร้อยแก้วและร้อยกรอง ส่วนที่ข้าฯ ถนัดส่วนมากเป็นบทความร้อยแก้ว
...ข้าฯ ชอบอ่านวรรณคดี ข้าฯ ได้ศึกษาวรรณคดีไทยเก่าๆ มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยจนกระทั่งเดี๋ยวนี้เท่าที่ข้าฯ จะสามารถหาอ่านได้...นอกจากวรรณคดีไทยแล้ว ข้าฯ สนใจวรรณคดีต่างประเทศเหมือนกัน...”
จิตรสอบเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในปี 2493 ก็ด้วยหัวใจที่หลงใหลในด้านภาษาศาสตร์และการประพันธ์
ความรู้ความสามารถของเขาเป็นที่โดดเด่นมาตั้งแต่อยู่ในวัยเรียน ไม่เพียงแตกฉานเฉพาะภาษาไทยเท่านั้น จิตรยังเชี่ยวชาญทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส บาลี สันสกฤต และเขมร (เขมรปัจจุบันและเขมรโบราณ)
ขณะที่เป็นนิสิตจุฬาฯ ชั้นปีที่ 1 จิตรได้ร่วมกับเพื่อนๆ ในวัยไล่เลี่ยกัน ลงขันทำนิตยสารรายเดือนชื่อ “ทรรศนะ” เพื่อนำเสนอ “มุมมอง” ของบรรดาเหล่านักปราชญ์ชื่อดังร่วมสมัย และยังนำเสนอข่าวคราวความเคลื่อนไหวในรั้วจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เหมือนกันหนังสือในแวดวงสังคมทั่วไปด้วย
แถมยังจั่วหัวด้วยว่าเป็นนิตยสารบันเทิงรายเดือน ที่สำคัญคือสร้างความแปลกใหม่ด้วยการนำนิสิตนักศึกษาสาวสวยมาขึ้นปกแทนที่จะเป็นนางแบบอาชีพ อย่างไรก็ดี
ทรรศนะออกมาได้เพียง 3 ฉบับก็ต้องปิดตัวลงอย่างไม่เป็นท่า
ปกนิตยสาร ทรรศนะ ฉบับปฐมฤกษ์ ตุลาคม 2493
ในฐานะผู้ช่วยบรรณาธิการ นอกจากคัดกรองและเที่ยวหาผลงานมาตีพิมพ์แล้ว จิตรยังมีผลงานเป็นของตนเองด้วย ทั้งใช้ชื่อจริงและนามปากกา
ที่น่าสนใจก็คือบทกวีในยุคนี้ของนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ เต็มไปด้วยความสวยงาม หวานละมุนละไม เฉกเช่นอารมณ์ชวนฝันของคนหนุ่มสาว
ไม่มีกลิ่นอายปลุกเร้าทางการเมืองที่ดุดันและกระแทกกระทั้นอารมณ์ของผู้ทุกข์ยากตามแนวลัทธิสังคมนิยมแม้แต่น้อย
พร้อมใช้ศัพท์แสงที่สละสลวยอลังการวาดลวดลาย โชว์ฉันทลักษณ์สารพัดชั้นเชิงที่จิตรเอาอยู่ทุกกระบวนท่า
ดังตัวอย่างจากบทกวีชื่อ “รอยยิ้ม” ในทรรศนะฉบับปฐมฤกษ์ ที่หากหญิงสาวใดได้ฟังคงต้องม้วนอายอยู่ไม่น้อย
“เพริศพรึงตลึงนยนะจ้อง ขณะพ้องสุวาณี
งามโฉมประโลมหทยะตรี ภวะรวยระหวยโหย...
...รอยยิ้มฤาพิมพ์ณหฤทัย มนะใฝ่บ่เว้นวัน
ปูนปานสุมาลยะสุคันธ์ ระบุกลิ่นระบินฉม..."
ตอนท้ายของกวีบทนี้ ยังแสดงอารมณ์ความสับสนว้าวุ่นใจ สำหรับความรักในวัยแรกแย้มของหนุ่มสาว
5
“…โศกปิ้มผิยิ้มจะนิระแรม สุระแย้มจะรบคราน
สิ้นหวังและยังอุระระราน ทุระถมระทมสุม
เคยเปรมเกษมก็จะระบอม มนะตรอมคระโหยคลุม
เพลิงเศร้าสิเผาอุระระรุม นิรนันท์นิรันดร ฯ”
และลงท้ายด้วยนามปากกาเปรียบเปรยตนเองอย่างน่ารักสั้นๆ ว่า
“เด็กอมมือ”
ขณะที่บทกวี “งาม-งอน” ในทรรศนะฉบับที่ 2 จิตรเขียนด้วยกลอนหกแกมน้ำเสียงค่อนแคะนิดหน่อย ถึงหญิงสาวสะคราญ ซึ่งเจ้าหล่อนคงกำลังขุ่นเคืองคนรักอยู่แน่ ๆ
“วู่วาม รามร้อน งอนเหลือ
พิเลข เฉกฉันท์ วัลลิ์เครือ
งอนเจือ งามจน ล้นไป
งอนเพลิน เกินงาม ทรามชม
ยากข่ม งอนหรือ ฤาไฉน
งอนมาก ยากเฝ้า เอาใจ
อะไร ก็งอน ค้อนคม…”
ลงท้ายด้วยนามปากกา “จิตรเสน” เจ้าชายขอมแห่งเศรษฐปุระผู้งามสง่า
แม้นักคิดและนักปฏิวัติผู้นี้ดูจะเล่าลือไปในทางไม่สนใจผู้หญิง จิตรเคยออกตัวว่า
“ข้าฯ เองยังเป็นโสด ไม่เคยแต่งงานและยังไม่คิดที่จะแต่งงาน...
ข้าฯ รู้สึกว่าความรู้สึกในตัวข้าฯ เฉยเมยต่อความรู้สึกทางด้านกามารมณ์...”
แต่จริงๆ ชีวิตในวัยรุ่นของจิตรก็พอจะมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ อยู่บ้าง เขาดูจะพอใจต่อความรู้สึกหวาบหวามลึกๆ อยู่ในใจเสียมากกว่าที่จะสานสัมพันธ์
ดังที่จิตรเขียนในบันทึกของเขาระหว่าง ปี 2489-2490 ช่วงยังเป็นนักเรียนมัธยม อายุ 16-17 ว่า
“วันนี้รู้สึกแปลกใจตัวเอง นึกชอบผู้หญิงคนที่มาเย็บเสื้อที่บ้าน ชื่อ เวียน เกิดผล
ที่จริงเคยชอบใจรักมานานแล้ว ตั้งแต่อยู่เมืองพระตะบอง ดูท่าทางเป็นคนซื่อดี” จิตรยังลอบสังเกตด้วยว่า
“....ดูท่าทางจะชอบเราเหมือนกัน วันนี้พูดกันมากที่สุดตั้งแต่รู้จักกันมา พอลาแม่เขาแล้ว หันไปลาเขา เขายกมือไหว้ ยืนมองเราจนลับตา เคยสังเกตหลายหนแล้ว”
จากปากคำของพี่สาว (ภิรมย์ ภูมิศักดิ์) สมัยที่จิตรเรียนจุฬาฯ ก็มีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ บ้างเช่นกัน
“… แต่ไม่กล้าเข้าไปสร้างความหวังให้กับฝ่ายหญิงมาก เพราะคิดว่าตัวเองจน ผู้หญิงก็รู้ๆ มองท่าก็รู้ว่ารักกัน แต่เมื่อผู้ชายไม่มาพูด ก็เลิกกันไป…”
จิตร กับแม่ และพี่สาว
ไม่แปลกอะไร ที่นักคิดและนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่นาม “จิตร ภูมิศักดิ์” อาจมีเรื่องราวในวัยดรุณไม่ต่างจากหนุ่มสาวทั่วไป ที่มีความฝัน ความรัก และความผิดหวัง
บทกวี “รอยยิ้ม” และ “งาม-งอน” และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากปากคำของจิตรและผู้ใกล้ชิด บอกเล่าแง่มุมหนึ่งในช่วงชีวิตของชีวิตชายผู้นี้ ในฐานะ “มนุษย์” คนหนึ่งได้ดี
ครั้นเติบโตขึ้น อุดมการณ์การเมืองและสำนึกในความเห็นอกเห็นใจผู้ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบจาก เผด็จการ จักรวรรดินิยม และศักดินา
ได้หล่อหลอมให้ “เด็กอมมือ” ผู้นี้เติบโตขึ้นเป็นนักสู้ผู้อุทิศชีวิตให้กับการปฏิวัติ
บทกวีของเขาจึงไม่ใช่เรื่องชวนฝันของหนุ่มสาวอีกต่อไป
แต่เป็นบทกวีที่รับใช้คราบน้ำตาของผู้ทุกข์ยากและโหมไฟปฏิวัติให้ลุกโชนตราบจนทุกวันนี้
รายการอ้างอิง
แคน สาริกา. วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์. พิมพ์ครั้งที่ 13. นนทบุรี: สาริกา, 2550.
ทรรศนะ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2547.
โฆษณา