24 ก.พ. 2021 เวลา 15:30 • ประวัติศาสตร์
อดีตผู้ชุมนุมที่ถูกรถถังทับขาขาด จากเหตุการณ์เทียนอันเหมิน
ย้อนกลับไปในปี 1989 ได้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนชาวจีน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยในจีน และนำไปสู่เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและรัฐบาลหลายครั้ง จนท้ายที่สุดทางพรรคคอมมิวนิสต์ก็ลงมติเห็นชอบให้ยุติการชุมนุมประท้วงโดยใช้กำลัง
ในช่วงค่ำของวันที่ 4 มิ.ย. "ฟางเจิ้ง" นักศึกษารุ่นพี่วัย 22 ปี พร้อมกับกลุ่มนักศึกษาของเขาราว 3,000 - 4,000 คน กำลังนั่งทำกิจกรรมประท้วงอยู่บริเวณอนุสาวรีย์วีรชน จนเมื่อกองกำลังทหารพร้อมขบวนรถถังเคลื่อนพลมาถึงจัตุรัส.. ฟางเจิ้ง และนักศึกษาคนอื่นจึงตัดสินใจถอนตัวจากการประท้วงและเดินออกจากจัตุรัสมุ่งหน้ากลับไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อความปลอดภัย
จนเวลาประมาณ 6.00 น. กลุ่มนักศึกษาเดินมาถึงถนนฉางอานตะวันตก ทันใดนั้นก็มีระเบิดแก๊สถูกโยนมาจากทางด้านหลัง ทำให้มีควันลอยปกคลุมไปทั่วกลุ่มนักศึกษา ฟางเจิ้ง หันไปเห็นนักศึกษาหญิงคนหนึ่งทรุดลงกับพื้น เขาจึงเข้าไปช่วยประคองนักศึกษาหญิง แต่ทันใดนั้นเขาก็สังเกตเห็นว่ามีรถถังกำลังพุ่งตรงเข้ามาจากทางด้านหลัง เขารีบยกนักศึกษาหญิงข้ามรั้วกั้นทางไปได้อย่างปลอดภัย
ฟางเจิ้ง เห็นปลายกระบอกปืนใหญ่ของรถถังอยู่ไม่ไกล เขากระโดดลงกับพื้นแล้วกำลังจะม้วนตัวหลบ ทว่ามันสายไปเสียแล้ว ขาของเขาทั้งสองข้างถูกทับและลากไปกับล้อรถถังไกลเกือบ 10 เมตร จากนั้น ฟางเจิ้ง ใช้แรงทั้งหมดที่เหลืออยู่กลิ้งตัวไปหลบข้างทางก่อนที่เขาจะหมดสติลง
ฟางเจิ้ง ได้รับการช่วยเหลือจากชาวบ้านและนักศึกษาคนอื่นนำตัวส่งโรงพยาบาล และต้องสูญเสียขาทั้งสองข้าง แต่ในกรณีของ ฟางเจิ้ง ยังถือว่าเขาอยู่ในกลุ่มผู้โชคดีที่รอดชีวิตมาได้ เพราะมีนักศึกษาในกลุ่มจำนวนมากที่เสียชีวิตจากการถูกรถถังทับ
หลังจาก ฟางเจิ้ง ออกจากโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์และทางมหาวิทยาลัยกดดันเขาและนักศึกษาหญิงให้เก็บเรื่องรถถังพุ่งชนกลุ่มนักศึกษาไว้เป็นความลับ ถึงแม้ว่า ฟางเจ้ง จะปฏิเสธที่จะทำตาม แต่นักศึกษาหญิงกลับเลือกที่จะเงียบต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น
3 ปีต่อมา ฟางเจิ้ง ไม่ย่อท้อต่อความพิการของตัวเอง เขากลายเป็นนักกีฬาคนพิการอาชีพประเภทขว้างจักรและพุ่งแหลน และได้รับเหรียญทองถึงสองเหรียญจากการแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งชาติ 1992 ณ เมืองกว่างโจว
จนกระทั่งปี 1994 ฟางเจิ้ง เตรียมตัวเข้าแข่งขันเฟสปิกเกมส์ประจำปี 1994 ที่จะจัดขึ้นในกรุงปักกิ่ง ในฐานะตัวแทนนักกีฬาขว้างจักร ซึ่งจะมีนักกีฬาจากนานาประเทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก... แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า ฟางเจิ้ง สูญเสียขาจากเหตุการณ์ปราบปรามเทียนอันเหมิน ทางเจ้าหน้าที่จึงตั้งเงื่อนไขกับเขาว่า "จะต้องหลีกเลี่ยงการตอบคำถามกับนักข่าวต่างชาติถึงที่มาของความพิการ"
ฟางเจิ้ง ให้คำมั่นสัญญากับเจ้าหน้าที่ ทว่าภายหลังเขากลับถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า การแข่งขันขว้างจักรจะถูกยกเลิกเพราะไม่มีชาติใดเข้าร่วมแข่งขัน แม้ว่า ฟางเจิ้ง พยายามพูดทักท้วงแต่ก็ไร้ประโยชน์ เจ้าหน้าที่ตอบกลับเพียงว่า "ได้รับคำสั่งมาจากข้างบนอีกที"
แต่แล้ว ฟางเจิ้ง ก็ทราบความจริงภายหลังว่า การแข่งขันขว้างจักรไม่ได้ถูกยกเลิก แต่ยังมี ปีเตอร์ มาติน นักกีฬาจากประเทศนิวซีแลนด์ที่ได้รับชัยชนะไปแบบฟรี ๆ เพราะเป็นผู้เข้าแข่งขันเพียงคนเดียว
ปี 1995 ฟางเจิ้ง ย้ายมาอาศัยอยู่ในเมืองไหโข่ว เขาถูกเจ้าหน้าที่คอยจับตาดูอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเจ้าหน้าที่มักจะมาหาที่บ้านและสอบปากคำเขาเป็นประจำ ทำให้ ฟางเจิ้ง ต้องใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างยากลำบากหลายปี นอกจากนี้เขายังถูกปฏิเสธการยื่นขอหนังสือเดินทางสำหรับออกนอกประเทศอีกด้วย
วันเวลาล่วงเลยผ่านไปหลายปี จนมาถึงปี 2008 ในระหว่างที่ประเทศจีนเตรียมตัวจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็ยอมอนุมัติหนังสือเดินทางให้กับเขา.. ฟางเจิ้ง จึงพาภรรยาและลูกสาวลี้ภัยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจาก ฟางเจิ้ง ย้ายมาเริ่มต้นชีวิตใหม่กับครอบครัวในสหรัฐ เรื่องราวชีวิตของเขาถูกตีแผ่ออกไปโดยสื่อหลายแห่ง ทำให้มีศูนย์การแพทย์แห่งหนึ่งบริจาคขาเทียมมูลค่า 100,000 เหรียญให้กับเขา
ต่อมาค่ำคืนที่ 6 ต.ค. 2009 ณ กรุงวอชิงตัน มีการจัดงานเฉลิมฉลองให้กับ ฟางเจิ้ง โดยมีทั้งสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ, อดีตแกนนำประท้วงเทียนอันเหมิน, เหล่าเพื่อน ๆ และสื่อมวลชน เป็นแขกร่วมงานจำนวนมาก ในคืนนั้น ฟางเจิ้ง ได้ยืนขึ้นด้วยขาเทียมและขอภรรยาเต้นรำต่อหน้าทุกคนด้วยรอยยิ้มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข
ปี 2012 ฟางเจิ้ง เดินทางเข้าฮ่องกงเพื่อเข้าร่วมงานรำลึกในวาระครบรอบ 23 ปี เหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน
ปี 2014 ฟางเจิ้ง ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานองค์กรการศึกษาประชาธิปไตยจีน ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโก โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยและเสรีภาพ
ต่อมา ฟางเจิ้ง ได้ขึ้นเวที Oslo Freedom ในปี 2018 ที่จัดขึ้น ณ กรุงนิวยอร์ก เพื่อเล่าเหตุการณ์รถถังพุ่งชนนักศึกษา เขากล่าวถึงนักศึกษาหญิงที่เขาช่วยชีวิตว่า เขาไม่โกรธและเข้าใจเธอที่เลือกจะเงียบต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น
จนเมื่อถึงเดือน ก.พ. 2019 ฟางเจิ้ง ได้รับข่าวการเสียชีวิตของพ่อจากพี่สาวที่อาศัยอยู่ในจีน เขาและลูกสาว 2 คนจึงติดต่อขอวีซ่ากับสถานกงสุลจีนในเมืองซานฟรานซิสโก เพื่อต้องการเดินทางไปงานศพของพ่อในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยต่อมาภายหลังทั้ง 3 คนก็ได้รับการอนุมัติวีซ่า
ทว่า 3 ชั่วโมงหลังจากได้รับวีซ่า ก็มีจากชายปริศนาที่อ้างตัวเป็นตัวแทนของสถานกงสุลโทรมาแจ้งเรื่องการระงับวีซ่าของเขาและลูก.. ฟางเจ้ง จึงถามเหตุผล แต่ชายดังกล่าวตอบเพียงว่า "เป็นอำนาจอธิปไตยของชาติและไม่มีความจำเป็นต้องอธิบาย ส่วนค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าจะถูกคืนผ่านบัตรเครดิต"
จากเหตุการณ์ในวันนั้น ฟางเจิ้ง และลูกสาวจึงไม่มีโอกาสเข้าร่วมงานศพของพ่อ มันทำให้เขารู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก
.
ปัจจุบันในปี 2021 ฟางเจิ้ง อาศัยอยู่กับภรรยาและลูกสาว 3 คน ในเมืองซานฟรานซิสโก เขาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำธุรกิจห้องพัก
ติดตามเราเพิ่มเติมที่>> www.facebook.com/thcandy
โฆษณา