26 ก.พ. 2021 เวลา 15:23 • ธุรกิจ
ใครอยากหาอะไรลงทุน...ลองดูตลาดรถยนต์จีน
1
ในเดือนกันยายนปี 2020 ประเทศจีนได้ประกาศในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าจีนจะบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี 2060
ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนใหญ่ที่สุดในโลก
จีนจำเป็นต้องขยายขอบเขตของนโยบายและเพิ่มเป้าหมายสำหรับภาคเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการยุติการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงล้วน จากประกาศของการทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ “Energy-saving and new energy vehicle technology roadmap” เวอร์ชั่น 2.0
ได้มีการกำหนดเป้าหมายว่า ในปี 2035 จะมีรถยนต์ประหยัดพลังงานและรถยนต์พลังงานทดแทน เป็นสัดส่วน 50% ของรถยนต์ที่จำหน่ายทั้งหมด
นี่คือสัญญาณของโอกาสทองในอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานทดแทนและรถยนต์ไฟฟ้า เพราะประเทศจีนเป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์สูงที่สุดในโลก
จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศจีน (China Association of Automobile Manufacturers) ในปี 2020 ที่ผ่านมามียอดจำหน่ายรถยนต์ 25.3 ล้านคันต่อปี ลดลง 1.9% จากปี 2019
ส่วนรถยนต์ประหยัดพลังงานและรถยนต์พลังงานทดแทนมียอดขาย 1.36 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 10.9% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5.4% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด
1
จากสัดส่วน 5.4% ในปัจจุบัน เป็นสัดส่วน 50% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมดในปี 2035 นั่นหมายความว่าในอีก 15 ปี มีโอกาสเติบโตอีกถึงเกือบ 10 เท่า
1
จากตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ปัจจุบันปีละ 25 ล้านคัน ถ้าสัดส่วนของรถยนต์พลังงานทดแทนเท่ากับ 50% ยอดขายต่อปีจะอยู่ที่ 12.5 ล้านคัน
1
สมมุติว่าเฉลี่ยคันละ 1 ล้านบาท นั่นแปลว่าตลาดนี้ในจีนมีมูลค่าสูงถึง 12.5 ล้านล้านบาทเลยทีเดียวโดยไม่นับว่าตลาดโดยรวมจะเติบโตอีกด้วย (GDP ไทยทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 15.7 ล้านล้านบาท)
ในปี 2020 ที่ผ่านมา มีเทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้าสองเทรนด์หลักที่น่าจับตามอง ก็คือ รถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะจับตลาดบนเน้นความทันสมัยของเทคโนโลยี
เช่น Tesla ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการอยู่แล้ว ซึ่งปี 2020 มียอดขายพุ่งสูงขึ้นเท่าตัวในจีน เป็น 6.66 พันล้านดอลลาร์ (~200,762 ล้านบาท)
อีกเทรนด์นึงก็คือ รถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด เน้นรถยนต์ราคาย่อมเยา เข้าถึงง่าย จับกลุ่มแมส และกลุ่มคนขับรถเช่า
เช่น Wuling Hongguang Mini EV จากค่าย SAIC-GM-Wuling ที่ขายในราคาเพียง 29,800 หยวน (~137,000 บาท)
รถยนต์ไฟฟ้าที่ครองยอดขายอันดับ 1 ในจีนปี 2020 ก็คือ Tesla Model 3 ขายไป 137,459 คัน และตามมาด้วย Wuling Hongguang Mini EV ด้วยยอดขาย 112,800 คัน
นอกจากนี้ยังมีบริษัท Startup รายใหม่ที่เกิดขึ้นมาในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เข้ามามีบทบาทในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหลายเจ้า เช่น NIO ,X-PENG และ LI AUTO
ซึ่งทั้ง 3 บริษัทเป็นบริษัทที่ IPO อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ และมีมูลค่าบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วงปีที่ผ่านมาอีกด้วย
1
NIO ก่อตั้งในปี 2014 โดยมี JAC (บริษัทผลิตรถยนต์อันดับ 9 ของจีน) เป็นผู้ผลิตรถให้ และมี Tencent, JD, MI ร่วมลงทุน
ซึ่งบริษัทมีมูลค่า เพิ่มขึ้น 23 เท่าจากปี 2019 ( Market Cap 8.6 หมื่นล้านเหรียญ ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 )
ด้วยยอดขาย 43,728 คัน ในปี 2020
X-PENG ก่อตั้งในปี 2014 มีโรงงานของตัวเองขนาด 2.77 แสนตร.ม. โดยมี Alibaba, MI ร่วมลงทุน
บริษัทมีมูลค่า เพิ่มขึ้น 9 เท่าจากปี 2019 ( Market Cap 3.2 หมื่นล้านเหรียญ ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 )
ด้วยยอดขาย 27,041 คัน ในปี 2020
และ LI AUTO ก่อตั้งในปี 2015 ถือว่าเป็นน้องใหม่ที่สุด โดยมี Meituan, Bytedance ร่วมลงทุน
มีมูลค่า Market Cap 2.6 หมื่นล้านเหรียญ ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564
ด้วยยอดขาย 32,624 คัน ในปี 2020
LI AUTO เป็นแบรนด์ที่น่าจับตามองเพราะว่าปัจจุบัน LI AUTO
เพิ่งมีเพียงรุ่นเดียวคือรุ่น ONE แต่ยอดขายก็ไม่น้อยหน้าอีกสองเจ้า อีกทั้งยังมีโรงงานของตัวเองด้วยและเทคโนโลยีที่เลือกใช้ก็เป็น Extended-Range Electric Vehicle (E-REV) ซึ่งมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการดำเนินการ
นอกจาก Startup รายใหม่ที่รุกเข้ามาในตลาดขนาดมหึมาที่หอมหวลและกำลังเติบโตนี้ ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนหลายบริษัทกระโดดเข้ามาในตลาดนี้อีกหลายราย
เช่น Alibaba, Huawei, Xiaomi, Baidu โดยรายใหญ่ก็เลือกร่วมมือกับบริษัทรถยนต์ในตลาดเพื่อร่นระยะเวลาในการออกผลิตภัณฑ์ออกมาสู่ท้องตลาดด้วย
การเข้ามาเล่นในสนามนี้ของบริษัท Tech เหล่านี้อาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะแม้แต่ Apple เองก็ยังเข้ามาเล่นในสนามนี้ โดยเริ่มมีข่าวตั้งแต่ปี 2014 โดยใช้ชื่อว่า “Project Titan”
ซึ่งจากที่สำนักข่าว Reuter ได้วิเคราะห์ไว้ Apple อาจจะเปิดตัวรถคันแรกในปี 2024 โดยโฟกัสเรื่อง "Autonomous driving car”หรือรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนเอง
และยังมีข่าวว่าอาจร่วมมือกับ Hyundai ในการผลิต Apple Car ซึ่งล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์น่าจะมีการยกเลิกดีล แต่เชื่อว่า Apple น่าจะกำลังหาพาร์ทเนอร์โรงงานผลิตรถยนต์มาผลิตให้ เหมือนที่ใช้โรงงานในจีนในการผลิต iPhone และ Apple เป็นเพียงผู้ออกแบบ
หรือแม้แต่แบรนด์ที่เป่าผม Dyson ก็พยายามที่จะสร้างรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ถึง 3 ปีโดย James Dyson วิศวกรผู้ก่อตั้งแบรนด์ Dyson เป็นคนลงมือออกแบบและควมคุมการผลิตรถต้นแบบเอง
จนในที่สุดก็สร้างสำเร็จ แต่เนื่องจากต้นทุนในการผลิตสูงเกินไปจึงทำให้ต้องพักโปรเจคนี้ไป
เรากลับมาดูบริษัท Tech ยักษ์ใหญ่ของจีนว่าแต่ละเจ้ามีความเคลื่อนไหวอย่างไรกันบ้าง?
Alibaba + SAIC
เริ่มที่ Alibaba ได้ร่วมมือกับ SAIC Motor บริษัทผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดในจีน
Alibaba + SAIC Motor = IM (Intelligence in Motion 智已汽车) โดยทาง SAIC ถือหุ้นใหญ่ 54% Alibaba ถือหุ้น 18% และยังมีภาครัฐและผู้ลงทุนอื่นๆ
IM เพิ่งจัดงานเปิดตัวในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV)โดยมุ่งเน้นไปเรื่อง AI และเทคโนโลยีล้ำสมัย มีระบบปฏิบัติการของตัวเองที่ชื่อว่า IMOS และมีระบบชาร์จไฟไร้สาย ที่ชาร์จจากใต้ท้องรถ ซึ่งมีสองรุ่นด้วยกัน
1
รุ่น Sedan จะมีการเปิดจองครั้งแรกในเดือนเมษายนปีนี้ที่งาน
Shanghai Motor Show และจะส่งมอบก่อนปลายปี 2021 และรุ่น SUV จะออกสู่ตลาดในปี 2022
Baidu + Geely
บริษัท Search Engine อันดับ 1 ของจีนร่วมมือกับ Geely บริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่อันดับ 3 ของจีน (เป็นเจ้าของ Volvo และถือหุ้น Daimler 9.7%)
ซึ่ง Baidu ถือว่าเป็นบริษัทแรกๆในจีนที่ลงทุนในเรื่อง ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Driving) ตั้งแต่ปี 2013 และเป็นจุดกำเนิดของ Baidu Apollo ที่ปัจจุบันได้มาตรฐาน Level 4 (Fully Automated Driving) ที่สามารถขับเคลื่อนได้โดยเองทั้งหมด
การร่วมมือครั้งนี้ Baidu จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีแผนจะเริ่มออกสินค้าสู่ตลาดภายใน 3 ปี
ซึ่งทาง Geely เองก็มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว และยังประกาศชัดว่า เปิดรับเป็นฐานการผลิตให้กับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอีกด้วย
นอกจาก Baidu แล้ว Geely ก็ยังร่วมมือกับ Tencent ในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
Xiaomi
มีข่าวลืออกมาหลายครั้งในปีที่ผ่านมาว่า Xiaomi จะออกรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแน่นอนว่าทุกค่ายไม่ว่าจะเป็นรายเก่ารายใหม่ก็ต้องจับตามอง เพราะสิ่งที่ Xiaomi ทำมาตลอด 10 ปีก็คือการ ปฏิวัติวงการของสินค้าแต่ละหมวด
เช่น สมาร์ทโฟน ทีวี เครื่องกรองอากาศ กล้องวงจรปิด และอีกหลายหมวด ด้วยเป้าหมายทำให้ สินค้าราคาถูกแต่คุณภาพดี แถมดีไซน์สวยอีกต่างหาก มีข่าวว่า เหลิย จวิน จะเป็นผู้นำทัพเอง ทำให้แฟน Xiaomi ต่างตั้งตารอ
ช่วงสิ้นปี 2020 Xiaomi มีการเปิดเผยตัวเลขของอุปกรณ์ IoT ทั้งหมดของ Xiaomi ที่อยู่ตามบ้านเรือนผู้คนมีทั้งหมด 289 ล้านเครื่อง
มีคนที่มีอุปกรณ์ Xiaomi มากกว่า 5 ชิ้นขึ้นไปมี 5.6 ล้านคน (ไม่รวมมือถือและโน๊ตบุ๊ค) ผู้ใช้ XiaoAI ( ระบบสั่งการด้วยเสียงอัจฉริยะของ Xiaomi ) มีกว่า 78 ล้านคนต่อเดือน
แฟนคลับใน Ecosystem มากมายขนาดนี้ถ้ามีรถยนต์ไฟฟ้า Xiaomi ออกมายอดขายน่าจะไม่น้อยหน้าเจ้าอื่นแน่นอน
Huawei + Changan + CATL
ยักษ์ใหญ่แห่งวงการโทรคมนาคมอย่าง Huawei ก็ไม่น้อยหน้า ลงมาเล่นในสนามรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเหมือนกัน โดยจับมือร่วมกับ Changan ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน
และ CATL (Contemporary Amperex Technology Co. Limited) บริษัทผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ใหญ่ที่สุดของจีน
ที่จะมุ่งเน้นพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า High-End ซึ่งคาดว่าน่าจะออกสู่ตลาดในปี 2021 นี้
หลายคนคงสงสัยว่าแล้วเจ้าตลาดรถไฟฟ้าอย่าง BYD ล่ะ กำลังทำอะไรอยู่ BYD ถือว่าเป็นเจ้าที่ได้เปรียบที่สุดในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
เพราะมีทั้งการผลิตแบตเตอรี่เอง ผลิตรถยนต์เอง และ ยังมีการผลิต Semiconductor เองซึ่งกำลังจะ IPO เร็วๆนี้อีกด้วย
BYD เป็นบริษัทที่มีกำไร ไม่ใช่บริษัท Startup และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง A Share และ H Share แต่ด้วยภาพลักษณ์ของบริษัทที่ไม่ได้ จับตลาด High-End หรือมีเทคโนโลยีล้ำหน้าหวือหวา จึงอาจทำให้คนพูดถึงไม่มากนัก
แต่จริงๆแล้ว BYD มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เจ้าอื่นไม่มีด้วยซ้ำ เช่น Blade Battery ที่มีความปลอดภัยสูงที่สุดในบรรดาแบตเตอรี่ทั้งหมด
ซึ่งเมื่อปลายปี 2020 ก็ได้ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น D1 ล็อตแรกจำนวน 700 คัน ที่ใช้ Blade Battery ที่ทาง Didi เป็นผู้สั่งผลิต ( Didi บริษัทที่ทำแอปเรียกรถใหญ่ที่สุดในจีน มีผู้ใช้บริการกว่า 550 ล้านคน )
ทั้งนี้ แม้ว่าอนาคตตลาดรถยนต์พลังงานทดแทนและรถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถเติบโตไปได้อีกไกล เป็นเค้กชิ้นใหญ่ที่หลายบริษัทรวมถึงนักลงทุนต่างจับตามอง
แต่การสร้างและจำหน่ายรถยนต์ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะนอกจากการผลิตแล้วยังมีเรื่องเทคโนโลยี ช่องทางจัดจำหน่าย การบริการหลังการขาย และอื่นๆอีกมาก
ก่อนหน้านี้มีหลายบริษัทที่ได้ก้าวเข้ามาเผาเงินจนดับไปแล้วหลายราย เช่น
- Saleen Auto ที่ผลาญเงินไป 6.6 พันล้านหยวน แต่ขายได้แค่ 31 คัน
- Byton Auto ที่ผลาญเงินไป 8.4 พันล้านหยวน ก็ประกาศยุติกิจการทั้งหมดไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
- หรือ Bordrin Auto ที่ไม่เคยมีข่าวสักเท่าไหร่ จนกระทั่งบริษัทประกาศล้มละลายถึงได้ขึ้นข่าวหน้าหนึ่ง
ตอนนี้ปัญหาหลักของรถยนต์ไฟฟ้าก็คือ ระยะทางที่รถสามารถวิ่งได้ และเวลาในการชาร์จแบต
ซึ่งถ้ามีเทคโนโลยีหรือรูปแบบการบริการที่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้แล้วละก็บริษัทรถยนต์ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่ จะสามารถเข้ามาร่วมวงด้วยได้อย่างง่ายดาย
ดังนั้น ถ้าใครคิดจะลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ อาจต้องระมัดระวัง อย่าตามกระแสความร้อนแรงของบริษัท Startup เพียงอย่างเดียว
ลองดูบริษัทใหญ่ที่มีพื้นฐานการเงินดี อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดนี้ก็ยังเติบโตได้อีกมากอย่างแน่นอน
อย่างน้อยๆก็ 10 เท่าล่ะ!!
โฆษณา