21 มี.ค. 2021 เวลา 04:41 • ธุรกิจ
บริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ของชาวจีนในไทย - Grab Food/Line Man หลีกไป Feixiang 飞象(ช้างบิน) และ Gokoo 悟空(หงอคง) มาเอง
5
Food Delivery ของชาวจีนในไทย
ชาวจีนยุคใหม่ที่มาอาศัยในไทยหากสั่งอาหารเขาใช้อะไรกัน เคยคิดกันไหม หลายๆคนอาจจะไม่เคยคิดกันเพราะในไทยก็มีบริการหลากหลายไม่ว่าจะเป็น Grab Food (บริษัทสัญชาติสิงคโปร์), Food Panda (สัญชาติเยอรมัน) , Line Man (สัญชาติไทย) , GoJek (สัญชาติอินโอนีเซีย) หรือแม้แต่ Robinhood (สัญชาติไทย) ซึ่งแต่ละรายก็อาจจะมีจุดแด่นที่แตกต่างกันเพื่อแย่งชิงความเป็นหนึ่งในตลาด
แต่อย่าลืมว่า ชาวจีนไม่ค่อยนิยมหรือถนัดใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย หากเค้าต้องถูกกักตัว แล้วอยากสั่งอาหารแบบเราล่ะ ทำอย่างไร ...
2
เขามีของเขาเองค่ะ
3
ฟังไม่ผิด บริการ Local lifestyles service platform (生活服务平台) สำหรับไว้บริการชาวจีนด้วยกันเอง ซึ่งบริการเหล่านี้มี ครอบคลุมถึง การรีวิวร้านอาหาร บริการส่งอาหาร หรืออารมณ์ Line Man ที่ผนวกเอาวงในเข้ามาด้วยกัน แต่เค้ายังมีบริการจองโรงแรมหรือตั๋วบันเทิงต่าง ๆด้วย
1
บริษัทที่ให้บริการในไทยตอนนี้มีอยู่ 2 เจ้าหลัก คือ 飞象 อ่านว่า เฟยเซี่ยง แปลว่า ช้างบิน อีกเจ้าหนึ่งคือ 悟空 หรือ หงอคง (ก็คือซุนหงอคงที่อยู่ในไซอิ๋วนั่นล่ะ)
Feixiang เฟยเซี่ยง แปลว่า ช้างบิน
อู่คง 悟空 หงอคง
ต้องบอกว่า สองแพลตฟอร์มนี้ไม่ได้เกิดมาในช่วง Covid19 แต่เกิดมาก่อนหน้านี้ในช่วงจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาในไทยเป็นจำนวนมาก และต้องบอกว่าในปี 2017-2019 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนออกไปเที่ยวนอกประเทศ (Chinese Outbound Tourists) อยู่ที่จำนวน 130M, 149M, 154M คนตามลำดับ และชาวจีนก็เลือกที่จะมาประเทศไทยเป็นอันดับ1 ซ้อนกันสามปีเลยด้วย อย่างในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวมาไทยถึง 10.99 ล้านคน ดังนั้นก็ถือว่าขนาดของตลาดของคนจีนที่นิยมมาเที่ยวและอยู่อาศัยในไทย ก็ไม่น้อย และคนจีนเหล่านี้ก็มีพฤติกรรมที่ติดมาจากบ้านเขาแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหาร จ่ายเงิน และอีกหลายอย่างที่เสร็จไวครบจบภายในที่เดียว
1
飞象 Feixiang ช้างบิน ( Local services platform ของชาวจีนเพื่อชาวจีนในไทย)
4
ยกตัวอย่าง เฟยเซี่ยงก่อตั้งมาในปี 2018 โดยแรกเริ่มนั้นดำเนินงานที่พัทยาเพื่อที่จะต้องการแก้ปัญหาของลูกค้าที่ต้องการสั่งอาหารไปทานข้างนอก ดังนั้นผู้ก่อตั้ง 王美尧(หวาง เหม่ย เหยา) จึงลอกเลียนแบบโมเดลของ Meituan Dianping มาสร้าง Feixiang Platform เสียเลย
2
เรามาดูหน้าตาของแอปตัวนี้กัน
ต้องเกริ่นก่อนว่า ทราบเรื่องนี้ได้อย่างไร วันนึงไปทานร้านอาหารจีนที่หนึ่งมา แล้วชอบในเมนูนึงซึ่งหากินในที่อื่นไม่ได้ (เกี๊ยวสอดไส้ผักและไข่ เมนูแนวมังสวิรัติ) อยากมากินซ้ำ แต่ขี้เกียจไปกินที่ร้านอาหาร (ชินกับการสั่งอาหารมากินในบ้าน) แล้วเลยถามเจ้าของร้านชาวจีนผู้นั้นว่ามี Grab food, Food Panda , Line Man หรือ Robinhood ไหม
เขาบอกว่าไม่มีเลย มีแค่ 飞象 เฟยเซี่ยงกับ 悟空 อู่คงเราก็เอ๋อไป 3 วิ 什么? อะไรนะ ?
1
คนจีนมีบริการส่งอาหารเป็นของตัวเองในไทยด้วยหรอ ... สุดจริงๆ อย่างที่หลายคนอาจจะทราบกันว่า จีนมีความเป็นชาตินิยมสูง มี application เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Google ในแบบตัวเอง (百度 Baidu) , Line/Messenger (微信 WeChat) Facebook/Twitter/Instagram (เขาก็ใช้ 微博 Weibo/小红书Xiaohongshu) และอื่นๆอีกมากมาย
แต่นี่ ... เราก็สะอึกไปแปบนึงแบบคาดไม่ถึง คุณพี่ท่านมาอยู่เมืองไทยไม่คิดจะใช้ของไทยหน่อยหรอ ... ไม่ค่ะ ก็สั่งอาหารด้วยเฟยเซี่ยง หรือ หงอคง นี่ล่ะ
แต่ตรรกะกระบวนการคิดของคนจีนในการก่อตั้งแรกเริ่ม ก็เริ่มจาก recruit ร้านอาหารจีนในไทยก่อน หลังจากนั้นก็ค่อยๆ กินไปถึงร้านอาหารไทยให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของเขา เพื่อบริการให้คนจีนในไทยโดยเฉพาะ
3
เอาล่ะ เรามาลองดูกัน นี่คือหน้าตา ของแอพปลิเคชั่น
ต้องบอกว่า ตอนพิมพ์ขวัญสั่งอาหาร จะไม่ได้โหลดแอปนี้มาใช้แยกนะคะ เพราะแอปนี้มีการฝังไว้ใน WeChat หรือเราจะเรียกว่า เป็น Mini-program ของตัวเอง นั่นก็คือ 飞象 Feixiang ที่เป็น icon สีเหลืองซ้ายสุด ในรูป
1
Feixiang/ Wukong ฝังใน WeChat ในรูปแบบ MiniProgram
เพียงแค่กด เราก็เห็นหน้าตาแบบเหมือน Food delivery platform ในไทยที่เราใช้กันค่ะ
ซึ่งในภาพ จะมีให้สั่งอาหาร มากมาย จากนั้นก็เลือกอาหาร แล้วก็สั่งอาหาร
2
เพจหน้าหลัก (ซ้าย) เลือกร้านและเมนู (ขวา)
อย่างที่เล่าไป อยากกินเกี๊ยวไส้ผัก 😂 ก็กดสั่งมาทาน ในราคา 185 บาท และเมนูอื่นที่อยากกิน (ราคาก็ไม่เบานะคะ!)
ซึ่งการจ่ายเงินก็เลือกแบบ WeChat Pay หรือ COD (Cash on Delivery) ได้ และเลือกการรับอาหารแบบ Normal หรือ Touchless ได้ค่ะ ซึ่งสำหรับพิมพ์ขวัญได้เลือกแบบ COD เพราะเป็นคนไทยใช้งานผ่าน WeChat Pay ไม่ได้ (ธนาคารกลางได้สงวนสิทธิ์สำหรับคนจีนในไทยเท่านั้นนะคะ)
นอกจากนี้ก็ยังทราบได้ว่า ตอนนี้คนขับอยู่ไหน อีกกี่นาทีจะมาสั่ง (รูปแบบก็เหมือนกับ แอปส่งอาหารทั่วไปจริงๆค่ะ)
พอสั่งอาหารเสร็จ เขาก็มาส่งที่หน้าคอนโด นี่คือรถขนส่งที่เขาก็มีเป็นของเขาเอง ปล. พี่เขาพูดภาษาจีนกลางนะคะ 555 แต่ไม่ชัด ไม่ได้ถามว่ามาจากถิ่นใด (ให้เดาน่าจะมาจากแถบจีนยูนนาน)
 
แพลตฟอร์มเหล่านี้ เก็บ GP ไหม มีข้อมูลด้านการธุรกรรมอย่างไร
เฟยเซี่ยง เก็บ GP อยู่ที่ 20% โดยลูกค้าจะบริโภคเฉลี่ยครั้งละ 200-300 หยวน มีอัตราการซื้อซ้ำสูงถึง 95% transaction volume ยอดธุรกรรมรวมอยู่ที่วันละประมาณ 100,000 บาท ซึ่งจากหลังจากพัทยา เฟยเซี่ยงก็ขยายโมเดลไปที่กรุงเทพ และภูเก็ต และอีกหลายเมือง ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่
2
นี่เป็นเรื่องราวจากประสบการณ์ส่วนตัวและคิดว่าน่าสนใจที่อยากถ่ายทอดให้คนไทยได้รับรู้
ภาษาและวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญมากๆโดยเฉพาสำหรับคนจีน หากอยากทำธุรกิจกับคนจีนต้องเข้าใจตรรกะและวิธีคิด คนจีนไม่ถนัดอ่านภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็เรื่องนึง แต่ mindset ในการออกแบบสินค้าหรือธุรกิจบริการก็เป็นอีกเรื่องนึง อย่างเคสนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า คนจีนไม่หยุดที่จะสร้างธุรกิจในแบบฉบับของตัวเองจริงๆ ไม่ว่าจะในบ้านเขาหรือในบ้านเราเอง
1
โฆษณา