17 ก.พ. 2021 เวลา 00:19 • ท่องเที่ยว
วัดนางนองวรวิหาร
วัดนางนองวรวิหาร ....วัดนางนองเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่ไม่ปรากฏหลักฐานของการสร้าง แต่สันนิษฐานจากรูปแบบของศิลปะที่พบในวัดว่า น่าจขะมีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ประมาณสมัยพระเจ้าเสือ (ขุนหลวงสรศักดิ์) ราวปี (พ.ศ. 2245–2252)
วัดนางนองวรวิหาร .... เป็นวัดที่มีความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองด่านใต้ ฝั่งตะวันออก เยื้องกับวัดราชโอรสาราม ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกอีกฟากฝั่งหนึ่งของคลองด่าน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯให้มีการบูรณปฏิสังขรวัดนางนองเกือบทั้งวัด ในช่วงปี พ.ศ. 2375 โดยให้รื้อของเก่า และปฏิสังขรใหม่ทั้งพระอาราม และมีการนำงานศิลปกรรมจีนเข้าไปประดับตกแต่งทั่งทั้งวัด แต่ยังคงรักษางานศิลปกรรมตามขนบแบบไทยประเพณีไว้ผสมผสานกับงานศิลปกรรมจีนอันงดงาม
เมื่อการบูรณปฏิสังขรเสร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ประกอบพิธีผูก พัทธสีมาพระอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2384 และสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี
พระอุโบสถ ... เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สร้างสรรค์ในรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานศิลปะจีน
หลังคาพระอุโบสถ ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบลายดอกไม้ร่วง ลวดลายแบบจีน
รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชประสงค์ในการสถาปนาอุโบสถวัดนางนอง ให้เป็นพระอุโบสถที่แสดงถึงคติแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ ด้วยกลวิธีการออกแบบเรื่องราวภายในพระอุโบสถ ผูกเล่าเรื่องราวคติพระจักรพรรดิราช สัมพันธ์กันระหว่างองค์พระพุทธรูปประธาน และงานประดับภายในพระอุโบสถ
ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาประธานภายในพระอุโบสถ คือ "พระพุทธมหาจักรพรรดิ์ " ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิ์ 1 ใน 3 องค์ ของไทยซึ่งเป็นที่กล่าวขานถึงกันเป็นอย่างมากถึงความงดงาม .. ส่วนอีก 2 องค์ คือ ..
..“พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” ประดิษฐานภายในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุราชิการาม จ.พระนครศรีอยุธยา
..อีกองค์หนึ่ง มีนามว่า พระพุทธมหาชนก ประดิษฐานภายในพระอุโบสถวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร (ย่านสำเพ็ง )
"พระพุทธมหาจักรพรรดิ์ " .. เป็นพระพุทธรูปสำริดปิดทอง เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย พระพักตร์เป็นพุทธศิลป์สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 2 เมตร 25 เซนติเมตรหรือประมาณ 4 ศอกครึ่ง
พระพุทธรูปทรงเครื่ององค์นี้ ทำเครื่องทรงเครื่องประดับตกแต่งทุกชิ้น แยกออกจากองค์พระสวมทับไว้ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ปั้นลายปิดทองประดับกระจก .. ถือว่าเป็นศิลปกรรมชิ้นเอก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีความงามอย่างวิจิตรอลังการเป็นอย่างยิ่ง
พระมงกุฎทรงของพระพุทธมหาจักรพรรดิ เฉพาะเครื่องศิราภรณ์ ... มีเรื่องเล่าขานตามประวัติว่า องค์ที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นชิ้นที่ 2 ส่วนองค์แรกนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เพื่อให้พระปรางค์วัดให้สูงขึ้นจากเดิม หลังจากที่การปฏิสังขรณ์เสร็จ
พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม สร้างขึ้นด้วยพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยมีพระราชดำริเห็นว่าพระปรางค์เดิมสูง 8 วานั้น ยังย่อมอยู่ กรุงรัตนโกสินทร์ได้ตั้งขึ้นเป็นราชธานี ยังไม่มีพระมหาธาตุ ควรเสริมสร้างให้ใหญ่เป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร แต่การยังไม่เสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน
ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 จึงทรงดำเนินการต่อตามพระราชประสงค์ในรัชกาลก่อนเมื่อพระปรางค์เสร็จ เมื่อทรงยกนภศูลตามพระปรางค์แบบโบราณ ทรงโปรดฯ ให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานในวัดนางนองมาสวมต่อบนยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ดังนั้นมงกุฎองค์แรกของพระพุทธมหาจักรพรรดิ จงไปประดิษฐาน ที่ยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ
การนำเอามงกุฎขึ้น ต่อบนยอดนภศูล ก็ไม่เคยมีแบบอย่างที่ไหนมาก่อน จึงเป็นที่โจษจันของคนในสมัยนั้นว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรง มีพระราชประสงค์จะให้คนทั้งหลายเห็นเป็นนิมิตว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ จะเป็นยอดของบ้านเมืองต่อไป
"พระพุทธมหาจักรพรรดิ์ " .. เดิมไม่มีพระนาม แต่ได้ถวายพระนามในภายหลัง ด้วยพิจารณาว่า พุทธลักษณะแสดงถึงพระพุทธมหาจักรพรรดิทางธรรม
เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพระพุทธมหาจักรพรรดิ .. จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถและหน้าต่าง จึงเป็นภาพเกี่ยวข้องกับพระจักรพรรดิราช ตามคติในพระพุทธศาสนาที่เล่าถึงท้าวมหาชมพู
ผนังพระอุโบสถส่วนบนเหนือกรอบหน้าต่างทุกด้าน .. เป็นงานเขียนสีลงบนฝาผนัง เรื่องพุทธประวัติตอนชมพูบดีสูตร คือตอนพระพุทธเจ้าทรมานพระยามหาชมพูบดี เป็นเรื่องราวของพระเจ้าชมพูบดี กษัตริย์ที่มีบุญญาธิการมาก ไม่มีกษัตริย์พระนครใดใกล้เคียงจะหาญเข้ามาต่อต้านได้
เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างานจิตรกรรมกับพระพุทธรูปที่เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ซึ่งหมายถึงปางทรมานพญามหาชมพู
นอกจากนั้นลวดลายรดน้ำปิดทองประดับบนบานแผละทั้ง 4 คู่ ของประตูทั้ง 4 บาน รอบพระอุโบสถ เป็นภาพเครื่องราชูปโภค เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องยศ เครื่องสิริมงคล เครื่องศัตราวุธ และเครื่องดนตรี อันเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งรัตนะทั้งเจ็ดแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ ตามคติพระพุทธศาสนาเถรวาท อันประกอบด้วยช้างแก้ว ม้าแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว นางแก้ว จักรแก้ว และดวงแก้ว ซึ่งเป็นสมบัติอันประเสริฐที่จะเกิดขึ้นแก่พระเจ้าจักรพรรดิเท่านั้น
งานจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ ... มีลวดลายมงคลของจีน สอดแทรกด้วยภาพจิตรกรรมแบบไทยประเพณี อันประกอบด้วยเทวดา นางฟ้า ทวยเทพ และเครื่องราชูปโภคต่างๆ ผสมผสานกันออกมาได้อย่างงดงามลงตัว
ระหว่างหน้าต่าง .. เป็นงานเขียนบนรักอย่างจีนที่เรียกว่าลายกำมะลอ เรื่องสามก๊ก เขียนบนแผ่นไม้ ฝีมือช่างจีน ใส่กรอบเป็นตอน ๆ จบในตัว เรียงลำดับแบบจีน
ระหว่างระหว่างช่องประตูทางเข้า .. เป็นภาพเขียนลงรักแบบจีน ผสมสีแบบกำมะลอ เป็นภาพสำคัญคือ ฮก ลก ซิ่ว พร้อมทั้งเครื่องมงคล ตามรัชกาลที่ 3 ที่สมบูรณ์อีกแห่งหนึ่ง ในกรอบกระจำเป็นนิยายจีน
จิตรกรรมประดับบานประตู หน้าต่าง และบานแผละ ... เป็นลายรดน้ำ ปิดทอง ที่บานประตูเขียนเรื่องรามเกียรติ์ (ในภาพเป็นตอน ศึกอินทรขิต) บานหน้าต่างเขียนภาพเทพในศาสนาฮินดูที่นำมาใช้เป็นงานประดับและทวารบาลอย่างไทย
บานหน้าต่างผนังทิศใต้ตอนบนเป็นรูป พระอาทิตย์ และพระจันทร์ชักรถ ศิลปกรรมเป็นแบบลายรดน้ำ
ลงดลายรูปรามสูรย์ กับนางเมขลา
บานประตูพระอุโบสถด้านนอก .. เป็นภาพเขียนประดับมุกลายมงคลของจีน
ประตูพระอุโบสถด้านใน .. เป็นภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์
รายละเอียดของงานจ้ตรกรรม งดงามอลังการมากมาย
ลายกำมะลอ เรื่องสามก๊ก เขียนบนกระจกอยู่ในกรอบไม้ เหนือกรอบหน้าต่างภายในพระอุโบสถ
บานแผละ ... เขียนเป็นภาพมงคลที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ได้แก่ เครื่องราชกุธภัณฑ์ คือ พระมหามงกุฎ ธารพระกร พระแสงขรรค์ชัยศรี พัดวาลวีชนี พระแส้ และฉลองพระบาทเครื่องสูง
พระเจดีย์ประธาน ... ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ และอยู่ระหว่างกลางวิหารคู่ เป็นเจดีย์ทรงเครื่องขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณซึ่งเป็นฐานสิงห์ ย่อมุมไม้ยี่สิบ มีทางขึ้นด้านหน้า ซึ่งมีแผงกั้นทางขึ้นเป็นซุ้มทรงฝรั่ง ประดับกระเบื้องปรุลายจีน เรียกว่า "พระเจดีย์ประธานย่อมุมไม้ยี่สิบ" ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด พิจารณาจากทรวดทรง
เจดีย์แล้วสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นพร้อม ๆ กับการบูรณะปฏิสังขรณ์ เพราะมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ที่สร้างขึ้นในวัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม
พระวิหารคู่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีพาไลล้อมรอบ ไม่มีเครื่องลำยอง ประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นลวดลายจีน
พระวิหารด้านเหนือ ... เรียกกันว่า"วิหารหลวงพ่อผุด" มีกำแพงแก้วล้อม ซุ้มประตูเป็นประตูโค้ง สมัยเมื่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 4 วัดนางนองวรวิหารมีสภาพชำรุดทรุดโทรม เฉพาะวิหารคู่ด้านเหนือ และใต้นั้น ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยของพระราชรัตนโสภณ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันทั้งหมด
มีการสันนิษฐานว่า .. พระวิหารหลังนี้น่าจะเป็นพระอุโบสถหลังเดิม ก่อนการบูรณะปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 3 พระประธานอุโบสถเดิมคือ องค์หลัง ชาวบ้านยุคหลังเรียกว่า "หลวงพ่อผาด" เพื่อคล้องกับหลวงพ่อผุด ส่วนหลวงพ่อผุด เป็นพระพุทธรูปหินทรายจมดินอยู่ เล่ากันว่า สายฟ้าลงบริเวณที่จม ดินจึงเกิดรอยแยกออก จึงมองเห็นพระพุทธรูปชาวบ้านจึงเรียกนามท่านว่าหลวงพ่อผุด ประดิษฐานอยู่หน้าหลวงพ่อผาด พระประธานองค์เดิม ลักษณะเป็นหินทรายลงรักปิดทอง
พระวิหารด้านใต้หรือศาลาการเปรียญ ... ประโยชน์ใช้สอยคือเป็นสถานที่เล่าเรียนของพระภิกษุสงฆ์ สมัยโบราณเรียกว่า ศาลาการเปรียญ ปัจจุบันอาคารหลังนี้ยังคงเป็นสถานที่เล่าเรียนของพระภิกษุในวัด จึงเรียกว่า ศาลาการเปรียญ ขนาดอาคารไล่เลี่ยกับวิหารหลวงพ่อผุด หน้าบันเป็นศิลปะจีนลายมังกรล่อแก้ว ภายในมีพระประธานขนาดใหญ่ และเก็บรักษาพระพุทธรูปยืนอีกจำนวนไม่น้อยพระวิหาร ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว
Note : พระวิหาร และศษลาการเปรียญปิด ในวันที่เราไปเยือน
พระปรางค์คู่ ตั้งอยู่หลังวิหารทั้ง 2 หลัง เป็นปรางค์ที่มีลักษณะเฉพาะ คือ อยู่ในผังหกเหลี่ยม และยกเก็จขึ้นมาบริเวณซุ้มจรนำ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ฐานปรางค์คร่อมอยู่บนกำแพงแก้ว .. ลักษณะของผังแบบนี้ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของงานสร้างวัดในสมัยรัชกาลที่ 3
ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว กำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถและเป็นเขตพุทธาวาส ทำซุ้มประตูยอดโค้ง มีอิทธิพลจีนผสมฝรั่ง ทรวดทรงเตี้ยหากดูมั่นคง ช่องทางเข้าเป็นโค้งยอดแหลม
ซุ้มเสมารอบพระอุโบสถ .. ทำเป็นซุ้มทรงกระโจมแบบฝรั่ง คูหาเสมารอบซุ้ม เฉพาะที่บัวกรอบซุ้มทำทรงรูปไข่ หลังคาทำเป็นบัวลดคิ้ว
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา