27 ก.พ. 2021 เวลา 02:00
ทำไมยังรู้สึกแย่อยู่?
เมื่อ "ยา" อาจไม่ใช่คำตอบของทุกปัญหา
.
.
Johann Eduard Hari เป็นนักข่าวและนักเขียน ตัวเขาเองมีหนังสือขายดีระดับ The New York Times bestseller ชื่อ Lost Connection เป็นหนังสือที่ต้องบอกว่าอ่านแล้วสนุกมาก
.
เขามีโอกาสได้ขึ้นพูดบนเวที TED และได้เล่าเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่พวกเราควรคิดและตรึกตรองให้มากๆ ครับ
.
Johann Hari ได้รับการวินิยฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่วัยรุ่น เขาได้รับการจ่ายยา Paxil เพื่อมารักษาอาการ และช่วยปรับสมดุลของเคมีในสมอง
.
ตอนแรกๆ ที่กินยาก็อาการดีขึ้นครับ แต่หลังจากนั้นเขาก็กลับมาเป็นแบบเดิมอีก คราวนี้ก็เลยต้องเพิ่มโดสของยาเข้าไปอีก จนกระทั่ง 13 ปี ให้หลัง เขากินยาสูงที่สุดเท่าที่จะกินได้แล้ว แต่เขาเองก็ยังรู้สึกเจ็บปวดและวนเวียนอยู่กับความเศร้าหมองที่ไม่มีทางออก
.
เขาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “นี่มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่...เราทำทุกอย่างตามที่ควรจะทำแล้ว ทำไมถึงยังรู้สึกแย่แบบนี้อยู่?”
.
เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น เขาได้เดินทางไปทั่วโลก เป็นระยะทางกว่า 60,000 กิโลเมตร เพื่อหาคำตอบ การเดินทางทำให้เขาพบกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้จากหลากหลายมุมโลก เพื่อพูดคุยและหาสาเหตุของอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล
.
ที่สำคัญที่สุด คือ อะไรที่สามารถรักษาอาการเหล่านี้ได้
.
ซึ่งเขาได้พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บอกว่า อาการซึมเศร้าและวิตกกังวลนั้นเกิดขึ้นจาก 9 สาเหตุด้วยกัน 2 ใน 9 นี้เป็นสาเหตุทางชีววิทยา เช่น เรื่องของยีนส์​ หรือการเปลี่ยนแปลงของสมอง เป็นต้น
.
แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มาจากชีววิทยาเพียงเท่านั้น แต่มันยังมาจากวิธีการใช้ชีวิตของเราอีกด้วย และเมื่อเราเข้าใจมัน เราจะสามารถเข้าใจถึงวิธีการรักษาแบบอื่นได้
.
Johan ย้ำว่าการรักษาแบบอื่นนั้นควรได้รับการพิจารณาให้เป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็นทางเลือกนอกเหนือจากการใช้ยาด้วย
.
ยกตัวอย่าง “ความเหงา” หรือ การไปทำงานที่คุณไม่มีอำนาจในการควบคุมปัจจัยอะไรเลย ได้แต่รับคำสั่งอย่างเดียว ก็เป็นสาเหตุของอาการซึมเศร้าได้
.
ถ้าจะให้กล่าวอีกมุม คือ มนุษย์มีความต้องการไม่ใช่แค่ทางร่างกาย แต่เรายังมีความต้องการทางจิตใจด้วย เราต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราต้องการชีวิตที่มีความหมาย ชีวิตที่มีเป้าหมาย เราต้องการให้คนรอบข้างเห็นความสำคัญของเรา
.
เราต้องการเห็นความหวังกับอนาคตที่กำลังจะมาถึง
.
Johan บอกว่าเราอยู่ในสังคมที่มีความเจริญอย่างมาก เรามีชีวิตในหลายมิติที่ดีกว่าสมัยก่อน แต่สังคมของเราทุกวันนี้ทำหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการทางจิตใจได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะในระดับที่ลึกลงไปมากๆ
.
วันหนึ่ง เขาได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักจิตวิทยาชื่อ Dr. Derek Summerfield ซึ่งเคยทำงานอยู่ในประเทศกัมพูชาในปี 2001 และหนึ่งในงานที่เขาทำคือการนำเสนอยาต้านโรคซึมเศร้าให้กับคุณหมอท้องถิ่น ที่ไม่เคยใช้ยาพวกนี้มาก่อนเลย
.
พอ Dr. Derak พยายามอธิบายว่ายาพวกนี้ทำอะไร คุณหมอชาวกัมพูชาก็เอ่ยว่า อ่อ... พวกเขามีของที่ทำหน้าที่ต้านโรคซึมเศร้าอยู่แล้วล่ะ
.
ตอนแรก Dr. Derak เข้าใจว่าหมอชาวกัมพูชาหมายถึงพวกยาสมุนไพร แต่ปรากฏว่าไม่ใช่
.
หมอชาวกัมพูชาท่านนี้ก็เล่าต่อถึงเรื่องของชาวนาคนหนึ่ง ที่โดนกับระเบิดในที่นาของเขาเองทำให้เขาเสียขาไปข้างหนึ่ง
.
หลังจากนั้นชาวนาก็กลับไปทำนาอีก แต่การทำนาด้วยขาเทียมนั้นยากลำบากมาก ประกอบกับมันสะเทือนใจมากที่ต้องกลับไปในสถานที่ที่ทำขาเขาขาด
.
สักพักชาวนาก็เริ่มที่จะร้องไห้ทั้งวัน ไม่ยอมไปทำงานและหมกตัวอยู่แต่ในบ้าน
.
สิ่งที่บรรดาหมอชาวกัมพูชาทำคือ แวะไปหาชาวนาที่บ้าน ฟังชาวนาพูด และบรรดาหมอๆ ก็พบว่าความเจ็บปวดทางใจของชาวนานั้นสมเหตุสมผลมาก
.
พวกเขาตัดสินใจคุยกับคนในหมู่บ้าน ทั้งหมอและคนในหมู่บ้านก็ซื้อวัวให้กับชาวนาหนึ่งตัว เพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องไปทำงานในนา เป็นความร่วมแรงร่วมใจกันของสังคมที่ชาวนาคนนี้อยู่
.
วัวคือยาต้านโรคซึมเศร้าที่หมอชาวกัมพูชาจ่ายให้คนไข้
.
หลังจากนั้นชาวนาก็ดีขึ้นตามลำดับ กลับไปทำงาน ไปเลี้ยงวัว และกลับมาร้องไห้เพราะเรื่องนี้อีก
.
ในปี 2017 WHO (World Health Organization) ออกมารายงานว่าเมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้า เราต้องลดการให้นำ้หนักของความไม่สมดุลของเคมีในสมอง แต่เพิ่มน้ำหนักให้กับความไม่สมดุลในการใช้ชีวิตของเรา
.
ยาต้านโรคซึมเศร้าอาจจะช่วยคนบางคนได้ดีจริงๆ แต่ถ้าต้นเหตุของอาการซึมเศร้านั้นมาจากสาเหตุที่ลึกกว่าแค่เรื่องของสารเคมีในสมอง บางทียาอย่างเดียวอาจจะไม่พอ
.
Johan เน้นว่าเขาไม่ได้บอกว่ายาไม่ดี แต่บางทีมันอาจจะไม่ใช่คำตอบของทุกอย่างก็ได้
.
จากการทำงานเก็บข้อมูลมาเป็นสิบปี สองเรื่องที่ Johan ต้องการจะย้ำก็คือ
.
.
1. ยุคนี้เป็นยุคที่คนเราเหงาที่สุดในประวัติศาสตร์:
.
มีงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่บอกว่า คนอเมริกัน 39% บอกว่า “ตัวเองไม่รู้สึกสนิทสนมกับใครเลยสักคนเดียว” ซึ่งปรากฏการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเกือบทุกพื้นที่ในโลกตะวันตก
.
หากเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของ Homo Sapiens ตั้งแต่สมัยที่เราอยู่ในทุ่งสะวันนาในแอฟริกา จะพบว่า เผ่าพันธ์มนุษย์ไม่ได้แข็งแรง หรือ เร็วกว่าสัตว์ที่เราออกล่าเลย แต่เป็นเพราะว่าเราอยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นเผ่า เป็นสังคม ทำให้เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ราวกับว่าเรามีพลังพิเศษ
.
ตั้งแต่เราอยู่มาบนโลกนี้หลายหมื่นปี นี่อาจจะเป็นยุคแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ที่พฤติกรรมของเราทำลายความเป็นเผ่า เป็นกลุ่มก้อนของเราลง
.
Sam Everington เป็นจิตแพทย์​ที่มีคนไข้หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า เขาเชื่อว่ายาไม่สามารถใช้ได้ผลกับทุกคน มันอาจจะดีในบางคน และไม่ได้ผลในบางคนก็ได้ เขาเลยตัดสินใจที่จะลองวิธีการใหม่ๆ
.
คนไข้หลายคนมาหาเขาด้วยอาการที่ค่อนข้างหนัก เช่น เป็นโรคซึมเศร้าจนไม่อยากออกจากบ้านมา 7 ปีแล้ว เป็นต้น ในขณะที่คุณหมอก็ยังคงให้ยาที่คนไข้เคยได้ต่อไป
.
เขาจึงเพิ่มกิจกรรมบางอย่างเข้ามาด้วย คือ การให้คนไข้มาเจอกันที่คลินิกของเขาสัปดาห์ละสองครั้ง แน่นอนว่าไม่ใช่การให้มานั่งพูดคุยล้อมวงถึงความเศร้าเหมือนที่เราชอบเห็นในภาพยนต์ แต่คนไข้ต้องมานั่งคิดกิจกรรมด้วยกันว่าพวกเขาจะทำอะไรที่มีความหมายในฐานะความเป็น “กลุ่ม” ของพวกเขาดี
.
หลังจากพวกเขาได้พูดคุยกันก็ตกลงว่าจะเอาพื้นที่เล็กๆ ที่รกร้างว่างเปล่าหลังคลินิกมาทำสวน
.
พวกเขาเริ่มลงมือทำสวนด้วยกัน พวกเขารดน้ำพรวนดิน พวกเขาเริ่มหาข้อมูลจากหนังสือ ดู Youtube เรื่องวิธีการทำสวน สิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขากลายเป็นกลุ่มเป็นก้อน พวกเขาสร้าง “เผ่า” ของตัวเองขึ้นมา พวกเขาดูแลสารทุกข์สุขดิบของกันและกัน
.
เมื่อเวลาผ่านไปหมอก็มาถามคนไข้ว่า รู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง?
.
คำตอบของคนไข้คนหนึ่งน่าจะอธิบายทุกอย่างได้ครบถ้วน คนไข้ตอบว่า
.
“As the garden began to bloom, we began to bloom.”
.
“เมื่อดอกไม้ในสวนเริ่มผลิดอก พวกเราก็เบ่งบานตามไปด้วย”
.
วิธีการนี้กำลังแพร่หลายมากๆ ในยุโรป เราเรียกมันว่า “Social Prescribing” ซึ่งเริ่มมีหลักฐานว่า การสร้างกลุ่มก้อนลักษณะนี้ขึ้นมา สามารถเยียวยาอาการซึมเศร้าได้จริงๆ
.
.
2. บางทีเรากำลังเดินหาความสุขที่ผิดทาง:
.
Tim Kasser เป็นอาจารย์ที่ Knox College ได้ใช้เวลากว่า 30 ปี ในการวิจัยเรื่องความสุขที่แท้จริง งานวิจัยของเขาได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสุขที่น่าสนใจ 3 ข้อ
.
ข้อแรก – ยิ่งคุณ “เชื่อ” มากเท่าไรว่าคุณสามารถ “ซื้อ” และ “แสดง” ความสุขเพื่อมาทดแทนความรู้สึกเศร้าภายในของคุณได้ คุณจะยิ่งซึมเศร้าและวิตกกังวล
.
ข้อที่สอง – ข้อมูลบอกว่า ถ้ามองในบริบทของสังคมเราจะพบว่า ในฐานะของสังคมโดยรวม เราให้ค่ากับของ ”ภายนอก” พวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการโชว์วิถีชีวิตใน Instagram ไปจนถึงการโชว์สถานะด้วยข้าวของแพงๆ
.
ด้วยบริบทของสังคมโดยรวม เรากำลังถูกฝึกให้มองหาความสุขในที่ผิดๆ เหมือนกับการกิน Junk Food ที่ไม่ให้อะไรกับคุณนอกจากความสุขชั่วคราวมากๆ การมองหาความสุขของชีวิตในที่ที่ผิดก็ไม่ต่างกับการเอา Junk Food เข้าไปในสมองและจิตใจของเรา
.
.
Tim Kasser ให้ข้อคิดที่น่าสนใจมากว่าจริงๆ พวกเราต่างรู้ว่าอะไรที่ทำให้ตัวเองมีความสุขจริงๆ แต่ก็มักไม่ทำ สาเหตุก็เพราะว่า
.
“Because we live in a machine that is designed to get us to neglect what is important about life.”
.
“เราใช้ชีวิตอยู่ในเครื่องจักรที่สร้างมาเพื่อให้เราไม่สนใจสิ่งที่สำคัญจริงๆ ของชีวิต”
.
ลองหยุดคิดและนึกภาพถึงตอนเรากำลังจะตาย จำนวน Like ใน Instagram หรือ Retweet ใน Twitter จะมีความสำคัญอะไรกับเรา?
.
สิ่งที่ Johan อยากจะสรุปก็คือว่า อาการซึมเศร้านั้น หลายครั้งมาจากเรื่องของชีววิทยา เรื่องของพันธุกรรม และการใช้ยารักษาก็เป็นทางออกที่ดี แต่หลายครั้งสาเหตุก็มาจากเรื่องอื่น…
.
ถ้าหากเราคิดว่าเรื่องซึมเศร้ามาจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองอย่างเดียว สิ่งที่เรากำลังจะบอกกับตัวเองและสังคมก็คือว่า
.
“ความเจ็บปวดของคุณมาจากความผิดปกติอะไรสักอย่าง เหมือนกับความผิดพลาดในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพียงแต่คอมพิวเตอร์ที่ว่านี้คือ “สมองของคุณ”
.
แต่ Johan เชื่อว่าแท้จริงแล้วความซึมเศร้าเป็น “สัญญาณ” ต่างหาก
.
เรารู้สึกถึงความเจ็บปวดนี้ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง
.
เราควรเลิกคิดว่าความเจ็บปวดทั้งหมดนั้นมาจากสารเคมีในสมองเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องฟังสัญญาณเหล่านี้ด้วย เพราะมันกำลังบอกอะไรบางอย่างที่เราจำเป็นต้องได้ยิน
.
ถ้าเราเคารพสัญญาณเหล่านี้ และฟังมันจริงๆ เราจะพบกับทางออกที่ลึกซึ้งและมีความหมายมากยิ่งขึ้น เหมือนกับวัวที่ชาวนาคนนั้นได้รับนั่นเอง
3
#MissionToTheMoonPodcast
โฆษณา