26 ก.พ. 2021 เวลา 16:41 • ประวัติศาสตร์
โลกเราในตำนานกรีกเกิดขึ้นมาได้ยังไง?
จากตำนานในบทกวีกล่าวว่า เมื่อ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช โลกของเรานั้นเกิดขึ้นมาเป็นความเวิ้งว้างว่างเปล่า ความเวิ้งว้างนั้นเรียกว่า จีอา บางตำราเรียกไกอา (Gaea หรือชื่อโรมันเรียกว่า เทลลัส) นั้นคือเทพองค์แรกของตำนานกรีก เป็นมารดาของสรรพสิ่งทั้งมวลบนโลก หลังจากนั้นจีอาได้สร้างแผ่นฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวปกคลุม นั้นคือ อูรานอส (Ouranos หรือชื่อโรมัน เรียกว่า ยูเรนัส) ถือเป็นเทพองค์ที่สองที่ได้ถือกำเนิดขึ้น ชาวกรีกนั้นได้ถือว่าอูรานอสนั้นเป็นบิดาแห่งสรรพสิ่งทั้งปวง ไม่เพียงเท่านั้นเทพอูรานอสนั้นถือได้ว่ามีศักดิ์เป็นสามีของจีอาและเป็นลูกชายของนางด้วย สองเทพนั้นมีที่พักคือบนยอดเขาโอลิมปัส เหตุที่เลือกโอลิมปัสเพราะเป็นภูเขาที่ตั้งอยู่บนพื้นดินแต่สูงถึงแผ่นฟ้า
จีอา และ อูรานอส
จีอาได้ให้กำเนิดบุตร 6 องค์ และธิดา 6 องค์ บุตรทั้งหมดมีนามว่า โอเซียนัส (Oceanus) ซีอัส (Coeus) ครีอัส (Creus) ไฮเพอร์เรียน (Hyperion) ไอแอพิทัส (Iapetus) และโครนัส (Cronus) ธิดาทั้ง 6 มีนามว่า เธีย (Thea) รีอา (Rhea) ธีมิส (Themis) ธีทิส (Thetis) เนโมซินี (Nemosyne) และฟีบี (Phoebe) บุตรและธิดาที่ถือกำเนิดจากจีอาและอูรานอสนั้นเป็น ไทแทน (Titan) หรือ ไจแกนทีส (Gigantes) ซึ่งมีความหมายว่า มหึมา เนื่องจากบุตรและธิดาทั้ง 12 นั้นมีรูปร่างใหญ่มหึมานั้นเอง (แต่คณะเทพไทแทนไม่ได้หมายถึงยักษ์ไทแทนที่มีหน้าตาหน้าเกลียดหน้ากลัวแบบภาพจำในอนิเมะเรื่อง attack on titan นะ จากตำราหรือภาพวาดมักจะสื่อถึงไทแทนว่ามีลักษณะคล้ายคน แต่ตัวใหญ่กว่าเท่านั้นเอง อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเทพโอลิมปัสถึงมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่ามนุษย์ด้วยก็เป็นได้) ด้วยความใหญ่มหึมาของลูก ๆ อูรานอสจึงหวาดหวั่นกลัวลูกของตัวเอง จึงได้สร้างขุมนรกที่มืดมิดและน่ากลัวที่สุดในยมโลกขึ้น เรียกว่า ทาร์ทะรัส (Tartarus) และนำบุตรและธิดาของตนโยนลงไปขังไว้ในขุมนรกที่สร้างไว้ เพื่อป้องกันไม่ได้ลูกของตนได้ใช้พลังวิเศษต่อต้านตัวเองได้ (กลัวโดนลูกที่ตัวใหญ่ยึดอำนาจตัวเอง)
Painting of the Fall of the Titans, by Cornelis van Haarlem
หลังจากที่ขังลูกไทแทนทั้ง 12 แล้ว จีอายังได้ให้กำเนิดบุตรอีก 2 ครั้ง โดยครั้งแรกให้กำเนิดโอรส 3 ตน นามว่า คอตทัส เบรียรูส และไกจีส เป็นยักษ์มีรูปร่าง 50 หัว 100 แขน มีนิสัยดุร้าย ครั้งที่สองได้ถือกำเนิดยักษ์ ชื่อ ไซคลอปส์ เป็นยักษ์ตาเดียว มีตาอยู่กลางหน้าผาก และอีก 3 ตน นามว่า ฟ้าลั่น บรอนทีส, ฟ้าแลบเทอโรพีส, แสงสว่างวาบอาร์จีส เมื่ออูรานอสเห็นลูก ๆ ตัวเองเป็นเช่นนี้ จึงจับลูกทั้งหมดโยนลงขุมนรกทาร์ทะรัส อีกครั้งรวมกับพี่ ๆซึ่งเป็นเหล่าไทแทนอีก 12 คน
แต่เนื่องด้วย ฟ้าลั่น บรอนทีส, ฟ้าแลบ เทอโรพีส, แสงสว่างวาบ อาร์จีส ทั้งสามเป็นสามพี่น้องซึ่งมีพลังแห่งแสง ทำให้นรกทาร์ทะรัสที่เคยมืดมิดกลายเป็นขุมนรกที่มีแสงสว่างแสงเหล่านี้ทำให้พลังของอูรานอสนั้นเสื่อมลง เหล่าพี่ไทแทนทั้ง 12 จึงเกิดความกล้าคิดแผนแหกขุมนรกนี้ขึ้น ด้านนางจีอา หลังจากโดนสามีตัวเองจับลูกๆของตนลงไปขุมนรกไป จึงเกิดความไม่พอใจสามีตนเองเป็นอย่างมาก เมื่อพบว่าลูกเหล่าเทพไทแทนวางแผนแหกคุกนรกจึงให้การสนับสนุนให้เหล่าลูกๆ ของตนนั้นเข้ายึดอำนาจอูรานอส
การที่จะเข้ายึดอำนาจอูรานอสนั้นเป็นเรื่องยาก ไม่ใครกล้าพอที่จะทำเช่นนั้น นอกจากโครนัส (บางตำราเรียก โคนอส) ที่อาสาเป็นผู้ที่จะปราบพ่อตนเอง จีอาผู้เป็นแม่จึงได้ทำการปลดปล่อยโคนัสออกจากขุมนรกพร้อมมอบเคียวให้เป็นอาวุธในการปราบผู้เป็นพ่อในครั้งนี้ เมื่อตกกลางคืนโครนัสได้เข้าไปแอบรออูรานอสอยู่ใต้เตียงของจีอาและอูรานอส เมื่อเห็นว่าพ่อตัวเองได้หลับไปแล้ว โครนัสจึงได้นำเคียวที่ได้มาจากแม่ เข้าจู่โจม ตัดอัณฑะอูรานอสขว้างทิ้งไป อูรานอสนั้นเสียเปรียบในการต่อสู้ครั้งนี้จึงมีบาดแผลตามตัวเป็นจำนวนมาก ก่อนสิ้นใจ อูรานอสได้สาปแช่งโครนัสขอให้ถูกลูกของตนเองกลับมาชิงอำนาจไปเหมือนกับที่โครนัสได้ทำกับตน
โคนอสปราบอูรานอส  ภาพวาดโดย Giorgio Vasari
หยดเลือดจากบาดแผลของอูรานอสนั้นได้หยดตกลงที่ผืนดิน กลายเป็น ยักษ์ ภูติอีรินิส และพรายน้ำจำนานมาก
 
ส่วนอัณฑะนั้นตกลงไปในทะเล ได้กลายเป็น เทพีสาวงาม อโฟรไดท์ (Aphrodite) หรือ วีนัส ในโรมัน
The Birth of Venus ผลงานของ Sandro Botticelli (c.1485).
นี่เป็นเรื่องราวการกำเนิดโลกจากตำนานกรีก เรื่องราวที่ได้กล่าวไปนั้นเป็นเพียงเหล่าเทพชุดแรกในการครองโอลิมปัสเท่านั้น ยังมีเทพ เทพี อีกหลายองค์ยังไม่ได้ถือกำเนิด
เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เราได้มุมมองว่าคนโบราณในยุคนั้นยังไม่มีความรู้ในเรื่องปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมากนัก จึงนำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าขานต่อกันไปเพื่อความสบายใจ หรือ สร้างที่ยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนในสมัยนั้นนั่นเอง
หากบทความมีข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
ที่มา
ตำนานศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้ากรีก. กรุงเทพฯ : ไพลิน, 2544.
โฆษณา