Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ไฉไลเป็นบ้า
•
ติดตาม
23 ก.พ. 2021 เวลา 01:34 • ประวัติศาสตร์
ทั้งๆที่เป็นลูกคนแรก หรือพระราชธิดาพระองค์แรกใน รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ขณะมีพระชนมายุเพียง 14-15 พรรษา ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข (หม่อมราชวงศ์แข พึ่งบุญ) ซึ่งมีอายุมากกว่าประมาณ 3 ปี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่อง (เดิม หม่อมเจ้าผ่องประไพ) ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือนอ้าย แรม 8 ค่ำ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2410 เมื่อประสูติได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “หม่อมเจ้าผ่องประไพ"
ชาววังเรียกว่า "หม่อมเจ้าผ่อง" ในขณะที่พระราชธิดาพระองค์อื่นชาววังมักจะเรียกขานขึ้นต้นว่า "ทูลกระหม่อมหญิง" หรือ "พระองค์หญิง"
โดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 2 แต่ชาววังออกพระนามว่า "ทูลกระหม่อมหญิงใหญ่"
เมื่อหม่อมเจ้าผ่องประไพประสูติใหม่ ๆ นั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้เป็นพระอัยกากริ้วหม่อมราชวงศ์แขที่ทำให้พระราชโอรสของพระองค์ทรงประพฤติผิดเกินวัย แต่พระองค์ก็มิได้ทรงลงโทษหม่อมราชวงศ์แข เพราะมีพระเมตตา
1
เมื่อยังทรงพระเยาว์พระองค์เจ้าผ่องประไพทรงอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ด้วยความที่พระองค์เจ้าผ่องประไพมีพระอุปนิสัยที่ดื้อจึงมิได้เป็นที่โปรดปรานของพระบิดา กล่าวกันว่าขณะที่ทรงพระบังคนในโถ มักไม่ใคร่ลุกออกจากโถ แม้พระพี่เลี้ยงจะตักเตือนแต่ก็ไม่ทรงยินยอม บางครั้งจึงปล่อยให้ทรงนั่งโถเช่นนั้นนานหลายชั่วโมง
1
ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เจ้านายทุกพระองค์ทรงยกเลิกการหมอบคลาน แต่ให้ยืนคำนับแบบตะวันตก ซึ่งเจ้านายทุกพระองค์ทรงยืนหมดยกเว้นพระองค์เจ้าผ่องประไพซึ่งอายุ 6 พรรษา ที่ยังทรงหมอบอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วมาก เลยทรงพระดำเนินไปดึงพระเมาลี (จุก) ของพระองค์เจ้าผ่องประไพ แต่พระองค์เจ้าผ่องประไพก็ยังทรงหมอบอยู่ตลอด
ถึงแม้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพจะดูไม่เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 และคนอื่น ๆ นักแต่ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพระบรมมหาราชวัง ชาววังต่างก็เตรียมการรับเสด็จ พระองค์เจ้าผ่องประไพมีพระชันษาประมาณ 40 กว่าปีแล้ว ก็ทรงทำพัดขนนกขนาดใหญ่ เพื่อที่จะทูลเกล้าฯถวายพระบิดา
เมื่อถึงวัน รัชกาลที่ 5 ทรงพระดำเนินไปตามลาดพระบาท และทรงทักทายเจ้านายฝ่ายในโดยทั่วกัน เมื่อทรงพระดำเนินถึงตรงหน้าพระองค์เจ้าผ่องประไพ ทรงหยุดทักและทรงรับพัดขนนกไว้ พระองค์เจ้าผ่องประไพทรงกราบแทบพระบาทของพระบิดา
ทรงรับสั่งถามว่า อยากได้อะไร
พระองค์ผ่องประไพกราบบังคมทูลว่า "อยากได้พระธำมรงค์เพคะ" (แหวน)
พระบิดาก็ทรงรับสั่งว่า "แล้วจะให้"
พระองค์เจ้าผ่องประไพทรงกราบอีกครั้ง น้ำพระเนตรคลอ เพราะในชีวิตของพระองค์ไม่ได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดพระยุคลบาทเหมือนน้อง ๆ พระองค์อื่นเลย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือพัดขนนกและทรงพระดำเนินต่อไป สร้างความปลาบปลื้มให้แก่พระองค์เจ้าผ่องประไพ และเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นเป็นอย่างมาก
(ซึ่งในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชทานทานพระธำมรงค์เพชรแก่พระราชธิดาตามพระประสงค์)
ในบันทึกจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้บันทึกเหตุการณ์ที่พระองค์เจ้าหญิงผ่อง เสด็จร่วมงานเลี้ยงแฟนซี อันแสดงให้เห็นถึงความอนุรักษ์นิยมของพระองค์เจ้าหญิงผ่อง ดังนี้ว่า
วันอาทิตย์ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๖
"สี่โมงเช้าเราแต่งตัวไปบน เลี้ยงพระที่พระที่นั่งจักรีสามสิบรูป เราขึ้นไปถึงยังไม่เสด็จออก ห้าโมงนานเสด็จออกเลี้ยงพระ พระฉันแล้วพระศรีสุนทรมายืนอ่านประกาศหน้าเครื่องสังเวย แล้วเสด็จขึ้น เกือบบ่ายโมงเรากลับตำหนัก กินข้าวกลางวัน บ่ายสี่โมงนานเราไปบน เห็นคนนั่งเวียนเทียนรอบพระที่นั่งข้างล่าง เราขอหลีกไป ทูลหม่อมบนกำลังเสวยอยู่ในห้องเขียว ห้าโมงเจ้านายพี่น้องแต่งตัวแฟนซีไปตามก๊าดเราเชิญ เราแต่งทหารบก น้องชายโตแต่งทหารเรือ แต่งไทยแต่พี่ผ่ององค์เดียว"
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชวังสวนดุสิตขึ้น พระมเหสี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม พระราชธิดา ต่างเสด็จออกไปมีตำหนักหรือสำนักเพื่อเฝ้าใกล้ชิด แต่พระองค์เจ้าผ่องประไพยังคงประทับแต่ในพระบรมมหาราชวัง และห่างเหินกับพระบิดาจนกระทั่งพระบิดาสวรรคต
หลังจากเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข ถึงแก่อนิจกรรม พระองค์เจ้าผ่องประไพได้ประทับในพระบรมมหาราชวังจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2485 สิริพระชันษา 75 ปี ซึ่งมีปรากฏหลักฐานจากพระหัตถเลขาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ในสาสน์สมเด็จ ความว่า "องค์หญิงผ่อง สิ้นพระชนม์วันที่ 11 มีนาคม ประชวรพระโรคชรา รุ่งขึ้นวันที่ 12 เชิญพระศพออกไปที่หออุเทศทักษิณา สรงพระศพพระองค์เจ้าผ่องที่ตำหนัก แล้วเชิญพระโกศออกไปตั้งที่หออุเทศทักษิณา วันที่ 12 มีนาคม ให้ในพระราชสำนักไว้ทุกข์ถวายพระองค์เจ้าผ่อง 7 วัน พระราชกุศล 7 วัน ที่พระศพพระองค์เจ้าผ่อง ณ หออุเทศทักษิณา วันที่ 18 มีนาคม"
ซึ่งต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระหัตถเลขากราบทูลกลับ ความว่า "เป็นความรู้ใหม่ที่พระองค์หญิงผ่องสิ้นพระชนม์ แต่พระชนมมายุได้ 75 ปี โดยเฉพาะที่เป็นพระเจ้าลูกเธอของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ควรนับว่าพระชันษายืนมาก"
พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2485
1
ส่วนหม่อมหลวงศรีฟ้า ลดาวัลย์ ได้ระบุว่าพระองค์เจ้าผ่องประไพสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2473 เมื่อพระชันษา 63 ปี
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย