23 ก.พ. 2021 เวลา 16:22 • ยานยนต์
วันนี้ในอดีต
23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1892
‘รูดอล์ฟ ดีเซล’ ได้รับสิทธิบัตรเครื่องยนต์ต้นแบบของ ‘เครื่องยนต์ดีเซล’
สำหรับคนใช้รถที่ต้องการเครื่องยนต์ทรงประสิทธิภาพ มักเลือกใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล (Diesel Engine) ซึ่งนับเป็นเครื่องยนต์ยอดนิยมขวัญใจชาวไทยมาช้านาน ด้วยประสิทธิภาพที่ทรงพลัง แข็งแกร่ง
จุดเริ่มต้นของ ‘เครื่องยนต์ดีเซล’ มาจากมันสมองของผู้ชายที่ชื่อ ‘รูดอล์ฟ ดีเซล’ (Rudolf Diesel) หรือ รูดอล์ฟ คริสทีอัน คาร์ล ดีเซล (Rudolf Christian Karl Diesel) ชาวเยอรมัน ผู้ออกแบบเครื่องยนต์ดีเซล โดยเขาได้รับสิทธิบัตรเครื่องยนต์ที่เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ต้นแบบของเครื่องยนต์ดีเซลในวันนี้ เมื่อ 129 ปีก่อน นั่นคือ สิทธิบัตรเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงชนิดใหม่ ซึ่งเป็นการจุดระเบิดโดยความร้อนจากการอัดน้ำมันในกระบอกสูบโดยไม่ใช้ประกายไฟหรือหัวเทียน
แม้จะได้สิทธิบัตรมา แต่สุดท้ายเครื่องยนต์ที่เขาออกแบบก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการอัดฉีดเชื้อเพลิงให้เป็นฝอย เนื่องจากไม่มีทุนหมุนเวียนที่จะพัฒนาเครื่องยนต์ ดีเซลจึงต้องขายสิทธิ์การจำหน่ายไปในหลายประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทที่มีทุนหนาก็รออยู่อย่างใจจดใจจ่อเช่นกัน
ไม่นาน บริษัทอ็อกซบูร์กและครุปป์ ก็ได้ร่วมทุนกันสร้างเครื่องยนต์ต้นแบบ และแล้วเครื่องยนต์รุ่นใหม่ที่มีกำลังแรงกว่าเครื่องยนต์รุ่นเดิม 2 เท่า ซึ่งดีเซลให้เวลาพัฒนา 5 ปี ก็ปรากฏโฉม และเขาก็ตั้งชื่อเครื่องยนต์ชนิดนี้ว่า ‘ดีเซล’ เหมือนชื่อเขา ตามคำแนะนำของภรรยา
ดีเซล กลายเป็นเศรษฐีในวันเกิดครบรอบ 40 ปี เขามีรายได้หลายล้านเหรียญจากการขายสิทธิ์จำหน่ายเครื่องยนต์ทั่วยุโรป ทำให้ อดอลฟุส บุช (Adolphus Busch) เจ้าของธุรกิจผลิตเบียร์ในอเมริกาสนใจ และขอซื้อสิทธิ์จำหน่ายในอเมริกาและแคนาดา โดยให้ค่าลิขสิทธิ์ 1 ล้านเหรียญ จากนั้น สำนักงานดีเซล มอเตอร์ คัมปะนีของบุชก็เปิดทำการในนิวยอร์ก ในปี 1898
แม้ฐานะจะมั่งคั่งขึ้น แต่ดีเซลก็ยังต้องทุกข์ทรมานกับอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงซึ่งรุมเร้าเขาตลอดเวลา มิหนำซ้ำภรรยาของเขาก็ยังไม่ใส่ใจและทำตัวออกห่าง นอกจากนี้ กระแสนิยมของเครื่องยนต์ดีเซลยังทำให้ประดิษฐกรรมของเขาถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น ซ้ำร้ายโรงงานที่ผลิตเครื่องยนต์ ยังผลิตสินค้าออกมาไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุให้ราคาหุ้นของเจเนอรัล ดีเซล คอมพานี ที่ดูแลสิทธิบัตรของเขาอยู่ตกฮวบ และบริษัทต้องล้มละลายในที่สุด เงินสำรองที่ดีเซลสะสมไว้ก็เริ่มร่อยหรอลง
ในที่สุด ดีเซลผู้เชื่อมั่นว่าชะตาชีวิตของเขาผูกติดอยู่กับเครื่องยนต์ จึงหันมาพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับเรือธรรมดา เรือเดินสมุทร เครื่องบิน รถยนต์ในจินตนาการ ซึ่งแม้จะทำเงินได้บ้าง แต่ก็ไม่พอกับค่าใช้จ่าย
ในปี 1912 สถานะทางการเงินของเขาแย่ลง และสถานการณ์โลกที่เริ่มเข้าสู่ความตึงเครียดของสงคราม ทำให้ดีเซลที่ชอบสันติและความสันโดษ รู้สึกหดหู่มากยิ่งขึ้น
ในช่วงบั้นปลายชีวิต ดีเซลท้อแท้ใจอย่างมาก เพราะสิ่งที่เขาทุ่มเทอย่างหนักมาตลอดระยะเวลาต้องล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า ในปี 1913 เขาเดินทางไปประเทศอังกฤษ และไม่ได้เดินทางกลับมาอีกเลย ภายหลังมีข่าวว่าเขาหายตัวไปบริเวณช่องแคบอังกฤษ
หลังจากดีเซลเสียชีวิตร่วม 2 ทศวรรษ เครื่องยนต์ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นก็ถูกนำไปติดตั้งในรถเมอร์เซเดสเบนซ์ 2600 ซึ่งเป็นรถยนต์โดยสารคันแรกที่มีการผลิตเป็นอุตสาหกรรมจำนวนมาก
ตราบจนวันนี้ แม้ดีเซลจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้ ก็ได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่นักประดิษฐ์รุ่นหลังเป็นอย่างมาก และทำให้ผู้คนทั่วโลกได้มีโอกาสใช้เครื่องยนต์ทรงประสิทธิภาพอย่าง ‘เครื่องยนต์ดีเซล’
โฆษณา