16 ก.พ. 2021 เวลา 02:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Transient luminous event
ปรากฏการณ์ปริศนาในชั้นบรรยากาศโลก
(เรียบเรียงโดย สัมโมทิก สวิชญาน)
นักวิทยาศาสตร์แบ่งชั้นบรรยากาศของโลกเป็นหลายๆ ชั้นตามองค์ประกอบ อุณหภูมิ และความดัน
บรรยากาศชั้นล่างสุดที่มนุษย์เราอาศัยอยู่ เรียกว่า ชั้นโทรโพสเฟียร์ (troposphere) ซึ่งปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชั้นนี้ เช่น พายุฝนฟ้าคะนองทั่วๆ ไป และฟ้าแลบฟ้าร้อง แต่จริงๆ แล้วฟ้าแลบสามารถเกิดที่บรรยากาศชั้นบนๆเหนือชั้นโทรโพสเฟียร์ขึ้นไป ได้ด้วย เรียกว่า transient luminous event (TLE)
ถ้าแปลคำว่า transient luminous event เป็นภาษาไทยก็อาจจะเป็น "เหตุการณ์แสงวาบชั่วพริบตา" ซึ่งดูเหมือนจะไม่ได้เป็นชื่อที่เหมาะสมเท่าไรนัก เพราะฟ้าแลบมันก็สว่าง (luminous) ชั่วพริบตา (transient) เหมือนกัน แต่ที่นักวิทยาศาสตร์เรียกอย่างนี้ก็เพราะว่า TLE บางแบบมันชั่วประเดี๋ยวมากๆ แค่ 1 มิลลิวินาทีเท่านั้นเอง (แต่บางแบบก็ยาวประมาณฟ้าแลบปกติ)
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ TLE คือ นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้ TLE แบบต่างๆ อย่างกับออกมาจากนิยายแฟนตาซี เช่น sprites (พราย), elves (เอลฟ์), trolls (ยักษ์), ghosts (ผี), gnomes (ภูตแคระ) และ pixies (ภูตจิ๋ว) โดยแต่ละแบบก็มีคุณลักษณะต่างๆ กันไป เช่นเอลฟ์มีลักษณะเป็นแสงสลัวๆ เรืองๆ ที่วาบขึ้นมาแล้วขยายตัวออกในช่วงเวลาแค่ 1 มิลลิวินาที เป็นต้น
Transient luminous event ในรูปแบบต่างๆ ที่มา: https://www.skybrary.aero/index.php/File:TLEs.jpg
TLE แบบที่ชื่อดูปกติก็คือ เจ็ต (jet) ซึ่งอาจจะเรียกเป็นภาษาไทยได้ว่า "ลำแสงพุ่ง" โดยเจ็ตที่ดังที่สุดตอนนี้คือเจ็ตสีฟ้า เพราะนักบินอวกาศถ่ายวิดีโอไว้ได้เมื่อหลายปีก่อน และมีงานวิจัยลงในวารสาร Nature เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ที่เล่าถึงแสงวาบเหนือชั้นเมฆ โดยหนึ่งในนั้นคือเจ็ตสีฟ้าที่พุ่งขึ้นมาในบรรยากาศชั้นถัดขึ้นมาจากชั้นล่างสุด ที่เรียก สตราโตสเฟียร์ (stratosphere)
แสงวาบดังกล่าวสังเกตการณ์จากอุปกรณ์บนสถานีอวกาศนานาชาติที่เรียกว่า ASIM (Atmosphere-Space Interactions Monitor "อุปกรณ์เฝ้าดูปฏิสัมพันธ์ระหว่างบรรยากาศและอวกาศ") ขององค์การอวกาศยุโรป
เนื่องจาก ASIM ไม่ได้เก็บข้อมูลเป็นวิดีโอแบบที่ตาเห็นจริงๆ ทาง ESA จึงทำวิดีโอจำลองลำดับเหตุการณ์ขึ้นมา วิดีโอเริ่มจากฟ้าแลบชั้นล่างตามปกติก่อน จากนั้นตอนวินาทีที่ 5 จะเริ่มมีแสงวาบสีฟ้า ตามด้วยเจ็ตสีฟ้า แล้วก็เอลฟ์ที่แผ่ออกเป็นวงกว้างในชั้นไอโอโนสเฟียร์ (ionosphere) ซึ่งเป็นช่วงชั้นกลางถึงเกือบบนสุด ที่มีไอออนมากมาย
TLE มีกลไกการเกิดอย่างไร และสัมพันธ์กับพายุฝนฟ้าคะนองที่ชั้นล่างอย่างไร ยังคงต้องศึกษากันต่อไป แต่อย่างน้อยตอนนี้เราก็มีข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว
ปล. ดูวีดีโอได้จากปฏิบัติการ iriss ของ ESA เมื่อตอนปี ค.ศ. 2017
นาทีที่ 1:40 จะเห็นว่าจะมีเจ็ตสีฟ้าพุ่งขึ้นมาหลายรอบมาก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ถ่ายเจ็ตสีฟ้าได้
โฆษณา