8 มี.ค. 2021 เวลา 01:00 • สุขภาพ
Health Link: แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของไทย
คุณเคยไหม ที่เมื่อเข้าโรงพยาบาลแห่งใหม่แล้วต้องใช้ข้อมูลประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเก่า ที่เมื่อพบแพทย์แล้วต้องตอบคำถามว่าตอนนี้ใช้ยาอะไรอยู่บ้างแต่เราจำไม่ได้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าในเมื่อโรงพยาบาลหลายแห่งก็เก็บข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ทำไมเราต้องเดินไปขอประวัติของตนเอง แล้วต้องให้โรงพยาบาลเขียนข้อมูลลงบนแผ่นซีดีเพื่อนำไปส่งที่อื่น ทำไมถึงไม่ส่งข้อมูลกันผ่านอินเตอร์เน็ต เราจะได้สะดวกสบายมากขึ้น และแพทย์จะได้มีข้อมูลเพื่อช่วยในการวินิจฉัยให้เราได้ดีขึ้น? Health Link จึงได้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบปัญหานี้
Health Link คืออะไร?
Health Link เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้แพทย์สามารถเข้าดูข้อมูลสุขภาพของคนไข้จากโรงพยาบาลอื่นได้ โดยคนไข้จะสามารถกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้ จึงไม่ได้แปลว่าแพทย์ทุกคนจะเข้ามาดูข้อมูลสุขภาพของเราเมื่อไหร่ก็ได้ นอกจากนี้ Health Link จะช่วยแพทย์ในห้องฉุกเฉิน โดยจะให้สิทธิแพทย์ในห้องฉุกเฉินสืบค้นข้อมูลคนไข้ที่หมดสติ ซึ่งข้อมูลที่ได้มานั้นอาจจะช่วยรักษาชีวิตของคนไข้ในห้องฉุกเฉินได้
จุดเริ่มต้นของ Health Link
ระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ เป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว และมีการนำไปใช้จริงแล้วในต่างประเทศ ซึ่งถูกเรียกรวม ๆว่า Health Information Exchange (HIE) โดยมักจะพบในกลุ่มหรือเครือโรงพยาบาล ที่ใช้ระบบสารสนเทศ (Hospital Information System หรือ HIS) แบบเดียวกัน การที่จะเกิดระบบ HIE ในระดับประเทศนั้นยากกว่าการทำ HIE เฉพาะกลุ่มมากนัก เนื่องจากโรงพยาบาลแต่ละแห่งใช้ระบบ HIS ต่างกัน และยังใช้มาตรฐานข้อมูลที่ต่างกันด้วย ดังนั้นการทำ HIE ในระดับประเทศจึงจำเป็นต้องมีการตกลงมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับ และต้องลงมือแปลงข้อมูลของตนเองให้เข้ากับมาตรฐานก่อนที่จะส่งข้อมูลเข้ามา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องมีการลงทุนและต้องการการผลักดันจากหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดขึ้นได้
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้เกิดระบบ HIE ในระดับประเทศ โดยการสร้างแพลตฟอร์ม Health Link ขึ้นมา และได้กำหนดมาตรฐานกลางร่วมกับโรงพยาบาลในภาคี และมีการสนับสนุนโรงพยาบาลในด้านเครื่องมือและกระบวนการที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกิดขึ้นได้ตามมาตรฐานดังกล่าว
ประโยชน์ของ Health Link
การที่แพทย์สามารถดูข้อมูลประวัติการรักษาจากต่างโรงพยาบาลได้ จะเกิดประโยชน์กับทั้งคนไข้ และกับแพทย์เองด้วย
ประโยชน์สำหรับคนไข้: คนไข้จะได้รับความสะดวกสบาย ไม่ต้องไปขอข้อมูลจากโรงพยาบาลเอง ประหยัดเวลาของคนไข้ได้เป็นอย่างมาก โดยที่ยังสามารถควบคุมการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ และอาจสามารถช่วยชีวิตของคนไข้ในกรณีฉุกเฉินและถูกนำส่งโรงพยาบาลที่ยังไม่เคยมีประวัติของคนไข้อีกด้วย
ประโยชน์สำหรับแพทย์: แพทย์สามารถประหยัดเวลาในการวินิจฉัยคนไข้ ในขณะเดียวกันแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลคนไข้ที่ครบถ้วนขึ้น ทำให้สามารถตัดสินใจหรือวินิจฉัยอาการได้รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและช่วยชีวิตคนไข้ได้
เข้าถึงบริการ Health Link ง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน
Health Link จะเปิดให้บริการกับคนไทยทุกคนผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ คนไข้ที่ใช้ Health Link จะสามารถกำหนดได้ว่าจะอนุญาตให้โรงพยาบาลใดส่งข้อมูลตนเองเข้าสู่ระบบได้บ้าง หากคุณมีข้อมูลจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ไม่อยากเปิดเผย ก็สามารถกำหนดให้โรงพยาบาลนั้นไม่ส่งข้อมูลได้ โดยที่ยังได้ใช้ประโยชน์การเชื่อมโยงข้อมูลจากโรงพยาบาลที่เหลือ ในบางโรงพยาบาลที่กำหนดให้ใช้การขอความยินยอมแบบรายครั้ง เมื่อแพทย์ขอดูข้อมูลจากโรงพยาบาลเหล่านี้ จะมีการแจ้งเตือนมาที่แอปพลิเคชัน Health Link เพื่อให้คนไข้กดยินยอม (หรือปฏิเสธ) ให้แพทย์ดูข้อมูลในส่วนนั้นได้
นอกจากนี้ คนไข้สามารถยกเลิกการอนุญาตให้บางโรงพยาบาลส่งข้อมูล หรือถอนความยินยอมและออกจากโครงการ Health Link ได้ทุกเมื่อ
มาตรฐานข้อมูลระดับสากล
ระบบ Health Link ได้ใช้มาตรฐาน Fast Healthcare Interoperability Resources (FHIR) จากองค์กร Health Level Seven (HL7) ซึ่งเป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่มีผู้ใช้งานทั่วโลก ได้รับการอัพเดทอยู่อย่างสม่ำเสมอ และมีหน่วยงานรัฐบาลหลายประเทศนำไปใช้ เช่น Centers for Medicare & Medicaid Services (CMS) ของสหรัฐอเมริกา
สำหรับผู้พัฒนา FHIR นั้นง่ายต่อการนำไปใช้งานมาก เนื่องจาก FHIR ใช้ HTTP-based RESTful protocol ซึ่งนักพัฒนาเว็บไซต์ก็เข้าใจกันดีว่าเป็นมาตรฐานการพัฒนาเว็ปไซต์ที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน ใช้ได้กับอุปกรณ์หลากหลายชนิด และมีตัวเลือกของการแสดงข้อมูลหลายชนิด ได้แก่ JSON, XML, และ RDF ง่ายต่อการนำไปใช้ร่วมกับแอปพลิเคชันที่ผู้พัฒนาอื่น ๆ พัฒนาขึ้นมาเสริม
ข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อน
Health Link ปกป้องข้อมูลของคุณอย่างไรบ้าง?
Access control: ผู้ที่เข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้อง จะต้องเป็นแพทย์ที่อยู่ภายใต้โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ Health Link และเป็นแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา เท่านั้น และจะมีการเฝ้าระวัง หากมีการขอข้อมูลที่ผิดปกติ Health Link จะระงับบัญชีของแพทย์โดยอัตโนมัติ จากนั้นทางผู้ดูแลระบบ จะสามารถตรวจสอบประวัติการเข้าถึงข้อมูลของแพทย์ได้
ISO standard cloud security: ระบบ Health Link ตั้งอยู่บนคลาวด์ของ กสท โทรคมนาคม ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐานสากล ISO 27001 และจะมีการตรวจสอบ (audit) จากหน่วยงานภายนอกในด้านความปลอดภัยของระบบ
De-identified data storage: เราแบ่งข้อมูลที่เก็บไว้เป็น 2 ส่วนแยกออกจากกัน ส่วนแรกจะเป็นข้อมูลที่ใช้ระบุตัวตนได้ เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน อีกส่วนหนึ่งจะเป็นข้อมูลสุขภาพ และจะนำข้อมูลทั้งสองส่วนมาประกอบกันที่ปลายทางเมื่อแพทย์ขอดูข้อมูลผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องเท่านั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครแอบดูข้อมูลของคุณระหว่างทาง
แผนภาพอย่างง่ายของระบบ Health Link
สถานะของ Health Link ในปัจจุบัน
ขณะนี้ระบบ Health Link อยู่ระหว่างการทดสอบระบบร่วมกับโรงพยาบาลนำร่อง โดยคาดว่าโรงพยาบาลนำร่องจะเปิดให้ประชาชนเข้ามาสมัครใช้งานจริงเร็ว ๆ นี้ และโรงพยาบาลอื่น ๆ จะทยอยเปิดให้ใช้บริการระบบ Health Link ตามกันมา โดยมีเป้าหมายที่ 100 โรงพยาบาลภายในสิ้นปี 2021 ครับ ทุกคนอดใจรอฟังข่าวดีกันได้เลยครับ และหากโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ยังไม่ได้เข้าร่วม Health Link ก็ยังไม่ต้องผิดหวังนะครับ เพราะโครงการ Health Link จะยังคงมุ่งหน้าเชิญชวนให้โรงพยาบาลเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีต่อไป จนเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพได้ทั้งประเทศในที่สุดครับ
What’s Next?
ปัจจุบันแพทย์จะเห็นข้อมูลเรียงตามวันที่นำเข้าข้อมูล และสามารถเลือกแสดงตามประเภทข้อมูล หรือเลือกแสดงข้อมูลเฉพาะบางโรงพยาบาลได้ ทางผู้ออกแบบระบบได้ให้ความสำคัญกับเวลาของแพทย์เป็นอย่างมาก และต้องการที่จะสร้างระบบที่ทำให้แพทย์สามารถเห็นข้อมูลที่สำคัญ จำเป็นสำหรับการรักษา ในเวลาที่สั้นที่สุด จึงมีแผนที่จะพัฒนาหน้าจอแสดงผลให้ดีขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการนำ AI มาช่วยในการเลือกข้อมูลที่จะนำไปแสดงผลในหน้าแรกที่แพทย์เห็น
เนื่องจากข้อมูลสุขภาพที่แลกเปลี่ยนในโครงการ Health Link ยังเป็นข้อมูลสำหรับแพทย์ ซึ่งอาจจะต้องผ่านกระบวนการแปลความหมายก่อนที่คนไข้ทั่วไปจะเข้าใจได้ถูกต้อง Health Link จึงยังไม่พร้อมที่จะแสดงข้อมูลสุขภาพให้คนไข้เข้าถึงได้เอง แต่ในอนาคต Health Link อาจขยายผลไปสู่การเผยแพร่ข้อมูลสุขภาพสำหรับให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ เพื่อที่จะให้ข้อมูลสุขภาพของประชาชนเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
เนื้อหาโดย พชร วงศ์สุทธิโกศล
ตรวจทานและปรับปรุงโดย ปพจน์ ธรรมเจริญพร
ติดตามและพูดคุยกับ GBDi ได้ที่
#govbigdata #bigdata #bigdatathailand #datascience #dataengineer #dataanalytics #digitalthailand #DataPrivacy #Healthcare #HIE #Platform #gbdi
โฆษณา