16 ก.พ. 2021 เวลา 01:54 • ธุรกิจ
📌เคยมีไอเดียที่คิดว่าปังแน่ แต่คนรอบตัวส่ายหัวมั้ย?
หนุ่มจีนอายุ 33 ปี ขาย “ของเล่น” เริ่มจากร้านเล็กๆในซอกหลืบ จนตอนนี้บริษัทเข้าตลาดหุ้นมีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท และนี่คือเรื่องราวของเขา...หวางหนิง(王宁) ผู้ก่อตั้งและ CEO แห่งอาณาจักร “กล่องสุ่ม” ที่ใหญ่ที่สุดในจีน “POP MART”
หวางหนิง (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “หวาง”) เป็นชาวมณฑลเหอหนาน มณฑลตอนกลางของจีน โตมาจากเมืองเล็กๆที่ชื่อ ซินเซียง 新乡 ปี 2008 สมัยเรียนปริญญาตรีปีสาม หวางที่ฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ได้หุ้นกับเพื่อนๆอีก 4 คนเปิดร้านขายของจุกจิก+เครื่องเขียนเล็กๆในเมือง ธุรกิจร้านเล็กๆของเขาก็เอาของนั่นนี่มาขาย ล้มลุกคลุกคลานตามประสาคนเริ่มทำธุรกิจ แต่ไปไม่รอด ปีเดียวเจ๊ง แต่นั่น...ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้ประสบการณ์ธุรกิจที่มีค่า ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน
ปี 2009 หวางเรียนจบ ป.ตรี ขณะที่เพื่อนๆหลายคนหันไปหางานประจำตามวุฒิที่จบมา หวางที่ฝันอยากทำธุรกิจก็ยังไม่ทิ้งฝัน เลยปรึกษาเพื่อนๆที่เคยเปิดร้านด้วยกันว่า เรามาสู้กันใหม่มั้ย? รอบนี้เปิดร้านอีกครั้ง เอาประสบการณ์ที่ล้มเหลวของร้านแรกมาทำร้านใหม่ เพื่อน 2 คนบอกไม่เอาด้วย พอแล้ว อีก 2 คนบอกไม่เสียหายอะไร ธุรกิจมันเจ๊งกันได้เรื่องปกติ รอบนี้เผื่อรวยใครจะรู้
1
หวางกับเพื่อนรอบนี้ระมัดระวังกว่าเดิม ก่อนจะทำธุรกิจต้องไปสำรวจตลาดก่อน ทั้งสามเลยเลือกไปดูตลาดที่ฮ่องกง ผู้นำกระแสสินค้าที่คนรุ่นใหม่ที่จีนบริโภคตอนนั้น พวกเขาไปสะดุดตากับร้านขายสินค้าไลฟสไตล์ที่ชื่อ LOG-ON (คล้ายๆ LOFT เมืองไทยสมัยนี้) หวางรู้สึกแปลกใจที่เขาเห็นร้านที่ขายแต่ของดีไซน์เก๋ๆ ล้ำๆ ทั้งเครื่องเขียน, ของเล่น, ของใช้, ของขวัญ ฯลฯ ที่ราคาไม่ได้ถูกๆ แต่มั่นใจว่าคนรุ่นเขาที่จีนเห็นแล้วต้องอยากได้แทบทุกชิ้น หวางกับเพื่อนเลยตกลงว่า ร้านแนวแบบ LOG-ON ที่ขายของแนว Design Product + Pop Culture นี่แหละ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของพวกเขา และมันน่าจะเวิร์คมากๆ เพราะแทบไม่เห็นร้านแบบนี้ที่จีน
Log-On ร้านขายสินค้าไลฟสไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่หวางและเพื่อนๆเจอแล้วถูกใจมากที่ฮ่องกง
...แต่เมื่อกลับมาหาทำเลเปิดร้าน หวางก็ต้องปวดหัว เพราะ ไอเดีย Design Product + Pop Culture ของพวกเขา เจ้าของตึกและฝ่ายอาคารหลายที่ “ไม่เข้าใจ” บอกว่าเด็กพวกนี้เพ้อฝันอะไร คิดว่าพวกเขาหลอกลวง หลายที่ปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเช่า จนเกือบปี ในที่สุดก็ได้หน้าร้านล๊อกเล็กๆที่ EC Mall 欧美汇购物中心 ในกรุงปักกิ่ง พวกเขาตั้งชื่อร้านว่า “POP MART” เพราะนี่คือ มินิมาร์ทที่จะขายแต่ของ Pop Culture ที่เน้นดีไซน์ เป็น “สินค้าไลฟสไตล์” สำหรับคนรุ่นใหม่
ทำเลร้านได้แล้ว แต่ก็ยังเจอโจทย์หินอีก ร้านเล็กๆของพวกเขามันยัง No Name แถมขายของที่ตอนนั้นคนจีนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จัก อะไรคือสินค้าไลฟสไตล์? ทำไมมันแพงกว่าสินค้าปกติตั้งเยอะทั้งที่การใช้งานก็เหมือนๆกัน พนักงานขายรวมทั้งผู้จัดการร้านที่เปิดรับสมัครไปก็หายากมาก จนพอร้านเริ่มอยู่ตัว เริ่มมีลูกค้าประจำที่”ใช่”แวะเวียนมาซื้อและบอกต่อๆกัน อยู่ดีๆ ผู้จัดการร้านกับพนักงานขายก็ทยอยลาออกกันอีก! ช่วยไม่ได้ จากเดิมที่พวกเขาต้องเหนื่อยดูร้านอยู่แล้ว หวางกับเพื่อนก็ต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ต้องมายืนขายเอง จัดซื้อเอง จัดเชลฟ์เอง นับสต๊อกเอง ทำเองทุกอย่างแทนส่วนของพนักงานร้านที่ออกไป...
ปี 2011 หวางกับเพื่อนทำร้านจนเกิดไอเดียว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะขายแฟรนไชส์ POP MART ออกไป ให้แบรนด์ POP MART ได้ขยายออกไปทั่วทุกมุมถนนของเมืองใหญ่ทั่วจีน(พวกเขาฝันไว้ตอนนั้น) พวกเขาวิ่งหานักลงทุนที่เป็นคนใกล้ตัวของคนรู้จัก ของรุ่นพี่ ของเพื่อน ของญาติ ฯลฯ เพื่อขายไอเดียมาระดมทุนเป็นแฟรนไชส์ POP MART ของพวกเขา แต่ก็โดนปฏิเสธ เพราะ “สิ่งที่เราทำ นักลงทุนตอนนั้นไม่เข้าใจ” หวางเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อนิตยสารเจ้าหนึ่งในปี 2019
ปี 2012 วิ่งหานักลงทุนมาเกือบ 1 ปีเต็ม เมื่อไอเดียขยาย POP MART ร้านขายสินค้าไลฟสไตล์ของพวกเขาเริ่มมาถึงทางตันและมีแนวโน้มจะขายแฟรนไชส์ไม่ได้เลย หวางจึงหันมาลองปรับและสร้างธุรกิจใหม่ คือ “เว็บขายของใช้สำหรับครอบครัว” ที่ขายของสัพเพเหระในบ้าน เน้นกลุ่มครอบครัวของคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจ Design Product โดยสินค้าส่วนนึงก็คือของที่ขายอยู่แล้วใน POP MART หวางมั่นใจว่าไอเดีย “เว็บขายของ” ของเขานักลงทุนต้องชอบ เพราะเป็นช่วงขาขึ้นของ eCommerce จีนพอดี
1
หวางเข้าหานักลงทุนอีกครั้ง ทีนี้ผลตอบรับดีกว่าเดิมเริ่มมีหลายคนเห็นว่าไอเดียนี้ดี แต่ก็ยังคลางแคลงกับประสบการณ์และอายุที่ยังน้อยของพวกเขา จนในที่สุดหวางได้มาเจอนักลงทุนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่เข้าใจสิ่งที่เขาและพวกจะทำ นักลงทุนคนนั้นบอกหวางว่า เขาไม่สนใจไอเดีย “เว็บขายของ” ที่ทำกันเกรื่อ แต่เขาสนใจ POP MART ที่เป็นธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมแต่ขายสินค้าไลฟสไตล์ที่เป็น “New Demand” ของหวางมากกว่า มันมีแนวโน้มว่าจะรุ่งแน่ๆในอนาคต ว่าแล้วนักลงทุนรายแรกก็ให้ทุนหวางมา 2 ล้านหยวน(ราว 10 ล้านบาทตอนนั้น) เป็นทุนก้อนแรกในการ Rebrand และตั้งไข่ POP MART ให้สามารถขยายสาขาได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งการขายแฟรนไชส์แล้ว แต่ให้แบรนด์ขยายสาขาเองไปเลย
1
พอได้ทุนมาแล้ว หวางกับพวกก็ตั้งใจปรับปรุงร้านให้ดีขึ้น อัพภาพลักษณ์, ตัวตนร้านให้ชัดเจน ลูกค้าใหม่เข้ามา ลูกค้าเก่าก็เริ่มติดมากขึ้น นักลงทุนก็เริ่มมั่นใจมาลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แล้ว POP MART สาขาที่ 2, 3 ก็เกิดขึ้นตามๆมา โดยที่ POP MART ยังคงอัตลักษณ์ที่ขายสินค้าดีไซน์เก๋ๆสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นสินค้าไลฟสไตล์ต่างๆเน้น Design Product + Pop Culture
จุดเปลี่ยนที่สำคัญอยู่ที่ปี 2015 ขณะที่หวางกับเพื่อนกำลังสรุปยอดขายของทุกสาขาเพื่อเตรียมแผนขยายสาขาใหม่ หวางก็ไปสะดุดตาเข้ากับ ของเล่นโมเดลสะสมจากญี่ปุ่นที่ POP MART เอาเข้ามาขาย เป็น “กล่องสุ่ม”(Mystery Box) Art Toy ตัวการ์ตูน Sonny Angel ที่เป็นลิขสิทฺธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา(IP : Interlectual Property)ของศิลปินชาวญี่ปุ่น Art Toy ของตัวการ์ตูนตัวนี้เริ่มแพร่หลายในกลุ่มนักสะสมทั้งในจีนและทั่วโลก โดยยอดขายของกล่องสุ่ม Sonny Angel อย่างเดียวคิดเป็นยอดขายถึง 1 ใน 3 ของยอดขายสินค้าทั้งหมดกว่าหลายร้อยรายการในร้านเลย! ไม่ธรรมดาแล้ว เจ้ากล่องสุ่มมี “โอกาสทอง” ซ่อนอยู่
Sunny Angel เซ็ตตัวละครกล่องสุ่มน่ารักจากญี่ปุ่น
[เกี่ยวกับ Art Toy – Art Toy คือ ของเล่นที่ออกแบบโดยศิลปิน มักผลิตออกมาจำนวนจำกัดและถือเป็นของสะสมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังยุค 1985 โดยอาจมาในลักษณะที่ขายเป็นรายชิ้น หรือออกมาเป็นคอลเลคชั่นรุ่นต่างๆที่แต่ละรุ่นมีหลายแบบแล้วอยู่ใน “กล่องสุ่ม” ซึ่งผู้ซื้อจะไม่รู้ว่าตนได้แบบไหนในรุ่น จนกวาจะเปิดกล่องออกมา ซึ่งกล่องสุ่มถือเป็นเทรนด์ของสินค้า Art Toy ที่นิยมกันตั้งแต่หลังปี 2000]
หวางเลยปรึกษาเพื่อนว่า “เอางี้มั้ย มาลองซักตั้ง สินค้าไลฟสไตล์ตัวอื่นต่อจากนี้ไม่ทำแล้ว เรามาขายแต่ Art Toy กันเถอะ!!!” หวางโน้มน้าวเพื่อนและกลุ่มผู้ถือหุ้น POP MART จนสำเร็จ โดยทุกคนเชื่อในสัญชาตญาณทางธุรกิจของหวาง แต่นั้น...ก็ถือเป็นการเดิมพันที่สูงมาก ถ้าล้มนั่นอาจหมายถึงจุดจบของ POP MART ที่หวางและเพื่อนลงทุนลงแรงสร้างมาหลายปี
หวางได้เริ่มสำรวจตลาดด้วยการสอบถามแฟนๆร้าน POP MART บนเวยป๋อ(Facebook + Twitter จีน)ว่า “เพื่อนๆนอกจากสะสม Sonny Angel แล้ว ยังชอบสะสมอะไรอีก?” แฟนๆหลายร้อยคนเข้ามาคอมเมนต์ กว่าครึ่งนึงหนุนไปทางคำตอบเดียวกันว่า “Molly” ซึ่งเป็นตัวการ์ตูน IP (ลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา) ของศิลปินชาวฮ่องกง Kenny Wong 王信明 โดยเป็นตัวการ์ตูนเด็กผู้หญิงผมบ๊อบทำท่าจือปาก โดย Art Toy ของ Molly มักมาในชุดและอิริยาบถต่างๆที่แฟนๆจะสะสมเป็นคอลเลคชั่น
หลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ หวางก็ได้นัดพบกับ Kenny Wong ศิลปินผู้ออกแบบ Molly เพื่อหารือความร่วมมือเป็นทางการที่ฮ่องกง หวางและทีมต้องบินไปฮ่องกงเพื่อหารือและพูดคุยยังมีหลายรอบหลังจากนั้น จนในที่สุด Kenny ตัดสินใจขาย IP ของ Molly ให้เป็นลิขสิทธิ์เจ้าเดียวแก่ POP MART นั่นหมายความว่า ต่อไปนี้ ผลงานทุกชิ้นที่เป็น Molly จะต้องถูกขายโดย POP MART เท่านั้น!!!
Molly ตัวละคร Art Toy โดยศิลปินฮ่องกง Kenny Wong
ปี 2016 POP MART ได้ตัดสินใจผลิต Molly คอลเลคชั่น “Molly - 12 Zodiac” ซึ่งเป็น Art Toy คอลเลคชั่นแรกที่ผลิตโดยบริษัท ปรากฏว่า ยอดขายถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ และเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในกลุ่มนักสะสมชาวจีน ลูกค้าพากันชมเชยว่า “Art Toy จีน” ชุดนี้ของ POP MART ทำได้พรีเมียมมาก และยังเป็น Molly ผลงานศิลปินคนโปรดด้วย ของล๊อตแรกมียอดจองหมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็วจนของขาดตลาดอยู่ช่วงหนึ่ง
นับแต่นั้นมา ชื่อเสียงของ POP MART ก็เริ่มเป็นที่จดจำและกล่าวถึงในกลุ่มนักสะสมทั่วโลก หวางและเพื่อนๆเริ่มมองหา Art Toy IP ใหม่ๆ ที่ออกแบบโดยศิลปินที่นักสะสมและคนรุ่นใหม่น่าจะชื่นชอบ พวกเขาได้ตระเวนเซ็นสัญญากับศิลปินจากชาติต่างๆ และดึงให้ IP ดังๆมากมายมาอยู่ใต้การดูแลของ POP MART ทั้ง Labubu(มอนสเตอร์หูกระต่าย), Pucky(ภูติน้อยน่ารัก), Dimoo(เด็กหนุ่มหน้าทะเล้น) ฯลฯ
Labubu เหล่ามอนสเตอร์หน้าทะเล้น อีกตัวละครขายดีของ Pop Mart
สินค้ากล่องสุ่ม Art Toy ลิขสิทธิ์เฉพาะของ POP MART ทยอยออกมาให้แฟนๆนักสะสมทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่จับจองเป็นเจ้าของเรื่อยๆ ผลกำไรบริษัทก็งอกเงยและแทบไม่ได้รับผลจากเศรษฐกิจที่ถดถอยในบางเวลา เพราะ POP MART เลือกจับกลุ่มตลาดเฉพาะ(Niche Market)ที่ผู้ซื้อมี Brand Loyalty เข้มแข็ง และ User Community มีความเหนียวแน่นกลมเกลียวผ่านการเก็งกำไรและตลาดมือสองของเหล่านักสะสม
2
[เครื่องมือนึงที่ POP MART ประสบความสำเร็จมากๆในการทำให้ Art Toy Collection แต่ละรุ่นที่ออกมามียอดซื้อซ้ำเรื่อยๆแม้ลูกค้าจะเคยซื้อไปแล้ว คือ ในทุกรุ่นจะมีแบบที่เป็น “Secret” 隐藏款 หรือ “ตัวหายาก” ซึ่งมีความน่าจะเป็นที่จะออกเพียง 1 ใน 144 และ “ตัวหายากพิเศษ” ที่มีโอกาสออกเพียง 1 ใน 720 ซึ่งความหายากนี้เอง ส่งผลให้ราคาของ Secret ในตลาดมือสองและนักสะสมพุ่งไปเป็นหลักพันถึงหลักหมื่น ถึงขนาดที่ Art Toy บางรุ่นที่เลิกผลิตไปแล้ว ราคา Secret อาจขึ้นไปถึงหลักแสน!!! ยิ่งทำให้ “กล่องสุ่ม” ของ POP MART กลายเป็นสินค้าที่นักสะสม “เงินเหลือๆ” ที่ใจรักและ “นักเก็งกำไร” หันมาลงทุนซื้อกล่องสุ่มนี้กันอย่างบ้าคลั่งทุกครั้งที่ออกรุ่นใหม่]
2
ขณะเดียวกัน หวางก็ยังฟูมฟักศิลปินหน้าใหม่ในค่ายของ POP MART เองเพื่อผลิต IP ตัวการ์ตูนของบริษัท สร้างฐานแฟนคลับของตลาดนักสะสมใหม่ๆ รวมทั้งผู้รักในสินค้า Art Toy ให้รู้จัก POP MART มากขึ้น รวมถึงบริษัทก็ยังขยายฐาน Dealer ไปยังทั่วโลก ร่วมกับการขยายหน้าร้านไปอย่างรวดเร็วจาก 10 เป็น 100 สาขา ร่วมกับการเริ่มหันมาใช้ “เครื่องขายของอัตโนมัติ” ที่ช่วยให้ตู้ขาย Art Toy ของ POP MART สามารถไปวางขายอยู่ตามถนนและห้างใหญ่ๆของจีน และทำให้ฐานผู้ซื้อหน้าใหม่ที่เข้าสู่วงการ Art Toy โตเร็วอย่างทวีคูณ
จนในปี 2020 POP MART มีหน้าร้านราว 100 สาขา อยู่ทั่วเมืองใหญ่ในจีน รวมทั้งมีสาขาในต่างประเทศทั้งหมด 21 ประเทศ และมีเครื่องขาย Art Toy อัตโนมัติของ POP MART กว่า 1,000 เครื่องวางอยู่ทั่วจีน รวมทั้งเปิดหน้าร้านออนไลน์บน Tmall และ Aliexpress ส่งสินค้าให้แก่นักสะสมทั่วโลก เรียกได้ว่า ถ้าสมัยนี้ใครจะเข้าวงการหรือได้เริ่มสะสม Art Toy แล้ว...ไม่มีใครไม่รู้จัก “POP MART” ของหวางหนิงอีกต่อไป
จนวันที่ 12 พ.ย. 2020 POP MART ก็ได้เข้าสู่ตลาดหุ้น IPO ที่ฮ่องกง มี Stock Code 9992.HK และมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 1 แสนล้านหยวน(ราว 4.7 แสนล้านบาท) โดยหวางถือหุ้นอยู่ถึง 55% ทำให้หวางกลายเป็นเถ้าแก่หน้าใหม่ที่มีค่าตัวสูงถึง 55,000 ล้านหยวนในชั่วข้ามคืน!!!
และนี่คือ POP MART ...ธุรกิจที่ใน Day 1 เหล่านักลงทุนไม่เข้าใจ หลายๆคนส่ายหัวให้ แต่วันนี้กลายเป็นยูนิคอร์นในวงการธุรกิจที่ครองตลาด “New Demand” ของคนรุ่นใหม่ในยุค 90 และมิลเลนเนียลทั่วโลก...เรื่องราวของหวางหนิงกับร้านขายของเล่นกล่องสุ่มห้าแสนล้านของเขา...
โอกาสทางธุรกิจเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าเรามองเห็น “New Demand” ที่ซ่อนอยู่
โฆษณา