24 ก.พ. 2021 เวลา 16:15 • สุขภาพ
วิวัฒนาการโรค ตอนที่ 3.2 : Diseases in the Human’s Civilization โรคระบาดในยุคสร้างอารยธรรม
ในยุคอารยธรรม ความหนาแน่นของประชากร ระบบสุขอนามัย รูปแบบวิถีชีวิต และการเดินทางติดต่อกัน ได้นำมาสู่การติดต่อของโรคที่รุนแรงขึ้นจนมาสู่โรคระบาดที่คร่าชีวิตมนุษย์จำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน
1. ความหนาแน่นของประชากรมาจาก อัตราการเกิดและการอยู่รอดของทารกที่เพิ่มขึ้น และวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ที่ดึงดูดให้ประชาชนอพยพจากพื้นที่ชนบทเข้าสู่เมือง เมื่อประชากรในเมืองเพิ่มจำนวนขึ้น จึงเพิ่มโอกาสในการติดต่อโรค ปริมาณของเด็กและผู้สูงอายุที่อ่อนแอต่อโรค การวิวัฒนาการของเชื้อที่มีการจำเพาะต่อพาหะมากขึ้นโดยโรคหลายชนิดที่พัฒนามาสู่รูปแบบการติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง เช่น หัด (Measles), คางทูม (Mump), อีสุกอีใส (Chickenpox), ฝีดาษ (Smallpox)
2. ระบบสุขอนามัย การอยู่อาศัยที่หนาแน่นของประชากรนำมาสู่ความยากลำบากในการจัดการหาน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาด และการกำจัดสิ่งปฏิกูล ระบบสุขอนามัยในเมืองจึงลดต่ำลง เมืองจึงมีสภาพเป็นแหล่งสะสมสิ่งปฏิกูล จึงเกิดเป็นโรคระบาดที่รุนแรงเช่น อหิวาตกโรค (Cholera) ซึ่งปนเปื้อนในน้ำที่สกปรก, ไข้รากสาดใหญ่ (typhus) ซึ่งติดผ่านหมัด ไร
3. รูปแบบของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของโรคติดต่อบางรูปแบบ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มขึ้นส่งผลโดยตรงในการเพิ่มโอกาสการร่วมเพศ และอาชีพอย่างโสเภณี ซึ่งทำให้โรคอย่าง ซิฟิลิส (syphylis) แพร่ระบาด
4. การเดินทางติดต่อ เมื่อประชากรในพื้นที่นั้นๆติดโรค จนถึงจุดที่เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคในพื้นที่นั้นๆทำให้ไม่เกิดการระบาดอย่างรุนแรง และกลายเป็นโรคประจำถิ่นไป ซึ่งเมื่อผู้ที่ป่วยโดยมีอาการไม่รุนแรง เมื่อเดินทางติดต่อไปยังพื้นที่อื่นไม่ว่าจะเป็นด้วยรูปแบบการทำการค้า สงคราม สำรวจก็ได้นำมาสู่โรคระบาดที่รุนแรงอย่าง กาฬโรค (Plague), อหิวาตกโรค (Cholera)
จตุพร สุกิตติวงศ์ 24/2/21
#สุขภาพ #ประวัติศาสตร์ #โรค
โฆษณา