24 ก.พ. 2021 เวลา 07:56 • ความคิดเห็น
เมื่อสัตว์เลี้ยงคู่ใจกลายเป็นความทรงจำ
“หมอครับบอกมาตรงๆเลย จะหายมั้ย ถ้าไม่มีหวัง ผมก็จะพาเขากลับบ้าน”
“ช่วยเต็มที่นะหมอ หนูรักเขามาก หนูทำใจไม่ได้ถ้าไม่มีเขา”
“พี่หมอครับ ถ้าเขาเจ็บมากก็ช่วยฉีดยาให้เขาหลับไปเลยได้มั้ยครับ ผมไม่อยากให้เขาทรมาน”
ตลอดระยะเวลาที่ทำงานด้านการดูแลรักษาสุขภาพสัตว์มา พบเจอประโยคพวกนี้มานับครั้งไม่ถ้วนค่ะ ความรู้สึกกังวล เสียใจ เศร้าใจในยามที่สัตว์เลี้ยงที่รักเจ็บป่วยนั้น ในบางคนเทียบเท่ากับความกังวลอันเกิดจากกรณีเจ็บป่วยของคนในครอบครัว เพราะเขาดูแลใส่ใจรักใคร่กันมาประหนึ่งสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน
จะเรียกว่าเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของวิชาชีพนี้ ก็อาจจะพอได้นะคะ ในการสื่อสารหรือทำความเข้าใจในเรื่องพวกนี้ โดยเฉพาะกรณีที่มาขอให้ฉีดยาให้หลับ หรือการทำการุณฆาต (ซึ่งปัจจุบันทราบมาว่ามีสถาบันบางที่ในต่างประเทศที่รับให้บริการแก่ผู้ที่มีความประสงค์จะทำแบบนั้นกับตนเอง) โดยส่วนตัว(ไม่เชื่อมโยงถึงผู้อื่นนะคะ)ไม่ได้เห็นด้วยกับการทำสิ่งนี้และโชคดีที่ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่บีบบังคับเช่นนี้บ่อยนัก ส่วนมากจะเกิดขึ้นในสมัยที่เพิ่งทำงานใหม่ๆ ที่เรายังไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจหรือปฏิเสธอะไรอย่างที่จิตใต้สำนึกมันขัดแย้ง
เขียนถึงตรงนี้ภาพตัดไปให้ย้อนนึกถึงตอนทำงานปีแรก วันที่เดินเข้าไปนั่งกอดเข่าแอบร้องไห้คนเดียวในห้องน้ำ เพราะสุนัขที่ตัวเองเพิ่งกู้ชีวิตจากภาวะวิกฤติเมื่อสองวันก่อน อาการแย่ลง เจ้าของบอกว่าเย็นนี้ถ้าอาการไม่ดีเขาจะให้ฉีดยาให้หลับ (ซึ่งคนที่จะต้องทำก็คงไม่ใช่ใครนอกจากไอคนที่ช่วยไว้เมื่อสองวันก่อนนั่นแหละ) ความรู้สึกในตอนนั้นคงไม่ต้องอธิบาย😅
ก็คงไม่ไปตัดสินนะคะว่าการเลือกหยิบยื่นความเป็นหรือความตายให้กับชีวิตที่อยู่ในมือเรานั้นถูกหรือผิด เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานการคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แต่อยากเล่าในมุมของตัวเองซึ่งน่าจะเป็นมุมของสัตวแพทย์อีกหลายๆคนว่า ทุกครั้งที่เราให้การรักษาความมุ่งหวังของเราคือการซ่อมให้ร่างกายสัตว์กลับมาทำงานได้ตามปกติ ปราศจากความเจ็บปวด และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามศักยภาพที่เราพึงทำได้ ความตายแทบจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราอยากให้มันเกิดขึ้นค่ะ ยิ่งตายด้วยมือเราอย่างตั้งใจนี่ไม่ต้องพูดถึง
ความเจ็บป่วยบางอย่างเป็นความเสื่อมสภาพตามอายุขัยต่อให้เจ้าของดูแลดียังไงก็ต้องดำเนินไปตามกฎของธรรมชาติ(ดังนั้นอย่าได้โทษตัวเอง เพราะการที่คุณเลี้ยงดูเขาจนถึงอายุแก่ชราได้นั้น บ่งบอกได้เป็นอย่างดีแล้วค่ะว่าเขาต้องได้รับการดูแลที่ดีแน่นอน) บางอย่างก็เป็นผลระยะยาวอันเนื่องจากอุบัติเหตุในรูปแบบต่างๆ บางอย่างเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ยังไม่มีทางรักษาได้เพียงแค่พยุงอาการหรือต้องใช้ยาควบคุมตลอดชีวิต ซึ่งกรณีตัวอย่างเหล่านี้ย่อมสร้างความกังวลกับเจ้าของไม่ว่าจะด้านจิตใจ หรือด้านอื่นๆ
ถึงตรงนี้จึงอยากบอกว่า ถ้าเรามีสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในการดูแล แล้วสัตว์เลี้ยงของเราเกิดเจอปัญหาที่เรียกว่าวิกฤติ เกือบวิกฤติ หรือการรักษาที่ได้รับอยู่เป็นการยื้อเวลา หรือซื้อเวลา การจัดการตรงนี้มีสองส่วนค่ะ เริ่มจากให้เราถามตัวเองก่อนค่ะว่าเรามีขอบเขตของการดูแลได้มากแค่ไหน จุดไหนที่เรารับได้หรือรับผิดชอบได้ จุดไหนที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งตัวเราและตัวสัตว์เลี้ยง ส่วนที่สองคือปล่อยให้สัตว์เลี้ยงของเราได้ทำหน้าที่เจ้าของชีวิตตัวเองค่ะ การที่เขาจะอดทนเพื่อรับการดูแลจากเราไปได้อีกนานแค่ไหนนั้น ร่างกายเขาตัวเขาจะเป็นผู้ตัดสินเองโดยไม่ต้องไปเร่งรัด ในช่วงระยะเวลาสุดท้ายถ้าเขาได้ใช้เวลากับคนที่เขารัก และอยู่เงียบๆในสถานที่ที่เขาคุ้นเคยจะช่วยให้สภาพจิตใจของเขาสงบมากกว่าการจากไปท่ามกลางคนแปลกหน้า (อันนี้สังเกตจากหลายเคสที่อดทนรอที่โรงพยาบาลจนกว่าเจ้าของจะมาเยี่ยม แล้วถึงจะจากไปอย่างสงบ)
สุดท้ายแล้วสิ่งมีชีวิตทุกอย่างมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบหนทางชีวิตตัวเองด้วยกันทั้งนั้น การได้มาเจอกัน ดูแลใส่ใจกัน ใช้เวลาที่มีความสุขด้วยกัน มีประสบการณ์และความทรงจำที่ดีต่อกัน นั่นก็ดีที่สุดแล้วค่ะ
โฆษณา