18 ก.พ. 2021 เวลา 12:08 • ศิลปะ & ออกแบบ
Graphic Signage ที่ดีควรเป็นอย่างไร
องค์ประกอบสำคัญทั้ง 4 ที่ทำให้ signage system ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
--
‘ป้ายบอกทาง’ หรือสัญลักษณ์นำทางรูปแบบต่างๆ หากมองผ่านสายตาของ non-designer สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการนำทางไปสู่สถานที่ที่ต้องการจะไป อาจไม่ได้มีความสลักสำคัญสักเท่าไหร่หากเปรียบเทียบกับงานออกแบบกราฟิกประเภทอื่นๆ เช่น ป้ายโฆษณาสินค้า หรือแบนเนอร์โปรโมชั่นต่างๆ ที่มีผลโดยตรงต่อความรู้สึกของผู้พบเห็น แต่ถึงอย่างนั้น ในมุมมองของนักออกแบบแล้ว signage system กลับเป็นลักษณะของงานออกแบบที่มีความสำคัญไม่น้อยหน้าไปกว่างานออกแบบประเภทอื่นๆ ซึ่งนอกจากหน้าที่หลักในการชี้นำเส้นทางแล้ว ระบบป้ายเหล่านี้ยังบอกถึงอะไรได้มากกว่าที่คิด และวันนี้เราจะมาพูดถึงหัวข้อนี้กัน
หน้าที่ของ signage system โดยพื้นฐานแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงทราบดีว่าป้ายเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อชี้นำเส้นทางหรือบอกกล่าวชี้แจงถึงอะไรบางอย่างให้ผู้พบเห็นได้ทราบ แน่นอนว่าระบบป้ายที่ได้ออกแบบมาเป็นอย่างดีนั้นย่อมสามารถช่วยลดความสับสนในเรื่องของเส้นทาง มอบความสะดวกสบายในการเดินทางไปยังสถานที่หรือจุดนัดพบต่างๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งบรรดาป้ายบอกชื่อห้องชื่อโซน ป้ายบอกกฎเกณฑ์การใช้งานหรือการแนะนำต่างๆ เองก็ถือเป็นหนึ่งรูปแบบของ signage system ที่มอบความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานได้เป็นอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้น หากมองในฐานะของผู้เป็นเจ้าของสถานที่หรือตึกอาคาร ระบบที่ว่านี้ยังเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่สามารถช่วยผลักดันภาพลักษณ์และแบรนด์ดิ้งขององค์กรให้แข็งแรงยิ่งขึ้นได้อีกด้วย แล้ว Signage system ที่มีประสิทธิภาพต่อทั้งสองมุมมองนั้นเป็นอย่างไร? 4 เช็คลิสต์นี้คือคำตอบที่จะช่วยให้คุณเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น
Delivering effective information
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นของบทความว่า การสื่อสารข้อมูลได้อย่างถูกต้องตรงประเด็นคือหัวใจหลักของงาน signage system ดังนั้นแล้ว การคัดกรองและออกแบบชุดข้อมูลที่ต้องการสื่อสารอย่างละเอียดจึงเป็นเสมือนก้าวแรกที่ต้องใส่ใจ ทั้งในแง่ของเนื้อหาที่ต้องเข้าใจและเข้าถึงคนหมู่มากได้ ความกระชับของชุดข้อความที่เลือกนำมาใช้ควรออกแบบให้ไม่สั้นจนไม่เป็นที่สังเกตหรือยาวเกินไปจนผู้อ่านล้มเลิกความสนใจไปเสียก่อน รวมไปถึงจังหวะการเรียงข้อมูลที่ไม่ทำให้เกิดความสับสนเมื่ออ่าน สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ ของงานออกแบบป้าย เพื่อให้ระบบป้ายนั้นๆ สามารถทำหน้าที่ที่แท้จริงของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Legibility and readability
ระบบป้ายจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากขาดไปซึ่งแรงดึงดูดและการจัดวางที่เหมาะสม ถึงแม้ชุดข้อมูลที่นำมาใช้จะมีประสิทธิภาพเพียงใด หากพิจารณาดูดีๆ เชื่อว่าผู้อ่านบางท่านน่าจะเคยประสบกับเหตุการณ์ลักษณะนี้มาบ้าง ที่มองไม่เห็นสัญลักษณ์บอกเส้นทางบนท้องถนน หรือป้ายแจ้งเตือนข้อมูลสำคัญในสถานที่ต่างๆ อันเนื่องมาจากการมี ‘ขนาดและความชัดเจน’ ที่อาจไม่เหมาะสมนักสำหรับการอ่าน บ้างมีขนาดตัวอักษรที่เล็กเกินไป บ้างดูกลมกลืนกับสิ่งรอบข้างเกินไปจนไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ดังนั้นแล้วการกำหนดขนาดของป้ายและตัวอักษรจึงมีความสำคัญเทียบเท่ากับเรื่องของข้อมูล
signage system ที่ดีควรที่จะสังเกตเห็นได้ง่ายแต่ไม่เตะตาเสียจนทำลายบรรยากาศรอบข้าง รวมไปถึงมีขนาดชุดตัวอักษรที่รองรับต่อการใช้งานของผู้คนหมู่มาก ไม่เพียงเฉพาะสำหรับคนหนุ่มสาว แต่ยังต้องสะดวกต่อการใช้งานในหมู่ผู้สูงอายุที่เริ่มมีปัญหาเรื่องการมองเห็นด้วยเช่นกัน นอกเหนือไปจากนี้ ‘พื้นที่การวาง’ เองก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะระบบป้ายเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากถูกนำไปติดตั้งในจุดที่ยากต่อการมองเห็นหรือไม่อำนวยความสะดวกให้กับผู้พบเห็นในแง่ของวิสัยทัศน์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ต่างมีความเชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้นแล้วนักออกแบบจึงสมควรที่จะทำการวางแผนการออกแบบให้ครอบคลุมถึงเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมาเสียตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นลงมือจริง
Creativity and branding
อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของการเป็น signage system ที่ดีคงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกเสียจากความสวยงามและความคิดสร้างสรรค์ เพราะหากว่ากันตามจริงแล้วนั้น การเรียบลำดับข้อมูลที่กระฉับ เข้าใจง่าย และจังหวะการวางระบบป้ายในสถานที่ที่ควรจะเป็น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้ signage system นั้นๆ มีความพิเศษแต่อย่างใด แต่มันคือมาตรฐานปกติที่งานป้ายทั่วไปควรจะมีและคำนึงถึงตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว แต่การสอดแทรกความคิดสร้างสรรค์และการทำ ‘แบรนด์ดิ้ง’ ไปในตัวต่างหาก ที่เป็นตัวแปรสำคัญในสร้างความโดดเด่นให้กับชิ้นงานออกแบบ
แน่นอนว่าการออกแบบเองควรที่จะต้องมีความเชื่อมโยงกับภาพรวมของโปรเจคนั้นๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อส่งเสริมให้คาแรคเตอร์ของแบรนด์มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น และหากสามารถที่จะดัดแปลงรายละเอียดส่วนต่างๆ ให้สอดคล้องกับทิศทางของแบรนด์ดิ้งที่ทางองค์กรต้องการได้ด้วยในเวลาเดียวกัน ก็จะยิ่งเป็นทำให้ระบบป้ายนั้นๆ ทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ในหลากหลายวิธีและพลิกแพลงได้ตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น การเล่าเรื่องผ่านภาพประกอบ ชุดข้อความที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกดึงดูด การเลือกชนิดหรือลักษณะของอักษรที่ส่งเสริมกับเนื้อหา และอีกหลากหลายวิธีการ ซึ่งการใช้ความคิดสร้างสรรค์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในส่วนนี้ เพื่อผลักดันให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เพียงจะจับความสนใจของผู้พบเห็นได้ แต่ยังสามารถถ่ายทอดอัตลักษณ์ของแบรนด์ผ่านองค์ประกอบศิลป์ส่วนต่างๆ ได้อย่างแนบเนียนไปพร้อมๆ กัน
Design principle and brand character
การออกแบบที่ดีควรจะมีหลักคิดและเหตุผลรองรับอยู่เสมอ graphic signage ที่ดีเองก็ควรที่จะคำนึงถึงเรื่องราวตรงนี้ด้วยเช่นกัน การกำหนดค่าสีที่ใช้ ลักษณะของฟอนต์แบบต่างๆ รวมไปถึงการจัดวางองค์ประกอบศิลป์ที่เกิดขึ้น นอกจากควรจะมอบความสะดวกสบายต่อการใช้งานให้กับผู้พบเห็นแล้ว ยังควรมีเหตุผลสนับสนุนต่อการเลือกนั้นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ชุดสีที่เลือกนั้นเหมาะสมต่อระบบป้ายมากแค่ไหน ช่วยในการมองเห็นหรือสร้างจุดเด่นให้กับระบบป้ายอย่างไร หรือว่าเหตุผลในการเลือกฟอนต์ที่ใช้ว่าส่งความรู้สึกอย่างไรถึงผู้พบเห็น สองคล้องกับเนื้อหามากน้อยแค่ไหน หรือภาพประกอบที่นำมาใช้นั้นเป็นอย่างไรเมื่ออยู่ร่วมกับองค์ประกอบศิลป์อื่นๆ และสุดท้ายคือ ‘การออกแบบนี้สะท้อนถึงคาแรคเตอร์หรือตัวตนของแบรนด์มากน้อยแค่ไหน’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงจะช่วยให้ signage system เกิดคุณค่าและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง แต่ยังบ่งบอกถึงความใส่ใจในรายละเอียดของนักออกแบบและผู้ว่าจ้างได้เป็นอย่างดี
ติดตามผลงาน signage system ของ DINSOR ได้ที่นี่
#designbydinsor
โฆษณา