23 ก.พ. 2021 เวลา 03:09 • ยานยนต์
# ใชัรถอย่างไรไม่ให้น้ำมันเครื่องเป็นตะกอนโคลนเหนียว?
เวลาเราใช้รถสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดในการบำรุงรักษาเครื่องยนต์รถเราให้อยู่ทนทานนานที่สุดและจะต้องไม่สูญเสียสมรรถนะดีๆ ไป เราอยากให้เขามีอัตราเร่งดี ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ควันไอเสียไม่ออกมาเป็นสีเทาๆ เหมือนรถแท็กซี่ที่ใช้จนเครื่องยนต์หลวม เราจะต้องพารถเราเข้าศูนย์ให้ตรงเวลานัด ส่วนมากแล้วศูนย์บริการจะนัดให้นำรถไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ 10,000 กม. แต่เราเคยสังเกตไหมครับว่า ในเอกสารนัดจะมี วันที่นัดอยู่ด้วย แล้วทางศูนย์บริการเขาจะมารู้ได้อย่างไรว่า รถเราจะใช้งานจนมีเลขไมล์ครบวันนั้นพอดี จริงๆแล้วทางศูนย์บริการเขาประเมินแล้วว่า คุณภาพของน้ำมันเครื่องที่เขาใส่ในรถเราจะอยู่ได้ไม่ควรเกินกำหนดนัดนั่นเอง แต่ผู้ใช้รถส่วนมากจะยังคงยึดเอาเลขไมล์รถเป็นหลัก มันจึงเกิดเหตุการณ์ที่ผมจะมาเล่าให้ฟังในวันนี้นั่นเองครับ ภาพด้านบนที่ผมนำมาเป็นปกในวันนี้นั้นสาเหตเกิดมาจากเจ้าของรถมีการใช้งานรถน้อยเกินไป ส่วนมากรถที่จะเกิดปัญหาตะกอนโคลน(Black sludge)แบบนี้ จะเป็นรถที่ไม่ค่อยได้ใช้ครับ อาจจะมีรถหลายคัน หรือรักรถคันนี้มากไม่อยากเอาออกมาวิ่ง การใช้รถน้อยแบบนี้ถือว่าท่านกำลังทำให้รถคันนั้น เสี่ยงที่จะพัง ชำรุดเสียหายแบบในภาพได้ครับ
ลักษณะของตะกอนโคลน(Black sludge)
ปัญหาตะกอนโคลน(Black sludge)ที่เกิดขึ้นในเครื่องยนต์มีสองลักษณะ คือแบบอ่อนนุ่มเหมือนจาระบีและแบบแห้ง แข็งเกาะติดชิ้นส่วนแน่นมาก แบบอ่อนนั่นสามารถกำจัดออกได้ไม่ยากครับ อาจใช้น้ำมันล้างเครื่อง(Flushing oil) ล้างออกได้ แต่ถ้าเป็นคราบแข็งติดแน่นนี่ยุ่งแน่ครับ เพราะต้องยกเครื่องยนต์ลงมาขัดออกเท่านั้น
ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดตะกอนโคลน
ตะกอนโคลน(Black sludge) นี้เกิดมาจากอะไรได้บ้าง ผมขอนำเอาข้อมูลสมัยที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปช่วยแก้ปัญหานี้ในรถยนต์หรูค่ายยุโรปเนื่องจากได้รับการร้องเรียนเข้ามามากว่ารถใหม่ๆเจอปัญหานี้มาก ทางค่ายรถฝั่งเยอรมันร่วมกับค่ายน้ำมันฝั่งอังกฤษเขาเป็นคู่ค้ากัน ได้ร่วมกันวิเคราะห์จนได้ข้อมูลสรุปออกมาดังนี้ครับ
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ปัญหาตะกอนโคลนคือ
1. การออกแบบเครื่องยนต์(Engine design) ประเด็นนี้ค่ายรถดังกล่าวพบปัญหานี้ในรถบางคันแต่พบได้ในรถเกือบทุกรุ่น ฉนั้นการออกแบบไม่น่าจะใช่ต้นเหตุของการเกิดในประเทศไทย
2. คุณภาพน้ำมันเครื่อง(Lube quality) เนื่องจากบริษัทรถได้กำหนดคุณภาพน้ำมันในศูนย์บริการเหมือนกันหมดทุกประเทศ แต่เกิดปัญหานี้เฉพาะในไทยกับประเทศยุโรปตะวันออกบางประเทศเท่านั้น ข้อนี้ก็ตกไปครับ
3. อุณหภูมิการใช้งานและความชื้น(Ambient condition) ก็เป็นไปได้ครับเพราะรถแต่ละคันวิ่งใช้งานในสถานที่ที่แตกต่างกันบางคันจึงอาจเจอปัญหาได้
4. หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง(Aftermarket additive) รถที่เกิดปัญหาในไทยเราไม่พบว่ามีการเติมหัวเชื้อน้ำมันเครื่อง ประเด็นนี้ตกไป
5. เชื้อเพลิง(Fuel) ปัจจัยนี้สรุปตอนท้ายๆแล้วปรากฏว่าเป็นต้นเหตุหนึ่งในหลายๆปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา
6. ระยะเวลาการเปลี่ยนถ่าย(Service interval) นี้คือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาครับ ส่วนมากรถที่มีการใช้งานน้อยมากๆ แต่อายุของน้ำมันเครื่องนานมากๆ มักจะเกิดตะกอนโคลนนี้ครับ
7. ลักษณะการใช้รถ(Driving cycle) เป็นปัจจัยรองครับ เพราะถ้าการใช้รถในแต่ละครั้งน้อย วิ่งในเมือง มีการหยุดๆวิ่งๆ ร่วมกับการที่นานๆถึงจะเอารถออกมาวิ่งสักครั้งหนึ่ง เครื่องยนต์ทำงานแป๊บเดียวยังไม่ได้ไล่ความชื้น ไล่น้ำมันเชื้อเพลิงที่ลงไปปนในน้ำมันเครื่องออกไปเลยก็จอดแล้วแบบนี้ความชื้นและน้ำมันเชื้อเพลิงในอ่างน้ำมันเครื่องก็จะมีการสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนท้ายสุดก่อตัวกันทำให้เกิดปัญหาตะกอนโคลนขึ้นมานั่นเองครับ
การเกิดตะกอนโคลนในอ่างน้ำมันเครื่อง
จากภาพเราจะเห็นว่าในขณะที่อุณหภูมิเครื่องยนต์ร้อนปกตินั้น จะมีอุณหภูมือยู่ที่ 80-90 องศา C ลูกสูบและแหวนจะขยายตัวแนบชิดผนังกระบอกสูบ(Liner) ฟิล์มน้ำมันสีเหลืองๆนั้นจะทำหน้าที่รักษากำลังอัดเครื่องยนต์ได้ดี แต่เปรียบเทียบกับภาพตอนที่เครื่องยนต์อุณหภูมิต่ำ อาจจะเป็นช่วงที่เราขับออกจากบ้านแล้วเจอรถติดมากๆ ขับหยุดๆ วิ่งๆ ไปเรื่อยๆ เครื่องยนต์จะยังเย็นอยู่นะครับ บางท่านกำลังเถียงผมว่า ผมขับออกมาไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตรเข็มความร้อนรถชี้ไปที่อุณหภูมิปกติแล้วแสดงว่าเครื่องร้อนปกติแล้วมันจะเย็นได้ไงล่ะ ท่านกำลังเข้าใจผิดอย่างแรงครับ เข็มความร้อนนั้นเขาเอาไว้วัดความร้อนของน้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำ แต่อุณหภูมิในอ่างน้ำมันเครื่องเขาไม่ใด้ติดตั้งเกจวัดมาให้ครับ ถ้าอยากรู้ความร้อนของอ่างน้ำมันเครื่องต้องติดตั้งเพิ่มเอง เช่นรถที่ใช้แข่งขันเขาต้องรู้สภาพทุกอย่างรวมถึงความร้อนน้ำมันเครื่องด้วยครับ กลับมาที่รูปภาพทางขวานะครับ เมื่ออุณหภูมิของเครื่องยนต์เย็น ลูกสูบกับแหวนจะขยายตัวไม่เต็มที่ไม่แนบชิดกับผนังกระบอกสูบ(Liner) เกิดช่องว่างขึ้นระหว่างแหวนลูกสูบกับผนังกระบอกสูบ เวลาลูกสูบเลื่อนตัวขึ้นในจังหวะอัด ไอและละอองของเชื้อเพลิงก็จะเล็ดรอดผ่านลงมาผสมกับน้ำมันเครื่องที่อ่างได้ ในภาพล่าง ซ้ายมือเราจะพบว่าทั้งเชื้อเพลิงและความชื้นจะลงไปปนเปื้อนกับน้ำมันเครื่อง เมื่อความร้อนถึงจุดพอดี สามสิ่งนี้ก็จะก่อตัวกันขึ้นเกิดเป็นตะกอนโคลน(Black sludge)ขึ้นมา
เมื่อเกิดปัญหานี้แล้วจะรู้ได้อย่างไร ถ้าเรารู้ตัวดีว่าเราใช้รถน้อย เปลี่ยนน้ำมันเครื่องมานานแค่ไหนจำไม่ได้แล้ว รู้แต่ว่ารถเราวิ่งออกตัวอืดๆ ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนแต่ก่อน นั่นเป็นสัญญาณเตือนท่านแล้ว เพราะเมื่อไหร่ก็ตามรถท่านไม่น็อคเครื่องดับไปเอง แต่วิ่งอืดให้ท่านรีบไปหาช่าง ลองเปิดฝาครอบวาล์วดูครับ เพราะที่กลไกกดลิ้น เพลาลูกเบี้ยวนั้นควรจะสะอาดขาวนวลดี แต่ถ้าในเครื่องเริ่มมีตะกอนโคลนสะสมแล้ว เราจะพบว่าที่ฝาครอบวาล์วก็มีคราบเกาะเป็นสีน้ำตาลอยู่ ถ้าพบแบบนี้ต้องรีบให้ช่างล้างเครื่องทันทีนะครับ เพราะถ้าเราทิ้งไว้จะสร้างความเสียหายให้กับชุดควบคุมการกดวาล์ว(Hydraulic valve lifters)ทำให้วาล์วเกิดเสียงดัง กำลังเครื่องตก ถ้าสะสมที่ร่องแหวนลูกสูบจะทำให้แหวนติดตาย กำลังเครื่องตก รถจะกินน้ำมันเครื่องด้วยครับ
ผลสรุปของค่ายรถยนต์และค่ายน้ำมันเครื่อง สรุปว่าปัจจัยที่ทำให้รถบางคันเจอปัญหาตะกอนโคลนสะสมมี สามประเด็นครับ ข้อแรกน้ำมันเชื้อเพลิงบ้านเรามีค่าอะเมติกสูงมากกว่าประเทศแถบยุโรปตะวันตกและบางประเทศในเอเซีย เมื่อค่ายรถในไทยพยายามยืดระยะการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องให้เทียบเท่ายุโรปตะวันตกคือประมาณ 20,000-25,000 กม. แต่รถนั้นมีการใช้น้อย ระยะทางน้อยแต่ระยะเวลานานเป็นปีทำให้เกิดปัญหาได้ ข้อที่สองสภาพอากาศที่เปียกและความชื้นสูงของประเทศเขตร้อนชื้นแบบไทยเราย่อมเร่งให้เกิดปัญหาได้ง่าย ข้อที่สาม สไตล์การขับขี่และลักษณะการใช้งาน ที่อาจใช้น้อย ขับขี่ในเมืองและไม่เคยเอารถไปวิ่งออกกำลังเป็นระยะทางยาวๆ เพื่อไล่ความชื้นและเชื้อเพลิงเลย ปัญหาจึงเกิดได้เช่นกัน
Owner manual
ถ้าจะถามว่ามีสักกี่ท่านที่เคยหยิบคู่มือรถมาอ่านแบบจริงๆจังๆ คงมีครับแต่คงน้อยมาก วันนี้ผมหยิบเอาคู่มือรถของค่ายยุโรป คือ Volvo ค่ายญี่ปุ่นคือ Toyota และ Honda มาชี้ให้ดูถึงคำแนะนำที่ควรปฎิบัติอย่างยิ่งที่คู่มือกล่าวว่า “การใช้งานที่หนักหน่วงรุนแรงหรือแบบสมบุกสมบันนั้น ควรลดระยะเวลาการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องลง 50%” แล้วการใช้งานที่หนักแบบสมบุกสมบันนั้นคือการใช้งานบนทางฝุ่น ทางขรุขระ ความชื้นสูง การใช้รอบเครื่องต่ำๆ เป็นระยะเวลานานๆ มีการขับขึ้นเขาหรือทางลาดชันบ่อยๆ ขับๆ หยุดๆ เป็นเวลานานๆ ทั้งสองค่ายของญี่ปุ่นบอกว่า ถ้าขับขี่ต่อครั้งต่ำกว่า 8 กม. ถือว่าใช้งานหนัก ส่วน Volvo บอกว่า ใช้แต่ละครั้งต่ำกว่า 10 กม. ถือว่าใช้งานหนัก ต้องลดระยะทางการเปลี่ยนถ่ายจาก 10,000 กม. เหลือเพียง 5,000 กม. เท่านั้น
เพื่อเป็นการยืนยันว่าการใช้งานน้อยๆ แต่นานเป็นปีนั้น จะเป็นการทำร้ายรถแสนรักของท่านได้ ผมเลยไปเก็บข้อมูลเก่าๆมาแบ่งปันกันดูครับ เริ่มคันแรกเป็นรถ Mercedes Benz รุ่น E 240 ใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 100% SAE 0W-30 ของศูนย์บริการ เริ่มเปลี่ยนน้ำมันเมื่อวันที่ 1/11/2005 เลขไมล์ 13,881 กม. ใช้งานมาจนถึงวันที่ 15/02/2007 เลขไมล์ 25,800 กม. เครื่องน็อคต้องรื้อเครื่องยนต์จนพบลูกสูบติดตาย ก้านสูบหักไปหนึ่งสูบ สภาพภายในเครื่องตามภาพเลยครับ สรุปแล้วรถคันนี้หลังเปลี่ยนถ่ายน้ำมันแล้วใช้รถมา 1 ปี 3 เดือน ระยะทางที่วิ่ง 11,919 กม. ซึ่งน้อยมากนั่นเอง
คันที่สองเป็นรถ VW รุ่น Passat 1.8 ใช้น้ำมันเครื่องพื้นฐานปิโตรเลียม SAE 20W-50 ของศูนย์บริการ เริ่มเปลี่ยนน้ำมันเมื่อวันที่ 17/06/2002 เลขไมล์ 13,360 กม. ครั้งที่สองเปลี่ยนน้ำมันเมื่อวันที่ 31/10/2003 เลขไมล์ 32,649 กม. ครั้งที่สามเปลี่ยนน้ำมันเมื่อวันที่ 18/05/2004 เลขไมล์ 41,862 กม. ครั้งที่สี่เปลี่ยนน้ำมันเมื่อวันที่ 5/11/2004 เลขไมล์ 49,713 กม. ใช้งานมาจนถึงวันที่ 27/12/2005 เลขไมล์ 65,397 กม. อาการของรถเร่งไม่ขึ้น วิ่งไม่ออก ไฟโชว์น้ำมันเครื่องขึ้น สรุปแล้วรถคันนี้หลังเปลี่ยนถ่ายน้ำมันครั้งสุดท้ายใช้รถมา 1 ปี 1 เดือน ระยะทางที่วิ่ง 15,684 กม. โดยใช้น้ำมันเครื่องเกรดปิโตรเลียมด้วย ถือว่ารถรุ่นนี้เครื่องยนต์ทนทานดีจริงๆครับ
แนวทางการใช้รถเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตะกอนโคลน(Black sludge)
• เลือกใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพสูงเช่น Gasohol 95, Gasohol 91 (E10) ที่ได้มาตรฐาน Euro 5 หลีกเลี่ยง E20
• ถ้าเป็นรถยุโรปให้เลือกใช้น้ำมันเครื่องประเภทสังเคราะห์ 100% SAE 5W-30, 0W-20, 0W-40 และได้มาตรฐาน OEM Approved เช่น MB 229.52, BMW Longlife-14 FE+, Porsche C30
• ถ้าเป็นรถญี่ปุ่นให้เลือกใช้น้ำมันเครื่องประเภทสังเคราะห์ 100% SAE 5W-30, 0W-20, 0W-16 และได้มาตรฐาน API SN+, API SP, ILSAC GF-5, ILSAC GF-6
• ระยะการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องนั้นให้ใช้มาตรฐานค่ายรถยนต์ที่กำหนดไว้ว่าถ้าใช้มากกว่า 20,000 กม./ปี ให้เปลี่ยนถ่ายทุกๆ 10,000 กม. ถ้าใช้น้อยกว่า 20,000 กม./ปี แต่ไม่อยู่ในเงื่อนไข”การใช้งานแบบสมบุกสมบัน” แนะนำเปลี่ยนถ่ายทุกๆ 8,000 กม. แต่ถ้ามีการใช้งานแบบสมบุกสมบัน(ใช้ไม่ถึง 8 กม./ครั้ง) แนะนำเปลี่ยนถ่ายทุกๆ 5,000 กม.
• ถ้ามีการใช้งานแบบสมบุกสมบัน(ใช้งานแต่ละครั้งไม่ถึง 8 กม./ครั้ง)เป็นประจำทุกวัน ในแต่ละเดือนแนะนำให้ขับออกต่างจังหวัดยาวๆ เช่นไปชลบุรีสายมอเตอร์เวย์ ใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. เพื่อขับไล่ความชื้นและเชื้อเพลิงที่ปนเปื้อนในอ่างน้ำมันเครื่อง และยังเป็นการเผาเขม่าที่สะสมในห้องเผาไหม้และหัวเทียนให้สะอาดหมดจดดีด้วย อัตราเร่งตอนขาไปเปรียบเทียบกับขากลับรับรองแตกต่างกันเลยครับ ดีขึ้นอย่างชัดเจน
2
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเพจนะครับ ฝากกด Like กด Share ให้ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจในการสรรหาข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอต่อไปครับ
โฆษณา