25 ก.พ. 2021 เวลา 16:11 • ปรัชญา
การประเมินผลงานประจำปี น้ำตาและรอยยิ้ม.....
ความที่เป็น HR หนีไม่พ้นการต้องมีส่วนร่วมในการประเมินผลการทำงานของพนักงานประจำปี เพื่อขึ้นเงินเดือน และรับโบนัส ด้วยบทบาทหน้าที่ของ HR เราต้องเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลของพนักงานที่เราดูแลให้หัวหน้าหน่วยงานพิจารณาว่าจะได้ผลการปฏิบัติงานเป็นยังไง บางองค์กรก็ตัดเกรด A,B,C,D บางแห่งก็สร้างคำที่เลิศหรูตามคำแนะนำของบริษัทที่ปรึกษาว่าจะไม่ทำให้รู้สึกเหมือนจัดลำดับ แต่บางทีมันน่าจะเลวร้ายกว่า เช่น ได้เกรด C รู้สึกแย่ละ แต่บางที่เกรด C แปลเป็นไทยได้ว่า ต่ำกว่ามาตรฐานที่คาดหวัง อันไหนปวดใจกว่ากันครับ
การประเมินผลงานประจำปี บางองค์กรใช้ Balance Scorecard แบบเข้มๆ เลย บางที่องค์กรใหญ่ ก็มีไว้ให้พนักงานรับทราบ แต่พอประเมินจริงๆ หัวหน้าหน่วยงานก็ประเมินอยู่ดี บางองค์กรใช้ OKRs บางองค์กรก็สร้างเครื่องมือตั้งชื่อขึ้นมาเอง แต่มีกลิ่นไอของ BSC หรือ OKRs อยู่ดี ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทที่ปรึกษาจะตั้งใจและเปลี่ยนแปลงส่วนไหน แล้วที่ปรึกษาก็รับเงินไปค่าคิดงานให้
การประเมินผลงานประจำปีของพนักงาน เป็นอะไรที่ HR อย่างผมมักจะปวดใจอยู่เสมอ เพราะหัวหน้าจะเป็นคนตัดสินใจจากความรู้สึก ผลของงานที่ตัวเองรู้สึก แล้วถ้าโชคไม่ดี ได้หัวหน้าที่ไม่ค่อยโอเคทั้ง Mindset และ Leadership skill ตกต่ำ ผลคงไม่ต้องพูดถึง ดีหน่อยบางองค์กรเอามาขึงทั้งกระดานสำหรับพนักงานในระดับเดียวกันหลังจากที่หัวหน้าประเมินมาแล้ว ลองนึกดูมีคณะกรรมการมาช่วยกรองอีกชั้น ด้วยวิธีคิดมันโอเค แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าพนักงานคนไหนทำอะไรที่ไม่ถูกใจ หรือหนึ่งในคณะกรรมการวุฒิภาวะทางจิตใจ ไม่เหมาะสม สรุปคือ พนักงานคนนั้นอาจจะพ้นสภาพพนักงานหลังจากได้รับผลการประเมินประจำปี ก็มีอยู่มากมาย
แล้วเครื่องมือชี้วัดอะไรที่ดีที่สุด ชัดเจนที่สุด จากประสบการณ์ผมคิดว่า ไม่มีเครื่องมืออะไรที่ดีที่สุดใน 3 โลก แต่ทุกเครื่องมือมีเหตุและผลของมัน อยู่ที่หัวหน้าหรือคณะกรรมการพิจารณา มีวุฒิภาวะ มีคุณสมบัติที่เหมาะสม และอื่นๆ เหมาะสมเพียงพอที่จะมานั่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาชะตาชีวิตพนักงาน 1 คน ได้หรือไม่ เพราะมาตรฐานของพี่ อาจไม่ใช่มาตรฐานของผม และยิ่งโชคดีใหญ่ถ้ามีคณะกรรมการบางคนที่เป็น HIPPO ในองค์กร หรือไม่ก็ เจ๊ใหญ่ประจำซอย เสียงดังฟังชัด เหตุผลฉันสำคัญที่สุด เพราะฉันรักองค์กรเหลือเกิน คนอื่นๆ ไม่รักเท่าฉัน เหล่านี้เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของ HIPPO ในองค์กร (ว่างๆ จะเล่าให้ฟังนิยามของ HIPPO)
เหล่านี้เป็นที่มาของน้ำตาและรอยยิ้มของพนักงานประจำปี HR เป็นเหมือนแค่พนักงานส่งของคนหนึ่ง ที่รับข้อมูลส่งข้อมูล HRที่ปากดีหน่อยก็อาจจะพูดได้แค่ว่า ผมค่อนข้างกังวลกับการประเมินผลงานน้องแบบนี้ หรือ การประเมินผลแบบนี้พนักงานอาจจะไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งในปีนี้ ที่ผ่านมา 2-3 ปีพนักงานทำผลงานมาดีตลอดอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้เลื่อนตำแหน่งนะครับ แต่สุดท้ายหัวหน้าหรือคณะกรรมการพิจารณาที่มี HIPPO เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย ก็จะแย้งด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ สุดแต่เวรและกรรม เป็นของใครก็รับกันไป นี่แหละจึงเป็นผลการปฏิบัติงานประจำปีที่เต็มไปด้วยน้ำตาและรอยยิ้มของพนักงานที่ HR มีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการพิพากษาบนพื้นฐานของความยุติธรรมและชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ .... เหรออออ
โฆษณา