15 ก.พ. 2021 เวลา 12:05 • ปรัชญา
Little Buddha : พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกลืมไม่ได้ (1993) ตอนที่ 2 : ดาไลลามะ ผู้นำที่สืบทอดตำแหน่งผ่านจิตวิญญาญเดียว
" เราเชื่อว่าทุกคนที่ตายไปแล้วต้องกลับมาเกิดอีก แต่จะมีคนจำพวกที่พิเศษจริงๆไม่กี่คนที่กลับชาติมาเกิดเพื่อเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ "
.
นี่คือประโยคที่ลามะนอร์มูได้อธิบายให้แม่ของเจสซี่ฟัง ก่อนที่เขาจะบอกจุดประสงค์ในการเดินทางมาซีแอตเทิล
1
ตามเนื้อเรื่องใน "Little Buddha" ลามะนอร์มูได้เดินทางจากวัดที่ภูฏานมาซีแอตเทิล เพื่อตามหาเด็กชายเจสซี่ เพราะเชื่อว่าเขาอาจเป็นลามะดอร์เจกลับชาติมาเกิด
ในศาสนาพุทธแบบวัชรยานหรือพุทธแบบทิเบตนั้นมีความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด โดยเชื่อว่าหลังจากที่คนเราตายไปแล้วดวงจิตไม่ได้แตกดับ เป็นเพียงการสูญสลายของรูปเท่านั้น ส่วนดวงจิตจะย้ายไปเกิดและเติบโตในร่างใหม่ วนเวียนเช่นนี้จนกว่าจะหลุดพ้น
ความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดของชาวทิเบตมีมาอย่างยาวนาน
เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาปักหลักมั่นคงในทิเบต ช่วงปี พ.ศ. 1173 พระเจ้าชรอนกัมโปได้ส่งฑูตไปเรียนพุทธศาสนาที่อินเดีย ล่วงเลยมาจนถึงสมัยมองโกล อัลตันข่านที่เลื่อมใสศาสนาพุทธได้ถวายตำแหน่ง " ทะไลลามะ " ให้แก่ประมุขสงฆ์ของฑิเบต
คำว่า "ทะไลลามะ " มีต้นทางมาจากภาษามองโกเลีย เป็นการนำคำสองคำ คือ " ทะไล "(dalai)ที่แปลว่ามหาสมุทร มารวมกับคำว่า " ลามะ "(bla-ma)ที่แปลว่าพระ ซึ่งคนไทยนิยมออกเสียงเป็น " ดาไลลามะ " ตามคำเขียนในภาษาอังกฤษ (Dalai Lama)
ตามความเชื่อของชาวทิเบต องค์ดาไลลามะเป็นอวตารในร่างมนุษย์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เมื่อองค์ดาไลลามะสิ้นพระชนม์ก็จะกลับมาเกิดใหม่เพื่อช่วยเหลือโปรดสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากความทุกข์
โดยก่อนสิ้นพระชนม์องค์ดาไลลามะจะบอกใบ้ถึงสถานที่ที่จะไปเกิด หลังจากนั้นลามะระดับสูงก็จะตามหาสถานที่นั้น อาจมีการนั่งสมาธิให้เห็นนิมิตเพื่อระบุรายละเอียดของสถานที่อย่างชัดเจนมากขึ้น
1
การตามหาองค์ดาไลลามะที่กลับมาเกิดใหม่นั้น ต้องตามหาให้เจอตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อที่จะได้มีเวลาฝึกฝนและขัดเกลาให้ท่านได้เป็นองค์ดาไลลามะที่มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งวิชา ความรู้ และจริยวัตรอันเหมาะสม
กระบวนการในการค้นหานั้นจะหาจากเด็กที่เกิดในช่วงหลังจากที่ท่านดาไลลามะเสียชีวิตไปแล้ว 1-3 ปี จากนั้นก็พิจาณาตามคำใบ้ที่มีผสมกับนิมิตและองค์ประกอบทางร่างกายที่ตรงกับลักษณะของพระโพธิสัตว์เชนรีซี (ภาคอวตารของพระมหาโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่ลงมาโปรดมนุษย์)
เมื่อค้นหาเด็กที่อยู่ในข่ายที่อาจจะเป็นองค์ดาไลลามะที่กลับชาติมาเกิดได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการพิสูจน์อย่างละเอียด
เด็กแต่ละคนจะถูกนำรายชื่อมาใส่ไว้ในโกศทองคำ เมื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จก็จะหยิบรายชื่อเด็กแต่ละคนขึ้นมาเพื่อให้เข้ามาหยิบสิ่งของเครื่องใช้ขององค์ดาไลลามาะองค์ก่อน
.
ถ้าเลือกได้ถูกต้องทั้งหมดก็จะได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ เพื่อฝึกฝนตนเองก่อนเข้ารับตำแหน่งเป็นดาไลลามะต่อไป (ส่วนใหญ่จะได้รับการแต่งตั้งในช่วงอายุประมาณ16-18 ปี)
2
ในกระบวนการสรรหานี้ หลายครั้งก็มีเรื่องประหลาดที่หาคำอธิบายได้ยาก เช่น การค้นหาองค์ดาไลลามะที่ 14 เมื่อคณะค้นหาขอเข้าไปพักค้างแรมในบ้านของเด็กชาย ลาโม ทอนดุป โดยที่ไม่ได้แจ้งว่าพวกเขาสงสัยว่าเด็กชาย ลาโม อาจจะเป็นองค์ดาไลลามะที่กลับชาติมาเกิด
1
โดยท่าน คิวซัง ริมโปเช่ ที่เป็นลามะชั้นสูงได้ปลอมตัวเป็นคนรับใช้ในคณะค้นหานี้ เมื่อเด็กชาย ลาโม ได้เจอกับคณะค้นหา เขากลับทักท่านคิวซัง ริมโปเช่ ว่า " ลามะจากเซร่า " เป็นเรื่องน่าประหลาดมาก เพราะท่านคิวซังเป็นลามะจากวัดเซร่าจริงๆ
.
ต่อมาเด็กชาย ลาโม ทอนดุป ก็ได้ผ่านการทดสอบจนได้ดำรงตำแหน่งดาไลลามะองค์ที่ 14
2
อีกเรื่องที่ควรทราบคือศาสนาพุทธวัชรยานแบบทิเบตนั้น มีอยู่ด้วยกัน 4 นิกาย คือ
1
1. นิกายญิงมาปะ เป็นนิกายที่เก่าแก่ที่สุด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายหมวกแดง
2. นิกายคากิว หรือนิกายผ้าขาว
3. นิกายสักกยะ หรือ นิกายสักเจีย
4. นิกายกาดัม หรือ นิกายเกลูปะ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายหมวกเหลือง
หมายเหตุ : จากการสืบค้นข้อมูลของผู้เขียน พบว่ามีการใช้ชื่อเรียกแต่ละนิกายแตกต่างกันมาก ผมจึงเลือกใช้ชื่อเรียกที่นำมาจากสถาบันวิจัยพุทธศาสน์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยครับ เพราะเป็นสถาบันที่สอนเกี่ยวกับพระพุทธศานาโดยตรง
บางครั้งการกลับชาติมาเกิด ก็มีผู้ผ่านการทดสอบถึงสองคน
เรื่องนี้เกิดขึ้นกับกรณีขององค์กรรมปามะที่ 17 ซึ่งเป็นตำแหน่งของสังฆนายกพุทธศาสนามหายาน นิกายคัจยู (ถ้าตามข้อมูลด้านบนคือ นิกายคากิว) เมื่อมีผู้ที่ผ่านการทดสอบถึงสองคน คือ ท่าน ออเกียน ทรินเลย์ ดอร์จี (Ogyen Trinley Dorjee)ซึ่งมีภูมิลำเนาตรงตามข้อมูลในจดหมายพยากรณ์ที่องค์กรรมปามะที่ 16 ให้ไว้
แต่แล้วก็มีเด็กชายอีกคนที่อ้างว่าเป็นองค์กรรมปามะที่ 16 กลับชาติมาเกิด
ซึ่งสิ่งที่มหัศจรรย์ของเด็กคนนี้ ก็คือ เขาสามารถท่องพระไตรปิฏกได้ตั้งแต่อายุไม่ถึงสิบขวบและสามารถแสดงธรรมอันลึกซึ้งได้ ทั้งสองคนผ่านการทดสอบจนไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครคือ องค์กรรมปามะที่ 16 ที่กลับชาติมาเกิด จึงสถาปนาให้ทั้งสองคนได้เป็นองค์กรรมปามะที่ 17
โดยองค์ที่สอง มีชื่อว่า ทรินเลย์ ธายี ดอร์จี (Trinlaey Dhayi Dorjee)ซึ่งภายหลังท่านได้ลาเพศบรรพชิตไปแต่งงานมีครอบครัว ส่วนท่าน ออเกียน ทรินเลย์ ดอร์จี ยังคง ดำรงตำแหน่งกรรมปามะที่ 17 อยู่ ซึ่งท่านได้ลี้ภัยการเมืองมาพำนักที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย
สำหรับท่านดาไลลามะองค์ที่ 14 (องค์ปัจจุบัน) ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาท่านตามสื่อต่างๆนั้น เป็นองค์ดาไลลามะจากนิกายเกลูปะ พระนามของท่าน คือ เทนซิน เกียตโซ (Tenzin Gyatso)
ดาไลลามะองค์ที่ 14 : ท่านเทนซิน เกียตโซ
ด้วยปัญหาต่างๆระหว่างทิเบตกับจีนที่มีการเมืองเข้ามาแทรก จีนเองก็หวังที่จะควบคุมทิเบตผ่านการคัดเลือกองค์ดาไลลามะ
ท่านดาไลลามะองค์ปัจจุบันจึงประกาศว่าอาจไม่มีความจำเป็นที่ท่านจะกลับมาเกิด เพื่อให้การคัดเลือกองค์ดาไลลามะที่ 15 ไม่เกิดขึ้น และป้องกันการแทรกแซงจากจีน ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นชาวทิเบตคงต้องตัดสินใจว่าจะเลือกผู้นำของตนอย่างไรต่อไป เพราะเป้าหมายของพวกเขานั้นเรียบง่ายมาก พวกเขาต้องการอิสระในการปกครองตนเอง
แม้ชาวทิเบตจะใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อทางศาสนา ด้วยการปกครองที่มีผู้นำผ่านจิตวิญาณเดียว ผู้นำที่เป็นทั้งกษัตริย์และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ แต่พวกเขาก็ไม่อาจหนีความวุ่นวายทางการเมืองได้
1
ท้ายที่สุดไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไปบนโลกที่ไม่มีใครใหญ่ไปกว่ากฏแห่งธรรมชาติที่ว่า " ทุกสิ่งล้วนมีความเสื่อมเป็นธรรมดา " แม้กระทั่งตำแหน่งขององค์ดาไลลามะ ที่วันหนึ่งก็อาจจะต้องหายไปด้วยเช่นกัน
ผมชอบบทสนทนาตอนหนึ่งของหนังเรื่อง Little Buddha มาก เป็นบทสทนาสั้นๆที่สะท้อนสัจธรรมเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
เมื่อเจสซี่ได้ถามท่านลามะนอร์มูว่า " ความไม่จีรัง คืออะไร ? "
.
ท่านนอร์มูได้ตอบว่า
.
" เราทุกคนที่มีชีวิตอยู่บนโลกตอนนี้ ในอีกร้อยปีข้างหน้าเราก็จะตายกันหมด นั่นล่ะคือความไม่จีรัง " ฉากนี้จบลงด้วยภาพของเจสซี่ที่กำลังล่องเรืออยู่บนแม่น้ำ ซึ่งเปรียบได้กับจิตวิญญาณที่ต้องเวียนว่ายอยู่ในสงสารวัฏไปจนกว่าจะถึงความหลุดพ้น อันเป็นที่สุดของกองทุกข์นั่นเอง
1
ข้อมูลอ้างอิง :
- เพจเจาะเวลาหาอดีต
เรื่อง การเกิดใหม่ขององค์ดาไลลามะและความเชื่อแบบวัชรยาน
- เพจSuksit Siam เรื่องวิธีการค้นหาทะไลลามะ
- คอลัมน์ FOOTNOTE นิตยสาร BIOSCOPE ฉบับที่ 78/ พฤษภาคม 2551
เรื่องโดย : วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา