27 ก.พ. 2021 เวลา 08:44 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ศาสตร์แห่งหุ้นเติบโตของ “เบนจามิน เกรแฮม” (Benjamin Graham and the Power of Growth Stocks)
หากกล่าวถึง "เบนจามิน เกรแฮม" (Benjamin Graham) ต้นแบบแห่งนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า (Value Investor) ก็คงไม่มีใครที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการลงทุนหุ้นจะไม่รู้จักเกียรติศัพท์ของเขา เกรแฮมเป็นทั้งนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักลงทุนหุ้นที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง
เหล่านักลงทุนหุ้นมือใหม่อาจยังไม่ค่อยได้รู้จักเขามากนัก เหตุเพราะช่วงเวลารุ่งเรืองของเกรแฮมนั้นผ่านไปหลายทศวรรษแล้ว มือใหม่อย่างเราๆคงจะเกิดมาไม่ทัน ได้แต่ซึมซับผ่านองค์ความรู้ด้านการลงทุนที่เขาได้ฝากไว้มากมายให้แก่โลกใบนี้
เกรแฮมเป็นชาวอเมริกันที่เกิดในประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1894 และเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ.1976 เขาได้รับการขนานนามว่าเป็น "บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า" และเกรแฮมนี่เองล่ะครับที่แบบอาจารย์ของ "วอเร็น บัฟเฟตต์" (Warren Buffett) นักลงทุนผู้โด่งดังนั่นเอง!!
เกรแฮมฝากผลงานเขียนหนังสือด้านการลงทุนในหุ้นอันทรงคุณค่าไว้แก่วงการนี้มามากมาย ซึ่งมีสองเล่มที่เป็นหนังสือขึ้นหิ้งคือ "Security Analysis" เมื่อปี ค.ศ.1934 และ "The Intelligent Investor" ในปี ค.ศ.1949 โดยเฉพาะเล่มหลังนั้นถือได้ว่าเป็น "คัมภีร์ไบเบิลด้านปรัชญาการลงทุนแนวเน้นคุณค่า" ที่เหล่านักลงทุนทั้งมือใหม่และมือเก๋าต่างคงเคยอ่านผ่านตามาบ้าง และหยิบนำแนวคิดในหนังสือเล่มดังกล่าวมาปรับใช้จริงในตลาดหุ้นทั่วโลกจนสร้างผลตอบแทนอันน่าประทับใจ สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้เชิงประจักษ์มาแล้วหลายสิบปี
ในบทความนี้ผู้เขียนขอนำคุณผู้อ่านทุกท่านไปพบกับแนวคิดการลงทุนในหุ้นเติบโต (Growth Stocks) ของ เบนจามิน เกรแฮม ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันมากนัก ใช่แล้ว คุณอ่านไม่ผิดหรอกครับ "หุ้นเติบโต" ของเกรแฮม เหตุเพราะเขาโด่งดังมาจากแนวคิดการลงทุนในหุ้นคุณค่าที่เน้นซื้อหุ้นให้ได้ในราคาซึ่งต่ำที่สุดเพื่อความปลอดภัย แต่ไม่ค่อยจะมีคนพูดถึงแนวคิดเชิงรุกของเกรแฮมที่ใช้ประเมินมูลค่าและลงทุนในหุ้นเติบโตมากนัก
cr.doctorwe.com
"หุ้นเติบโต" หากอธิบายให้สั้นที่สุดก็คือ หุ้นของกิจการที่เราคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่จะดำเนินธุรกิจแล้วมีกำไรที่เติบโตสูงอย่างมากในอนาคต จะสังเกตุเห็นได้ว่า "หุ้นเติบโตเน้นที่การมองอนาคต มากกว่าหุ้นคุณค่าที่เน้นการมองที่ปัจจุบัน" แต่ทั้งสองหลักการนี้มีจุดร่วมเดียวกันที่การให้ความสำคัญเชิงคุณภาพนั่นคือ "ปัจจัยพื้นฐานของกิจการ" อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ผู้เขียนจะสรุปความในบรรทัดต่อไปหลังจากนี้ คือ "สูตรลับด้านการลงทุนหุ้นเติบโตที่หายไปหลายทศวรรษของเกรแฮม" ก็เพราะว่า หนังสือ "The Intelligent Investor" ของเขาที่ตีพิมพ์ใหม่หลายสิบปีที่ผ่านมานี้ได้ตัดเนื้อหาออกไปบางส่วน แต่กลายเป็นส่วนที่สำคัญมากๆ และคนทั่วไปไม่ค่อยพูดถึงนั่นคือ "หลักการและทัศนะของเกรแฮมที่มีต่อหุ้นเติบโต"
ชื่อของเบนจามิน เกรแฮม มักพ่วงมาด้วยคำว่า "หุ้นคุณค่า" แต่วันนี้เรามาพบกับข้อคิดจาก "ศาสตร์แห่งหุ้นเติบโตของเกรแฮม" กันนะครับ
1. นักลงทุนควรตั้งอัตราผลตอบแทนเป้าหมายไว้สูงกว่าอัตราผลตอบแทนจุดหมายในระยะยาว 2% ทั้งนี้ก็เพื่อทดแทนความไม่แน่นอนในอนาคตเมื่อคุณอาจต้องเจอกับทศวรรษที่หายไปในตลาดหุ้น และหุ้นทั้งพอร์ตไม่สร้างผลตอบแทนใดๆให้คุณเลย เช่น หากคุณต้องการผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้น 10% ต่อปี คุณก็ต้องมีอัตราผลตอบแทนเป้าหมายที่ 12% ต่อปี
2. ต้องคำนวณผลงานการลงทุนว่าคุณทำได้ดีแค่ไหน? ง่ายๆเพียงแค่ใช้สูตรนี้
มูลค่า ณ สิ้นงวด – (มูลค่าต้นงวด + เงินใส่เข้าสุทธิ – เงินดึงออกสุทธิ)
3. สูตรประเมินมูลค่าหุ้นของเกรแฮม
8.5 + (2 x อัตราการเติบโต) x EPS = มูลค่าที่แท้จริงต่อหุ้น
ข้อบกพร่องของสูตรนี้คือ ใช้กำไรในการคำนวณเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงสินทรัพย์และหนี้สิน นักลงทุนต้องตรวจสอบงบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัทประกอบการตัดสินใจด้วย
EPS x (8.5 + 2 x อัตราการเติบโต) x อัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ AAA คำนวณจนถึงวันครบอายุ / ปี
สูตรนี้เพื่อแก้ปัญหาการแข่งขันของอัตราดอกเบี้ยที่สูง จะใช้สูตรนี้เมื่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาวของหุ้นกู้ AAA สูงมากกว่า 4.40% (อย่าลืมว่านี้คือข้อคิดในยุค 60's : ผู้เขียน)
ข้อบกพร่องของสูตรนี้คือ คุณต้องคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในอนาคตได้อย่างแม่นยำ ไม่ใช่ ณ ปัจจุบัน สูตรนี้จะทำให้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้นต่ำลงจนคุณอาจไม่สามารถลงทุนได้
4. การคำนวณมูลค่าในปัจจุบัน
ต้องประเมินหากำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติให้ได้ โดยคำนึงถึงสภาวะของบริษัท อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ดีเกินไปไหม แย่เกินไปไหม และนำมาปรับเพิ่มลดให้เป็นปกติ
5. การคำนวณมูลค่าตั้งอยู่บนพื้นฐานของอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่คาดหวังในระยะ 7 – 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเกรแฮมแนะนำให้ใช้ 7 ปี เพราะว่ายาวนานพอที่จะข้ามพ้นวัฏจักรทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่นานเกินไปจนเรามองอนาคตไม่ออก
6. การประเมินอัตราการเติบโตของบริษัทหลังจากปีที่ 7 ให้ใช้ไม่เกิน 7% ต่อปี เพราะไม่มีบริษัทใดจะสามารถเติบโตสูงๆได้ตลอดไป คุณจะสังเกตได้ว่าสูตรของเกรแฮมจะอนุญาตให้ P/E ไม่เกิน 22.5 เท่าของกำไรในปีที่ 7
7. การคำนวณมูลค่าในอนาคต จะต้องคำนวณ 2 ครั้ง คือปัจจุบันและอนาคต
- คำนวณหา EPS ที่ปรับเป็นปกติแล้ว
- คาดการณ์อัตราการเติบโตในระยะยาวของ EPS (นำเข้าสูตรเพื่อคำนวณมูลค่าปัจจุบัน)
- ประมาณการ EPS ที่ปรับเป็นปกติในอีก 7 ปีข้างหน้า
- คำนวณหามูลค่าที่แท้จริงด้วยสูตรของเกรแฮม (มูลค่าอนาคต)
ตัวอย่าง
•EPS ณ ปัจจุบัน = 2 และคาดการณ์ว่าจะเติบโตปีละ 10% ไปอีก 7 ปี
•EPS ในปีที่ 7 = 3.90 และคาดการณ์ว่าหลังปีที่ 7 เป็นต้นไป เติบโตปีละ 7%
•8.5 + (2 x 7) x 3.90 = 87.75
•มูลค่าที่แท้จริง = 87.75 บาทต่อหุ้น
cr. Amazon
8. อย่าเปลี่ยนอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ (เข็มทิศนำทางในการตัดสินใจซื้อหุ้น)
อย่าเปลี่ยนไปมา ไม่ว่าสภาวะอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปแค่ไหนจนคุณไขว้เขว คุณต้องเข้มแข็งต่อภาวะตลาด ยึดมั่นต่อผลตอบแทนขั้นต่ำของคุณ ยกเว้นแต่ว่าจุดประสงค์ระยะยาวของคุณได้เปลี่ยนไปแล้ว
9. อัตราผลตอบแทนขั้นต่ำใช้เพื่อคำนวณคิดลดจากมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นในราคาที่คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนตามที่วางแผนไว้
10. ประมาณการมูลค่าในอนาคตอย่างมีเหตุมีผล
ในระยะเวลา 7 ปีแรกไม่ควรคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีอัตราการเติบโตเกินกว่า 20% ต่อปี บริษัททั่วๆไปจะเติบโตไปตาม GDP หรืออาจ 5-6%
การเติบโตที่สูงกว่า 10% ต่อปีก็นับว่าหาได้ยากแล้ว
11. ตั้งอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่สมเหตุสมผล
นั่นคืออัตราผลตอบแทนเป้าหมายเฉลี่ยทบต้นต่อปี ที่คุณต้องการจากการลงทุน เช่น หากคุณต้องการผลตอบแทน 10% ต่อปี คุณก็ใช้ 10% นี้ประเมินราคาหุ้นตัวหนึ่ง เราจะไม่ซื้อหุ้นตัวนั้นหากเราไม่สามารถซื้อได้ในราคาที่เชื่อว่าถูกพอจะให้ผลตอบแทนที่ 10% ต่อปี นี่เรียกว่า "Margin of Safety" (ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย) นั่นเอง
12. การประเมินมูลค่าอย่างสมเหตุสมผลนั้น มูลค่าที่แท้จริงจะมีราคาอยู่ที่ขั้นต่ำของช่วงราคาที่น่าจะเป็น (คุณอาจต้องประเมินมูลค่า 3 ครั้ง โดยแทนค่า EPS จากผลการดำเนินงานที่ดีที่สุด ตามคาด และแย่ที่สุด แล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนที่คุณคิดว่ามีความน่าจะเป็นสูง : ผู้เขียน)
13. ลักษณะของบริษัทเติบโตชั้นยอด
- มีส่วนแบ่งการตลาดสูงและมั่นคง
- ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- คู่แข่งเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมได้ยาก
- มีอำนาจในการตั้งราคาขาย
- มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานสูงกว่าคู่แข่งโดยตรงอย่างมีนัยยะสำคัญ
- ลูกค้ามีความภักดีต่อสินค้า
- มีอัตราการซื้อสินค้าซ้ำสูง ลูกค้าใช้เป็นประจำ ติดเป็นนิสัย
- แบรนด์มีพลังที่จะสามารถถ่ายโอนไปยังสินค้าอีกประเภทหนึ่งได้
- วงจรชีวิตของสินค้านั้นๆมีความยาวนาน
- บริษัทมีความเชี่ยวชาญอย่างมากในสินค้า
- บริษัทมีกระบวนการทางธุรกิจหรือกระบวนการผลิตที่เป็นนวัตกรรมของบริษัทเอง
14. อัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (Return on Invested Capital : ROIC)
กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย (หักภาษีแล้ว) / (ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินระยะยาว)
ควรมีค่าคงที่ สม่ำเสมอ หรือเพิ่มขึ้น ไม่ควรผันผวนหรือลดลง
อัตราส่วนนี้ใช้เพื่อวัดประสิทธิภาพของบริษัทในการสร้างผลตอบแทนจากเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น บริษัทที่มี ROIC สูงกว่าย่อมเพิ่มมูลค่าที่แท้จริงได้มากกว่า
15. โอกาสใหญ่แห่งการลงทุนที่อาจสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
- การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและกระแสสังคม
- การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
- การแทรกแซงจากภาครัฐ
- ผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมใหม่ๆ
- เทคโนโลยีพลิกโลก
cr. serenitystocks.com
16. ขั้นตอนสำคัญคือ "นำหลักการเกรแฮมมาใช้จริง"
- ระลึกถึงพลังของดอกเบี้ยทบต้นอยู่เสมอ
- ค้นหาบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
- ใช้สูตรของเกรแฮมเพื่อประเมินหามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท
- สำหรับบริษัทที่โตเต็มที่แล้วหรือโตช้าจะประเมินมูลค่าเพียงครั้งเดียว
- สำหรับบริษัทเติบโตจะประเมิน 2 ครั้ง คือปัจจุบันและอนาคต
ปัจจุบัน ช่วยให้เห็นภาพรวมของบริษัทว่าทำมาหากินอย่างไร และช่วยกำหนดมูลค่าในอนาคต
อนาคต ช่วยให้ข้อมูลสำคัญว่าเราจะซื้อ ขาย หรือถือหุ้นตัวนี้ต่อไป
- กำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ
- สร้างส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย นั่นคือ ส่วนต่างระหว่างมูลค่าที่แท้จริงกับราคาตลาด ณ ปัจจุบัน
- ใช้นายตลาดให้เป็น ความผันผวนเป็นโอกาสของนักลงทุน
- ค่อยๆทยอยซื้อหุ้น
- ลงทุนเพื่อระยะยาว คุณไม่ควรซื้อหุ้นตัวใดเลยจนกว่าคุณจะยอมทำใจได้ว่า คุณจะถือหุ้นต่อไปแบบไม่มีวันขาย
- เอาชนะอิทธิพลภายนอก ศึกษาปัจจัยทางอารมณ์และจิตวิทยาการลงทุน นักลงทุนที่ดีจะมองแต่สิ่งที่สำคัญและเพิกเฉยต่อสิ่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
บทความนี้อาจมีความยากและซับซ้อนขึ้นมาอีกระดับแล้วนะครับ เหล่านักลงทุนมือใหม่คงต้องใช้เวลาเพื่อพยายามศึกษาเรียนรู้ให้หนักและมากขึ้น
"ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการลงทุนครับ"
cr. vintagevalueinvesting.com
อ้างอิง
ศาสตร์แห่งหุ้นเติบโตของเกรแฮม (Benjamin Graham and the Power of Growth Stocks)
ผู้เขียน : Frederick K. Martin, Nick Hansen, Scott Link & Rob Nicoski
ผู้แปล : ปัณณวิชญ์ นันทโชคเนตินันท์
สำนักพิมพ์ : The Capital Publishing.
cr. INVESTING.in.th
โฆษณา