16 ก.พ. 2021 เวลา 10:49 • ประวัติศาสตร์
เหน่อ
เหน่อ คือเสียงพูดที่เพี้ยนไปจากสำเนียงมาตรฐาน
ประเทศไทยถือสำเนียงกรุงเทพเป็นมาตรฐาน เสียงแบบที่คนสุพรรณพูดกันจึงเรียกว่า “เหน่อ”
เสียงเหน่อเป็นเอกลักษณ์ของคนสุพรรณ และกังวานเสียงแจ่มใสนั้นเป็นที่ประทับใจคนต่างถิ่นมาแต่โบราณ
เมื่อสุนทรภู่มาสุพรรณเพื่อตามหาปรอท ก็ยังพูดถึงเสียงคุณภาพของคนสุพรรณไว้ว่า
บูราณท่านว่าน้ำ สำคัญ
ป่าต้นคนสุพรรณ ผ่องแผ้ว
แดนดินถิ่นที่สูวรรณ ธรรมชาติ มาศเอย
ผิวจึ่งเกลี้ยงเสียงแจ้ว แจ่มน้ำคำสนอง ฯ
ถึงยุคปัจจุบัน ในความรับรู้ของคนทั่วไปก็เข้าใจกันว่ามีเฉพาะคนสุพรรณเท่านั้นที่พูดเหน่อ
ถ้าได้ยินใครพูดเหน่อ ก็มักมีคำถามว่า “เป็นคนสุพรรณหรือเปล่า”
ทั้งๆ ที่จังหวัดอื่นในภูมิภาคตะวันตก เช่น นครปฐม ราชบุรี หรือกาญจนบุรี ก็พูดเหน่อเช่นกัน
จนแม้แต่ละครโทรทัศน์ทุกเรื่องที่มีบทคนรับใช้ขัดถู ถ้าไม่ให้พูดคุยด้วยภาษาอีสาน ก็จะให้พูด "เหน่อ" เพื่อแสดงสถานภาพและบอกกำพืดว่าเป็นคนชนบท
สาบานว่าผมไม่รู้สึกว่าโดน “บูลลี่” เมื่อถูกถามว่า “น้องเป็นคนสุพรรณหรือเปล่า”
ผมภูมิใจเสียอีกว่าได้พูดสำเนียงของบรรพบุรุษที่เคยกินแม่น้ำสุพรรณมานานหลายชั่วอายุคน และสัญญากับตัวเองว่าชีวิตนี้จะไม่มีวัน “บ้วน” เสียงเหน่อทิ้งเป็นอันขาด
ผมเกิดที่พิษณุโลกเพราะพ่อกับแม่เริ่มชีวิตราชการที่อำเภอพรหมพิราม เกิดได้ไม่กี่วันยายก็พาลงมาเลี้ยงที่สุพรรณ
ครบ ๑ ขวบ พ่อกับแม่มารับกลับขึ้นไปที่พิษณุโลก และขอให้ปู่ลงจากสุโขทัยมาช่วยเลี้ยง
ราว พ.ศ. ๒๕๒๙ ผมอายุประมาณ ๔ ขวบ พ่อกับแม่ย้ายมารับราชการที่สุพรรณ และสร้างบ้านหลังแรกของครอบครัวในปีนั้น
ผมคงเป็นเด็กพูดเหน่อเพราะเติบโตกับญาติข้างแม่ เมื่อไปเยี่ยมบ้านปู่ย่าที่สุโขทัยจึงมักถูกล้อเลียนด้วยความเอ็นดูจากลุงป้าหรือเพื่อนของปู่เสมอ
เรื่องที่ทุกคนมักเล่าให้ผมฟังทุกครั้งเมื่อโตแล้ว คือเพื่อนปู่คนหนึ่งชอบมาล้อผมว่า “พ้อก๊อหมา แม้ก๊อหมา”
เด็กชายปรัชญาซึ่งจะกลายมาเป็นผู้ใหญ่ปากจัดในอนาคตจึงสวนกลับไปทันทีว่า “ตาปีก๊อหมา”
เรื่องคนพูดเหน่อสร้างความครื้นเครงให้ทั้งผู้เล่าและผู้ฟังได้ทุกครั้ง
ต่อไปนี้คือเรื่องราวที่ผมเคยประสบ
...
ตอนเรียนมัธยมต้น ครั้งหนึ่งมีครูผู้หญิงบรรจุใหม่เข้ามาสอนพวกผมเป็นห้องแรก
ครูสุ่มเรียกชื่อเพื่อนผมคนหนึ่งให้ยืนอ่านข้อความบางบรรทัด และสังเกตว่ามันไม่ได้ “คาด” เข็มขัด
“ทำไมเธอถึงไม่ 'คาด’ เข็มขัด” ยังไม่ทันจะได้อ่านอะไร ไฟอันร้อนแรงแห่งความเป็นครูใหม่ปะทุขึ้นทันที
"คาดขรับ” เพื่อนตอบเสียงฉาดฉาน
“อย่ามาเถียง ก็ครูเห็นอยู่ว่าเธอไม่ได้คาด” ครูใหม่ยังคงรุกเร้าเพื่อนผมต่อ
“คาดขรับ” เพื่อนตะเบ็งเสียงยืนยัน และทำหน้างงว่ามันตอบอะไรผิดไป
ทั้งสองคนเถียงกันว่า “ไม่ได้คาด” - “คาดขรับ” อยู่นาน คนที่เหลือต่างนั่งเงียบ บรรยากาศอึดอัดชวนให้วิตกว่าเหตุการณ์จะจบลงอย่างไร
ผมเห็นท่าไม่ดีเพราะครูทำเสียงเหมือนจะร้องไห้จึงขยับจะเข้าไปแยกคนใดคนหนึ่งออกมา
ทันใดนั้นผมก็ร้อง “เฮ้ยยย !!!” ขึ้นมาเพราะเพิ่งนึกอะไรบางอย่างได้
คู่ปะทะคารมหยุดทันที และเพื่อนทั้งห้องก็มองมาที่ผมเป็นตาเดียว
“อาจารย์ครับ เข็มขัดของมัน ‘ขาด’ ครับ--มันพูดเหน่อครับ”
เพื่อนคนหนึ่งร้อง “เอ๊อออออ !!!” แล้วตบมือฉาดใหญ่ สายตาที่มันมองผมอ่านได้ว่า “ทำไมมึงเพิ่งจะนึกออก”
จากนั้นทั้งห้องก็หัวเราะกันอย่างบ้าคลั่ง ดังขึ้น ดังขึ้น และดังขึ้น รวมทั้งครูและเพื่อนพูดเหน่อคนนั้นด้วย
...
“ชื่ออะไรครับ” ผมถามนักศึกษาวิชาทหารหญิงคนหนึ่งที่มาเรียนวิชารักษาดินแดนที่โรงเรียนผม
โรงเรียนกรรณสูตฯ เป็นสนามเรียน รด. ของจังหวัด โรงเรียนอื่น เช่น วิทยาลัยเทคนิคฯ สวนแตง อู่ทอง สองพี่น้อง บางลี่ ฯลฯ ต้องนั่งรถมาเรียนที่นี่
ผมเป็นผู้บังคับกองร้อย มีหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อและนำกล่าวคำปฏิญาณทุกวัน
“เสียงมันดังดี--ไม่ได้แข็งแกร่งส้นตีนอะไรหร็อก” ครูฝึกกล่าวชมผมเช่นนั้น
“ส้มส้วยค่ะ” เธอตอบเสียงดัง
“ฮึ !!” ผมฉงน หยุดคิดแวบหนึ่ง แล้วก้มหน้าเขียนชื่อเธอลงไป
“แบบนี้นะฮะ” ผมไม่มั่นใจจึงยื่นให้เธอดู
“ไม้ใช้ขะ” เธอรับไปแก้แล้วส่งคืนผม
“อ้าว ! ไม่มีไม้โทเหรอ แล้วมันจะอ่านว่า ‘ส้มส้วย’ ยังไงล่ะ” ผมถามย้ำเพราะเห็นว่าเธอเอาปากกาฆ่าไม้โทออก
“นี่มันอ่านว่า ‘สมสวย’ นะ”
“ใช้ขะ ‘ส้มส้วย’ ไม้มีสระ เพราะเกิดวันจันทร์ขะ”
...
เรียนจบใหม่ๆ ผมทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการของนิตยสารแห่งหนึ่ง มีหน้าที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย
เขียนอย่างเดียวไม่ต้องถ่ายภาพ เพราะมีพี่ช่างภาพช่วยถ่ายภาพประกอบบทความให้
วันหนึ่งเราไปถ่ายภาพประกอบเรื่อง “ข้าว” ที่สุพรรณ พี่ช่างภาพเป็นคนกรุงเทพจึงตื่นเต้นกับ "รถตีเทือก" มาก
"เทือก" คือที่ดินที่ไถและคราดแล้วทำให้เป็นโคลนเป็นตมเพื่อตกกล้า คนบ้านผมเรียกกริยาเช่นนั้นว่า "ตีเทือก"
หลังจากถ่ายภาพจนหนำใจแล้ว พี่ช่างภาพนึกถึงอีกคอลัมน์หนึ่งที่ตัวเองรับผิดชอบ
คอลัมน์ “Who is Who” นำเสนอเรื่องราวของคนประกอบอาชีพที่ชวนให้สนใจ เช่น ลับมีด ปิ้งไข่ ย้อมผ้า ต่อเรือ ประดาน้ำ ถอนผมหงอก ฯลฯ
“กูว่าจะไปสัมภาษณ์พี่เขาว่ะ”
“มึงไปเหอะ กูไม่ไปกับมึงหรอก” ผมปฏิเสธเพราะขี้เกียจถอดรองเท้าลุยโคลน และตอนนั้นพี่เขาก็ขับรถออกห่างคันนาที่พวกเรายืนอยู่ไปมากแล้ว
พี่ช่างภาพพับขากางเกงเดินโหย่งเหย่งลุยโคลนขึ้นไปนั่งคุยกับพี่คนขับรถสักพักก็เดินลุยโคลนกลับมา
“พี่เขาชื่อเข้ม” ผมพยักหน้าอือออ
“แต่กูงงว่ะ--” พูดพลางหันไปมองพี่คนขับรถและกลับมามองหน้าผม
“งงอะไร” ผมสงสัย
“พอกูทวนว่าพี่ชื่อ ‘เข้ม’ ใช่มั้ยครับ พี่เขาบอกไม่ใช่”
"อ้าว ! แล้วเขาบอกมึงว่ายังไง"
“เขาบอกกูว่าชื่อ ‘เข้ม’ - 'เข้ม' ที่เอาไว้เย็บผ้าน่ะ”
“เข้มอะไรเอาไว้เย็บผ้าวะ” พี่ช่างภาพเกาหัวและยังคงทำหน้างง
“นั่นดิ—‘เข้ม’ อะไรจะเอาไว้เย็บผ้าวะ” ผมยิ้มแล้วลากให้มันเดินไปขึ้นรถเพราะหิวข้าว
ปรัชญา ปานเกตุ เขียนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓
เด็กชายปรัชญาอายุราว ๒ ขวบ นั่งบนมอเตอร์ไซค์ของพ่อ เห็นรถยนต์คันแรกของครอบครัวอยู่ด้านหลัง ไม่ทราบผู้ถ่ายและวันเดือนปีที่ถ่าย
รถมอเตอร์ไซค์ของพ่อเป็นรถ YAMAHA ขนาด ๑๐๐ cc ราคาประมาณ ๑๓,๐๐๐ ซื้อตั้งแต่ก่อนแต่งงานกับแม่ โดยผ่อนส่งกับราชการ ๓๐ เดือน เดือนละ ๔๓๐ บาท
รถยนต์คันแรกของครอบครัวเป็นรถกระบะตอนเดียว ยี่ห้อ TOYOTA รุ่นม้ากระโดด ขนาด ๒๓๐๐ cc ราคา ๑๔๐,๐๐๐ บาท ซื้อเงินสดเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๖
สำนักงานเกษตรอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ที่ทำงานแห่งแรกของพ่อและแม่ ปรัชญาถ่ายอาทิตย์๑๐พฤศจิกา๒๕๕๖
ปรัชญากับป้ายเดิมของสำนักงานเกษตรอำเภอพรหมพิราม บ้านพักเกษตรอำเภอที่เคยอยู่เมื่อเป็นเด็กโดนรื้อนานแล้ว รัชนี ปานเกตุ ถ่ายอาทิตย์๗กรกฎา๒๕๕๔
"ดอกเข้ม" หรือดอกเข็ม ที่วัดหนังราชวรวิหาร แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ปรัชญาถ่ายเสาร์๒๑มกรา๒๕๕๕
โฆษณา