18 ก.พ. 2021 เวลา 01:20 • ดนตรี เพลง
ดาวลูกไก่ ตอนที่ 1 cover by ครูปลา
ต้นฉบับพระอาจารย์พร ภิรมย์ คำร้อง-ทำนอง บุญสม อยุธยา
พร ภิรมย์ มีชื่อจริงว่า บุญสม มีสมวงษ์ เป็นชาวอยุธยา
เพลงดาวลูกไก่แต่งเมื่อ พ.ศ. 2503 ทำนองลิเก "รานิเกลิง" ลักษณะของคำร้องของเพลง"ดาวลูกไก่" เป็นคำประพันธ์ประเภทกลอนหัวเดียว ลงท้ายด้วยสระเอา ร้องเที่ยวเดียวจบ ไม่มีร้องย้อน ทั้งเพลง แบ่งเป็น 2 ตอน
เพลง "ดาวลูกไก่" เป็นเพลงแนวนิทานชาดกแฝงธรรมะที่ได้รับความนิยมสูงสุด ส่งให้ พร ภิรมย์ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในปี พ.ศ.2509 และเพลง"ดาวลูกไก่"ยังได้รับรางวัลกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ในปี พ.ศ.2534 ด้วย แสดงถึงคุณภาพคับแผ่นของเพลง"ดาวลูกไก่"
เพลงดาวลูกไก่ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต พื้นฐานของการตั้งคำถามดังกล่าวก็มาจากประสบการณ์ของการพิจารณาดูความเป็นมา และความเป็นไปเกี่ยวกับชีวิตของสัตว์โลกทั้งปวง ทำให้เกิดการเปรียบชีวิตแต่ละชีวิต ซึ่งยิ่งพิจารณาโดยละเอียดลึกซึ้ง ก็ยิ่งทำให้เห็นความซับซ้อน ความลึกล้ำ เสมือนมีอะไรอยู่เบื้องหลังชีวิตนี้ คำตอบเพียงแค่ว่า ชีวิตนี้กำเนิดมาจากครรภ์มารดาจึงไม่เพียงพอ เบื้องต้นจึงได้ยกเอาคติความเชื่อเรื่องสวรรค์ หรือพรหมลิขิต ทั้งนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความ “ยาก” ในการที่จะอธิบายด้วยคำพูดสามัญทั่วไป เนื้อหาบทเพลงจึงอ้างถึงประกาศิตของพระศิวะ และพระพรหมตามคติความเชื่อของพราหมณ์ ฮินดูโบราณ ซึ่งต้องยอมรับว่า คติความเชื่อดังกล่าว มีอิทธิพลต่อคติความเชื่อของคนไทยไม่น้อย
บทเพลงเริ่มต้นดังนี้
“โอ้ชีวิตคิดไฉน ว่าใครหนอใครลิขิต
ประกาศิตของศิวะ หรือของพระพรหมเจ้า
ว่าต่างกำเนิดเกิดมา พอลืมตามองโลก
บ้างมีโชคบ้างอับโชค มีสุขโศกปนเศร้า....”
แม้จะเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต และในส่วนลึก ๆ ของบทเพลงจะทำให้เห็นข้อสงสัยในโชคชะตาของชีวิตอยู่บ้าง แต่ประเด็นดังกล่าวนี้ ผู้แต่งบทเพลงก็ได้ยกเอาหลักพุทธปรัชญาเข้ามาตอบคำถามอย่างไม่ลังเล
การยกเราเรื่องหลักกรรมเข้ามาอธิบายในที่นี้ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้แต่งเพลงมีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งพอสมควร เพราะด้วยหลักการดังกล่าวนี้เองที่พระพุทธศาสนาถือว่ามีส่วนสำคัญในการจำแนกชีวิตสัตว์โลกให้เป็นไปต่าง ๆ กัน ดังนัยแห่งพระพุทธพจน์ที่ว่า “กรรมจำแนกสัตว์ให้ทรามและประณีตต่างกัน” เนื้อหาของบทเพลงจึงสะท้อนหลักการนี้อย่างชัดเจน
“.....จอมนราพิสุทธ์ ท่านสอนพุทธบริษัท
เป็นธรรมะปรมัตถ์ อ้างถึงอำนาจกรรมเก่า
ว่ากุสะลาธรรมา มนุษย์เกิดมามีสุข
อกุสะลาพาให้ทุกข์ ดังไฟที่ลุกรุมเร้า
บ้างกึ่งดีกึ่งชั่ว เพราะตัวของตัวมัววุ่น
สร้างทั้งบุญทั้งบาป เหมือนดำที่ฉาบด้วยขาว....”
เป็นการอธิบายหลักกรรมด้วยภาษาง่าย ๆ ว่า สุขทุกข์ในชีวิต เป็นเรื่องของกรรมลิขิต ซึ่งมีทั้งกรรมดี และกรรมชั่ว ทำกรรมดีย่อมได้รับผลเป็นสุข ทำชั่วย่อมให้ผลเป็นความทุกข์ ที่สำคัญท่านเปรียบความทุกข์นี้ว่าเป็นเหมือนไฟร้อนที่สามารถแผดเผาผู้กระทำได้ทุกเมื่อ
เนื้อหาของบทเพลงในตอนนี้ จึงเท่ากับเป็นการตอบคำถามชีวิตด้วยการใช้หลักกรรมเป็นแกนกลางในอธิบาย ทั้งในแง่ของความเป็นมา (อดีตา ธมฺมา) ความเป็นอยู่ (ปจฺจุปนฺนา ธมฺมา) และความเป็นไป (อนาคตา ธมฺมา)ของชีวิตทั้งหมด
เนื้อเพลงดาวลูกไก่ ตอน 1
"โอ้ชีวิตคิดไฉน ใครหนอใครลิขิต ปกาศิตของศิวะ หรือของพระพรหมเจ้า
บ้างกำเนิดเกิดมา พอลืมตามองโลก บ้างมีโชคบ้างอับโชค มีสุขโศกปนเศร้า
แต่จอมนราพิสุทธ์ ท่านสอนพุทธบริษัท เป็นธรรมะปรมัตถ์ อ้างถึงอำนาจกรรมเก่า
ว่ากุสลาธรรมา มนุษย์เกิดมามีสุข อกุสลาพาให้ทุกข์ ดั่งไฟที่รุกรุมเร้า
บ้างกึ่งดีกึ่งชั่ว เพราะตัวของตัวมั่ววุ่น สร้างทั้งบุญทั้งบาป เหมือนดำที่ฉาบด้วยขาว
ผมมิใช่บัณฑิต อันมีจิตสิเหน่หา ที่จะเป็นนักเทศนา มาเจรจายั่วเย้า
จิตตั้งศรัทธาสาธก เรื่องยาจกยากจน มีตากับยายสองคน ปลูกบ้านอยู่บนเชิงเขา
แกเลี้ยงแม่ไก่อู มีลูกอยู่เจ็ดตัว เช้าก็ออกริมรั้ว จิกกินเม็ดถั่วเม็ดข้าว
เวลามีเหยี่ยวเฉี่ยวโฉบ สิแม่ก็โอบปีกอุ้ม กางสองปีกออกคลุม พาลูกทั้งกลุ่มเข้าเล้า
แม่ไก่จะปลอบขวัญลูก เสียงกรุ๊กกรุ๊กปลุกขวัญ ลูกตอบเจี๊ยบเจี๊ยบเสียงลั่น ทั้งทั้งที่ขวัญเขย่า
แล้วเขี่ยข้าวออกเผื่อ ต่างคุ้ยเหยื่อออกให้ ลูกไก่แม่ไก่ไร้ทุกข์ สิไม่มีสุขใดเท่า
ถึงคราวจะสิ้นชีวิต เมื่อใกล้อาทิตย์อัสดง ยังมีภิกษุหนึ่งองค์ เดินออกจากชายเขา
ธุดงค์เดียวด้นดั้น เห็นสายัณห์สมัย หยุดกลางกลดพลางทันใด หลังบ้านตายายผู้เฒ่า
อยากรู้เรื่องต่อก็ต้อง เปิดหน้าสองฟังเอา"
โฆษณา