23 ก.พ. 2021 เวลา 08:44 • หนังสือ
ตำนานช้างเอราวัณ ..
ในภาษาสันสกฤต เรียก ช้างเอราวัณ ว่า ไอราวต ไอราวณ ภาษาบาลีเรียก เอราวณ ส่วนในภาษาไทยเรียกว่า ไอราพต ไอราวัต ไอราวัณ และ เอราวัณ ชื่อต่าง ๆ ทั้งหมดนี้มีความหมายถึง น้ำ เมฆฝน รุ้ง แปลรวมว่า กลุ่มก้อนเมฆที่มีฟ้าแลบ และทำให้เกิดฝนตก โดยมีความสอดคล้องที่ว่า พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่องเที่ยวไปบนสวรรค์แล้วทรงโปรยฝนให้ตกลงมายังโลก
💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧
พระอินทร์ ทรงช้างเอราวัณ เทคนิค ปากกาลูกลื่น
บางตำนานก็ว่า พระอิศวรได้ประทานช้างเอราวัณให้เป็นช้างทรงของพระอินทร์ บ้างก็ว่าช้างเอราวัณนั้นเป็นเทพบุตร อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระอินทร์จะเสด็จไปที่ใด เทพบุตรเอราวัณจะแปลงกายเป็นช้างเผือกสีขาว ชื่อว่า เอราวัณ และบ้างก็ว่าช้างที่มาฆมานพใช้ในการสร้างศาลาบนมนุษย์โลกนั้น เมื่อตายไปได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรเอราวัณและคอยเนรมิตกายเป็นช้างทรงของพระ อินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧
เอราวัณ เป็นช้างที่มีรูปร่างสูงใหญ่เหมือนภูเขา ผิวกายเผือกผ่องเมื่อเทียบกับภูเขาไกลาสซึ่งเป็นภูเขาเงิน ภูเขานั้นจะมีสีหมองคล้ำลง เป็นช้างที่มีพลังมาก เป็นเจ้าแห่งช้างทั้งหลาย ในคัมภีร์มหาภารตะกล่าวว่า
"ช้างไอราวตะมีงา ๔ งา มี ๓ งวง รูปร่างใหญ่มหึมา และเป็นช้างเผือก"
ในไตรภูมิพระร่วงได้พรรณนาถึงความใหญ่โตโอฬารของช้างเอราวัณไว้อย่างละเอียดดังนี้คือ
💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧
และว่ายังมีเทพยดาองค์ ๑ ชื่อ ไอยราวรรณเทพบุตร ผิแลเมื่อพระอินทร์เจ้าแลมีที่สเด็จไปเล่นแห่งใดๆ ก็ดี แล ธ จะใคร่ขี่ช้างไปเล่นจึงไอยราวรรณเทพบุตรก็นิมิตรตัวเป็นช้างเผือกตัว ๑ ใหญ่นักโดยสูงได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา แลมีหัวได้ ๓๓ หัวๆ น้อยๆ อยู่สองหัวอยู่สองข้าง นอกหัวทั้งหลายนั้นแลว่าหัวใหญ่ได้ ๒,๐๐๐ วา แลหัวถัดเข้าไปทั้งสองข้างแลหัวแล ๓,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๔,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๕,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้ากว้างแลหัวแล ๖,๐๐๐ วา เร่งเข้าไปเถิงในก็เริงใหญ่ตัดกันเข้าไปดังกล่าวนี้แล ส่วนหัวอันใหญ่ที่อยู่ท่ามกลางทั้งหลายชื่อ สุทัศ เป็นพระที่นั่งแห่งพระอินทร์โดยกว้างได้ ๒,๔๐๐,๐๐๐ วาแลฯ เหนือหัวตัวนั้นแลมีแท่นแก้วหนึ่งกว้างได้ ๙๖,๐๐๐ วา แลมีปราสาทกลางแท่นแก้วนั้นมีทั้งสองแก้วฝูงนั้นโดยสูงได้ ๘,๐๐๐ วา ทั้งฝูงนั้นเทียรย่อมแก้ว ๗ สิ่ง แลมีพรวนทองคำห้อยย้อยลงทุกแห่งแกว่งไปมา แลมีเสียงนั้นไพเราะนักหนาดังเสียงพาทย์พิณในเมืองฟ้า ในปราสาทนั้นเทียรย่อมดัดเพดานผ้าทิพย์แลมีแท่นนอนอยู่ในที่นั้นกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา แลมีราชอาสน์หนาหมอนใหญ่หมอนน้อย หมอนอิง องค์พระอินทร์นั้นสูงได้ ๖,๐๐๐ วา แลประดับนี้ด้วยแก้วถนิอาภรณ์ทั้งหลายแล ธ นั่งเหนือแท่นแก้วนั้น หัวช้างได้ ๓๓ หัวไส้ พระอินทร์ให้เทพยดาทั้งหลายขี่ ๒๒ หัวนั้น มีบุญเพียงประดุจพระอินทร์ไส้ฯ อันว่าหัวช้างทั้ง ๓๓ หัว แลหัวๆ มีงา ๗ อันแลงาแต่ละอันยาวได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา แลงานนั้นมีสระได้ ๗ สระๆ แลสระนั้นมีบัวได้ ๗ กอๆ บัวแลกอนั้นมีดอก ๗ ดอกๆ แลอันนั้นมีกลีบ ๗ กลีบๆ แลอันๆ มีนางฟ้ายืนรำระบำบรรพต แล ๗ คน แลนางแลคนๆ นั้นมาสาวใช้ได้ ๗ คนโสด.
💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧
กล่าวโดยสรุป ช้างเอราวัณเป็นช้างที่มีขนาดใหญ่มาก ผิวกายสีขาว มีหัว ๓๓ หัว แต่ละหัวมีงาเจ็ดงา แต่ละอันยาวสี่ล้านวา แต่ละงามีสระโบกขรณีเจ็ดสระ แต่ละสระมีกอบัวเจ็ดกอ แต่ละกอมีดอกบัวเจ็ดดอก แต่ละดอกมีกลีบเจ็ดกลีบ แต่ละกลีบมีเทพธิดาฟ้อนรำอยู่เจ็ดองค์ แต่ละองค์มีบริวารอีกเจ็ดนาง รวมได้ว่า ช้างเอราวัณมี ๓๓ หัว มีงา ๒๓๑ งา มีสระบัว ๑,๖๑๗ สระ มีกอบัว ๑๑,๓๑๙ กอ มีดอกบัว ๗๙,๒๓๓ ดอก กลีบบัว ๕๕๔,๖๓๑ กลีบ เทพธิดา ๓,๘๘๒,๔๑๗ องค์ และบริวารของเทพธิดาอีก ๒๗,๑๗๖,๙๑๙ นาง
💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧
บทบาทและหน้าที่อันสำคัญยิ่งของช้างเอราวัณ คือ เป็นพาหนะที่นำเสด็จพระอินทร์ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั้งบนสวรรค์และมนุษย์โลก เพื่อดูแลทุกข์สุขของชาวโลก เป็นช้างศึกให้พระอินทร์ออกไปทำการรบกับพวกอสูร ทำหน้าที่ดูแลโลกทางด้านตะวันออกควบคู่กับพระอินทร์ และเนื่องจากพระอินทร์ทรงเป็นหัวหน้าเทพที่กำกับดูแลดินฟ้าอากาศ มีวัชระสายฟ้าเป็นอาวุธ เป็นศัตรูกับความแห้งแล้ง นำความอุดมสมบูร์และความชุ่มฉ่ำสู่โลกมนุษย์ ช้างเอราวัณจึงมีหน้าที่ดูดน้ำจากโลกขึ้นไปบนสวรรค์ ให้พระอินทร์บันดาลให้เกิดน้ำจากฟ้าตกลงสู่โลกมนุษย์ โดยเฉพาะประเทศทางเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงประทับใจและชื่นชมในตัวช้างเอราวัณที่ทำประโยชน์ให้แก่ชาวโลก
💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧💧
ช้างเอราวัณ ถือว่าเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวงในสากลจักรวาล เป็นพาหนะคู่พระทัยของพระอินทร์ ด้วยเหตุนี้ช้างเอราวัณจึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของพระอินทร์ สัญลักษณ์ของการกระทำดี และสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ในงานศิลปกรรมต่าง ๆ จึงนิยมทำรูปช้างเอราวัณควบคู่ไปกับพระอินทร์ หรือบางทีก็ทำแต่เพียงรูปช้างสามเศียรอันเป็นสัญลักษณ์ของช้างเอราวัณเท่า นั้น เหตุที่ทำเป็นรูปช้างสามเศียรแทน ๓๓ เศียรนั้นคงเป็นเพราะรูปแบบทางด้านศิลปะน่าจะมีความงดงามลงตัวมากกว่า
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.siamganesh.com/indra.html
โฆษณา