28 ก.พ. 2021 เวลา 10:30 • ไลฟ์สไตล์
การใช้ บันไดเลื่อน ของคนญี่ปุ่น
เวลาคนญี่ปุ่นใช้ บันไดเลื่อน จะยืนเป็นระเบียบมาก เมื่อพูดถึงเรื่องข้อห้าม หรือวัฒนธรรมการใช้บันไดเลื่อนในประเทศญี่ปุ่น มีหลายเรื่องที่เราต้องระมัดระวัง ถึงแม้เราจะเป็นต่างชาติ แต่ถ้าเรารู้กฎระเบียบพื้นฐานก็จะทำให้เรากลายเป็นนักท่องเที่ยวที่ดีได้
อาจจะเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆว่า การยืนกีดขวางบนบันไดเลื่อนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ที่จริงแล้วการใช้บันไดเลื่อนในอดีต จะเป็นการยืนจับราวบันได ไม่มีการเดิน ไม่ต้องยืนหลบชิดซ้ายหรือชิดขวา แต่เมื่อชีวิตมีความเร่งรีบขึ้น ก็เริ่มมีการเดินขึ้นลงบันไดเลื่อน คนที่ยืนอยู่ข้างหน้า เมื่อเห็นว่ามีผู้เดินตามหลังมาด้วยอาการเร่งรีบ ก็มักยืนหลบไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้แซงผ่านไป เมื่อจำนวนผู้ใช้บันไดเลื่อนมีมากขึ้น และต่างคนต่างก็อยากรีบเดิน จึงเกิดเป็นธรรมเนียมสังคมขึ้นว่า การยืนบนบันไดเลื่อน ควรยืนชิดฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพื่อเว้นเป็นทางเดินให้สำหรับคนรีบได้เดินขึ้นไปก่อน จึงเกิดเป็นข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของประเทศญี่ปุ่น
หมดยุคโตเกียวชิดซ้าย โอซาก้าชิดขวา
การยืนชิดฝั่งซ้ายหรือขวาของคนญี่ปุ่นนั้นมีหลายคนให้ความเห็นไว้ว่า น่าจะเริ่มมาจากปี 1970 ที่โอซาก้าเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Expo ช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นของคนญี่ปุ่น มีต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจมาก จึงรับเอาวัฒนธรรมจากต่างประเทศที่ยืนชิดขวามาใช้ในโอซาก้า และขยายไปยังเมืองใกล้เคียง ทำให้ภูมิภาคคันไซส่วนมากจะยืนชิดขวา ส่วนคนโตเกียวที่นิยมยืนชิดซ้าย เพราะใช้หลักความคิดเดียวกับคนขับรถ พวงมาลัยขวา ชิดซ้ายไปนิ่งๆ ใครอยากแซงให้ขึ้นทางขวาล่วงหน้าไปเลย
แต่ทว่า การเดินบนบันไดเลื่อน ก่อความเสียหายให้แก่บันไดเลื่อนอย่างมาก และการยืนฝั่งเดียวนั้นเป็นการทำลายบันไดเลื่อนอีกเช่นกัน เพราะน้ำหนักลงไปยังข้างเดียวจึงทำให้สายพานเอนเอียงได้ อีกทั้งการเดินสวนกับคนที่ยืนอยู่อาจทำให้เกี่ยวข้องของผู้ที่ยืนอยู่ หรือ อาจหกล้มบนบันไดเลื่อนได้ ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่อันตรายมาก นอกจากนี้ จากข้อมูลการสำรวจพบว่า การยืนบนบันไดเลื่อนให้เต็มสองฝั่ง ช่วยลดปัญหาการแออัดของผู้ใช้งานได้มากกว่าการแบ่งช่องเดินบนบันไดเลื่อนเสียอีก
“งดเดินบนบันไดเลื่อน” เพื่อแก้ปัญหาแออัดช่องทางสัญจรและลดอุบัติเหตุ
ซึ่งในวันนี้โตเกียวเปลี่ยนแปลงแล้ว เพราะมีการเริ่มรณรงค์งดเดินบนบันไดเลื่อนอย่างจริงจัง ซึ่งก่อนหน้านี้เราจะเห็นห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง มีการติดป้ายขอความกรุณาไม่เดินบนบันไดเลื่อน บริษัทใหญ่อย่าง JR-East Railway Company มีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง เริ่มสถานีรถไฟโตเกียวก่อนเป็นที่แรก ด้วยการจัดให้เจ้าหน้าที่ยืนประกาศ ขอความกรุณางดเดินบนบันไดเลื่อน รวมไปถึงติดป้ายงดเดินบนบันไดเลื่อนตัวใหญ่ๆ ในสถานีรถไฟ และเปลี่ยนสีราวจับของบันไดเลื่อนเป็นสีชมพู มีคำว่า”don’ t walk” เพื่อให้สังเกตได้ชัด การรณรงค์เน้นไปที่สามอย่างหลักๆ คือ ยืนสองด้านซ้ายขวา มือจับราวบันไดเลื่อน ใครจะเดินให้ใช้บันไดแทน แต่อย่างไรก็ตาม การจะแก้ไขวัฒนธรรมการแบ่งช่องเดินบนบันไดเลื่อนให้หายไปในทันทีก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะถึงแม้ว่า JR East จะส่งเจ้าหน้าที่คอยสอดส่องประจำบันไดเลื่อนและส่งเสียงเตือนตลอดเวลา แต่ก็ยังมีผู้ใช้งานบางส่วนเดินบนบันไดเลื่อนให้เห็น ซึ่งปัญหานี้จะต้องถูกแก้ไขในระยะยาวต่อไป
กระทรวงคมนาคมประเทศญี่ปุ่นมีการออกแคมเปญในปี 2017 หวังให้ผู้ใช้งานงดเดินและหยุดยืนบนบันไดเลื่อนทั้งสองฝั่งโดยไม้เว้นว่าง ตั้งเป้าให้วัฒนธรรมการแบ่งช่องเดินบนบันไดเลื่อนหายไป ก่อนการเปิดพิธีจัดงานโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ซึ่งตอนนี้ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในช่วงนี้
เวลาคนญี่ปุ่นใช้ บันไดเลื่อน จะยืนเป็นระเบียบมาก
สรุปคือ การใช้บันไดเลื่อนที่ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมในอดีตหรือปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้บันไดเลื่อน ญี่ปุ่นก็สามารถที่จะรับมือและปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นอีกหนึ่งคุณภาพชีวิตของคนญี่ปุ่นที่น่าอิจฉาเสียจริง
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา