Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Debataberm
•
ติดตาม
24 ก.พ. 2021 เวลา 13:34 • ไลฟ์สไตล์
Blackout (n.) อาการภาพตัด หมดสติ รวมไปถึงการจำเหตุการณ์บางส่วนที่เกิดขึ้นก่อนหน้าไม่ได้ คือชื่อผลงานใหม่ล่าสุดของผู้กำกับมากฝีมืออย่าง ปิง เกรียงไกร วชิรธรรมพร ที่ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่สอดรับพฤติกรรมการใช้งานสื่อที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค อย่างการผลิตซีรีส์แนวตั้งเป็นครั้งแรกในไทย ที่มาพร้อมกับเรื่องราวชวนสงสัย อย่างสถานการณ์ที่กลุ่มวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งตื่นขึ้นมาท่ามกลางบาร์ลับที่ไม่มีใคร และจำไม่ได้แม้กระทั่งพวกเขามาอยู่ตรงจุดนี้ได้อย่างไร
วันนี้ Debataberm อยากชวนทุกคนมาติดตามเบื้องหลัง แรงบันดาลใจ ที่มาที่ไปของโปรเจค #BlackoutNadao หลังจากออกอากาศมาแล้วกว่า 6 ตอน ในวันนี้สำหรับการออกอากาศ #BlackoutEp7 พี่ปิง ผู้สร้างและผู้กำกับโปรเจคนี้มีเรื่องราวอะไรอยากบอกเล่าให้เราฟังกันบ้าง
อะไรเป็นแรงบันดาลใจของการเริ่มทำโปรเจคซีรีส์แนวตั้ง?
“โปรเจคนี้มันเริ่มมาจากตัวเราเองมากกว่า เหมือนเราก็อ่านข้อมูลอะไรเยอะแหละ แล้วก็ไปเห็นว่าสถิติมันก็ชัดจริงๆ ว่าคนเราเล่นโทรศัพท์แนวตั้งเยอะขึ้น เลยพยายามนึกภาพว่ามันจะเป็นยังไงถ้ามันมีซีรีส์แนวตั้งทำออกมาให้คนดูบ้าง แล้วบังเอิญไปเจอซีรีส์จีน มีซีรีส์จีนที่เขาทำเป็นแนวตั้งอยู่แล้ว เราก็ลองเสิร์ชดูว่ามีอะไรบ้าง ก็เจอของจีน เกาหลี แต่ว่าเขาก็ทำ Short Form เหมือนกันคือมันกลายเป็น ซีรีส์ Vectical จอเป็น Vertical เนอะ แต่ว่าสตอรี่ของมันก็จะเป็นแบบรอมคอม เป็น Romantic-Comedy ดูง่ายๆ อะไรอย่างงี้
“แล้วเราก็จะรู้สึกแปลกๆ ตอนที่ไปดูของเขาคือ มันรู้สึกว่าเราไม่คุ้นเลยกับเฟรมแบบนี้ มันแคบ มันประหลาด แล้วมันก็เห็นแค่เฉพาะส่วน เหมือนเวลาเราดูหนังรัก เราจะต้องเห็นคนสองคนใช่ปะ เฟรมมันจะต้องมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่เราเห็นกันเป็นปกติ แต่ว่ามันไม่เห็นว่ะ หรือ Maximum สุดที่เขาทำเราก็จะเห็นคนยืนอยู่แค่สองคน นี่คือกว้างสุดที่เขาให้ได้แล้ว ซึ่งพอเราดูแล้วมันรู้สึกว่า แปลก แปลกมากสำหรับเรา เราก็เลยเก็บเป็นธงในใจ ว่าเอออยากลองทำ เหมือนกับว่าทำแบบไหนโดยที่มันจะไม่แปลก ทำยังไงให้แนวตั้งมันไม่รู้สึกผิดปกติ ก็เก็บๆ ไปคิดอยู่คนเดียว อยากตั้งโจทย์กับตัวเองว่า อยากทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ดูแล้วรู้สึกว่าต้องดูแนวตั้งเท่านั้น ทำยังไงก็ได้ให้เขารู้สึกว่าแนวตั้งมันทำงาน แนวตั้งมันเป็นส่วนหนึ่งของ Cinematic มันเป็นวิธีการในภาพยนตร์แบบนึง ก็เลยเอาแนวตั้งมาเล่น แล้วก็พยายามหาความรู้สึกที่เกิดจากมัน
“แล้วปกติ Shot ทุกแบบมันจะมีความรู้สึกของมันอยู่ เราก็พยายามหาว่า Shot แนวตั้ง มันทำให้รู้สึกอะไรวะ ก็เนี่ยแหละ ก็ไอความรู้สึกว่า แม่งกว้างไม่พอสำหรับเราสักที วิสัยทัศน์ของเรามันไม่เห็น มันเหมือนกับเวลาตาเรามอง ต่อให้เรามองตากันอยู่สองคนแบบนี้ เราก็จะเห็นภาพบางส่วนเบลอๆ แล้วเราก็จะรู้สึกว่า อันนี้ คือสิ่งที่แนวตั้งมันให้เราไม่ได้ มันคือความอึดอัด มันคือความไม่เห็นบางอย่าง ตรงนี้ก็เป็นอีกความพิเศษที่ทำให้เราคิดว่ายังไงทำออกมาโทนซีรีส์มันน่าจะออกมาแบบลึกลับแน่ๆ ก็เลยตั้งโจทย์ ทุกอย่างในโปรเจคนี้มันเป็นสิ่งที่ตั้งจากโจทย์หมดเลย ทั้งตั้งโจทย์เองด้วย แล้วก็ค่อยๆ แกะมัน ว่ามันทำอะไรต่อได้
“พอเราสรุปได้แล้วว่าอยากเล่าเรื่องแนวลึกลับ และอยากทำเรื่องเกี่ยวกับความไม่น่าไว้ใจของเฟรม เพราะเราไม่รู้ว่าข้างนอกจอมันมีอะไร ไอความไม่รู้ว่าภาพนอกจอมันมีหรือไม่มีอะไรอยู่ ก็ค่อยๆ ต่อยอดไปอีกเรื่อยๆ ว่ามันเป็นอะไรได้อีก ก็มาเจอว่า ถ้าเราจะกลัว เราจะกลัวอะไร เช่น กลัวผี มันก็อาจจะเป็นหนังผีได้เหมือนกัน แต่ความที่ข้างนอกจอมันมีอะไร แบบมันเห็นอะไรแล้วรึยังวะ เดี๋ยวกล้องแม่งแพลนไปจะเจออะไร เราว่าเป็นหนังผีก็อาจจะเวิร์ค เออ หน้าจอแบบนี้มันทำงานกับเราในลักษณะนี้ดี ก็เลยอยากทำซีรีส์ที่ว่าด้วยเรื่องของการไม่ไว้ใจอะไรบางอย่างข้างนอกจอ แต่เราไม่ชอบหนังผี คือเราเป็นคนไม่ชอบหนังผี เราทำหนังผีไม่เป็นมากกว่า แล้วก็เลยรู้สึกว่า ถ้างั้นทำเรื่องคนแล้วกัน มันคือการไม่ไว้ใจคนด้วยกันนี่แหละ
“เราก็ตั้งโจทย์ว่า ถ้างั้นซีรีส์เรื่องนี้จะเป็นเรื่องของซีรีส์แนวตั้งเนอะ เป็นเรื่องของคนที่อยู่ในบรรยากาศของความไม่ไว้ใจกันเอง อะไรก็ได้เลย แต่ว่ามีตัวละครมากกว่าหนึ่งตัว เออแล้วก็มันมีมุมมองหลายๆ อย่าง หลายๆ มุมมองอะไรอย่างงี้ เราก็พยายามดูว่ามุมมองกี่มุมมองดี ที่มันจะกำลังดีอะไรแบบนี้ ก็กะว่าประมาณสี่ ก็กำลังดี มีกิมมิคคือพอเป็นจอแนวตั้งสี่จอในตอนแรกๆ หากนำเอาจอมาวางเรียงติดกันมันจะเห็นเป็นภาพกว้างเหมือนเฟรมปกติพอดี เป็นกิมมิคที่เหมือนมันมาพร้อมกัน เพราะเรารู้สึกว่า มันน่าจะเป็นกิมมิคที่ทำให้คนดูเห็นภาพความแตกต่างระหว่างแนวตั้งกับแนวนอนได้มากขึ้น มันน่าจะช่วยเราพาร์ทนี้ได้ เพราะว่าเราอยากให้ซีรีส์ที่ดูแนวตั้งแล้วมันเห็นวิสัยทัศน์แบบนึงอะ แต่พอเอาโทรศัพท์มาเรียงกันในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้วมันเห็นวิสัยทัศน์ของแนวนอนได้เหมือนกัน ว่าแบบ อ๋อ คนนี้คุยกับคนนี้ว่ะ คนนี้มอง ไอที่มึงมองไม่เห็นเมื่อกี้มันทำสิ่งนี้อยู่ อะไรประมาณนี้ เออ ก็เลยขายสิ่งนี้ไป ซึ่งก็ผ่านและได้ทำออกมาเป็น #BlackoutNadao ในที่สุด
นอกจากเรื่องของการทำตัวซีรีส์ให้กลายเป็นแนวตั้งแล้ว มีความยากในการทำงานตรงไหนอีก?
“จริงๆ มันก็เป็นโจทย์ที่ต่อมาจากโจทย์อีกทีนึงนะ คืออย่างที่บอกว่า พอเราตั้งใจจะเล่นกับการที่ตัวละครมันไม่ไว้ใจกันเองใช่ปะ แปลว่า เราดูแล้วเรากำลังคิดว่า แต่ละตอนมันเล่ามุมมองตัวละครตัวนึง นี่คือโจทย์ที่เราตั้งไว้ตอนต้นนะ แล้วเราก็เลยคิดว่า ถ้ามันจะต้องเล่ามุมมองของตัวละครตัวนึงกับมุมมองของตัวละครอีกตัวนึง คนละตอนกัน แปลว่า จริงๆ แล้วอย่างน้อยๆ มันถูกบังคับแล้วว่า ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในไทม์ไลน์เดียวกันนะ
“เหมือนกับเวลาในการดำเนินเรื่องจะถูกฟิกซ์อยู่ว่าไทม์ไลน์มันต้องเป็นไทม์ไลน์เดียวกันโดยบังคับ เพราะว่า เรากำลังจะเล่าว่าตอนนี้เขาทำอันนี้อยู่ แล้วอีกคนทำอะไรอยู่ แต่เราจะมองไม่เห็น พอดูอีกตอนนึงเสร็จปุ๊ป ถึงจะมาเห็นแล้วว่าอีกตัวละครทำอะไรอยู่ มันเลยฟิกซ์เราเองโดยอัตโนมัติว่า ถ้างั้นแปลว่าต้องทำไทม์ไลน์แบบเดียวกัน แล้วทีนี้ไทม์ไลน์เดียวกันเนี่ย เราก็คิดว่า ไทม์ไลน์แบบไหนที่มันท้าทายที่สุด มันเหมือนกับว่า ถ้าเกิดสมมติเราทำซีรีส์เป็น cutting ปกติ เออ Magic ของการที่ดูเสร็จปุ๊ป แล้วอยู่ๆ ก็เห็นวิสัยทัศน์ของแนวนอนที่มันต่อจอกันได้ มันก็รู้สึกว่ามันธรรมดามั้ง มันเหมือนกับ ถ้าเราถ่ายซีรีส์ปกติ เราก็ถ่ายมาใช่ปะ แล้วก็ถ้าเราอยากจะคัทให้มันตรงตอนไหนก็ตรง เออ มันก็รู้สึกว่าทำไม่ยาก อะไรอย่างงี้ (หัวเราะ) แล้วมันก็เลยแบบ เอ๊ะ แล้วถ้าเกิดสมมติว่า มันเป็นอีกความรู้สึกนึงไปเลยล่ะ
“แล้วมันคือการที่เราเดินตามตัวละครตลอดเวลาไปเลย โดยที่ไม่คัทเลย มันจะเป็นยังไง ก็นึกถึงว่าตัวเองจะเอาความรู้สึกนี้มาจากไหน ก็เลยไปนึกถึงละครเวที Sleep No More มันเป็นละครเวทีที่นิวยอร์ก ซึ่งตัวละครเวทีเรื่องนี้มันเป็นละครเวทีแบบ Off-Broadway ที่เขาใช้วิธีการแบบเอาตึกร้าง ตึกเก่าตึกนึงมาดีไซน์ใหม่หมดเลย ข้างในกลายเป็นเหมือนโรงแรม แล้วก็มีเซ็ตอัพเป็นฉากละครเวที เป็นตึกห้าชั้น สิ่งที่เขาทำกับเราคือ เราเป็นคนดูที่เดินใส่หน้ากาก แล้วก็เข้าไปอยู่ในเซ็ตอัพตรงนั้น
แล้วเราเป็นคนเดินเอง เลือกเองว่าเราจะเดินตามตัวละครตัวไหน เออ เขาก็ปล่อยนักแสดงวิ่งอยู่ในนั้นอะ สามชั้น วิ่งขึ้นวิ่งลง ทำนู่นทำนี่ มีนักแสดงทั้งหมดประมาณสิบสามหรือสิบห้าตัว แล้วเราเลือกเองว่าเราจะตามใคร แล้วเราเลือกเองได้ด้วยว่าจะกำหนด Pacing-Way ยังไง เช่น เราจะเดินก็ได้ เราจะวิ่งก็ได้ เราจะทำอะไรก็ได้ มันโคตรจะเป็น experience ที่แปลกมาก นี่คือสิบปีที่แล้วนะ นี่คือละครเวทีเมื่อสิบปีที่แล้ว แล้วมันแบบ มันล้ำมากสำหรับเราแล้วมันก็ให้ experience ที่แปลกมาก สำหรับเราเราไปดูสองรอบ แล้วคนที่ไปดูทุกรอบมันจะไม่เหมือนกันเลย ความรู้สึกมันจะแตกต่างกัน อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เราอยากสร้างประสบการณ์การดูงานของเราที่แปลกแตกต่างบ้าง เป็นประสบการณ์ที่เราคิดว่ามันเออ มันน่าจะก็อปด้วยกล้องได้ยากมาก แต่โปรเจคนี้เราก็พยายามทำให้ได้ แล้วก็ใช้วิธีการเอากล้องมาเป็นตัวแทนเราประมาณนี้ครับ
หลังจากเราเข้าใจเรื่องที่มาของความเป็นแนวตั้งแล้ว อีกเรื่องที่น่าสนใจคือเซตติ้งหลัก ทำไมต้องเป็นบาร์ลับ
จริงๆ ตอนแรกมันเป็นร้านเหล้าก่อนเฉยๆ ครั้งแรกสุดมันเป็นร้านเหล้า คือตัวเน็ต (ผู้กำกับอีกท่าน) ได้รับโจทย์จากเราว่าใช้เป็นนักแสดงสี่คน จอแนวตั้ง ความไม่ไว้ใจกัน แล้วเขาก็ไปพัฒนาต่อ เขาขายมาหลายอัน แต่เราก็ซื้ออันนี้ กับการตื่นมาแล้วจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อคืน มันให้อารมณ์เหมือน escape room แล้วเราก็ค่อยเก็บ hint ไปเรื่อยๆ ว่าเราจะออกจากที่นี่ได้ยังไง ครั้งแรกมันเป็นแค่ร้านเหล้าธรรมดาที่เราตื่นมาหลังร้านปิดไปแล้ว มีโซ่ล็อกอยู่ เราก็แค่หาทางออกไปธรรมดาๆ แต่เรารู้สึกว่ามันอาจจะไม่สวย ไม่พิเศษพอ แล้วช่วงนั้นในสื่อต่างๆ คอนเท้นท์แบบ 10 บาร์ลับในกรุงเทพมันแมสมาก บาร์ลับเต็มไปหมดเลย เรายิ่งสนใจ เรามองว่ามันสวยขึ้นกว่าเดิม ในแง่การเล่าเรื่องมันก็ยิ่งเสริมตัวละครไปอีกว่าการที่ตื่นขึ้นมาในสถานการณ์ที่จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสถานที่ลับๆ แบบนี้มันจะเป็นยังไง เพราะไม่มีใครรู้ว่าตรงไหนคือตู้ ตรงไหนซ่อนปริศนาอะไรไว้ มันก็มาเสริมความไม่น่าไว้ใจของอารมณ์ในเรื่องได้มากขึ้น
Blackout บาร์ลับไม่มีในโลก มีจำนวนตอนทั้งหมด 8 ตอน โดยตอนนี้สามารถติดตามชมอีพีที่ 1-7 ย้อนหลังได้แล้ว
พร้อมทั้งยังสามารถร่วมคลายปริศนาความลับในบาร์เป็นตอนสุดท้าย ในตอนที่ 8 วันพุธหน้า เวลา 20.00 น. ทาง AIS Play
รับชมตัวอย่างซีรีส์ได้ที่นี่
https://youtu.be/wBlLqWAfAm4
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย