14 ก.พ. 2021 เวลา 14:49 • อสังหาริมทรัพย์
บ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินในสิงคโปร์ ถึงมีน้อยแต่มีนะ สนนราคา 600 – 5,185 ล้านบาท
เกาะสิงคโปร์ ประเทศขนาดเล็กที่มีพื้นที่เพียง 720 ตารางกิโลเมตรหรือราวครึ่งหนึ่งของพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่มีประชากรอยู่อาศัยมากกว่า 5 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ราว 7,615 คนต่อตารางกิโลเมตร ชีวิตความเป็นอยู่ของคนสิงคโปร์ส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่สูง ผ่านสวัสดิการการดูแลโดยภาครัฐ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการไม่สามารถครอบครองที่ดินอันแสนน้อยนิดบนเกาะได้
ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่พักอาศัยโดยการเช่าแฟลตการเคหะของรัฐบาล (The Housing & Development Board (HDB) ซึ่งมีการแบ่งเป็นประเภทตามจำนวนของห้องและขนาดที่พักอาศัย ส่วนราคาก็แตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ก็มีบ้านที่มีลักษณะเป็นเหมือนห้องแถว ทาวโฮม ในโซนที่มีการจัดสรรไว้ทั้งของรัฐบาลและเอกชน ซึ่งทั้งหมดเป็นแบบสัญญาเช่าที่ดินกับรัฐบาลเพื่อการอยู่อาศัยที่ 99 ปี ยกเว้นบางโครงการของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของสิงคโปร์ที่มีสิทธิ์ในการเช่าที่ดินยาวนานถึง 999 ปี
แฟลตการเคหะของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่อยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่
แน่นอนว่าด้วยพื้นที่ประเทศมีเพียงน้อยนิด บ้านเดี่ยวหลังใหญ่มีพื้นที่ในสิงคโปร์จึงเป็นสิ่งที่หายาก และมีราคาแพงระยับชนิดที่ว่าหากนำเงินที่ซื้อบ้านเดี่ยวเหล่านี้ไปซื้อที่ดินในประเทศอื่นๆ อาจได้ที่ดินเป็นพันๆ ไร่ สร้างอาณาจักรของตัวเองได้ หรือแม้แต่สร้างอาคารสูงระดับ 50 ชั้นใจกลางย่านธุรกิจได้เลยทีเดียว
1
บ้านพร้อมที่ดินระดับ “ซุปเปอร์ลักซ์ชัวรี่” ในสิงคโปร์มีชื่อเรียกที่แปลกไปจากที่อื่นๆ บนโลก โดยใช้ชื่อว่า “Good Class Bungalow หรือ GCB” เป็นบ้านเดี่ยว 1 หรือ 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวมที่ดินมีเริ่มต้นที่ตั้งแต่ 1,400 ตารางเมตร ราคาตั้งแต่ 600 – 5,185 ล้านบาท เพียบพร้อมไปด้วยสิงอำนวยความสะดวกต่างภายในบ้าน สวนหย่อม สระว่ายน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่นสุดโอโถ่ง โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก และอีกหลายสิ่งที่คนรวยระดับอภิมหาเศรษฐีจะพึงมี
1
GCB ในสิงคโปร์มีจำนวนราว 2,500 หลัง ใน 39 พื้นที่ทั่วทั้งเกาะ แต่จะมีอยู่ 5 พื้นที่ที่จะมีจำนวนของ GCB มากที่สุดและแพงที่สุดอยู่ใน 5 ย่านใจกลางเกาะ ได้แก่ Ruffles Park, Chatsworth Park, Ridout Park, Oei Tiong Park, และ Swiss Club Park ซึ่งหนึ่งในพื้นที่ 5 แห่งนี้เป็นที่พำนักอาศัยของผู้นำสูงสุดแห่งประเทศสิงคโปร์อีกด้วย
“Good Class Bungalow หรือ GCB” บ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินสำหรับผู้ที่มีฐานะร่ำรวยในสิงคโปร์
ต่อให้ราคาแพงขนาดไหน GCB ก็สงวนไว้ให้ผู้ที่ถือสัญชาติสิงคโปร์เท่านั้นจะสามารถครอบครองได้ ชาวต่างชาติที่ไม่ได้ถือสัญชาติสิงคโปร์จะไม่มีสิทธิ์จะได้ครอบครองสิทธิ์ และถึงแม้ว่าจะแพงแต่ก็เป็นที่หมายปองของเหล่าคนรวยที่ต้องแย่งชิงการจองให้ได้สิทธิ์การพักอาศัยทุกครั้ง เมื่อสัญญาของผู้อยู่อาศัยเดิมหมดลง ชายต่อ หรือมีโครงการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา
1
คำว่า GCB หรือ บังกะโลชั้นดีน่าจะเป็นเอกลักษณ์ของสิงคโปร์ แม้ว่าจะไม่มีใครทราบถึงสาเหตุที่ใช้ชื่อนี้ แต่ในการให้สัมภาษณ์กับ The Straits Times ในปี 2559 ของศาสตราจารย์โรเบิร์ต พาวเวล ผู้เขียนหนังสือ Singapore Good Class Bungalow 1819 – 2015 กล่าวว่า ชื่อนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในแผนแม่บทของกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติในปี 2523
“อาจเป็นเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจให้สร้างบังกะโลหลังใหญ่และสภาพแวดล้อมอย่างดีเยี่ยมเพื่อดึงดูดหรือรักษาพลเมืองที่มีความมั่งคั่งสูงให้มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ เป็นไปได้ว่าคำว่า “Good Class” ถูกนำมาใช้เพื่อแยกความแตกต่างของระดับทรัพย์สินที่พิเศษมากกว่าพื้นที่บังกะโลขนาดเล็กอื่นๆ”
1
หากแปลความหมายง่ายๆ คือ อยากให้คนรวยอยู่ในสิงคโปร์ ก็ต้องสร้างสิ่งที่จะดึงดูดให้คนรวยเหล่านั้นอยากที่จะอยู่ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยที่ต้องเหนือระดับกว่าใคร กว้างขวางกว่า สภาพแวดล้อมดีกว่า และต้องอยู่ในย่านที่ไม่ใช่ใครก็จะมีสิทธิ์ครอบครอง (ความเท่าเทียมไม่มีจริง)
1
5 ย่านสำคัญที่เป็นที่ตั้งของ GCB
อะไรคือนิยามของ GCB?
1
คนส่วนใหญ่มีความคิดที่คลุมเครือว่า GCB ต้องมีชื่อเสียงมาก ราคาแพงมาก และมีขนาดใหญ่มาก แต่ในความหมายจริงแล้วการจะเป็น GCB มีปัจจัยกำหนดหลัก 2 ประการสำหรับบ้านเหล่านี้คือ ที่ตั้งและขนาด
GCB จะต้องอยู่ภายใน 39 พื้นที่ที่หน่วยงานพัฒนาเมืองเท่านั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าที่มีต้นไม้เขียวขจีเพียงพอระหว่างพื้นที่ต่อแปลง และต้องสร้างบ้านที่มีพื้นที่สัดส่วนไม่เกิน 35% ของที่ดินในแต่ละหลัง
จำเป็นต้องมีขนาดพื้นที่ใช้สอยขั้นต่ำ 1,400 ตารางเมตร และความสูงของอาคารต้องไม่เกิน 2 ชั้น
GCB บางหลังมีอายุมากกว่าร้อยปีย้อนไปถึงยุคล่าอาณานิคม หลังส่วนใหญ่เป็นบังกะโลที่ได้รับการอนุรักษ์เป็นพิเศษซึ่งมีประมาณ 65 หลัง
และสงวนไว้เฉพาะชาวสิงคโปร์เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของ GCB หลังจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายในปี 2555
บรรยากาศในบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินสำหรับผู้ที่มีฐานะร่ำรวยในสิงคโปร์
เงิน เงิน เงิน เท่านั้นที่จะครอบครอง GBC ได้
GCB มักตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีราคาแพงโดยหลายหลังตั้งอยู่ในเขตสำคัญดั้งเดิมของประเทศ ซึ่งสถานที่เหล่านี้ ได้แก่ Cluny Park, Sixth Avenue, King Albert Park, Nassim Road และ Queen Astrid Park จึงไม่น่าแปลกใจที่บังกะโลเหล่านี้มักจะมาพร้อมป้ายราคาเป็นหลักสิบล้านดอลล่าร์สิงคโปร์
เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2561 GCB แห่งใหม่ใน Jervois Hill ถูกขายไปในราคา 41.2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (929 ล้านบาท) หรือประมาณ 2,730 ดอลลาร์สิงคโปร์ (61,548 บาท) ต่อตารางฟุต บนพื้นที่ 15,094 ตารางฟุต
โดยทั่วไปราคา GCB จะค่อนข้างคงที่ แม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2554 ที่จำนวนผู้สนใจเป็นเจ้าของ GCB จะลดลงก็ตาม
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมประเมินว่าราคาปี 2559 ต่ำกว่าจุดสูงสุดครั้งสุดท้ายในปี 2556 ประมาณ 10 – 15% ตามรายงานของ Business Times เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2560
บริษัทผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ CBRE กล่าวว่า จำนวนข้อตกลงในพื้นที่ GCB อยู่ในช่วงทศวรรษที่ 30 ตั้งแต่ปี 2558 – 2559 อยู่ในจุดสูงสุดคือในปี 2553 ซึ่งมีผู้สนใจเป็นเจ้าของ GCB ถึง 132 รายการ
4
คนแบบไหนที่จะอยู่อาศัยใน GCB
GCB ที่มีราคาแพงที่สุดตลอดการของสิงคโปร์ที่มีการซื้อขาย เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมปี 2562 โดยนาย Cheng Wai Keung ประธาน Wing Tai Holdings บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร ได้ขาย Nassim Road GCB ของเขาซึ่งมีสระว่ายน้ำและสนามเทนนิสขนาดใหญ่ ด้วยราคาสูงเป็นประวัติการณ์ที่มูลค่า 230 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 5,185 ล้านบาท ยังครองตำแหน่ง GCB ที่แพงที่สุดจนถึงปัจจุบัน
1
Nassim Road GCB บ้านพร้อมที่ดินที่ซื้อขายแพงที่สุดตลอดกาลในสิงคโปร์ ของนาย Cheng Wai Keung ประธาน Wing Tai Holdings บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์มูลค่า 5,185 ล้านบาท
GCB มักเป็นบ้านของบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีหน้ามีตาในสังคมสิงคโปร์ ในปี 2559 มีรายงานว่านาย Ong Tze Boon สถาปนิกชื่อดังและลูกชายของนาย Ong Teng Cheong อาศัยอยู่ที่ 1 Dalvey Estate ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2470
1 Dalvey Estate บ้านของนาย Ong Tze Boon สถาปนิกชื่อดังและลูกชายของนาย Ong Teng Cheong สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2470
Zhang Yong ผู้ก่อตั้งเครือข่ายภัตตาคารหม้อไฟจีน Sichuan HaiDiLao ที่มีสาขาไปทั่วโลกกว่า 500 สาขา และเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศในปี 2019 ได้ซื้อ GCB ที่ Gallop Road ในราคา 27 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (608 ล้านบาท) ในปี 2559 ในตอนนี้ที่เขาได้สัญชาติสิงคโปร์แล้ว
Andy Chua หัวหน้าแผนกดูแลเส้นผมของ Yun Nam ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปีเดียวกันใน Brizay Park นอก Old Holland Road ในราคา 33 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (744 ล้านบาท)
1
นอกจากนี้ในพื้นที่ Queen Astrid Park มีรายงานว่ามีการซื้อ GCB มูลค่า 46 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (1,037 ล้านบาท) บนพื้นที่ 29,709 ตารางฟุตในปี 2560 โดยครอบครัวที่กลุ่มค้าน้ำมัน Hin Leong
Queen Astrid Park มูลค่า 1,037 ล้านบาท บนพื้นที่ 29,709 ตารางฟุต ของครอบครัวที่กลุ่มค้าน้ำมัน Hin Leong
เพราะฉะนั้นต่อให้มีน้อยและแพงมาก แต่ความต้องการที่จะครอบครอง GCB ยังมีอย่างมหาศาลและใช่ว่าจะจองกันได้ง่ายๆ เพราะถ้าไม่มีใครขายก็ซื้อหาไม่ได้ แม้จะมีเงินเท่าไหร่ก็ตาม เพราะการมีบ้านเดี่ยวในสิงคโปร์ ไม่ใช่เพียงเพื่อประกาศตนว่าเป็นผู้ร่ำรวยเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการใช้ชีวิตที่เหนือระดับกว่าทุกคนในประเทศ และอยู่ในชนชั้นสูงที่ไม่ใช่ใครก็ได้จะอาจเอื้อมถึงนั่นเอง
โฆษณา