26 ก.พ. 2021 เวลา 02:39 • กีฬา
ข่าวที่สร้างความช็อกแบบสุดๆ ที่เกาหลีใต้ คือนักกีฬาเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ออกมาเปิดเผยว่า เธอโดนโค้ชข่มขืนมาตลอดหลายปี โดยเอาความฝันของเธอ นั่นคือโอกาสการติดทีมชาติมาต่อรอง
10
ฟังดูเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ แต่มันคือเรื่องจริง และศาลที่เกาหลีมีคำพิพากษาออกมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมันได้สร้างผลกระทบอย่างมหาศาลให้กับคนทั้งประเทศ
4
คนที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องนี้คือ ชิม ซ็อค-ฮี นักกีฬาสปีดสเก็ตติ้ง เธอคือไอคอนคนสำคัญของประเทศ ผลงานที่ผ่านมา คว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาได้ถึง 2 ครั้ง จากสเก็ตผลัด 4x3000 เมตร ในโอลิมปิก 2014 ที่โซชิ และโอลิมปิก 2018 ที่พยองชาง
4
รวมถึงเคยได้เหรียญเงินจากเดี่ยวสเก็ต 1500 เมตร และ เหรียญทองแดงจากเดี่ยวสเก็ต 1000 เมตร อีกต่างหาก นั่นทำให้เธอเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กสาวจำนวนมากที่เกาหลี หันมาสนใจเล่นสปีดสเก็ตติ้งมากขึ้น
5
ตอนได้เหรียญทองโอลิมปิกครั้งแรก (2014) เธอเพิ่งมีอายุ 17 ปีเท่านั้น ใครๆก็ต่างยกย่องว่าเธอคือ เด็กสาวฝีมืออัจฉริยะ นอกจากผลงานในสนามแล้ว เธอได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะมีรูปร่างงดงาม สูง 175 ซม. แขนขาเรียวเล็ก เป็น Body Goal ของผู้หญิงหลายต่อหลายคน
5
ถ้าดูจากเปลือกนอกแล้ว ชีวิตของชิม ซ็อค-ฮี ก็น่าจะมีความสุขดี ก็ทุกอย่างโรยด้วยกลีบกุหลาบขนาดนั้น
ในปี 2017 ทั่วทั้งโลกเกิดกระแส #MeToo (ฉันก็โดน) โดยผู้หญิงแต่ละคนที่เคยโดนล่วงละเมิดทางเพศ จะออกมาเปิดเผยว่า ตัวเองเคยตกเป็นเหยื่ออย่างไร เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นหลัง ได้ตระหนักว่า การโดนล่วงละเมิด ไม่ใช่สิ่งที่ต้องจำยอม และไม่ว่าใครทั้งนั้น ก็ไม่มีอำนาจเหนือร่างกายเราทั้งสิ้น
1
แม้ movement ของ #MeToo จะไปไกลทั้งโลก แต่ที่เกาหลีกลับมีน้อยคนมาก ที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้อง ด้วยความที่พื้นฐานของเกาหลี เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ฝ่ายหญิงจึงรู้สึกว่า ก็เป็นเรื่องไม่ได้แปลกอะไร ถ้าตัวเองจะโดนกดขี่ ทำร้ายร่างกายและจิตใจ เพราะใครๆก็โดนกัน
11
และเซเล็บที่ลุกขึ้นมาพูดเป็นคนแรกที่เกาหลีก็คือ ชิม ซ็อค-ฮี นั่นเอง โดยสิ่งที่เธอเล่า สร้างความตื่นตะลึงอย่างมาก ให้กับประชาชน
4
ในช่วงที่เข้าวงการใหม่ๆ ชิม ซ็อค-ฮี เป็นเด็กที่มีพรสวรรค์เรื่องการไอซ์สเก็ต ตอนอายุ 7 ขวบ พ่อแม่เห็นแววจึงส่งเธอไปเรียนกับโช แจ-บอม โค้ชดีกรีทีมชาติเกาหลีใต้ คือถ้าสอนได้ถูกวิธี ตัวซ็อค-ฮี อาจประสบความสำเร็จไปได้ไกลเลยก็ได้
5
การสอนเต็มไปด้วยความเข้มข้น แม้จะเป็นเด็กก็ไม่เว้นความโหด โดยซ็อค-ฮีเล่าว่า "โค้ชตบตีฉัน และพูดจาแรงๆใส่ตลอดตั้งแต่อายุ 7 ขวบ มีครั้งหนึ่งเคยเอาไม้ฮอกกี้น้ำแข็งฟาดใส่มือจนฉันนิ้วหัก"
8
ยิ่งโตขึ้น การซ้อมก็รุนแรงมากขึ้น โช แจ-บอม เคยอัด ชิม ซ็อค-ฮี จนร่วงในล็อกเกอร์รูมมาแล้ว แต่ปัญหาคือ ในวงการกีฬาเกาหลีนั้น เรื่องภายในก็จบที่ภายใน ทุกคนเข้าใจว่า การซ้อมกีฬามันก็ต้องโหดแบบนี้ ดังนั้นต่อให้ซ็อค-ฮี จะป่าวประกาศว่าโดนทำร้ายแค่ไหน ก็ไม่มีใครแคร์อยู่แล้ว
19
แม้ความรุนแรงจะเกิดขึ้นจริง แต่ฝีมือในการโค้ชของโช แจ-บอม ก็เป็นของจริงเช่นกัน เขาพัฒนา ซ็อค-ฮี ให้เก่งขึ้นได้อย่างก้าวกระโดดมาก ในปี 2012 ซ็อค-ฮี ในวัย 15 ปี ติดทีมชาติชุดเยาวชน ก่อนคว้าเหรียญทองยูธโอลิมปิกที่ออสเตรีย เรียกได้ว่าเส้นทางการติดทีมชาติชุดใหญ่อยู่แค่เอื้อมเท่านั้น
8
ความฝันของซ็อค-ฮี คือการได้ลงแข่งโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2014 ที่โซชิ ประเทศรัสเซีย ซึ่งว่ากันตรงๆ เธอก็ใกล้มากแล้ว เป้าหมายอยู่ข้างหน้าแค่นี้เอง
4
ในปี 2013 ด้วยความที่ ซ็อค-ฮี โตเป็นสาวขึ้น ในวัย 16 ปี เธอเริ่มตัวสูง และสวยขึ้น คราวนี้บทลงโทษของโช แจ-บอม จึงเปลี่ยนไป จากเดิมถ้า ซ็อค-ฮี ซ้อมผิดพลาด ซ้อมไม่ดี เขาจะชกต่อยตบตี มาคราวนี้เขาเปลี่ยนเป็นการบังคับข่มขืนแทน
5
ฟังดูเป็นเรื่องประหลาดว่าทำไมถึงยอม แต่ซ็อค-ฮี อธิบายในภายหลังว่า เพราะอีกฝ่ายเป็นโค้ชทีมชาติ เป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะส่งใครไปแข่งโอลิมปิก ดังนั้นต่อให้เธอจะเก่งแค่ไหน แต่ถ้าสร้างความผิดใจให้โค้ช ก็อาจโดนตัดชื่อทิ้งก็ได้ ซึ่งเพื่อความฝันแล้ว ทำให้เธอไม่มีทางเลือกจึงต้องยอมรับสภาพไป
12
แล้วอีกอย่างเธอตอนนั้นก็เป็นแค่เด็กอายุ 16 ที่ยังไม่เข้าใจโลก ยังไม่รู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติ ดังนั้นจึงยอมรับสภาพการโดนข่มขืนไปทั้งอย่างนั้น
3
"เขาเคยบอกฉันว่า ถ้าเรื่องนี้หลุดออกไป ฉันจบสิ้นแน่" ซ็อค-ฮีกล่าว ซึ่งมันทำให้เธอสับสน คือถ้าเปิดเผยเรื่องนี้ไป หลักฐานก็ไม่มี ถ้าหากโค้ชโดนเอาผิดไม่ได้ ก็ต้องเอาคืน ด้วยการตัดชื่อเธอทิ้งจากทีมชาติแน่ แล้วความฝันของเธอก็ต้องสิ้นสุดไปตลอดกาล ซึ่งพอหักลบเหตุผลแล้ว ซ็อค-ฮี จึงเก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวคนเดียว ไม่บอกพ่อแม่ ไม่บอกใครเลย
6
"ฉันโดนล้างสมองมาตั้งแต่เด็ก ฉันกลัวว่าจะไม่ได้ติดทีมชาติ ฉันกลัวว่าจะพลาดการไปแข่งโอลิมปิก และที่ผ่านมาเรารู้ว่าที่เกาหลี ไม่เคยมีบทลงโทษโค้ชที่ใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว"
4
ซ็อค-ฮี บันทึกว่าเธอโดนข่มขืนไปมากกว่า 30 ครั้ง หลายๆครั้ง เกิดขึ้นในสถานที่ ที่ไม่น่าเชื่อ เช่นห้องล็อกเกอร์ในมหาวิทยาลัยกีฬาเกาหลี หรือในหมู่บ้านนักกีฬาจินชอน เธอไม่ใช่เป็นแค่นักกีฬา แต่เป็นเหมือนทาสบำเรอกามของโค้ช
17
กุมภาพันธ์ 2014 มีการประกาศรายชื่อทีมชาติ ไปแข่งขันโอลิมปิกที่โซชิ รัสเซีย และซ็อค-ฮี ก็ก้าวไปติดทีมได้สำเร็จด้วยวัยตอนนั้นแค่ 17 ปี ก่อนที่เธอจะสร้างปรากฎการณ์ เป็นนักกีฬาเกาหลีคนเดียว ที่ได้เหรียญครบทั้ง ทอง, เงิน, ทองแดง
6
หลังจบโอลิมปิกมา เธอคือความมหัศจรรย์ของวงการกีฬาฤดูหนาว แฟนๆกีฬาล้วนชื่นชมเธอ ความฝันของเธอเป็นจริงแล้ว และซ็อค-ฮี ก็ตั้งเป้า อยากได้รับความสุขจากชัยชนะในโอลิมปิกแบบนี้อีก
ปัญหาของเธอ คือความสัมพันธ์กับโค้ช โช แจ-บอม นั่นเพราะแม้เธอจะโดนข่มขืนและทำร้ายร่างกาย แต่เรื่องความสามารถของโค้ชก็เป็นของจริงเหมือนกัน สามารถยกระดับฝีมือเธอได้จริง และเธอก็เห็นความสำเร็จในชีวิตจริงๆ มันจึงเป็นความรู้สึกกระอักกระอ่วนว่า เธอควรจะรู้สึกอย่างไรดี หรือว่ามันเป็นสิ่งที่ใครๆก็ต้องโดนกัน เพื่อแลกกับการประสบความสำเร็จในชีวิต
3
เรื่องการโดนข่มขืนไม่มีใครรู้ แต่เรื่องการทำร้ายร่างกาย ถูกพบเห็นโดยทั่วไป โย จุน-ฮยอง โค้ชรุ่นน้องก็ยอมรับว่า เคยเห็นจังหวะที่ ซ็อค-ฮี เคยโดนทำร้ายเหมือนกัน แต่ก็เป็นเรื่องปกติของนักกีฬาที่โดนโค้ชตบตีอยู่แล้ว จึงไม่แน่ใจนักว่าควรจะเอาตัวเข้าไปสอดดีหรือไม่ ก็เลยปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินต่อมาเรื่อยๆ
3
ซ็อค-ฮี เก็บความรู้สึกไว้ และลงแข่งกีฬาต่อไป ซึ่งเธอก็ทำได้ดีอย่างสม่ำเสมอ ได้แชมป์ในรายการต่างๆ มาเรื่อยๆ จนมาถึงต้นปี 2018 อีกหนึ่งรายการสำคัญก็มาถึง นั่นคือ โอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว ที่พยองชาง
3
ซ็อค-ฮี ต้องลงแข่งขัน สเก็ตผลัด 4x3000 เมตร ซึ่งเกาหลีใต้เป็นเจ้าของเหรียญทองจากโอลิมปิกครั้งก่อน อย่างไรก็ตาม ก่อนพิธีเปิดจะเริ่มไม่กี่วัน ผลงานของ ซ็อค-ฮี ดร็อปไปจากเดิม เธอทำความเร็วได้น้อยลง สเก็ตได้ช้ากว่าเพื่อนร่วมทีมที่เหลือ อย่างชอย มิน-จอง หลายวินาที
5
ด้วยความที่โค้ชแจ-บอม ไม่อยากให้ซ็อค-ฮี เป็นตัวถ่วงเพื่อน เพราะอาจเป็นจุดอ่อนทำให้ทีมพลาดเหรียญทอง ทำให้เขา "สั่งสอน" ซ็อค-ฮี อย่างหนักหน่วงสุดๆ
ซ็อค-ฮีเล่าว่า "เขาทั้งเตะ ทั้งต่อยอย่างแรงมากๆ โดยเฉพาะต่อยไปที่หัว ซึ่งตอนนั้นฉันคิดเลยว่าตัวเองอาจจะตายก็ได้"
5
ในวันที่โดนซ้อม ซ็อค-ฮี เจ็บหนักถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ยังไม่ทันได้ฟื้นฟูจิตใจก็ต้องออกจากโรงพยาบาลมาเพื่อลงแข่งขัน สเก็ตผลัด 4x3000 เมตร และสุดท้ายเธอก็ทำได้จริงๆ คว้าเหรียญทองอีกครั้ง เป็นเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญที่ 2 ของ ซ็อค-ฮี
7
หลังจบโอลิมปิกที่พยองชาง เรื่องซ็อค-ฮี บาดเจ็บหนัก ไม่ใช่เรื่องที่จะปกปิดได้อีกต่อไป สื่อมวลชนนำเสนอข่าวนี้อย่างหนักว่าเกิดอะไรขึ้น สุดท้ายจึงรู้ข้อมูลว่า ซ็อค-ฮี โดนโค้ชของตัวเองทำร้ายร่างกายจนต้องเข้าโรงพยาบาล
4
แม้ซ็อค-ฮี จะไม่ได้ฟ้องหรือแจ้งความ แต่เมื่อเป็นคดีทำร้ายร่างกาย จึงกลายเป็นคดีอาญาของรัฐ และกระบวนการสืบสวนจึงเริ่มต้นขึ้น
3
สหพันธ์สเก็ตน้ำแข็งของเกาหลี เอาโค้ชโช แจ-บอม ออกจากงานไว้ก่อน เพื่อให้ไต่สวนได้อย่างบริสุทธิ์ใจ ขณะที่ซ็อค-ฮี เมื่อเรื่องมันแดงมาขนาดนี้ เธอเองก็ไม่ไหวแล้วเหมือนกัน เธอก็สารภาพไปรัวๆ ว่าโดนโค้ชทำร้ายร่างกายอย่างไรบ้าง
3
คดีทำร้ายร่างกาย ไม่มีอะไรพลิกโผ เพราะหลักฐานเพียบ และมีพยานเห็นเหตุการณ์มากมาย ซึ่งในเดือนกันยายน 2018 ศาลตัดสินคดีว่า โช แจ-บอม ผิดจริง โทษฐานทำร้ายร่างกาย ต้องติดคุก 10 เดือน โดยผู้พิพากษากล่าวว่า "จำเลยสร้างรอยแผลเป็นให้เยาวชน ด้วยการใช้การทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ เขาอ้างว่าการใช้กำลังเพื่อเป็นการกระตุ้นนักกีฬาระหว่างการซ้อม แต่ศาลมองว่า มันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้"
14
เราจะสังเกตว่า ในตอนแรก ไม่มีการตัดสินคดีเกี่ยวกับการข่มขืน และการล่วงละเมิดทางเพศ นั่นเพราะตัวซ็อค-ฮีเอง "ไม่บอก" ให้ศาลรับรู้ คือแค่ให้ข้อมูลเรื่องการทำร้ายร่างกายเท่านั้น
3
ทนายของซ็อค-ฮี เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "เธอต้องการเก็บเรื่องการโดนล่วงละเมิดเอาไว้กับตัวคนเดียว เพราะเธอกลัวว่า เธอจะต้องโดนตีตรา ในฐานะผู้หญิงที่เคยโดนข่มขืน และมันจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวของเธอด้วย"
3
ถ้าลองคิดในมุมของผู้หญิงที่โดนกระทำก็เข้าใจได้ เธอกลัวว่า ถ้าเวลาไปไหนมาไหน มีคนรู้เรื่องว่าเธอโดนข่มขืน สายตาของคนที่มองมาจะเป็นอย่างไร บางคนอาจจะดูหมิ่นเกียรติเธอ และบั่นทอนความรู้สึก ดังนั้นสู้เก็บไว้ให้สนิทเลยดีกว่า
4
แล้วถ้าพ่อแม่ของเธอรู้เรื่องนี้ ทั้งคู่จะเสียใจแค่ไหน พ่อแม่จะกลายเป็นขี้ปากชาวบ้านหรือเปล่า ว่าลูกของตัวเองโดนผู้ชายข่มขืน ดังนั้นเธอจึงคิดว่า มันอาจจะปลอดภัยกว่า ถ้าไม่พูดเรื่องนี้ออกไปให้ใครรับรู้
3
เหตุผลเหล่านี้ ทำให้เธอไม่กล้าพอที่จะพูดในแง่มุมการล่วงละเมิดทางเพศ ส่งผลให้บทลงโทษของโช แจ-บอม จึงโดนจำคุกแค่ 10 เดือนเท่านั้น
1
ในเวลาต่อมา ด้วยกระแส #MeToo ที่แรงขึ้นในระดับโลก ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของ ซ็อค-ฮี เช่นกัน เธอเริ่มคิดว่า การที่เธอโดนกระทำ มันไม่ใช่เรื่องน่าอับอายที่เธอต้องปกปิด คนที่ทำเธอต่างหาก ที่ควรจะละอาย
5
ดังนั้นถ้าเธอกล้า Speak up พูดออกมาว่าเธอโดนอะไรบ้าง อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กสาวหลายๆคน ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเธอ ได้เข้าใจว่า การโดนล่วงละเมิดจากโค้ช หรือคนที่มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ใช่เรื่องปกติที่ต้องยอมรับกัน
1
สุดท้ายในเดือนธันวาคม 2018 ซ็อค-ฮี จึงออกมายอมรับด้วยว่า เธอไม่ได้แค่โดนทำร้าย แต่เธอโดนโค้ชแจ-บอม ล่วงละเมิดทางเพศ และข่มขืนด้วย
2
ในทันทีที่เธอประกาศออกมา สร้างความตื่นตะลึงมากๆในเกาหลีใต้ เพราะเป็นคำกล่าวของนักกีฬาระดับเซเล็บของประเทศ ในพริบตาเดียวมีประชาชนลงนามมากกว่า 250,000 คน ให้รัฐบาลสืบสวนหาความจริงทันที ขณะที่ประธานาธิบดี มุน แจ-อินกล่าวว่า จะต้องหาข้อสรุปในเรื่องนี้ให้ได้ เพราะ "ทำลายภาพลักษณ์อันสวยงามของวงการกีฬาเกาหลี"
1
เมื่อซ็อค-ฮี เปิดเผยเรื่องทั้งหมด จึงมีหน่วยงานพิเศษสืบคดี ซึ่งแยกคนละเคสกับการทำร้ายร่างกาย โดยขั้นตอนการเก็บข้อมูลและการไต่สวนทั้งหมดคาดว่าจะกินเวลาราวๆ 1-2 ปี
1
ตัวซ็อค-ฮี เมื่อเปิดเผยเรื่องนี้ เธอมีสภาพจิตใจจมดิ่งมาก และต้องเข้ารับการบำบัดจากจิตแพทย์ เช่นเดียวกับคุณพ่อของเธอ ที่เอาแต่โทษตัวเองว่าไม่เคยรู้เรื่องที่ลูกสาวต้องเจ็บปวดมาตลอดหลายปี ก็ต้องเข้าไปรักษากับจิตแพทย์เช่นเดียวกัน
5
แม้ตัวซ็อค-ฮี จะเจ็บปวดที่ต้องพูดถึงมันอีกครั้ง แต่อิมแพ็กต์จากการ "กล้าเปิดเผย" ของเธอ ทำให้วงการกีฬาเกาหลี เกิดกระแส #MeToo กันอย่างมากมาย
6
ชิน ยู-ยอง นักยูโดสาวระดับทีมชาติ ออกมาขอบคุณซ็อค-ฮีแล้วกล่าวว่า สมัยเรียน ม.ปลาย เธอก็เคยโดนโค้ชทีมยูโดข่มขืนเช่นกัน โดยโค้ชบังคับให้เธอกินยาป้องกันการตั้งครรภ์ด้วย นอกจากนั้นยังให้เงินเธอ 5 แสนวอน เพื่อปิดปากไม่ให้เผยแพร่เรื่องนี้ให้ใครรู้
4
เช่นเดียวกับ คิม มี-ซอง นักยิงธนูสาวอนาคตไกล ก็ออกมายอมรับว่าเธอตัดสินใจเลิกยิงธนู เพราะตอนเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 เธอโดนรุ่นพี่ที่ชมรมคุกคามทางเพศ ติดต่อกันมานาน 4 เดือน ซึ่งเธอเล่าว่า "ฉันโดนจับหน้าอก และก้นตลอดเวลา แม้แต่เวลากำลังซ้อม มีผู้จัดการอยู่ใกล้ๆ เขาก็ยังทำ" ซึ่งเธอไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร จะลาออกจากมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ สุดท้ายเลยเลิกไปชมรมธนูเลยดีกว่า
13
เหตุการณ์หลายๆอย่าง ถูกเผยแพร่ออกมาไม่หยุด ในวงการกีฬา มีผู้หญิงจำนวนเยอะกว่าที่คาดจริงๆ ที่โดนทำร้าย และคุกคามทางเพศ จากโค้ชและรุ่นพี่ในทีม
4
การกล้าออกมาพูดเป็นคนแรก ทำให้ซ็อค-ฮี กลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงในยุคใหม่ของเกาหลีใต้ ที่ไม่จำเป็นต้องยินยอมพร้อมใจ เวลาตัวเองถูกกระทำ ในปี 2020 ไนกี้ แบรนด์กีฬาอันดับหนึ่งของโลก เซ็นสัญญากับเธอ ให้เป็นพรีเซ็นเตอร์ และถ่ายโฆษณา ในแคมเปญชื่อ "You can't stop us" หรือคุณหยุดเราไม่ได้หรอก
9
โดยโฆษณาชิ้นนี้ ตั้งใจจะสื่อว่าผู้หญิงสามารถทำได้ทุกอย่าง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีกรอบอะไรมาขวางกั้นไว้
สำหรับการสืบสวนในคดีข่มขืนของโช แจ-บอม กับ ชิม ซ็อค-ฮี ก็ดำเนินต่อไป จนในที่สุด 22 มกราคม 2021 ศาลก็ประกาศคำพิพากษาโดยระบุว่า โช แจ-บอม มีความผิดจริงโทษฐานข่มขืน และต้องโทษจำคุก 10 ปี 6 เดือน นี่ถือเป็นคดีที่มีบทลงโทษแรงที่สุด ในวงการกีฬาเกาหลี
5
ชีวิตของโค้ชแจ-บอม จึงพลิกผันไปในพริบตา จากโค้ชฝีมือดี เมื่อเดินทางสายผิด ตอนนี้จึงกลายเป็นอาชญากรของสังคม
1
ข่าวโช แจ-บอม ติดคุก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า จากนี้ไปวงการกีฬาเกาหลี อาจมีอะไรเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้บ้าง ศาสตราจารย์ชอง ยอง-โชล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยโซกัง กล่าวว่า "ถ้าชิม ซ็อค-ฮี ไม่ใช่นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก เรื่องของเธอคงเงียบหายไปตลอดกาลแล้ว เป็นเรื่องดีที่เธอกล้าออกมาพูด และผลการตัดสินของศาล ก็หวังว่าเหยื่อในประเทศนี้ จะกล้าออกมาพูดว่าตัวเองโดนกระทำอะไรบ้าง และผมหวังว่า ประเทศเราจะไม่มีคดีแบบนี้อีกในอนาคต"
5
สำหรับในเรื่องนี้ เราสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือประเด็นการทำร้ายร่างกาย และการล่วงละเมิดทางเพศ
2
เรื่องการ physical abuse ยังเป็นข้อถกเถียงของสังคมเกาหลี ว่าควรทำได้แค่ไหน ที่ผ่านมาเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในมหาอำนาจในวงการกีฬาของเอเชีย พวกเขาได้เหรียญทองติดท็อปเท็นของโลก ทั้งโอลิมปิกฤดูร้อน และโอลิมปิกฤดูหนาว หลายคนเชื่อว่า วิธีการถึงเนื้อถึงตัวนี่แหละ สร้างคนให้มีวินัยถึงขีดสุด คือหัวใจของความสำเร็จ
4
การบีบคั้นด้านจิตใจ และร่างกาย อาจเป็นเครื่องช่วยกระตุ้นให้นักกีฬาเค้นฟอร์มดีที่สุดออกมาได้ รวมถึงการทำแค่ไหนถึงเรียกว่าทำร้าย ตบหัวนี่นับไหม ซึ่งจุดนี้ สังคมยังต้องดีเบทกันต่อไป ถึงระดับของความเหมาะสมว่าความโหดมันควรมีลิมิตตรงไหน
5
ส่วนอีกประเด็นคือการล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งนี้ชัดเจนว่า ไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรทั้งนั้น
หลายๆครั้ง ผู้ถูกกระทำ มักจะโทษตัวเอง และไม่กล้าที่จะบอกใครเพราะกลัวความอับอาย กลัวสายตาสังคม กลัวว่าจะโดนตั้งแง่ว่าไปสมยอมเขาหรือเปล่า และ กลัวพ่อแม่เสียใจ คือมีเรื่องให้คิดมากมายเต็มไปหมด ซึ่งเมื่อคิดแบบนั้น ยิ่งทำให้อีกฝ่ายได้ใจและทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองต้องการ
2
การออกมา "พูด" ของชิม ซ็อค-ฮี ก็ทำให้เห็นแล้วว่า ใช่ เรื่องแบบนี้มันยากที่จะพูด แต่ถ้าเราไม่ยอมเสียอย่าง อย่างน้อยมันก็ต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง และชีวิตเราก็อาจไม่ต้องทนทุกข์ทรมานเหมือนเดิมอีก
1
จริงๆแล้ว สังคมที่จะมีความยุติธรรมอย่างแท้จริงนั้น ทุกเพศต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่างเท่าเทียมกันเสมอ และเมื่อเกิดปัญหา มองที่คนสร้างปัญหา ไม่ใช่ไปเลือกจะประณามคนที่เป็นเหยื่อ
1
เพราะคนที่ควรจะอับอาย มันควรเป็นคนร้ายต่างหาก ไม่ใช่เหยื่อที่โดนกระทำ
15
และสิ่งที่ผมเชื่อเสมอนั่นคือ คุณค่าในชีวิตของคนเรา ไม่มีวันถูกลดทอนลงไป เพียงเพราะเราโดนใครละเมิดหรอกนะ เรายังมีศักดิ์ศรี และสามารถภูมิใจในความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มร้อยเหมือนเดิม
8
#MeToo
โฆษณา